หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการช่วง ฐิตโสภโณ (ตั้งอยู่)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาคติทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในประเพณีสารทเดือนสิบ (แซนโฎนตา) ของจังหวัดสุรินทร์ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการช่วง ฐิตโสภโณ (ตั้งอยู่) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวิรัติ โสภณสีโล ดร.
  ดร.อธิเทพ ผาทา
  ผศ.ทวีศักดิ์ ทองทิพย์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการของประเพณีสารทที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ศึกษากำเนิดและพัฒนาการของประเพณีสารทเดือนสิบของชาวจังหวัดสุรินทร์ และ ศึกษาคติทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในประเพณีสารทเดือนสิบของชาวจังหวัดสุรินทร์ วิธีดำเนินการวิจัย ศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือ วิทยานิพนธ์ วารสาร สื่อออนไลน์ และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์แบบเจาะลึก กลุ่มพระสังฆาธิการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา ประธานสภาวัฒนธรรม ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และผู้สูงอายุในชุมชน ในเขตจังหวัดสุรินทร์  วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณาวิเคราะห์ และสรุปผลอภิปรายผลแบบบรรยาย ผลการวิจัยพบว่า

                     กำเนิดและพัฒนาการของประเพณีสารทที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า บ่อเกิดของประเพณีสารทนั้น เกิดจากความเชื่อของคนในยุคโบราณซึ่งเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจของสิ่งลึกลับ พวกเขาเข้าใจว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากพระเจ้าพิธีสารท ถือได้ว่าเป็นพิธีหลักของศาสนาพราหมณ์เก่าและพราหมณ์ใหม่ โดยเป็นหลักปฏิบัติที่มีความสำคัญต่อผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างมาก ประเพณีสารทในพระพุทธศาสนา พบว่า มีกำเนิดจากความเชื่อเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้ว่า พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทำบุญอุทิศให้กับเปรตที่เป็นญาติของพระองค์เอง และ พระสารีบุตรเถระได้สร้างกุฎี ๔ หลังถวายแก่สงฆ์พร้อมทั้งข้าวและนํ้า แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปรตที่เคยเป็นมารดาและ นางติสสาอุบาสิกา ได้ถวายภัตตาหารและผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุ ๘ รูปแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่นางเปรต  เป็นผลให้ผู้ที่ได้รับส่วนบุญพ้นจากความเป็นเปรตได้ ความเชื่อดังกล่าวได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา และประเพณีสารทที่ถือปฏิบัติกันอยู่ในยุคปัจจุบันก็ได้มีกำเนิดและพัฒนาการมาจากความเชื่อในเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายนี้ด้วยเหมือนกัน

                     กำเนิดและพัฒนาการของประเพณีสารทเดือนสิบของชาวจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ประเพณีนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่พบว่าครั้งแรกได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และยังพบว่า ประเพณีสารทของชาวจังหวัดสุรินทร์นี้ ได้มีกำเนิดมาจากความเชื่อเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายที่ปรากฏในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเอง ในปัจจุบันภาษาท้องถิ่นของชาวสุรินทร์เรียกประเพณีสารทว่า “แซนโฎนตา” ซึ่งมีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ การทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย มีการจัดขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษอย่างใหญ่โตไปตามถนนสายสำคัญภายในตัวเมือง มีหน่วยงานราชการและวัดในจังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมในขบวนแห่ด้วย ประเพณีสารทเดือนสิบของชาวจังหวัดสุรินทร์ มีอยู่ ๒ ช่วง ดังนี้  ๑) ประเพณีเบณฑ์ตูจ คือ ประเพณีสารทเล็ก จะประกอบพิธีกรรมในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ และ ๒) ประเพณีเบณฑ์ทม คือ สารทใหญ่ จะประกอบพิธีกรรมในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐

                คติทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในประเพณีสารทเดือนสิบของชาวจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ได้มีคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ดังนี้คือ ๑) คติความเชื่อเรื่องบุญ เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เพื่อความสุขของตัวเอง และเพื่อทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ๒) คติความเชื่อเรื่องการบูชา เช่น การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ และการปฏิบัติ แต่การบูชาตามคติความเชื่อแบบโบราณก็ยังปรากฏอยู่เพราะมีการฆ่าสัตว์ คือ ไก่ ปลา และหมู เป็นเครื่องเซ่นไหว้ด้วย ๓) คติความเชื่อเรื่องความกตัญญู คือ การปรนนิบัติบิดามารดา ครูอาจารย์ ยอมรับคำสั่งสอน และตอบแทนผู้มีพระคุณ ด้วยปัจจัยสี่ ๔) คติความเชื่อเรื่องสังคหวัตถุ คือ ในประเพณีสารทนี้จะมีการแบ่งปันกันของคนในครอบครัวและชุมชน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕