หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางชนาภัทร์ วงศ์โรจนภรณ์
 
เข้าชม : ๑๖๘๗๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของคำสอนเรื่องพรหมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางชนาภัทร์ วงศ์โรจนภรณ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ,ผ.ศ.ดร.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของคำสอนเรื่องพรหมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพรหมในคติพราหมณ์ เพื่อศึกษาพรหมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของคำสอนเรื่องพรหมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย จากการวิจัยพบว่า พรหมมีปรากฏอยู่ทั้งในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพระพุทธศาสนา มีความหมายเดียวกันที่แสดงถึงความเป็นเลิศ บริสุทธิ์ ประเสริฐ สูงสุด เป็นใหญ่ แต่แตกต่างกันในการตีความหมายของพรหมเพื่อสนับสนุนแนวคิดของแต่ละศาสนา

              พรหมในศาสนาพราหมณ์  เป็นพระผู้สร้างโลก มนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ได้รับการอธิบายในรูปของบุคลาธิษฐานพรหม เป็นพรหมที่มีรูปเป็นตัวบุคคล (Personal God) เป็นสรรพวิภู มีเพศเป็นชาย มีครอบครัว และ ธรรมาธิษฐานพรหม เป็นพรหมในรูปของธรรมกาย คือ วิญญาณสูงสุด ชาวฮินดูมีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนที่แตกออกจากพรหม และการเกิดเป็นทุกข์ วิธีดับทุกข์ก็ด้วยการศึกษาพรหมวิทยาและการประพฤติพรหมจรรย์ด้วยการบำเพ็ญตบะเพื่อกลับคืนสู่แหล่งเดิม หรือ การเข้าถึงพรหม

 

              พรหมในพระพุทธศาสนา เป็นบุคลาธิษฐานพรหม คือ เป็นเทวดาชั้นสูง และเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูงยิ่ง รวมทั้งเป็นธรรมาธิษฐานพรหม คือ การยกเอาธรรมมาแสดงเป็นพรหม หรือเป็นปฏิปทาไปสู่ความเป็นพรหม ทั้งนี้พรหมมีบทบาทและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาล โดยพรหมได้ทำหน้าที่ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมที่ตรัสรู้ ซึ่งบทบาทต่างๆ ของพรหมนั้นได้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของพรหม และยังมีบทบาทสำคัญ คือ ช่วยส่งเสริมให้พระโพธิสัตว์ตั้งสัจจอธิษฐานปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก นอกจากนี้พรหมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าในฐานะที่พระพุทธ-องค์เคยเกิดเป็นพรหมหลายครั้ง และสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยอ้อม คือ ทรงมีเพื่อนหรือบริวารที่เกิดเป็นพรหม

 

              สังคมไทยได้รับอิทธิพลของคำสอนเรื่องพรหมจากทั้งสองศาสนานับแต่มีการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนไทยโดยชาวอินเดียและพระสงฆ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ เกิดการผสมผสานของคำสอนเรื่องพรหมของทั้งสองศาสนา เป็นผลให้เกิดคำสอนเรื่องพรหมในลักษณะผสมขึ้น กล่าวคือ คำสอนเรื่องหลักพรหมวิหารมีปรากฏในทางสังคม สถานภาพและลักษณะทางกายภาพของพรหมปรากฏในด้านความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม วรรณกรรม และงานศิลปกรรม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕