หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระนนทพัฒน์ ตธมฺโม (พันธ์ชาติ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยธรรมของกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ปัฏฐาน (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระนนทพัฒน์ ตธมฺโม (พันธ์ชาติ) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีสุตาภรณ์
  พระหัสดี กิตฺตินนฺโท, ดร.
  ผศ.ดร.สุรพงษ์ คงสัตย์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้  มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการ คือ  (๑)  เพื่อศึกษาปัจจัยธรรมในคัมภีร์ปัฏฐาน  (๒)  เพื่อศึกษาปัจจัยธรรมของกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ปัฏฐาน และ  (๓)  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบและประยุกต์ปัจจัยธรรมของกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ปัฏฐานไปใช้ในชีวิต  ผลการศึกษาพบว่า

                      ปัจจัยธรรมในคัมภีร์ปัฏฐานมีความหมายเป็นสิ่งอุปการะแก่สังขตธรรม มีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ ปัจจัยธรรม ปัจจยุปบันนธรรม และปัจจนีกธรรม ปัจจัยธรรมหลักมี ๒๔ และมี   การจำแนกเป็นปัจจัยโดยพิสดาร ๕๒ ซึ่งมีความหมายพร้อมลักษณะที่หลากหลาย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มปัจจัยธรรม ๙ ชาติ ในแต่ละกลุ่มปัจจัยธรรมจะมีข้อจำกัดและขอบเขตสภาวธรรมที่เป็นองค์ประกอบทั้ง ๓ ซึ่งมีความพิเศษเฉพาะแตกต่างกันไป

                      กุศลธรรมเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีโทษ ส่งผลให้ประสบกับอิฏฐารมณ์ มีการเกิดในสุคติภูมิ เป็นต้น  มีปัจจัยธรรมอุปการะ ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่มสหชาตชาติ มี ๑๓ ปัจจัย เป็นองค์ประกอบภายในกุศลจิต ๒๑ / ๓๗ ที่มีอัญญสมานเจตสิกและโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย  (๒)  กลุ่มอารัมมณชาติ มี ๑๑ ปัจจัย ทั้งโลกียะ โลกุตตระและบัญญัติเป็นอารมณ์ให้แก่กุศลธรรม (๓)  กลุ่มอนันตรชาติ มี ๖ ปัจจัย ปฐมกุศลชวนจิตเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต ต่อจากนั้นโลกียกุศลชวนจิตดวงทีเกิดก่อนๆ ก็จะอุปการะแก่กุศลชวนจิตดวงหลังๆ ให้เกิดขึ้นตามมาทันที (๔)  กลุ่มวัตถุปุเรชาตชาติ มี ๕ ปัจจัย  เป็นหทยวัตถุรุปที่เกิดก่อนและยังตั้งอยู่ จะเป็นที่อาศัยเกิดของกุศลธรรมในปัญจโวการภูมิ และ  (๕)  กลุ่มปกตูปนิสสยชาติ เหตุธรรมที่มีกำลังมาก ทั้งที่เป็นโลกียะ โลกุตตระ และบัญญัติ จะอุปการะให้เกิดกุศลธรรม ส่วนอกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีโทษ ส่งผลให้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ มีการเกิดในทุคติภูมิ เป็นต้น  มีปัจจัยธรรมอุปการะ ๕ กลุ่ม เช่นกัน ได้แก่ (๑)  กลุ่มสหชาตชาติ มี ๑๓ ปัจจัย เป็นองค์ประกอบภายในอกุศลจิต ๑๒ ที่มีอัญญสมานเจตสิกและอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย (๒)  กลุ่มอารัมมณชาติ มี ๑๒ ปัจจัย โลกียะและบัญญัติ เป็นอารมณ์ให้กับอกุศลธรรมได้    (๓)  กลุ่มอนันตรชาติ มี ๖ ปัจจัย ปฐมอกุศลชวนจิตเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต ต่อจากนั้นอกุศลชวนจิตดวงที่เกิดก่อนๆ ก็จะอุปการะแก่อกุศลชวนจิตดวงหลังๆ ให้เกิดขึ้นตามมาทันที      (๔) กลุ่มวัตถุปุเรชาตชาติ มี ๕ ปัจจัย  หทยวัตถุรุปที่เกิดก่อนจะเป็นที่อาศัยเกิดของอกุศลธรรมในปัญจโวการภูมิและ (๕) กลุ่มปกตูปนิสสยชาติ เหตุธรรมที่มีกำลังมาก ที่เป็นโลกียะและบัญญัติ จะอุปการะให้เกิดอกุศลธรรม

                กุศลธรรมมีความหมายตรงกันข้ามกับอกุศลธรรมอย่างชัดเจน กล่าวคือ กุศลธรรม เป็นสิ่งที่ดี ไม่มีโทษ มีการกำจัดบาปอกุศลธรรม และส่งผลเป็นความสุข ตรงข้ามกับอกุศลธรรมที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี มีโทษ เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศลธรรม และส่งผลเป็นความทุกข์ กลุ่มปัจจัยธรรมที่อุปการะแก่กุศลธรรมและอกุศลธรรมได้มี ๕ กลุ่มเท่ากัน ได้แก่  (๑)  กลุ่มสหชาตชาติ มีปัจจัยทั้งสองฝ่ายเสมอกัน ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกัน คือ อัญญสมานเจตสิก และที่แตกต่างกัน คือ โสภณเจตสิกจะเกิดพร้อมกุศลจิต ในขณะที่อกุศลเจตสิกจะเกิดพร้อมอกุศลจิต (๒)  กลุ่มอารัมมณชาติ มี ๑๑ ปัจจัยที่เสมอกัน อีก ๑ ปัจจัยเป็นฝ่ายอกุศลอย่างเดียว ถ้าเป็นโลกุตตรธรรมจะเป็นอารมณ์แก่ฝ่ายกุศลญาณสัมปยุตเท่านั้น ส่วนโลกียธรรมและบัญญัติธรรมจะเป็นอารมณ์ให้ได้ทั้งสองฝ่าย จึงควรสำรวมอินทรีย์เสมอเมื่อประสบกับอารมณ์เหล่านี้  (๓)  กลุ่มอนันตรชาติ มีปัจจัยเสมอกัน ส่วนที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตดับลงแล้วอุปการะแก่ปฐมชวนจิต ซึ่งถ้ามีโยนิโสมนสิการจะทำให้ฝ่ายกุศลเกิด แต่ถ้าขาดโยนิโสมนสิการแล้วก็จะทำให้ฝ่ายอกุศลเกิดได้แทน  (๔)  กลุ่มวัตถุปุเรชาตชาติ มีปัจจัยเสมอกัน หทยวัตถุรูปที่เกิดก่อนอุปการะแก่ทั้งสองฝ่ายได้เหมือนกัน แสดงถึงจิตตุปบาทใน      ปัญจโวการภูมิต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดเสมอ และ (๕)  กลุ่มปกตูปนิสสยชาติ มีเพียงปัจจัยเดียวจึงเสมอกันทั้งสองฝ่าย สำหรับโลกุตตระย่อมเป็นปัจจัยแก่ฝ่ายกุศลธรรมเท่านั้น ส่วนเหตุธรรมที่เป็นโลกียะและบัญญัติจะอุปการะได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการที่มีโยนิโสมนสิการต่อปัจจัยทั้งภายใน ภายนอกอย่างเหมาะสมหรือไม่  ซึ่งจะทำให้เกิดกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมได้ สำหรับการประยุกต์ปัจจัยธรรมของกุศลธรรมไปใช้ในชีวิต ได้แก่ (๑)  คบหากัลยาณมิตร ใกล้ชิดสัปปายะ (๒)  มีสติทุกขณะด้วยอินทริยสังวร (๓)  เพียรพินิจคำสอน สร้างโยนิโสมนสิการ (๔)  สังเกตอาการลักษณะโสภณธรรม (๕)  บำเพ็ญกุศลตามลำดับขั้นให้สมบูรณ์ และการประยุกต์ปัจจัยธรรมของกุศลธรรมไปใช้ในชีวิต ได้แก่ (๑)  หลีกเลี่ยงคบหาพาลชน  หลบให้พ้นอบายมุข (๒)  อดทนต่อความทุกข์  ระวังสุขอย่าติดใจ (๓)  เข้าใจลักษณะอกุศล แยกให้พ้นตัดเหตุใกล้ (๔)  ควบคุมกายวจีไว้  กำกับใจด้วยปัญญา  (๕)  เกิดอกุศลขึ้นมา แก้ปัญหาโดยพุทธธรรม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕