หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันตำรวจโท นาวิน วงศ์รัตนมัจฉา
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
ผลสัมฤทธิ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ของพระธรรมจาริก
ชื่อผู้วิจัย : พันตำรวจโท นาวิน วงศ์รัตนมัจฉา ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล,ดร. ป.ธ. ๕, พธ.บ, M.A., Ph.D. (Buddhist Studies)
  ผศ. ดร. พูนชัย ปันธิยะ พธ.บ., ศศ.ม., Ph.D. (Buddhist Studies)
  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ป.ธ.๙, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Philosophy)
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

               การวิจัยเรื่อง ผลสัมฤทธิ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู  ของพระธรรมจาริกมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู  ๒. เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคต่อผลสำเร็จการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริก ในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู และ ๓. เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู  

               ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ และผสมด้วยการวิจัยภาคสนามสำรวจความคิดเห็นจากพื้นที่จริง ด้วยเครื่องมือวิจัยแบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย  ประชากรและกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเลาวู และบ้านศรีดงเย็น (บ้านต้นลุง) ที่พระธรรมจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา, ชนชาติพันธุ์ลีซูผู้ที่เคยบรรพชา-อุปสมบท, ผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนที่วัดศรีโสดา, พระธรรมจาริกที่เข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวลีซู  และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ประชาสงเคราะห์ชาวเขา)ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ลีซู จำนวน ๖๓ รูป/คน การวิเคราะห์ ใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหากับข้อมูลเอกสาร  ส่วนข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์ด้วยสถิติความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยกลาง ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปความเห็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง นำเสนอในแบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ และตารางประกอบคำบรรยาย

   ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า  

)  สภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูนั้น เป็นไปด้วยความเชื่องช้า มีความยากลำบากกว่าการเผยแผ่ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น พระธรรมจาริกได้ตั้งอาศรม แห่งแรกขึ้นที่บ้านเลาวู อำเภอวียงแหง และอาศรมแห่งที่ ๒ ที่บ้านศรีดงเย็น (บ้านต้นลุงหรือบ้านปางไม้แดง) อำเภอแม่แตง สภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีชาวลีซูได้นับถือพระพุทธศาสนาและส่งบุตรหลานเข้ามาบวชเรียน แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู มีความเชื่อดั้งเดิมในลัทธิผีสางเทวดา  เคารพนับถือบรรพบุรุษ อุปนิสัย อัตลักษณ์ของชนเผ่าลีซูตลอดจนวัฒนธรรมของชาวลีซู ต่างจากศาสนาพุทธมาก อุดมคติ ของชาวลีซูก็ต่างจากหลักการของพระพุทธศาสนาด้วย  จึงทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร      

               ๒) ปัญหาอุปสรรคต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริก ในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู มีหลายประการ เช่น . สภาพภูมิศาสตร์ การคมนาคม ยังไม่สะดวก ทุรกันดาร ลีซูบางหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องจุดตะเกียงหรือตะเกียงเจ้าพายุ หรือใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ด้าย  หรือไม้สนเกี๊ยะจุดให้แสงสว่างกลางคืน ข. คติความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม  ซึ่งลัทธิความเชื่อ ผีสาง เทวดาของ ชาวลีซูบางหมู่บ้านยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านคติชีวิตและค่านิยมเดิมก็เป็นอุปสรรค ซึ่งชาวลีซูมีภาษิตว่า “ทุกคนหัวเข่าเท่ากัน”  เป็นต้น  . ภาษาที่สื่อสาร ชาวลีซูโดยมาก ยังไม่สันทัดในการพูด อ่าน เขียน  ภาษาไทย   และโดยเฉพาะภาษาลีซูเอง ก็เป็นอุปสรรคสำหรับพระธรรมจาริก ที่ไม่ใช่ชาวลีซูแล้วเข้าไปเผยแผ่และอยู่ในหมู่บ้านลีซู  และ ง. ปัญหาด้านบุคคลากร ได้แก่การขาดแคลนพระธรรมจาริก หรือไม่มีพระธรรมจาริกไปประจำอยู่ในหมู่บ้านลีซู  ปัจจุบัน มีพระธรรมจาริก เพียง ๑ หรือ ๒ รูป ไปอยู่ในหมู่บ้านลีซู ๒ หรือ ๓ หมู่บ้านเท่านั้น 

      ๓) แนวทางที่เหมาะสมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมจาริกในกลุ่ม ชาติพันธุ์ลีซู

พระธรรมจาริก ควรมีการวางแผนเชิงรุก นั่นคือ ๑)  ควรมีแผนการหรือโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นกรณีพิเศษสำหรับชาวลีซู  )  ควรชักชวนชาวลีซูหันมาเรียนพระปริยัติธรรมและนักธรรมให้มากขึ้น    )  ควรให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรชาวลีซูที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและนักธรรมอย่างต่อเนื่อง  ) ควรกำหนดเป้าหมายว่า แต่ละปีจะอบรมแกนนำชาวพุทธลีซูกี่คน โดยการเปิดรับอาสาสมัครแกนนำชาวพุทธที่เป็นชาวลีซู  ทั้งชายและหญิงแล้วนำมาอบรม ทำหน้าที่ช่วยพระธรรมจาริกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

               สำหรับการสอนหลักพระพุทธศาสนานั้น พระธรรมจาริกควรเน้น หลักพุทธธรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ศีล ๕  สังคหวัตถุ ๔ ฆรวาสธรรม ๔ อริยสัจ  ๔ มรรค มีองค์ ๘  เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิสัยทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูให้ตรงตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ผลยิ่งขึ้น

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕