หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูพิสณฑ์กิจจาทร (เทิดทูน เชื้อเงินเดือน)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์คุณค่าของประเพณีลอยกระทง (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูพิสณฑ์กิจจาทร (เทิดทูน เชื้อเงินเดือน) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร
  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง (๒) ศึกษาคุณค่าและหลักธรรมของประเพณีลอยกระทงในทัศนะพระพุทธศาสนา และ (๓) วิเคราะห์คุณค่าของประเพณีลอยกระทงที่มีต่อสังคมไทย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หนังสือเอกสาร และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาวิเคราะห์สรุปข้อมูลเชิงพรรณนา  ผลการวิจัยพบว่า

๑.      ความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง มีร่องรอยหลักฐานในปุณณสูตร ได้กล่าวถึงแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในครั้งพุทธกาลซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระยานาค จนมีศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์ แล้วทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการบูชา โดยมีพระเจดีย์ หรือรอยพระพุทธบาท ที่พุทธบริษัทได้เคารพบูชาคุณของพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทง ส่วนหลักฐานในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม ตามที่พระสนมเอกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้คิดค้นประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปดอกบัวแทนการลอยโคม จึงเป็นที่มาของรูปแบบการลอยกระทงที่มีรูปลักษณ์แตกต่างออกไป และได้ปฏิบัติสืบกันมาจนถึงปัจจุบัน

๒.     คุณค่าของประเพณีลอยกระทง ที่ประชาชนได้สืบทอดปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต จนถึงปัจจุบันล้วนมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา คือมีธรรมเป็นกรอบปฏิบัติสำหรับปลูกจิตสำนึกของคนในชาติให้รู้รักสามัคคีปฏิบัติตามหลักสาราณียธรรม พละ ๕  และสังคหวัตถุ ๔ จะเห็นว่าเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักธรรมทั้งหมดนี้แล้วเท่ากับว่าพลเมืองของชาติ  เกิดจิตสำนึกมีความกตัญญูกตเวที มีความหวงแหนขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณีทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น ชุมชน ครอบครัว และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมในระดับโลกด้วย

๓.     คุณค่าของประเพณีลอยกระทงที่มีต่อสังคมไทย จากการศึกษาวิเคราะห์ มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่การบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากมโนสำนึกของผู้คนในสังคมไทยในฐานะที่เป็นชาวพุทธต้องกตัญญูกตเวที ดังนี้ (๑) กตัญญูต่อบุคคล ได้แก่ บิดา มารดา อาจารย์ บิดามารดา (๒) กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มีคุณต่อเรา ช่วยทำงานให้เรา และ (๓) กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่ สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเรา โดยคุณค่าความกตัญญูทั้งสามอย่างจัดอยู่ในบูชา ๒ มีอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา โดยมีเบญจศีลเป็นกรอบสำหรับปฎิบัติเพื่อสร้างสามัคคี สมัครสมาน และรักใคร่ ปรองดองกันของคนในชาติ

โดยสรุปคุณค่าของประเพณีลอยกระทง นอกจากจะสร้างความสามัคคีในระดับท้องถิ่นหรือชุมชนแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคมจะได้น้อมนำไปปฏิบัติตามเพื่อสร้างสันติสุข และเสรีภาพของชาติให้เจริญงอกงาม โดยมีเบญจศีลเป็นกฎหมายที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือเป็นวินัยของชาวพุทธที่ควรยึดถือปฏิบัติตาม โดยเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทั้งในส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ด้วยกันเอง สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างกัน แต่นอกเหนือจากสิ่งอื่นใดมนุษย์ทุกคนต้องรู้สำนึกรับผิดชอบรวมกัน เพื่อปกป้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ไม่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเพณีลอยกระทงเท่านั้น แม้การจัดกิจกรรมอื่นๆ   ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนหลักและนำไปสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕