หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวัฒน์ วฑฺฒนสุธี (อุปคำ)
 
เข้าชม : ๒๐๑๕๕ ครั้ง
คำสอนเรื่องคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในภาษิตล้านนา (๒๕๔๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวัฒน์ วฑฺฒนสุธี (อุปคำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาไสว เทวปุญฺโญ
  ศาสตราจารย์(เกียรติคุณ)มณี พยอมยงค์
  รศ.ดร.บุณย์ นิลเกษ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงประวัติพัฒนาการพระพุทธศาสนาของล้านนาและอิทธิพลคำสอนเรื่องคุณธรรม รวมถึงการจำแนกลักษณะของคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในภาษิตล้านนา เฉพาะในด้านสุภาษิต

     ผู้วิจัยได้ศึกษาถึงประวัติพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาไทยและได้รวบรวมเนื้อหาสาระของสุภาษิตล้านนา ที่มาจากวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์ ซึ่งมีผู้ปริวรรตไว้แล้ว โดยศึกษาเอกสารหนังสือจำนวน ๗ เล่ม และคัดเลือกเอาเฉพาะสุภาษิตที่มีเนื้อหาและข้อความไม่ซ้ำกัน นำมาจัดเรียงคำตามรูปแบบในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ และจำแนกลงในหลักแห่งการดำเนินชีวิตประพฤติปฏิบัติร่วมกันในสังคมล้านนาทั้งสิ้น ๖ ประการ คือ เศรษฐกิจและการครองชีพ (Economy and Life), สังคมและความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Society and Human Relation), การเมืองและการปกครอง (Politics and Administration), การศึกษา (Education), ความรักและการครองเรือน (Love and Family), ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Nature and Environment) โดยใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นตัวกำหนด พร้อมทั้งได้น้อมนำเอาพุทธศาสนสุภาษิต จำนวนทั้งสิ้น ๑๙ หมวด มาศึกษาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ถึงอิทธิพลคำสอนทางพระพุทธศาสนา ตามที่มีเนื้อหาปรากฏสอดคล้องอยู่ในสุภาษิตล้านนา

     ผลการศึกษาวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว พบว่าพระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของล้านนาชนทุกระดับชั้น ซึ่งชาวล้านนาผู้มีภูมิปัญญา ได้น้อมนำเอาคติธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อดั่งเดิมเรื่องจิตวิญญาณที่ยังคงหลงเหลืออยู่มาสอดแทรกผสมผสานกันโดยใช้ภาษาพื้นเมือง ผ่านสื่อวรรณกรรมทั้ง ๒ ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ หรือสุภาษิตล้านนา พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่คนรู้เห็นเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยการแก้ไข และประยุกต์ถ้อยคำให้มีการสัมผัสสอดคล้องกัน

     ส่วนลักษณะของคุณธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น มีความแตกต่างกันไปตามเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของการนำเอาไปประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นสื่อส่งเสริมกระตุ้นเตือนสติให้เกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้องตามหลักคุณธรรม และกฎหมายที่สังคมพึงประสงค์

     พระพุทธศาสนาที่หยั่งรากลึกแห่งความศรัทธาลงบนแผ่นดินล้านนา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงเนื้อแท้แห่งสัจธรรมคำสั่งสอน ที่ยังคงยืนหยัดตอบปัญหาวิธีการดำเนินชีวิตของมวลมนุษย์ซึ่งสร้างความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านของวัตถุและจิตใจแก่ชาวล้านนา พร้อมทั้งยังเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีพื้นบ้านล้านนาที่ดีงาม มาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

Download : 254524.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕