หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอรปรียา วสุมหันต์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
พุทธวิธีจัดการความขัดแย้งในทัศนะของพระไพศาล วิสาโล (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอรปรียา วสุมหันต์ ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริาโณ), ผศ.ดร.
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร.
  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องพุทธวิธีจัดการความขัดแย้งในทัศนะของพระไพศาล วิสาโลนั้น ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง และรูปแบบการจัดการความขัดแย้งตามหลักพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีจัดการความขัดแย้งด้วยหลักพระพุทธศาสนาของพระไพศาล วิสาโล และ (๓) เพื่อวิเคราะห์การประยุกต์ใช้แนวคิดและวิธีจัดการความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน ของพระไพศาล วิสาโล ผลการศึกษาพบว่า

      ๑. ความขัดแย้งมี ๒ ประเภท คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจกับความขัดแย้งภายนอก โดยเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเหตุปัจจัยภายใน ซึ่งได้แก่ อกุศลมูล ปปัญจธรรม กับ เหตุปัจจัยภายนอก การจัดการความขัดแย้งด้วยหลักพระพุทธศาสนานั้นสามารถกระทำได้ทั้งเชิงรับ เชิงรุก หรือ ทั้งสองอย่างประกอบกัน โดยนำหลักพุทธธรรมสำคัญมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เช่น หลักขันติธรรม หลักอนัตตา หลักอปริหานิยธรรม หลักสามัคคีธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการจัดการความขัดแย้งในยุคปัจจุบัน เช่น การเจรจาไกล่เกลี่ย การประนีประนอมยอมความ การโน้มน้าว การหลีกเลี่ยง หรือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

      ๒. ทั้งแนวคิดและกระบวนการพุทธสันติวิธีที่พระไพศาล วิสาโล นำมาใช้นั้น  เป็นการผสมผสานกันระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ร่วมกับ แนวคิดตะวันตกสมัยใหม่ และหลักการของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม ด้วยความเชื่อที่ว่าโลกกับธรรมแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นการทำงานเพื่อสังคมจึงเป็นการปฏิบัติธรรมไปพร้อมกัน สันติภาพในทัศนะของท่าน จึงมิใช่สภาวะที่สังคมสงบไร้สงครามและความขัดแย้งเท่านั้น แต่ต้องเป็นสังคมที่มีโครงสร้างที่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเอื้อให้คนในสังคมนั้นๆ ได้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆอย่างเท่าเทียม และมั่นคงทั้งทางกาย และทางใจ

      ๓. กระแสโลกาภิวัฒน์ และลัทธิบริโภคนิยมมีส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ประกอบกับโครงสร้างของระบบต่างๆในสังคม ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อคนในสังคมเสมอกันทุกระดับชั้น ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งลุกลามไปทั่วประเทศ  วิธีการจัดการความขัดแย้งจึงต้องทำด้วยความเมตตาโดยมีสติปัญญากำกับอย่างระมัดระวัง โดยการให้ความรู้แก่คู่กรณี ทั้งโน้มน้าวให้คู่กรณีเห็นความสำคัญและยินดีเข้าสู่กระบวนการพุทธสันติวิธีอย่างเต็มใจ เพื่อให้สามารถขจัดรากเหง้าของปัญหาได้อย่างแท้จริง

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕