หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพิพัฒน์ อภิวฑฺฒโน (อายะนันท์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระพิพัฒน์ อภิวฑฺฒโน (อายะนันท์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโกวิทอรรถวาที, ดร.
  ดร.วิชาสินี ศุขะพันธุ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ในจังหวัดแพร่นั้น ผู้วิจัยมีจุดประสงค์  ๑)  เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่     ๒) เพื่อศึกษา เปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ในจังหวัดแพร่  โดยจำแนกตามอายุ    พรรษา   ระดับการศึกษา  สภาพที่ตั้งวัด  และ  ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางในการป้องกัน  แก้ไขปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่  โดยใช้แบบสอบถามกับพระสงฆ์ จำนวน ๒๖๒  รูป การวิเคราะห์ข้อมูล  ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ ร้อยละ (Percentage)  ค่าเฉลี่ย (Mean)   ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน      (Std. Deviation)  ค่าสถิติทดสอบที (t - test)  ค่าสถิติทดสอบเอฟ (One – Way Anova :  F - test)    โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์สถิติสำเร็จรูป      

                    ผลจากการศึกษา พบว่า พื้นฐานความรู้ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่  มีความรู้ในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมมากที่สุด x = ๑.๘๕ รองลงมา คือ ด้านอบายมุข x =  ๑.๘๐    ด้านอาหาร x =  ๑.๗๙   ด้านอากาศ x =  ๑.๗๓   ด้านอารมณ์x  =  ๑.๖๕   และด้านการออกกำลังกาย x =  ๑.๖๔  โรคประจำตัวที่พระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ เป็นมากที่สุด คือ โรคปวดหลัง ปวดเอว ข้อเสื่อม ร้อยละ ๓๐.๕๓ รองลงมา คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๒๔.๘๑  

  เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพโดยรวมเมื่อจำแนกตามอายุ   ระยะเวลาการปฏิบัติงาน  การศึกษา และที่ตั้งวัด  ของพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ แยกออกเป็นรายด้าน  พบว่า  พระสงฆ์ในจังหวัดแพร่มีการดูแลสุขภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด    ส่วนการดูแลสุขภาพตนเองในด้าน อาหาร อากาศ  อารมณ์ และการออกกำลังกาย ยังอยู่ในระดับปานกลาง   และการข้องเกี่ยวกับอบายมุขอยู่ในระดับน้อยที่สุด      ผลจากการทดสอบสมมติฐานโดยรวมแล้ว พบว่าพฤติกรรมการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์จังหวัดแพร่  ไม่แตกต่างกัน  อย่างมีนัยสำคัญ  ทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญที่  .๐๕    

                ดังนั้นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหา    จึงควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม และควรจัดสภาพแวดล้อมในบริเวณวัดให้มีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ เป็นเขตปลอดบุหรี่และอบายมุขทั้งปวง  จัดให้มีการถวายความรู้เรื่องพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองในวิถีทางที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย และการเลือกฉันภัตตาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย   โดยการจัดทำคู่มือสุขภาพ สื่อประชาสัมพันธ์ หรือจัดตั้งศูนย์สุขภาพพระสงฆ์   ภายในวัดของเจ้าคณะผู้ปกครองในแต่ละจังหวัด  เพื่อให้ได้แนวทางในการวางแผนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของพระภิกษุที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕