หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายโกศล จึงเสถียรทรัพย์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยในสถานพยาบาลตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายโกศล จึงเสถียรทรัพย์ ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ดร. ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยในสถานพยาบาลตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษารวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก และวรรณกรรมพุทธศาสนายุคปัจจุบันบางส่วน รวมถึงเอกสารทางวิชาการสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยในสถานพยาบาลตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งแนวทางที่เป็นการจัดการสถานที่ (รูปธรรม) และแนวทางที่ส่งผลต่อภาวะทางจิตใจ (นามธรรม) โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ (๑) ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพยาบาลในสังคมปัจจุบัน (๒) ศึกษาแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพยาบาลตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) นำเสนอแนวทางการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยในสถานพยาบาลตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลของการศึกษาพบว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกไม่มีศัพท์บาลีที่ระบุถึงคำว่า “สิ่งแวดล้อม” โดยตรง หากแต่พอสรุปความหมายได้ว่า เป็นทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ทั้งในด้านการดำรงชีวิต เป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งยารักษาโรค และเป็นสถานที่ที่เหมาะสมแก่การอบรมพัฒนาตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาก็ให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนความหมายของนักวิชาการในสังคมปัจจุบันทั้งนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศสรุปความหมายว่า หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ จับต้องได้ หรือรับรู้ได้ ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกทางใจ รวมถึงการกระทำทั้งปวงของมนุษย์

 

ประเด็นเรื่อง แนวคิดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย อาหาร อากาศ น้ำ การจัดการที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน งานทางด้านสถาปัตยกรรม การจัดภูมิทัศน์ และการบริการพื้นฐานของสถานพยาบาล นอกจากนี้รวมถึงวิธีการที่เหมาะสม รวมทั้งการบริหารจัดการชีวิตประจำวันให้เอื้อต่อการเยียวยา เช่น การพักผ่อน การใช้เสียงดนตรี การใช้ศิลปะ และการสร้างกิจกรรมสันทนาการ การใช้แสง สี เสียง การวางผังห้อง การตั้งอุณหภูมิ  การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะเพียงต่อการรักษาโรคบางโรค แต่การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาเหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกโรคที่จะอยู่ในสถานที่ที่มีความปลอดภัย สบาย และรู้สึกผ่อนคลาย

                    สิ่งแวดล้อมเพื่อการพยาบาลจึงมีความสำคัญใน ๒ ด้านคือ สิ่งแวดล้อมเพื่อการพยาบาลที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพกาย และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพยาบาลที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพใจ  เนื่องจากจิตใจ เป็นส่วนของนามธรรม เป็นการสัมผัสด้วยความรู้สึก ดังนั้นการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการพยาบาลที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพใจ จึงเป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อมนุษย์ในทางบวก

การเยียวยา (Healing) หมายถึงการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม โดยการสร้างความกลมกลืนของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ หากพิจารณาจากคำจำกัดความของการเยียวยา การเยียวยามีมิติที่ลึกซึ้งกว่าการบำบัดรักษา และผลของการเยียวยาที่เห็นได้ชัดคือการลดความเครียดและผ่อนคลายความวิตกกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้นวิธีในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ด้านคือ (๑) วิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาทางด้านกายภาพ (๒) วิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาทางด้านจิตใจ และ (๓) วิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาทางด้านสังคม

                แนวทางในการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการพยาบาลในสถานพยาบาลตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องในสถานพยาบาลมีมิติทางด้านจิตใจ ผสมผสานแนวความคิดทางสุนทรียศาสตร์ในการวางระบบสิ่งแวดล้อม อันประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรมจากภายใน และสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมจากภายนอก  ด้วยสภาพแวดล้อม บรรยากาศที่ดี สัมผัสที่อบอุ่นสามารถส่งผลถึงการลดความเครียด ลดอัตราการผิดพลาดและรวมถึงการติดเชื้อด้วย  นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่ดี อ่อนโยนและเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยนั้นสามารถทำให้คนไข้มีการฟื้นตัวเร็วขึ้น หายป่วยได้เร็วขึ้น โดยมี องค์ประกอบ  ๔ ประการคือ (๑) ปัจจัยพื้นฐาน (๒) สถานที่ (๓) บุคคล และ (๔) การจัดการ ซึ่งในทางปฏิบัติสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาจะมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงการเยียวยาใน ๒ มิติ คือ มิติทางด้านร่างกาย และมิติทางด้านจิตใจ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕