หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายบุญเรือง ทิพพอาสน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๙ ครั้ง
ศึกษาการสอนสติปัฏฐาน ๔ ตามแนวทางของโคเอ็นก้ากับพระไตรปิฎก (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายบุญเรือง ทิพพอาสน์ ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบาง เขมานนฺโท, ดร.
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) สติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) การสอนสติปัฏฐาน ๔ ตามแนวทางของโคเอ็นก้า  (๓)  การสอนสติปัฏฐาน ๔ ตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทของโคเอ็นก้า  สรุปผลการศึกษามีดังนี้

                  การสอนสติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า  สติปัฏฐาน ๔ เป็นวิธีการเดียวเท่านั้น ที่จะยังบุคคลผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้สามารถไปสู่เป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้ คือ การดับทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและโดยสิ้นเชิง แม้ว่าระยะเวลาในการปฏิบัติอาจจะแตกต่างกันบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายในตัวผู้ปฏิบัติและปัจจัยแวดล้อมภายนอก  กล่าวโดยสรุปสติปัฏฐาน มี ๔ ประการ คือ (๑) กายานุปัสสนา การพิจารณากายในกาย (๒) เวทนานุปัสสนา การพิจารณาเวทนาในเวทนา (๓) จิตตานุปัสสนา การพิจารณาจิตในจิต (๔) ธัมมานุปัสสนา การพิจารณาธรรมในธรรม โดยผู้พิจารณานั้น จะต้องมีองค์พิจารณาอยู่เนืองๆ ๓ ข้อ คือ จะต้องมีความเพียร (อาตาปี) มีสติระลึกรู้อยู่เสมอ (สติมา) และสัมปชัญญะ (สัมปชาโน ความรู้สึกตัวทุกขณะ) คอยกำกับ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งยวด หากบุคคลปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ผลที่ได้ก็คือ สามารถที่จะกำจัดหรือทำลายอภิชฌาและโทมนัสทั้งปวงออกไปจากจิตใจของตนเองได้

 

            การสอนสติปัฏฐาน ๔ ตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทของโคเอ็นก้า พบว่า การสอนวิปัสสนากรรมฐานในพระไตรปิฎก เบื้องต้นเป็นการกล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดหรือผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ พึงบรรลุถึงความหลุดพ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงไปได้ด้วยการพิจารณาในกาย เวทนา จิตและธรรม แต่ขั้นตอนในการสอนนั้น ไม่ได้เรียงไว้ตามลำดับ บุคคลพึงปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ หมวดใด หมวดหนึ่งก่อนหรือหลังก็ได้  ทั้งนี้  กระบวนการถ่ายทอดวิปัสสนาของพระพุทธองค์จึงเป็นธรรมชาติมากที่สุดไม่ได้ปรุงแต่งหรือมีพิธีกรรมใดๆ มาเกี่ยวข้อง ส่วนแนวทางการสอนวิปัสสนาของโคเอ็นก้า พบว่า ไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและไม่มีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้อง เพียงแต่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พึงสำเหนียกกำหนดรู้ในสติปัฏฐาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำหนดรู้ในอานาปานสติ รู้ลมหายใจเข้าและออก แต่ไม่ต้องมีคำบริกรรม เมื่อผู้ปฏิบัติจนชำนาญแล้ว ก็จะเกิดปฏิเวธธรรมขึ้นมาภายในเป็นเรื่องเฉพาะตน ระยะเวลาที่ใช้ฝึกวิปัสสนามีหลักสูตร ๓ วันและ ๑๐ วันเหมาะแก่ทุกเพศทุกวัย แต่เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายในการปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว เหมือนกันทั้งในพระไตรปิฎกและของโคเอ็นก้า กล่าวคือ การแก้ปัญหาให้ตนเองได้และสามารถที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕