หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญเทียน พุทฺธวโร (ปัญญาแก้ว)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เรื่องพระโพธิสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญเทียน พุทฺธวโร (ปัญญาแก้ว) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี, ดร.
  ดร. ไพฑูรย์ รื่นสัตย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความหมาย  ประเภท  การสร้างบารมี  และพัฒนาการของพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนา และศึกษาวิเคราะห์บทบาทและอิทธิพลของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมชาวพุทธในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง  โดยศึกษาเฉพาะประเทศไทย  และประเทศลาว  ในการทำวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงเอกสารโดยการศึกษาค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว  แล้วนำมาวิเคราะห์พร้อมทั้งเสนอแนวความคิดของผู้วิจัยเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

จากการศึกษาพบว่า   คำว่า พระโพธิสัตว์  หมายถึงคน หรือสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ศัพท์ที่ใช้แทนคำว่า โพธิสัตว์ มีหลายศัพท์ เช่น พระมหาบุรุษ   มหาสัตว์ และ พุทธังกูร เป็นต้น

พระโพธิสัตว์นั้นทั้งนิกายเถรวาทและมหายานนั้น ได้มีการจัดแบ่งออกเป็นประเภทแตกต่างกันไป ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทนั้น ได้มีการแบ่งพระโพธิสัตว์โดยรวมตามหลัก ๓ ประการ คือ ศรัทธา ปัญญา และความเพียร ในฝ่ายพุทธศาสนามหายานนั้นแบ่งพระโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ คือ อุตรโพธิสัตว์ และมานุษิโพธิสัตว์ ผู้ที่ดำเนินตามโพธิสัตวภูมินั้นจะออกบวช หรือเป็นฆราวาสก็ได้  การสร้างบารมีพระโพธิสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้พระโพธิสัตว์ เป็นคนหรือสัตว์ที่ประเสริฐกว่าธรรมดา บารมีของพระโพธิสัตว์นั้นทั้งเถรวาทและมหายานมี ความแตกต่างกันบางประการ

 

ในด้านพัฒนาการพระโพธิสัตว์นั้นมีพัฒนาการหลายด้านที่เกี่ยวข้อง และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางพระพุทธศาสนา เช่นด้านประวัติ พระโพธิสัตว์นับแต่อดีตถึงปัจจุบันและอนาคตทุกองค์   ล้วนแต่มีประวัติเป็นของตนเอง โดยมีหลักฐานจากพระไตรปิฎกในพระสูตรต่าง ๆ ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เป็นอดีตของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ผ่านมา และจะมาตรัสรู้อีกในอนาคต นอกจากพัฒนาทางด้านประวัติแล้วพระโพธิสัตว์ยังมีพัฒนาการทางด้านอุดมการณ์ อุดมการณ์แรกที่พระโพธิสัตว์ตั้งใจที่จะทำก็เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะให้ตน และสรรพสัตว์หลุดพ้นจากวัฏสงสาร

สุดท้ายศึกษาบทบาท และอิทธิพลของพระโพธิสัตว์ที่มีต่อสังคมชาวพุทธในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะประเทศไทย และประเทศลาว ในฐานะเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา จากหลักฐานในด้านต่าง ๆ พระโพธิสัตว์ได้มีบทบาท และอิทธิพลต่อสังคมชาวพุทธมานาน นับแต่พระพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาต่อระบบความคิดในแถบนี้ ในฐานะพระโพธิสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์จากอดีต พระโพธิสัตว์ในปัจจุบัน และพระโพธิสัตว์ในอนาคต ล้วนแต่มีบทบาทในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านคติความเชื่อ ด้านจารีตประเพณี ด้านวรรณกรรม ด้านพุทธศิลปกรรม  เป็นต้น

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕