หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวปัทมา เอื้อรักษ์โอฬาร
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของ พระธรรมสิงหบุราจารย์ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวปัทมา เอื้อรักษ์โอฬาร ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง)
  ดร. เสนาะ ผดุงฉัตร
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม)

                    ผลการวิจัยพบว่า ตามทรรศนะของพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำที่จัดว่าเป็นกรรมนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ประกอบด้วย เจตนาหรือความจงใจ หากปราศจากเจตนา ไม่จัดว่าเป็นกรรม แต่เรียกว่ากิริยา โดยแบ่งเป็น กุศลกรรมและอกุศลกรรม การพิจารณาการให้ผลของกรรมต้องมองเป็นสายยาวถึงสังสารวัฏฏ์ ที่ว่าด้วยเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ  พระพุทธศาสนาสอนให้คนเชื่อเรื่องสังสารวัฏฏ์ เพื่อให้คนเกรงกลัวต่อบาป บุคคลทำกรรมที่ต้องเสวยผลไว้อย่างใดๆ เขาต้องเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ซึ่งสรุปลงในหลักสั้นๆ ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงต้องได้รับวิบากกรรมที่ทำไว้ในอดีต  แต่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้คนจำนนต่อกรรมเก่า การที่ทรงสอนเรื่องกฎแห่งกรรม เพื่อให้คนมีความเพียรพยายามในการพึ่งตนเองและรู้จักแก้ไขปรับปรุงตนเอง  ด้วยการลงมือกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอบาย ๔  เป็นอย่างน้อย และจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ ความดับแห่งกรรม  โดยปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวทางของ อริยมรรค มีองค์ ๘   เพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  

                    พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) ได้ให้ความหมายกรรมว่า กรรมที่แท้
มีเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป กรรมใด
ที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ การสวดมนต์ การแผ่เมตตา การหมั่นขออโหสิกรรม การเจริญกรรมฐาน จะทำให้วิบากกรรมนั้นน้อยลงไป การแก้กรรมในปัจจุบันโดยการกำหนดลงที่ปัจจุบัน ส่วนการแก้กรรมในอดีต โดยการสร้างความดีเพื่อใช้หนี้กรรมเก่า ด้วยการทำทาน รักษาศีล และภาวนา พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) ได้นำเรื่องราวจากประสบการณ์จริงของท่านเองและผู้อื่นในเรื่องผลของกรรม มาแสดงเพื่อเป็นการสอนและเป็นอุทาหรณ์ให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้เกรงกลัวต่อบาป หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเสียใหม่ มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่อชะตากรรม ปรับปรุงและแก้ไข พัฒนาตนเอง

                สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) จากการวิจัย ใน ๓  ด้าน พบว่า  ๑) ในด้านเนื้อหาคำสอนเรื่องกรรม มีความสอดคล้องและเชื่อมโยง ใน ๒ หลักใหญ่ คือ (ก) ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (ข) เกณฑ์การให้ผลของกรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้ว่ากรรมที่บุคคลทำแล้วทำคืนไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงผลของกรรม ย่อมมีโอกาสทำได้ โดยการทำกรรมใหม่เพื่อไปเปลี่ยนแปลงผลแห่งกรรมเก่าที่ทำแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้คนได้มีโอกาสปรับปรุงพัฒนาตนเอง ไม่ยอมจำนนกับกรรมเก่า และท้ายสุดเพื่อพัฒนาให้ไปถึงที่สุดแห่งความดับแห่งกรรม หรือล้างกรรม เพื่อให้กรรมนั้น เป็นอโหสิกรรม โดยปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนหลักการที่มีความแตกต่างไปจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาบ้าง คือ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) ใช้วิธีการสอนเรื่องกฎแห่งกรรมประยุกต์เข้ากับวิธีปฏิบัติ เช่น การสวดพุทธคุณเท่าอายุบวกหนึ่ง และเน้นปฏิบัติเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อฝึกให้มีสติและมีความอดทน เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาวิบากกรรมในชีวิต ๒) ในด้านผลของกรรม ในคำสอนของ                  พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) พบว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นเรื่องราวเฉพาะของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) ที่สอดคล้องและตรงกับคัมภีร์พระพุทธศาสนามีลักษณะเฉพาะ ทั้งในแง่โทษจากการประกอบอกุศลกรรม และอานิสงส์จากการประกอบกุศลกรรม ส่วนในด้านที่มีความแตกต่างจากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ ผลกรรมจากคำสอนของ          พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) เป็นผลกรรมจากประสบการณ์จริง ที่เป็นผลกรรมที่มาจากชาติปัจจุบันมากกว่า ผลกรรมที่มาจากอดีตชาติ ขณะที่คัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวถึง      บุพกรรมจากอดีตชาติ และผลกรรมในชาติปัจจุบัน ๓) ในด้านเป้าหมายในการสอนกฎแห่งกรรม   พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ตธมฺโม) สอนคนให้ มีความพยายาม ในการพึ่งตนเอง รู้จักแก้ไข ปรับปรุง เพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการสอนเรื่องกฎแห่งกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเช่นกัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕