หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายอุทัย ภัทรสุข
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๖ ครั้ง
การศึกษาอิทธิพลของพระธาตุพนมที่มีต่อความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายอุทัย ภัทรสุข ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร, ดร.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้มี   ประการ คือ   (๑)  เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความสำคัญของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงและพระธาตุพนม   (๒) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและพระธาตุพนม   และ  (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของพระธาตุพนมที่มีต่อความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง   ผลการศึกษาพบว่า  :

                     ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง หลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา เป็นสังคมชนบทล้าหลัง สังคมเกษตรกรรมที่ยากจน แต่มีความคงมั่นในจารีตประเพณี คติความเชื่อและพิธีกรรม ที่เกี่ยว เนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหลังพุทธกาลนับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  ส่วนพระธาตุพนมนั้น เป็นพระสถูปเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้รับการก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๘  และได้รับการก่อสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังจากได้หักพังทลายลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๘  พระธาตุพนมมีความสำคัญหลายประการได้แก่   (๑)  เป็นพระบรมธาตุเจดีย์และพุทธศิลป์   (๒)  เป็นสัญลักษณ์อำนาจการเมืองการปกครอง   (๓)  เป็นศูนย์กลางชุมชน ชุมทางการค้า การสัญจรและท่องเที่ยว  และ   (๔)  เป็นศูนย์รวมความศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา ความเชื่อ และพิธีกรรม

 

                     ในด้านความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและพระธาตุพนม นั้น  ชุมชนได้แสดงออกในรูปของพิธีกรรม จารีตประเพณีสิบสองเดือน เรียกว่า ฮีตสิบสอง  ได้แก่  บุญเข้ากรรม  บุญคูณลาน  บุญข้าวจี่  บุญผะเวส  บุญสงกรานต์  บุญบั้งไฟ  บุญซำฮะ  บุญเข้าพรรษา  บุญข้าวประดับดิน  บุญข้าวสาก  บุญออกพรรษา  และบุญกฐิน ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และยังมีความเชื่อเรื่อง อำนาจเหนือธรรมชาติ  เช่น ผี พญานาค แฝงรวมอยู่ด้วย

                การศึกษาอิทธิพลของพระธาตุพนมที่มีต่อความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง พบว่า   (๑)  พระธาตุพนมมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ด้วยมูลเหตุที่สำคัญคือ เป็นพระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นความเชื่อในตำนานอุรังคธาตุหรืออุรังคนิทาน และ เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์บันทึกจากอดีตสืบเนื่องถึงปัจจุบัน  (๒)   พระธาตุพนมมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องผี โดยมีผีเจ้าเฮือนสามพระองค์ หรือเจ้ามเหศักดิ์สามตน  ได้รับมอบหมายจากพระอินทร์ให้เป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม   (๓)  พระธาตุพนมมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องนาคหรือพญานาค และบั้งไฟพญานาค  โดยเกิดปรากฏการณ์ว่า มีพญานาค   องค์ มาจากสระอโนดาตในเทือกเขาหิมาลัย พระอินทร์มีบัญชาให้มารักษาพระบรมธาตุ   (๔)  พระธาตุพนม มีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องกรรม  บุญ บาป  นรก สวรรค์   และ       (๕)  พระธาตุพนม มีอิทธิพลต่อความเชื่อจำเพาะองค์พระธาตุพนม ได้แก่ ความเชื่อเรื่องข้าโอกาส เรื่องลูกพระธาตุ และ เรื่องการฟ้อนบูชา งานนมัสการ พระธาตุพนมประจำปี  หรือ ประเพณีงานบุญเดือนสาม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕