หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอัษฎากรณ์ กิตฺติภทฺโท (ฉัตรานันท์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
การศึกษารูปแบบและความเชื่อเรื่องผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระอัษฎากรณ์ กิตฺติภทฺโท (ฉัตรานันท์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิศาลสรกิจ, ดร.
  ผศ.ดร.วันชัย พลเมืองดี
  นายวิถี พานิชพันธ์
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาคติเรื่องผ้าทอในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษารูปแบบผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ         (๓) เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ โดยเน้นค้นคว้าในคัมภีร์พระไตรปิฎกและลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลพร้อมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มชาวไทลื้อที่อยู่ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 

 

ผลการศึกษาวิจัยพบว่าในคัมภีร์พระไตรปิฎกปรากฏข้อมูลเรื่องรูปแบบและรายละเอียดของผ้าอยู่น้อยมาก เท่าที่พบข้อมูลก็มักจะแสดงเป็นเชิงอรรถขยายความ ซึ่งได้อ้างมาจากคัมภีร์ในชั้นอรรถกถาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคติการถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวก พบว่าปรากฏเฉพาะในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกแต่ไม่พบในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งโดยมากมูลเหตุของการถวายผ้าเกิดจากความเลื่อมใสที่ผู้นั้นได้รับฟังพระธรรมเทศนา โดยผ้าที่ถวายมีทั้งผ้าที่ทอเอง ซื้อมา รวมทั้งการสละผ้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มของตนเพื่อถวายเป็นทาน และอานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายผ้าหรือวัตถุที่ประกอบขึ้นด้วยผ้าอันมี ฟูก หมอน และธง เป็นต้นนั้น ทำให้ได้รับอานิสงส์ ๒ ระดับ คือโลกิยสมบัติและโลกุตระสมบัติ และไม่ใช่เฉพาะแต่การถวายทานเท่านั้น หากแต่ต้องมีการรักษาศีลและเจริญภาวนาอีกด้วย จึงจะให้ผลเป็นสมบัติทั้งสองประการ

 

 

 

 

 

ส่วนรูปแบบของผ้าทอในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำในปัจจุบัน ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ดั้งเดิม แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนใช้วัสดุอุปกรณ์ไปตามยุคสมัย แต่พบว่าผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาบางอย่างก็ยังคงรูปแบบดั้งเดิมอยู่ เช่น ผ้าตุง ผ้ามุงบน ผ้ามุงสังฆะ และผ้าเช็ดน้อย เป็นต้น เฉพาะตุงปราสาทและผ้าเช็ดน้อยยังสามารถรักษารูปแบบดั้งเดิมได้มากที่สุด ทั้งยังคงสร้างงานด้วยการทอมือโดยใช้กี่พื้นบ้าน และเนื่องจากผ้าเช็ดน้อย ทอได้ง่าย ราคาไม่แพง ชาวไทลื้อจึงนิยมใช้ถวายพระ ส่วนตุงปราสาทแม้จะมีราคาแพงและทอได้ยาก แต่ด้วยความปรารถนาในภพภูมิที่ดีในโลกหน้าจากการถวายตุงของชาวไทลื้อ จึงทำให้ยังมีการทอตุงปราสาทเพื่อถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ส่วนผ้าห่อคัมภีร์แบบไทลื้อพบว่าไม่มีการสร้างถวายมานานกว่า ๔๐ ปีแล้ว 

นอกจากนี้ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่งคง ชาวไทลื้อเชียงคำจึงเชื่อว่าพระรัตนตรัยยังคงเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง ยังถือเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวและเป็นศูนย์รวมจิตใจ แม้ว่าจะไม่ปรากฏออกมาในคำตอบจากการสัมภาษณ์ แต่ก็สะท้อนออกมาจากผ้าทอที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ดังปรากฏเป็นผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาอันมีมากมายหลายชนิด ผนวกเข้ากับคติความเชื่อเรื่องการให้ทานอันถือเป็นการสร้างและสะสมบุญกุศลให้แก่ตนเอง พร้อมทั้งคติความเชื่อเรื่องการอุทิศกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ล้วนเป็นคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อชาวไทลื้อเชียงคำอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการถวายผ้าในประเพณีต่างๆ ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การทานตุงในประเพณีปีใหม่สงกรานต์ และการทานหอผ้าหรือมณฑกในประเพณีตานธรรม เป็นต้น

 

 

Download

 

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕