Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » » จากหมู่บ้านศีล ๕ พัฒนาสู่การเป็นต้นแบบหมู่บ้านช่อสะอาด: ถอดบทเรียนการพัฒนาจากบ้านท่าคอยนาง จ.ศรีสะเกษ
 
counter : 22610 time

''จากหมู่บ้านศีล ๕ พัฒนาสู่การเป็นต้นแบบหมู่บ้านช่อสะอาด: ถอดบทเรียนการพัฒนาจากบ้านท่าคอยนาง จ.ศรีสะเกษ''
 
Phramaha Hansa Dhammahaso (2558)

  

๑. เกริ่นนำ

หมู่บ้านศีล ๕ เกิดขึ้นครั้งแรกจากการดำเนินนโยบายโดยใช้ศาสนานำการเมืองของพระเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร  โดยมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างความปรองดอง และสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความกลมเกลียวกัน ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความมั่นคง และปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยให้พุทธศาสนิกชนได้ยึดหลักศีล ๕ มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ดังที่โอวาทที่ท่านได้ประทานในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ว่า “อันว่า ศีล ๕ เป็นการสำคัญมนุษย์ เมื่อทุกคนมีศีล ๕ ด้วยกัน สังคมนั้นๆ คือ ประชาชนย่อมจะอยู่เย็นเป็นสุข  เมื่อเป็นไปได้ ขอให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า หมู่บ้านรักษาศีล ๕”[1]

จากแนวทางดังกล่าวนั้น จึงเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ด้วยการให้ทุกภาคส่วนในประเทศร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ และทำให้ประชาชนมีความรักสามัคคีกัน โดยเริ่มจากครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งจะนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างปลอดภัยยั่งยืน[2]

ด้วยแนวทางที่สอดรับกันดังกล่าว จึงทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอให้มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบ และออกระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านศีล ๕ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เป็นฝ่ายเลขานุการในการขับเคลื่อนโครงการ ร่วมกันคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรเครือข่ายชาวพุทธ ดำเนินการในรูปคณะกรรมการในระดับตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงหมู่บ้าน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาหมู่บ้านศีล ๕ เป็นไปอย่างมีหลักวิชา และมีหลักการในการประพฤติปฏิบัตินั้น กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้จัดทำหนังสือชื่อ “คู่มือศีล ๕” ขึ้น  โดยอธิบายความหมายของศีล ๕ ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงประเด็นการพัฒนามนุษย์ด้วยหลักศีลธรรมตามกรอบของศีล เพื่อชี้นำว่า ศีล  เป็น นัยหนึ่งของศีล ในหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นวิธีการฝึกฝนอบรมตามหลักพระพุทธศาสนา ของการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา  เป็นก้าวแรกของการเรียนรู้เพื่อการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  ไม่เบียดเบียนกัน และทุจริตคดโกง  และในอีกด้านหนึ่ง ศีลยังเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส  ตัณหา ในใจมนุษย์  ศีล จึงเป็นทั้งสิ่งที่ควบคุมความประพฤติ และการขัดเกลาจิตใจตนเองของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน สำหรับสาวกผู้ยังครองเรือน มีวิถีฆราวาส พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกนำ ศีล ๕ มาปฏิบัติ เพื่อการดำเนินชีวิตในทางที่ดีงามเกื้อกูลการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และช่วยพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

          ในขณะเดียวกัน สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์การทุจริตคอรัปชัน ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ ปัญหาการทุจริตได้ส่งผลเสียทั้งในมิติของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก เพราะได้ก่อผลเสียในวงกว้าง จนทำให้องค์กรทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกพยายามที่จะหาช่องทางปิดช่องโหว่ดังกล่าว โดยการวางกรอบระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้อย่างรอบด้านและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียในภาพรวมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้พิพากษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ ว่า “...ในประเทศชาตินี้ ก็มีคนที่สุจริต และมีคนที่ทุจริต ถ้าคนที่สุจริตซึ่งมาก ไม่สามารถที่จะป้องกันตัวจากทุจริตชน ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจม”...”

 อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับชาติ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในบางพื้นที่ยังมิได้ลดลงตามความมุ่งมั่นของกลุ่มคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแสวงหามาตรการในการลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเมื่อประเมินจากตัวชี้วัดความโปร่งใส่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติแล้ว ตัวเลขของสังคมไทยโดยภาพรวมยังสะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตอย่างต่อเนื่องและกินพื้นที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

จากตัวแปรดังกล่าว จึงทำให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พยายามกระตุ้นเตือนให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้ตระหนักรู้ และให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้การพัฒนาไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละองค์กรและหน่วยงาน  และยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะทั้งสอง โดยเน้นให้เกิดการสร้างเครือข่าย รวมไปถึงการบูรณาการองค์ความรู้ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในอีกมิติหนึ่งนั้น มิอาจดำเนินการอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม หากไม่สามารถพัฒนาและให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับฐานรากของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่ “หมู่บ้าน” ฉะนั้น คำตอบในการป้องกัน และแก้ไขการทุจริตนั้น จึงเริ่มต้นที่หมู่บ้าน[3] ซึ่งมีจำนวนกว่า ๗๔,๙๕๖ หมู่บ้านในสังคมไทย จึงนำไปสู่การจัดทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด” โดยเลือกศึกษาในพื้นที่จริง ณ หมู่บ้านท่าค่อยนาง ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเหตุผลหลักในการเลือกพื้นที่ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้าน และเมื่อได้วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตามหลัก “SWOT” แล้วพบว่า หมู่บ้านดังกล่าวมีจุดอ่อนในมิติของการแย่งชิงสมบัติสาธารณะมาเป็นของตัวเอง การขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการกำหนดเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนา “หมู่บ้านช่อสะอาด”  อันเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ที่เน้นการพัฒนาพฤติกรรมให้มีหลักประกัน ๕ ด้าน คือ ประกันชีวิต ประกันทรัพย์สิน ประกันครอบครัว ประกันสังคม และประกันสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความสะอาดทั้งสิ่งแวดล้อมและอาชีพ ความสะอาดทางพฤติกรรม ความสะอาดทางจิตใจ และความสะอาดทางปัญญา  โดยมุ่งเน้นให้ประชากรในหมู่บ้านร่วมกันปฏิเสธ และไม่ยอมรับค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคดโกง โดยการเริ่มปลูกฝังอุดมการณ์ และค่านิยมดังกล่าวให้แก่เยาวชนในโรงเรียน โดยพระสงฆ์ และกลุ่มคนชนชั้นนำในหมู่บ้านได้เป็นต้นแบบและย้ำเตือนแนวคิด และอุดมการณ์ดังกล่าว ภายใต้แนวคิดหลัก (Core Concept)ที่ว่าความสะอาดในสังคม และประเทศชาติ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในชุมชน โดยการพัฒนาจากกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งในมิติของกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและ ความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ด้วยเหตุนี้ พลังร่วมของหมู่บ้านช่อสะอาดซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดคือดึงพลังร่วม (Synergy) ของบ้าน วัด และโรงเรียน  ในขณะที่หมู่บ้านแห่งนี้จะเน้นคำขวัญภายใต้การดำเนินการที่ว่า “หมู่บ้านสะอาด สังคมสะอาด ประเทศเจริญรุ่งเรืองสรุปแล้ว พลังของ “บวร” คือ บ้านวัด และโรงเรียนจะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการป้องกันการทุจริตคดโกงของกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน

การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดถือว่าเป็นการจัดการวิกฤติการณ์การทุจริตในลักษณะแนวราบ (Horizontal) มากกว่าการจัดการแบบแนวดิ่ง (Vertical) เป็นการเน้นการพัฒนา และป้องกันโดยใช้พลังร่วม (Synergy) ทางสังคม เข้ามาเป็นฐานรองรับ  ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาตามรูปแบบนี้ คือการใช้พลังของ “บวร”  คือ บ้าน วัด  และโรงเรียน โดยการทำหน้าที่ในการเชื่อมประสาน และกล่อมเกลาศาสนิกต่างๆ ในหมู่บ้านให้เกิดการตระหนักรู้ เกิดความละอายชั่ว และเกรงกลัวการทุจริตคิดคิดชุมชนของตัวเอง หากคนในสังคมเกิดการตระหนักรู้ว่า การคดโกงทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะในชุมชนย่อมส่งผลต่อการคดโกงทรัพยากร หรือแย่งชิงอนาคตลูกหลานของตนเองแล้ว เชื่อมั่นชุมชนย่อมเกิดพลังในการรักษาทรัพยากร หรือใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งจะเป็นพลังสำคัญในการปกป้อง และคุ้มครองผลประโยชน์ของชุมชนเอาไว้โดยมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดแย่งชิงไปเป็นสมบัติส่วนตน 

สรุปแล้ว พลังของบวรจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อการป้องกันการทุจริตคดโกง โดยใช้บทบาทของศาสนาเข้ามาเสริมสร้างพลังสะอาดดังกล่าว เมื่อพลังของศาสนาได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นพลังสะอาดเพื่อพัฒนาและป้องกันการทุจริตในหมู่บ้านแล้ว  หมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย ย่อมกลายเป็นหมู่บ้านสะอาด ไม่ว่าจะเป็นกายสะอาด พฤติกรรมสะอาด  จิตใจสะอาด และปัญญาสะอาด พัฒนาชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังคำขวัญที่ว่า ““หมู่บ้านสะอาด สังคมสะอาด ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง

จากแนวคิด และหลังการดังกล่าวข้างต้นนั้น นำไปสู่การตั้งคำถามว่า การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดในเชิงรูปธรรมควรจะมีหลักการ และวิธีการอย่างไร  อีกทั้งจะมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดให้เป็นรูปแบบได้อย่างไร จึงจะทำให้หมู่บ้านแห่งนี้สามารถต้นแบบของหมู่บ้านในสังคมไทยกว่า ๗๔,๙๕๖ หมู่บ้าน ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันนการป้องกันการทุจริตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

 

๒. จุดกำเนิดของอุดมการณ์การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

          การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดเพื่อเป็นต้นแบบของหมู่บ้านของช่อสะอาดที่จะนำไปขยายผลต่อในประเทศไทยกว่า ๗๐,๐๐๐ บาท  เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ ๒ นั้น  คณะผู้วิจัยได้ตีกรอบในการศึกษาจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  ถึงกระนั้น การที่จะลงพื้นที่จริงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาหมู่บ้านท่าคอยนางให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบช่อสะอาดนั้น จึงเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักการและเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอาศัยต้นแบบของหมู่บ้านที่เคยได้มีการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานในการรองรับการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักวิชาการของการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นหมู่บ้านช่อสะอาด

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุดมการณ์หมู่บ้านช่อสะอาดคือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทาน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ที่ว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดในตัวเอง เพื่อจักได้เป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่งคง”  จากพระราชดำรัสนี้ทำให้พบประเด็นของชุดความคิดใน ๒ ประเด็นใหญ่ คือ (๑) ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  และ (๒) ชีวิตที่สะอาด   หากเชื่อม ๒ ชุดความคิดนี้เข้าด้วยกัน จะพบว่า ความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากจะเป็นเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่างแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องให้ชีวิตมนุษย์มีความสะอาดด้วย ซึ่งความสะอาดนั้นมีค่าเท่ากับความซื่อสัตย์สุจริตสรุปได้ว่า บุคคลใดก็ตามดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมนับถือว่าสะอาด และเจริญมั่นคง

          ด้วยเหตุดังกล่าว คำว่า “ชีวิตสะอาด” นั่นเอง จึงเป็นที่มา หรือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด  ในความเป็นจริง โดยเนื้อแท้แล้ว การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดเริ่มต้นด้วยการพัฒนาชีวิตของแต่ละคนในหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนากลุ่มบุคคลเชิงปัจเจกในครอบครัว คือ “พ่อ แม่ และลูก” เพื่อให้มีชีวิตสะอาด  เมื่อนั้น ครอบครัวเหล่านั้นจะสะอาด ความสะอาดของแต่ละครอบครัวย่อมส่งผลทำให้หมู่บ้านสะอาด  อันจะต่อเนื่องไปสู่สังคม ประเทศชาติ และโลกสะอาดมากยิ่งขึ้นอันมีผลมาจากชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวสะอาด          ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิในหน้าถัดไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากแผนภูมิข้างบนจะพบประเด็นของการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีจะเห็น “ชีวิตสะอาดคือชีวิตที่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และหากขยายความของความว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” นั้น หมายถึง ความสุจริตทั้งกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพราะเมื่อกายมีอาชีพที่สุจริต พฤติกรรมไม่มุ่งแย่งชิง หรือทุจริตคดโกง จิตใจไม่ละโมบโลภมาก และปัญญาที่ไม่แสวงหาช่องทางทุจริต ย่อมส่งผล ความสุจริตของครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ และลูกด้วย  ความสะอาดของแต่ละครอบครัวจึงส่งผลต่อความสะอาดของหมู่ในภาพรวมอันเป็นหน่วยนับรวมของครอบครัว และจะส่งผลต่อสังคม ประเทศชาติให้มีความสะอาดต่อไป ดังนั้น หากหมู่บ้านสะสมความสะอาด ซื่อสัตย์สุจริตได้มากขึ้น ย่อมส่งผลต่อต่อประเทศชาติในฐานะที่จะมีภูมิคุ้มกันการทุจริตคดโกงต่อไป

จากจุดกำเนิดของช่อสะอาดดังกล่าว  จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและทุจริตแห่งชาติได้พัฒนาคำว่า “หมู่บ้านช่อสะอาด” เพื่อวางทิศทางการพัฒนาความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ฐานราก โดยเน้นพัฒนาคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” ให้เกิดขึ้นตั้งแต่หมู่บ้าน ฉะนั้น จะเห็นว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้กำหนดคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” ให้สอดรับกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในทุกบริบทของการนำเสนอหนังสือเรื่อง “หมู่บ้านช่อสะอาด”  แต่หนังสือเล่มดังกล่าว ได้เน้นอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงมิติของคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” ในกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด นอกจากความเข้าใจความหมายและที่มาแล้ว มิติการพัฒนาระดับฐานรากควรจะเป็นไปในลักษณะใด  ถึงกระนั้น ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “พลังผลักสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดในระดับฐานราก” เพื่อให้ครอบครัวได้เข้าใจมิติดังกล่าว 

๓. ความหมายของหมู่บ้านช่อสะอาด

          ตัวแปรสำคัญในการที่จะทำให้ความหมายของ “หมู่บ้านช่อสะอาด” ชัดเจน และครอบคลุมถึงเจตนารมณ์ในการพัฒนาคำนี้ คือ การกลับไปศึกษา และวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “ช่อสะอาด” และเมื่อกลับไปค้นหาความหมาย จะพบสัญลักษณ์ดังที่ปรากฏด้านล่าง

 

 
 

http://image.mcot.net/media/images/2014-05-12/1399884082865.jpg

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สัญลักษณ์ “ช่อสะอาด” นี้ มีแนวคิดมาจากช่อดอกไม้ ซึ่งเป็นของขวัญที่นิยมมอบให้กันในวาระสำคัญ และครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะร่วมมอบของขวัญอันยิ่งใหญ่แด่ผู้ตั้งมั่น และดำรงตนในความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการทำความดี ไม่โกง ไม่ทุจริตต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อชุมชน สังคม ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ โดยผ่านสัญลักษณ์ส่งเสริมคุณธรรมความดี ซึ่งได้รวบรวมทุกล้านมือขาวใสสะอาดของคนบนแผ่นดินไทย ทั้งในและนอกราชอาณาจักร โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ และศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น รวมเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผูกด้วยโบว์สีธงชาติไทย แสดงถึงการรวมพลังไทยทำดีทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน[4] ในขณะที่มือสีขาวสะอาดปรากฏรัศมีสีฟ้า กระจายออกมาโดยรอบหลายหลายขนาด และรูปแบบ ผูกมัดเป็นช่อเดียวกันด้วยโบว์สีธงชาติไทย แทนคนทั้งประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย เชื้อชาติ ศาสนา ที่รวมกันทำความดีโดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ผลลัพธ์ที่ได้คือ พลังพิเศษที่เปล่งออกมาสู่คนรอบข้าง

 

          เมื่อถอดสัญลักษณ์ของคำว่า “ช่อสะอาด” ที่สำคัญข้างต้น ทำให้พบความหมายที่น่าสนใจว่า “ดำรงตนในความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการทำความดี ไม่โกง ไม่ทุจริตต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อชุมชน สังคม ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ โดยผ่านสัญลักษณ์ส่งเสริมคุณธรรมความดี ซึ่งได้รวบรวมทุกล้านมือขาวใสสะอาดของคนบนแผ่นดินไทย ทั้งในและนอกราชอาณาจักร โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ และศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ได้เปิดเผยความหมาย” ฉะนั้น จากการแทนค่าดอกช่อสะอาดดังกล่าว จึงเป็นการสะท้อนแง่มุมของคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” และคำนี้สอดรับกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมีนัยสำคัญ  เชื่อมั่นว่า ผู้ออกแบบ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประสงค์ที่จะให้คำนี้เป็นคำที่สะท้อนการทำงาน และสะท้อนการทำงานให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการซื่อสัตย์สุจริต เพื่อน้อมถวายเป็นราชพลีแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังถ้อยคำที่ว่า “ล้างทุจริตให้สิ้นไปแผ่นดินไทย เทิดไท้องค์ราชัน”

          เมื่อกล่าวถึงความหมายของหมู่บ้านช่อสะอาด จึงสะท้อนนับที่สอดรับกับกับความหมายของช่อสะอาดเช่นกัน ฉะนั้น หมู่บ้านช่อสะอาดจึงหมายถึง “หมู่บ้านที่ประชาชนแต่ละคนได้ดำรงตนในความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการทำความดี ไม่โกง ไม่ทุจริตต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อชุมชน สังคม ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ”  ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตนั้น เป็นความซื่อสัตย์สุจริตที่สะท้อนผ่านทั้ง ๔ มิติ คือ  (๑) กายซื่อสัตย์สุจริต (๒) พฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต (๓) จิตใจซื่อสัตย์สุจริต  และ (๔) ปัญญาซื่อสัตย์สุจริต  และดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ความซื่อสัตย์สุจริตของชีวิตแต่ละคนย่อมส่งผลต่อตัวสถาบันครอบครัว  สังคม และประเทศชาติ ต่อเนื่องไปถึงโลกนี้เช่นกัน

 

๔. ค่านิยมหลัก (Core Value) ของคำว่า “หมู่บ้านช่อสะอาด”

ค่านิยมหลักในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดในงานนี้ คือ "ความสุจริตซื่อสัตย์ของหมู่บ้าน คือ รากฐานของความซื่อสัตย์สุจริตของประเทศ”   ซึ่งค่านิยมนี้อยู่บนพื้นฐานของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง”   ฉะนั้น “ความสะอาดของหมู่บ้าน จึงเป็นรากฐานความสะอาดของประเทศ”  ความสะอาดในสังคม และประเทศชาติ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในชุมชน โดยการพัฒนาจากกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งในมิติของกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity)

๕. ความมุ่งหมายของการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

          ความมุ่งหมาย หรือความคาดหวังในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดนั้น เกิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระประสงค์ที่จะเห็นชีวิตของแต่ละบุคคลในหมู่บ้านมีความซื่อสัตย์สุจริต  ดังที่พระองค์ทรงเน้นว่า “...ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง”  ความซื่อตรงจึงเป็นเกณฑ์วัดสำคัญในการบ่งชี้ว่า “ความดีที่มีอยู่ในแต่ละชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน” ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิด้านล่าง 

 

       
 
 
   
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          จากแผนภูมิจะเห็นว่า  เมื่อประชาคมในหมู่บ้านร่วมกันพัฒนาชีวิตให้อยู่บนเส้นทางของความดี โดยดำรงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ย่อมเชื่อมั่นได้ว่า “หมู่บ้านช่อสะอาด” ย่อมปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานสำคัญในการชี้วัดหมู่บ้าน  จุดมุ่งหมายถัดไปคือ ความสะอาดของหมู่บ้านจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติให้สะอาดมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อประเทศชาติสะอาด ย่อมจะทำให้ประชาชนช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

 

๖. ตัวแบบและองค์ประกอบของหมู่บ้านช่อสะอาด

          การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจองค์ประกอบผ่านตัวแบบ “หมู่บ้านช่อสะอาด”    จะเห็นว่า ตัวแบบ “หมู่บ้านช่อสะอาด” นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ ดังแผนภูมิ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          จากแผนภูมิที่ว่าด้วยตัวแบบหมู่บ้านช่อสะอาด ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการนั้น สามารถที่จะอธิบายโดยลำดับดังต่อไปนี้

          (๑) รากฐานของหมู่บ้านช่อสะอาด คือ “ความซื่อสัตย์สุจริต” ฉะนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตจึงอุปมาเหมือนกับ “เสาเข็ม” ของบ้านช่อสะอาด เพราะเสาเข็มที่ตัวยึดมิให้บ้านทรุดพังลง หรือโอนเอนตามแรงลม หรือสิ่งยั่วยุที่เข้ามากระตุ้นจิตใจให้หลงใหล จนทำให้ละโมบโลภมาก

          (๒) เสา ๔ ต้น คือ เสากายสะอาด เสาพฤติกรรมสะอาด เสาจิตใจสะอาด และเสาปัญญาสะอาด ที่ผุดขึ้นบนเสาเข็มคือความซื่อสัตย์สุจริต  ความเจริญงอกงาม และแข็งแกร่งของเสาเข็มย่อมส่งผลต่อเข้มแข็งของเสาแต่ละต้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ความสะอาดของเสาจะเกิดขึ้นไม่ได้หากรากฐานแห่งความซื่อสัตย์สุจริตไม่เข้มแข็งเพียงพอ

          (๓) หลังคา คือ สัญลักษณ์ของ “บวร” อันได้แก่บ้าน วัด และโรงเรียน ที่จะทำหน้าที่มุงบังเพื่อมิให้ฝน  ลมและแดนเผาลนจนเจ้าของบ้านอยู่ในบ้านมิได้ ฉะนั้น การทำหน้าที่ร่วมกันระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียนอย่างสอดประสาน จะทำให้คนอยู่อาศัย และตัวบ้านมีความคงทนมากยิ่งขึ้น

          (๔) ดอกช่อสะอาด คือ สัญลักษณ์ที่สื่อแสดงถึงความซื่อสัตย์สุจริตของชาวบ้าน อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการผู้ที่อยู่อาศัยอันได้แก่ พ่อ แม่ และลูก ได้ช่วยกันสร้างบ้านให้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น โดยใส่ใจทั้งเสาเข็ม ให้ความสำคัญกับเสา และหลังคาบ้าน  การรักษาบ้านดังกล่าว จึงทำให้ได้รางวัล คือ สัญลักษณ์ช่อสะอาด อันเป็นการสะท้อนมาตรฐานของการเป็นบ้านช่อสะอาด เพื่อเติมเต็มความเป็นหมู่บ้านช่อสะอาดต่อไป

 

๗. ปัจจัยและตัวแปรในการในพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดสัมฤทธิ์ผล

          การพัฒนาหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองมีคุณสมบัติที่โดดเด่นประการหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทาง คุณสมบัติดังกล่าว คือ การจัดวางสถานะให้การพัฒนาจิตใจเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา โดยนำเอาการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมาเป็นองค์ประกอบซ้าย และขวา การพัฒนาหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนั้น ได้ย้ำเน้นว่า รากฐานสำคัญคือการพัฒนาจิตใจให้พร้อมที่จะรองรับการพัฒนาในมิติอื่นๆ ทั้งนี้มิได้หมายความว่ามิติอื่นๆ ไม่สำคัญ  การพัฒนาเช่นนี้ สะท้อนผ่านรูปแบบการพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ.๒๕๑๗ ที่มองว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาตินั้น เน้นไปที่การพัฒนาวัตถุมากจนเกินไป ทำให้ขาดมิติที่สำคัญคือ มิติทางจิตใจ ฉะนั้น นักคิด นักวิชาการ และนักพัฒนาจึงหันกลับมาพัฒนาเพื่อรองรับวัตถุ ให้รู้เท่าทันวัตถุ และอยู่กับวัตถุโดยไม่ตกเป็นทาส

          ทั้งนี้ การจัดวางสถานการณ์พัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดก็เช่นเดียวกัน แม้ว่า การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดจะเน้นทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนก็ตาม  แต่การที่คณะผู้วิจัยได้จัดวางให้ “วัด” อยู่ด้านล่างนั้น เพราะมองว่า “วัด” จะเป็นฐานรองรับที่สำคัญในการนำบ้าน และโรงเรียนมาร่วมพัฒนา เพราะมิติของวัด คือ มิติทางด้านจิตใจ  หากบ้าน และโรงเรียน ขาดวัด คือมิติด้านจิตใจ นั่นย่อมหมายถึง มิติแห่งคุณธรรมและจริยธรรมจะขาดหายไป คงเหลือแต่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมให้เดินรุดหน้าไป จนขาดมิติแห่งคุณธรรมจริยธรรม

เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้ว ปัจจัย และตัวแปรในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด คือ “อาศัยพลังของบวร” ได้ แก่บ้าน วัด และโรงเรียนมาผนึกกำลังการป้องกันและปราบปรามโดยอาศัยพลังของวัด คือพลังแห่งศีลธรรมมาเป็นหลักในการป้องกันโดยอาศัยพลังของบ้านและโรงเรียนมาเสริมพลังนี้ ในขณะเดียวกันพลังของบ้านและโรงเรียนมาเสริมสร้างพลังในการป้องปราม และป้องปราบมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยพลังวัดมาเป็นส่วนเสริมแรง และกระตุ้นเตือนได้เช่นกัน ดังภาพ

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          สรุปแล้ว การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด เพื่อให้สะอาดทั้งกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยพลังอ่อนนุ่ม (Soft Power) ของวัด หรือพลังของศีลธรรมเข้ามาช่วยเสริมแรงในการป้องกันการทุจริต โดยใช้พลังของบ้านและโรงเรียนเข้ามาช่วยเติมเต็ม  ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะใช้อำนาจที่แข่งแกร่ง (Hard Power) ของบ้านและโรงเรียนเข้าช่วยป้องปราม และปราบปรามให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น  ถึงกระนั้น พลังบวรทั้ง ๓ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้าง และพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด เพื่อให้สังคม และประเทศชาติสะอาดปราศจากการทุจริตคอรับชันต่อไป

 

๘. กลไกในการขับเคลื่อนหมู่บ้านช่อสะอาด

          กลไกในการขับเคลื่อนต้องอาศัยทั้งพลังภายใน และพลังนอกนอกให้สอดประสานกัน โดยอาศัยทั้งสองพลังเข้าไปมาช่วย ตามกรอบของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ดังภาพ

 

http://www.hsri.or.th/sites/default/files/browse/002.gif

          จากภาพนั้นสามารถอธิบายได้บนฐานของการลงพื้นที่ทำงานพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดได้ว่า การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด ต้องอาศัยทั้งความรู้ที่อยู่ในพื้นที่ และความรู้นอกพื้นที่ เพื่อผนึกกำลังกันสร้างเครื่องมือพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางสังคมที่อยู่ภายในหมู่บ้านเป็นผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  อีกทั้งใช้กลไกภายนอกเข้าไปชี้นำ และชักนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติทางศีลธรรมได้ทำให้หมู่บ้านตระหนักรู้ถึงการเสียสละ และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันมากยิ่งขึ้น แทนที่จะแย่งชิงและครอบครองดังที่เกิดขึ้นในอดีต ในขณะที่มิติทางกฎหมายมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความตระหนักรู้ และคืนสมบัติสาธารณะให้แก่หมู่บ้าน  นอกจากนี้ การที่จะพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดทั้ง ๔ มิติ จำเป็นต้องอาศัยนโยบาย หรือกลุ่มบุคคลที่คุมนโยบายการพัฒนาตั้งแต่ระดับนักการเมือง และข้าราชการประจำทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น เพื่อผนึกกำลังร่วมกันพัฒนา จึงจะทำให้การพัฒนาประสบความสำคัญตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางเอาไว้

๙. กระบวนการและขั้นตอนการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด
          การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดเป็นการพัฒนาความสะอาดให้เกิดขึ้นตั้งแต่ฐานรากของสังคมไทย ฉะนั้น การพัฒนาจึงเริ่มต้นจากการพูดคุย การแสวงหาทางเลือกตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน  โดยมีขั้นตอนและกระบวนการในการพัฒนาตามลำดับดังต่อนี้

          (๑) ควรเริ่มต้นประชุมผู้นำระดับพื้นที่ในหมู่บ้านให้ครบทั้งองค์ประกอบ “บวร” คือ บ้าน วัด และโรงเรียน  ประกอบด้วยเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ครู สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้ม  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด เพื่อให้ผู้นำกลุ่มต่างๆ ได้เข้าใจ และเห็นภาพในการพัฒนาร่วมกัน
          (๒) ศึกษาและวิเคราะห์สภาพจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และความเสี่ยง (
SWOT Analysis) ของหมู่บ้านอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะได้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริงว่า ทุกกลุ่มทั้งผู้นำและชาวบ้านมองว่าเป็นปัญหาร่วมกัน ที่จะต้องบริหารจัดการแก้ไขหรือไม่  และเมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกัน จะนำปัญหาและอุปสรรคมาสรุป และนำเสนอ เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

          (๓) จัดทำประชาคมหมู่บ้าน  โดยให้ผู้นำในหมู่บ้านมาร่วมนำเสนอสภาพปัญหา และอุปสรรคของหมู่บ้านเกี่ยวกับจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง เพื่อให้ชาวบ้านได้แสดงความเห็น และปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนา  อันเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ให้กลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึงข้อมูลโดยการสร้างการมีส่วนร่วม (Public Participation) ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมแสดงความเห็น ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับประโยชน์

          (๔) กำหนดทิศทางในการพัฒนาร่วมกันว่า เป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายที่ชาวบ้านในหมู่อยากประสงค์จะเห็นร่วมกันคืออะไร และทุกคนกำลังจะเดินทางไปในทิศทางใด   ทิศทางนั้นไม่ควรจะกว้างมากเกินไป ควรจะจำกัดวงเฉพาะ หรือตีกรอบให้สะท้อนกับสภาพปัญหาที่หมู่บ้านกำลังประสบอยู่

          (๕) นำแผนพัฒนาหมู่บ้านที่ผ่านการออกแบบและปรับในเวทีต่างๆ มาประยุกต์ และปรับใช้ให้สอดรับกับบริบทของหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอดรับกับสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านการวิเคราะห์จุดอ่อน และจุดแข็ง ที่หมู่บ้านกำลังเผชิญอยู่ และชาวบ้านมุ่งหวังที่จะแสวงหาทางออกร่วมกัน

          (๖) กำหนดกิจกรรม และโครงการให้สอดรับกับสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างผู้นำกลุ่มต่างๆ และชาวบ้าน  ทั้งนี้ กิจกรรมและโครงการต่างๆ ต้องสอดรับกับบริบทที่แท้จริงของหมู่บ้าน ทั้งมิติด้านวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี และงบประมาณ

          (๗) ดำเนินการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการทำงานตามหลักของ PDCA คือ การวางแผน (Plan) การลงมือทำ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการดำเนินการปรับปรุง (Act)   เพื่อให้ทุกกิจกรรมและโครงการได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

๑๐. แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

          แนวทางประกอบด้วย ๔ แนวทางคือ เริ่มต้นจากการพัฒนากายให้สะอาด กล่าวคือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาสิ่งอื่นๆ  ต่อด้วยการพัฒนาร่างกายให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนโดยการพัฒนาอาชีพให้สามารถดำรงตนอยู่อยู่ได้อย่างมั่งมีศรีสุข รวมไปถึงการพัฒนาเรื่องการออม การจัดทำบัญชีครัวเรือน และการพัฒนาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ต่อเนื่องด้วยพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสังคม ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ  พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งมีสุขภาพจิตใจ สมรรถภาพดี และคุณภาพดี รวมไปถึงการพัฒนาปัญญาให้เข้มแข็งสามารถเข้าใจระบบและกลไกความทุจริตคอรัปชั่น จะส่งผลต่อการมอง และการกำหนดท่าทีให้สามารถเข้าใจ และหาแนวทางบริหารจัดการให้ชีวิตและสังคมอยู่บนฐานของความสะอาด

การพัฒนา หมู่บ้านสะอาด ให้ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อที่จะสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรดำเนินการอยู่บนแนวทางทั้ง ๔ ประการ คือ

(๑) การพัฒนากายสะอาด (Physical Development) จุดเริ่มต้นในการพัฒนาควรมุ่งไปที่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยภายนอกให้เอื้อดำรงชีวิตของมนุษย์ จากตัวแปรดังกล่าว รูปแบบการการพัฒนาของประเทศจีนจึงพยายามย้ำเน้นว่า อาหารมาก่อน พูดคุยกันคราวหลัง” (Food First Speech Later) สอดรับกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เน้นในประเด็นเดียวกันว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งจะเห็นว่า ความหิวโหยหรือความยากจนเป็นตัวแปรสำคัญที่ชุมชนจะต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความอยู่รอดทางกายภาพ มิฉะนั้น ประเด็นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น การปล้นจี้ หรือขโมยเพื่อความอยู่รอดในเชิงกายภาพด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นจะต้องกระตุ้นการพัฒนาความอยู่รอดในเชิงกายภาพโดยการกระตุ้นให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตโดยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส”

(๒) การพัฒนาพฤติกรรมสะอาด (Behavior Development) “ศีล ๕ จัดได้ว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการเสริมสร้างสันติภาพในหมู่บ้านเพราะศีล ๕ จัดได้ว่าเป็น อภัยทานที่กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติ และกลุ่มคนต่างๆ ไม่หวาดระแวง และหวาดกลัวซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ เราจะเริ่มต้นทำให้หมู่บ้านเป็น เขตอภัยทานซึ่งสะท้อนถึงการเป็นหมู่บ้านแห่ง การให้อภัยคือ การไม่หวาดกลัวซึ่งกันและกันเพราะเป็นการอยู่ร่วมกันที่เน้นความรัก เคารพ ให้เกียรติเพื่อนร่วมบ้าน การเคารพในทรัพยากรของบุคคล การเคารพในคู่ครอง การมีสัมมาวาจา และการมีสติไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขด้วยเหตุนี้ จึงควรกระตุ้นให้หมู่บ้านได้ตระหนักรู้ถึงผลเสียของการผิดศีลข้อ ๒ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพราะผลเสียที่ยิ่งใหญ่ต่อการผิดศีลข้อนี้ จะทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมุ่งเน้นประโยชน์เฉพาะตน โดยไม่ตระหนักรู้ถึงความอยู่รอดของสังคมโดยภาพรวม

(๓) การพัฒนาจิตใจสะอาด (Mental Development) พระพุทธศาสนาถือว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้และเมื่อจิตที่ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาจะนำไปสู่ สันติภายในดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มีจากหลักการนี้ จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมการพัฒนาจิตใจของชาวบ้าน ทั้งผู้นำ ครู ชาวบ้าน และนักเรียน เพื่อพัฒนาจิตของชาวบ้านให้มีคุณภาพจิตดี สุขภาพจิตดี และสมรรถภาพจิตดี เพื่อพัฒนาจิตใจให้กลุ่มคนต่างๆ ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้นำชุมชนได้ตระหนักรู้ถึงการละอายต่อการทำชั่ว และเกรงกลัวต่อการทุจริต  โดยการย้ำว่า การทุจริตนอกจากจะก่อให้เกิดบาปกรรมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว ยังส่งผลเสียโดยภาพรวมต่อหมู่บ้านในฐานะเป็นศัตรูของการพัฒนาหมู่บ้านในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งจะต้องผลเสียต่อการเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไปที่จะยึดถือเป็นแบบอย่าง

(๔) การพัฒนาปัญญาสะอาด (Intellectual Development) ในขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นว่า ปัญญาเป็นแสวงสว่างในโลก ปัญญาที่เกิดจาการพัฒนานั้น จะทำให้กลุ่มคนต่างๆ ในหมู่บ้าน ได้ตระหนักรู้ถึงการไม่ใช้ปัญญาที่มีไปสู่การแสวงหาประโยชน์ หรือแสวงหาช่องทางในการเอารัดเอาเปรียบ และทุจริตคิดมิชอบต่อชุมชนของตนเอง  ปัญญาที่ได้รับการพัฒนาจะนำไปสู่การแสวงหาช่องทางในพัฒนาประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนอย่างสูงสุด โดยใช้ทรัพยากรและทุนที่ประหยัดที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในหมู่บ้านหรือที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยของรัฐหรือนอกรัฐก็ตามปัญญาที่ถือได้ว่าทรงพลังต่อชุมชนมากที่สุดคือ “พลังปัญญาร่วม” (Wisdom with) ที่ชุมชนมุ่งมั่นที่จะร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันตัดสินใจ และร่วมกันรับผลประโยชน์ และรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชุมชน

จากตัวชี้วัดด้านการพัฒนาหมู่บ้านสะอาดทั้ง ๔ ประการดังกล่าวนั้น  เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดพลังของการป้องกันการทุจริตที่ฐานราก เพราะฐานรากของสังคม และประเทศคือ “หมู่บ้าน” การพัฒนาหมู่บ้านให้ปลอดจากการทุจริต ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสังคมให้ปลอดจากการทุจริต ซึ่งการจัดการกับปัญหาการทุจริตตั้งแต่พื้นฐานของสังคมย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่าการเข้าไปทำหน้าที่ในการจัดการชนชั้นนำที่เป็นนักปกครอง เพราะนักปกครองเหล่านี้สร้างตัวขึ้นมาจากชุมชนฐานราก ทั้งกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจต่างๆ 

๑๒. แผนพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด
          สำหรับแผนพัฒนาหมู่บ้านนั้น  ตามกรอบในการทำงานควรจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ มาตรการ ตัวชี้วัดกลยุทธ์ เป้าหมาย กิจกรรม/โครงการ และตัวชี้วัดกิจกรรม/โครงการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๓.๑๒.๑ วิสัยทัศน์ (Vision)

          ยกระดับหมู่บ้านให้สะอาดทั้งมิติของกาย  พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา  ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  และยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

๓.๑๒.๒ พันธกิจ  (Missions)

๑) พัฒนาและปรับปรุงมิติทางสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและเลี้ยงตัวเองได้
          ๒) พัฒนาและเสริมสร้างมิติทางพฤติกรรมให้สะอาด
          ๓) พัฒนาจิตใจของชุมชนให้สะอาด
          ๔) พัฒนาและเสริมสร้างปัญญาให้สะอาด

๓.๑๒.๓ เป้าประสงค์ (Goals)

          ๑) สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และชุมชนมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
          ๒) ชุมชนมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน และแย่งชิงสมบัติสาธารณะมาเป็นของส่วนตน
          ๓) ชุมชนมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน
          ๔) ชุมชนมีปัญญาสร้างสรรค์สิ่งดีแก่ผู้อื่นไม่แสวงหาช่องทางทุจริต และคดโกง

 

๓.๑๒.๔ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์

          ๑) พัฒนาและปรับปรุงปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อย และส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน

          กลยุทธ์

          (๑) พัฒนาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และเป็นระเบียบร้อยงดงามสะอาดตา
                   (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนยึดมั่นในเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
                   (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนออมทรัพย์ และจัดทำบัญชีครัวเรือนอย่างเป็นระบบ

          ๒) พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนมีพฤติกรรมสะอาด ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ไม่เบียดเบียนและคดโกงสมบัติของบุคคลอื่น และสมบัติสาธารณะมาเป็นของตัวเอง

          กลยุทธ์

(๔) พัฒนา และส่งเสริมให้ชุมชนยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม เช่น ศีล ๕ และหลักการของศาสนาที่ตัวเองเคารพนับถือ

(๕) ส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้นำของชุมชนกำหนดระเบียบและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างกลไกในการบริหารชุมชนให้เกิดสุจริต และความโปร่งใส

          ๓) พัฒนาให้ชุมชนมีจิตใจสะอาด เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน

          กลยุทธ์

          (๖) ส่งเสริมและพัฒนาจิตใจของชุมชนให้มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักเสียสละ และแบ่งปัน

          ๔) พัฒนาชุมชนให้มีปัญญาสะอาด  สร้างสรรค์สิ่งดีแก่ผู้อื่น ไม่ใช้ปัญญาแสวงหาช่องทางทุจริต และคดโกง

          กลยุทธ์

(๗) ส่งเสริมและพัฒนาปัญญาให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
(๘) ส่งเสริมและพัฒนาปัญญาให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพจิตใจให้รู้จักเสียสละ
(๙) ส่งเสริมและพัฒนาปัญญาให้ชุมชนสามารถหมู่บ้านช่อสะอาดได้อย่างยั่งยืน

 

๑๓. ผลลัพธ์ของการพัฒนาสู่การเป็นหมู่บ้านช่อสะอาด

ผลลัพธ์จากการดำเนินการตลอดระยะ ๔ เดือน สามารถประเมินความสำเร็จโดยแบ่งตาม ๔ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และส่งเสริมอาชีพ ชุมชน ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนได้ร่วมกันพัฒนา และจัดผังหมู่บ้านให้พื้นที่รอบพื้นที่ของบ้าน วัด โรงเรียนให้มีรั้วรอบขอบชิดชัดเจน อีกทั้งทำความสะอาดเรียบร้อย นอกจากนี้ ได้พัฒนาพื้นที่ของวัดให้เป็นระเบียบ จัดผังวัด และปลูกต้นให้ให้เป็นพื้นที่พักผ่อน ปฏิบัติธรรม รวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจ   ครอบครัวของนางเหลือง ได้พัฒนาเป็นครอบครัวต้นแบบ   ที่พัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้กับพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งสามารถเลี้ยงชีพจากผลผลิต อีกทั้งนำผลิตที่เหลือที่เป็นผลิตพันธุ์ปลอดสารพิษไปขายในตลาดเช้าของอำเภอ นำเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือ ไม่เป็นหนี้สิน  ชุมชนเห็นความสำคัญของการออมทรัพย์ในแต่ละเดือน โดยการแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑ ส่วนนำไปเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ๒ ส่วนนำไปลงทุนเพิ่มเติม และ ๑ ส่วนฝากเอาไว้ใช้คราวจำเป็น  โดยในส่วนที่ ๔ นั้น เด็กนักเรียน และชาวบ้านได้นำเงินไปฝากไว้ในธนาคารเพิ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนมีพฤติกรรมสะอาดซื่อสัตย์สุจริต  ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่ดำเนินการโดยสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ภายใต้การดำริของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ภายหลังที่เข้าร่วมโครงการตลอด ๓ เดือน ทำให้บ้านท่าคอยนางได้รับรางวัล “ป้ายหมู่บ้านรักษาศีล ๕” จากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตลอด ๔ เดือนในการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด ผู้นำได้พูดคุยกับประชาชนบางกลุ่มที่ยึดครองพื้นที่ซอย และทางที่เป็นสมบัติสาธารณะของชุมชน และผลจากการพูดภายใต้การย้ำเตือนให้ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นของการคืนพื้นที่ และบนฐานของกฎหมาย จึงทำให้ประชนทุกคนที่รุกล้ำคืนซอยและทางสาธารณะทั้งหมด จนนำไปสู่การปรับปรุงพื้นที่รอบกัน และวางผังเป็นเขตแดนต่อไป   ภายหลังที่ได้ซอย และทางคืนมาจากการรุกล้ำแล้ว ผู้นำชุมชนจึงได้ประชุม แล้วออกระเบียบว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการรุกล้ำ และทุจริตในมิติอื่นๆ ทั้ง ระเบียบดังกล่าวได้นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.) จำนวน ๕ คน เพื่อทำหน้าที่แทนชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาชุมชนมีจิตใจสะอาด ซื่อสัตย์สุจริต การพัฒนาจิตใจให้สะอาดเป็นฐานสำคัญในการป้องกันการทุจริต ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นจะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาใจของชุมชนตามโครงการเข้าพัฒนาจิตใจให้ใสสะอาด โดยการทำตักบาตร ทั้งวันธรรมดาและวันพระ รวมไปถึงการสวดมนต์ รักษาศีล ฟังเทศน์ เรื่อง หิริโอตตัปปะ นอกจากนี้ ได้กระตุ้นให้ครอบครัวได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของความรัก เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาความซื่อสัตย์สุจริต รวมไปถึงเสริมสร้างพลังค่ายช่อสะอาดเพื่อเด็กเยาวชนและพ่อแม่ได้เห็นถึงผลดีของความซื่อสัตย์สุจริตในการดำเนินชีวิต

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ พัฒนาชุมชนให้มีปัญญาสะอาดซื่อสัตย์สุจริต   พ่อคำเดื่อง ปราชญ์ชาวบ้านได้เป็นแกนหลักในการนำเสนอหลักการและแนวทางในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์  โดยเป็นการเรียนรู้จักธรรมชาติ เพื่อที่จะได้อยู่กับธรรมชาติอย่างประสานสอดคล้อง มนุษย์จะต้องอาศัยพลังงานธรรมชาติ ปุ๋ยธรรมชาติ  เพื่อให้ธรรมชาติได้หล่อเลี้ยงมนุษย์  นอกจากนี้  เน้นการปรับวิถีธรรมชาติมาเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เน้นการพักอาศัย และเยี่ยมชมวิถีเกษตร  การย้ำเน้นให้ชุมชนสามารถใช้เครือข่ายของแต่ละคุ้ม       มาช่วยกันระวังภัยของการทุจริต โดยให้แต่ละคุ้มช่วยกันย้ำเตือนภัย และเฝ้าระวังมิให้ชุมชนรุกล้ำที่สาธารณะดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยการนำเสนอข่าวในพื้นที่สาธารณะทั้งในกลางหมู่บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่อง  การพัฒนาเยาวชน และคนรุ่นหนุ่มสาว ให้สามารถใช้สื่อสาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ทีวี วารสารหมู่บ้าน แผ่นผับ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น Facebook, Blog  และ Twitter  เข้ามาช่วยสร้างเครือข่ายกับภายนอกหมู่บ้าน และภายในหมู่บ้าน เพื่อย้ำเตือนให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ และกระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

ผลผลิต (Outcome) ที่ปรากฏชัดแจ้งอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินโครงการและส่งผลกระทบ (Impact) ต่อการเป็นหมู่บ้านช่อสะอาดของชุมชน ประกอบไปด้วย (๑) การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (๒) การคืนพื้นที่สาธารณะที่รุกล้ำ (๓) การตั้งกติกา และตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.) และ (๔) การประยุกต์หลักศาสนา และความเชื่อมาเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต  สำหรับตัวแปร และเงื่อนไขที่กระตุ้นให้เกิดความสำเร็จเกิดขึ้นจากตัวแปรภายในของชุมชนเองที่ฐานความเชื่อ หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของของชุมชนที่ระเบิดจากภายในโดยมุ่งหวังความเปลี่ยนแปลงในเชิงร่วม แล้วมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน และมีศักดิ์ศรี 

หลักความเชื่อพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องปู่ตาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านได้ช่วยเสริมแรงภายในให้ชุมชนเกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปจนนำไปสู่การประพฤติตัวและดำรงตนอยู่บนฐานของศีล  ไม่เบียดเบียนโดยการทุจริตคดโกงเพื่อนร่วมหมู่บ้าน และสมบัติสาธารณะ  การกระตุ้นให้เกิดพลังในประเด็นที่ว่า “คืนซอยให้ลูก คืนทางให้หลาน” เป็นปัจจัยที่ส่งต่อการปรับพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่รุกล้ำพื้นที่โดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วิสัยทัศน์ของคนสมัยรุ่นพ่อแม่ที่ว่า ทางและซอยไม่จำเป็นต้องกว้างขนาด ๑๐ เมตร และ ๘ เมตร เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการคมนาคม เพราะการเดินทางด้วยเท้า หรือจักรยาน รวมไปถึงการเป็นช่องทางเดินของสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป ชุมชนมีรถจักรยานยนต์ รถเก๋ง และรถขนส่ง จึงทำให้เกิดความจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากยิ่งขึ้น  เหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนต้องหันกลับมาพูดคุยเพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่บางคนต้องคืนพื้นที่ที่รุกล้ำ  กระบวนการชี้นำจึงควบคู่ไปกับการเจรจาไกล่เกลี่ยของปู่ย่าตายาย นอกเหนือไปจากนี้คือกระบวนการกดดันทางสังคมให้คืนซอยและหนทางที่รุกล้ำ จนในที่สุด ชุมชน จึงได้รับซอย และหนทางกลับคืนมาทุกพื้นที่ของการพูดคุย

การที่ป้องกันมิให้เกิดการรุกล้ำ หรือการประพฤติทุจริตคดโกงในมิติอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนต้องออกระเบียบและกฎเกณฑ์ รวมไปถึงการวางแผนผังหมู่บ้าน โดยการลงนามร่วมกัน  ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน จำนวน ๕ คน เพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน การพิจารณาตัดสิน และการเปิดพื้นที่ให้มีการคุยระหว่างชุมชนมากยิ่งขึ้น

๑๔. ปัจจัย และเงื่อนไขความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

          จากผลลัพธ์ของความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาหมู่บ้านให้กลายเป็นชุมชนแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งอาชีพ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญานั้น  สิ่งที่ปรากฏชัดจนกลายเป็นผลผลิตที่สามารถสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปในการดำเนินโครงการนั้น ประกอบไปด้วย (๑) การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (๒) การคืนพื้นที่สาธารณะที่รุกล้ำ (๓) การตั้งกติกา และตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.) และ (๔) การประยุกต์หลักศาสนา และความเชื่อมาเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต ดังจะเห็นได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยและเงื่อนไขความสำคัญผ่านการเข้าสู่การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด ต่อไปนี้

๑. การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่สามารถกระตุ้นให้เกิด “ครอบครัวต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” คือ  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในฐานะที่พระองค์ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพในระดับชุมชน   จากการศึกษาและทดลองพบว่า ปรัชญาของพระองค์นับเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน  นางเหลือง และครอบครัวได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ ผ่านการกระตุ้น และผลักดันจากการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดเพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญดังกล่าว ประสานกับพื้นฐานของสามีของนางเหลืองที่ทำงานด้านการเกษตรมาก่อน จึงเข้าใจรูปแบบและกลไกต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง               ในขณะเดียวกัน ความพร้อมด้านพื้นที่รองรับการพัฒนาจึงถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ครอบครัวนางเหลืองสามารถขุดบ่อ และใช้พื้นที่ของตัวเองปลูกพืชหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งทำให้พืชเหล่านั้นมากพอ และสามารถเก็บเกี่ยวไปรับประทานและขายในหมู่บ้าน โรงเรียน และอำเภอ

จากการสังเกต และการสัมภาษณ์ พบว่า โรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งรองรับสินค้าอย่างเพียงพอ      แต่ปัญหาที่พบคือ นางเหลืองไม่สามารถที่จะนำสินค้าไปขายในโรงเรียนเพื่อนำไปเป็นอาหารของเด็กนักเรียนได้อย่างเพียงพอ  ความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงของนางเหลืองจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะกระตุ้นให้ครอบครัวอื่นๆ ได้เห็นมาสนใจและให้ความสำคัญที่จะเข้าสู่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครอบครัวต่อๆ ไป ผ่านการกระตุ้น และการสานต่อจากนักศึกษา และหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งความรู้และวัตถุดิบ เพื่อให้เกิดการพัฒนายั่งยืนต่อไป โดยใช้ครอบครัวนางเหลือง         ที่เป็นทุนของชุมชนมาเป็นพัฒนาตัวชุมชนเองต่อไป

๒. การคืนพื้นที่สาธารณะที่รุกล้ำ  ปัจจัยและตัวแปรสำคัญที่ทำให้ครอบครัวจำนวน ๒๕ ครอบครัวในชุมชนต้องตัดสินใจคืนสมบัติสาธารณะ อันได้แก่ ซอย และถนนที่รุกล้ำ เกิดจากแรงผลักที่สำคัญ ๔ ประเด็น กล่าวคือ

(๑) พื้นฐานของชุมชนที่ได้รับการบ่มเพาะความซื่อสัตย์สุจริตมาอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นทุนทางจิตใจของชุมชน  ที่ชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ผ่านกิจกรรมการทำทาน ศีล และภาวนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คำถามมีว่า หากชาวบ้านมีศีล สมาธิ และปัญญาที่งดงามแล้ว เพราะ  เหตุใด จึงได้รุกล้ำสมบัติสาธารณะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก  จากการสังเกตและการสัมภาษณ์พบว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายรุ่นก่อนๆ จนถึงรุ่นปัจจุบันมองว่า ซอยมีความกว้าง ๘ เมตร และหนทางที่มีความกว้าง ๑๐ เมตรนั้น ได้รับการใช้สอยได้เต็มศักยภาพ จึงทำให้บางครอบครัวลุกล้ำเพื่อจะได้ใช้สอยทำเกษตรกรรม การปลูกต้นไม้ และการทำสวน  จะเห็นว่า เมื่อชุมชนต้องการพื้นที่ดังกล่าวคืน ชาวบ้านบางส่วนที่รุกล้ำ จึงตัดสินใจที่จะคืนได้โดยง่าย เพราะพื้นที่ดังกล่าวมิได้เป็นของตนเองตั้งแต่แรก สรุปแล้ว พื้นฐานทางใจที่ดีย่อมส่งผลให้ชุมชนไม่มุ่งหวังที่จะมีเจตนาทุจริตคดโกงตั้งแต่แรกเริ่ม

(๒) การเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ จากการที่บ้าน วัด และโรงเรียน ในฐานะ          "พลังบวร" ได้ประพฤติตัว ดำรงตนอยู่ในศีล ๕ มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงได้รับการพิจารณาจาก     คณะกรรมการฯ ให้เข้ารับป้ายรักษาศีล ๕ จากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ในฐานะตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ๒ พฤศจิกายน ๕๗ จึงเป็นวันสำคัญของชาวบ้านท่าคอยนางที่ประกาศเพื่อย้ำเตือน และป่าวร้องในการชนะตัวเองว่า "มีทั้งป้าย ได้ทั้งศีล" โดยผู้แทนของบวร ได้แก่ นายคำพันธ์ แสงอุ่น ผู้ใหญ่บ้าน พระอธิการสุทิน ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาส และนางพิมพ์จันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าคอยนาง ได้ร่วมกันเปิดป้ายหมู่บ้านศีล ๕ หน้าวัดบ้านท่าคอยนาง อันเป็นการย้ำเตือนสติในทุกวินาทีได้อย่างองอาจว่า "เราคือหมู่บ้านรักษาศีล ๕"

ตัวแปรของการเป็นหมู่บ้านศีล ๕ นั้น ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนยึดมั่นอยู่ในศีลข้อที่ ๒ อันเป็นการไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยความสมัครใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันหนึ่งชุมชนต้องการสมบัติของชุมชนคืน จึงเป็นการง่ายที่จะคืนซอย และหนทางดังกล่าว นอกจากนั้น การตระหนักรู้ในความเป็นหมู่บ้านศีล ๕ ได้เป็นเครื่องมือให้ชุมชนย้ำเตือนซึ่งกันและกัน โดยการประพฤติตัวดำรงตนให้สอดรับกับแนวทางของศีล ๕ บนฐานของชุดความคิดที่ว่า “การแบ่งปันความรัก การแบ่งปันสิ่งของ การแบ่งปันเกียรติยศ การแบ่งปันคำพูดดีๆ และการแบ่งปันลมหายใจให้แก่กันและกัน” จึงกลายเป็นพลังที่ทำให้ชาวบ้านยึดมั่นอยู่ในพลังของความซื่อสัตย์สุจริต

(๓) การใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเข้ามาช่วยในการพูดคุยด้วยวิธีการสานเสวนา  กลุ่มคนจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านมองเห็นถึงผลเสียของการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ จึงพยายามแสวงหาแนวทางในการพูดคุย  ซึ่งการคุยกับผู้รุกล้ำย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินการ  จึงได้ปรึกษาหากับนายธง ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านที่มีความอาวุโส และได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบ้าน ได้เป็นคนกลางในการพูดคุยกับครอบครัวที่รุกล้ำในพื้นที่ต่างๆ  จนทำให้เกิดกระบวนการคืนพื้นที่สาธารณะในที่สุด เหตุผลสำคัญนอกเหนือจากการผู้ใหญ่ที่กลุ่มคนให้การนับถือแล้ว ยังสัมพันธ์ไปถึงการรับรู้เรื่องราวที่มาของหมู่บ้าน ที่มีเจตนารมณ์สำคัญในการกันพื้นที่สาธารณะเอาไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานต่อไป อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของรุ่นปู่ยาตายายที่มุ่งหวังให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสัญจรในหมู่บ้านด้วยพาหนะต่างๆ ได้โดยสะดวก

(๔) กระบวนการกดดันทางสังคม (Social Sanction)  ในทุกครั้งของการประชุม หรือพบปะกับครอบครัวที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ  ชุมชนบางกลุ่มมักจะใช้กระบวนการทางสังคมโดยการกระตุ้นเตือนกลุ่มคนที่รุกล้ำเสมอ  โดยการพยายามที่จะเสนอถึงความไม่เหมาะสม และไม่ให้ความใส่ใจต่อสมบัติสาธารณะของชุมชน  การกดดันดังกล่าว นับเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มต้องคืนสมบัติสาธารณะที่รุกล้ำด้วยความจำเป็น ทั้งๆ ที่บางครั้งยังมุ่งหวังที่จะครอบครอง หรือบางคนได้ถามถึงค่าทดแทนที่จะได้จากพื้นที่ รุกล้ำภายหลังที่ปลูกต้นไม้ หรือพืชรุกล้ำ ด้วยเหตุนี้ กระบวนการต่อรองจึงเกิดขึ้นโดยให้ผู้รุกล้ำได้เกี่ยวข้าว   ให้เรียบร้อย หลังจากนั้น จึงค่อยคืนสมบัติสาธารณะแก่ชุมชนต่อไป

เมื่อพิจารณากระบวนการนี้ จะพบว่า เหมาะสมแก่ชุมชนชนบทที่อาศัยอยู่ร่วมกันในวงแคบ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น การทำบุญ การเล่นกีฬา การละเล่นต่างๆ รวมไปถึงการได้รับผลประโยชน์จากชุมชนเอง  เมื่อสังคมแคบย่อมเป็นการง่ายที่จะทำให้เกิดการกดดัน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ หรือการเอาเปรียบชุมชน เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ต่างๆ เช่น กองทุนในหมู่บ้าน  การศึกษาของลูกหลาน และการเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ ในชุมชน

๓. การตั้งกติกาและตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.)  ตัวแปรที่นำไปสู่การตั้งกติกานั้น เกิดขึ้นหลังจากการตระหนักถึงผลเสียอันเกิดจากการที่รุ่นปู่ย่า    ตายายได้อาศัยพันธสัญญาทางใจ ว่าจะไม่รุกล้ำสมบัติสาธารณะ แต่เมื่อรุ่นลูกหลานได้พากันรุกล้ำ และมองว่า การรุกล้ำเป็นเรื่องปกติ และชุมชนมีท่าทีเฉยเมยต่อการกระทำดังกล่าว จึงทำให้ง่ายต่อการกระทำการรุกล้ำต่อไป และเมื่อครอบครัวหนึ่งรุกล้ำได้ จึงทำให้ครอบครัวอื่นๆ กระทำการตามอย่างกันและกัน  

หลังจากที่ได้พื้นที่กลับคืนมาแล้ว จึงทำให้ผู้นำหมู่บ้าน ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน ได้ประชุมกันเพื่อวางกฎ กติกา เกี่ยวกับการใช้สอยพื้นที่สมบัติสาธารณะใหม่  โดยใช้วิธีการรังวัด และกันพื้นที่สาธารณะออกมา  พร้อมทั้งการวาดแผนผังให้ชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว  เมื่อวาดแผนผังออกมาแล้ว จึงนำไปสู่การการประชาคมหมู่บ้านเพื่อให้เกิดฉันทามติต่อกติกาดังกล่าว

จากระเบียบกติกาดังกล่าว จึงนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.)  จำนวน ๕ คน  โดยกรรมการทั้ง ๕ คนจะตั้ง ๑ คนขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ กรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่สำคัญในการสอดส่องดูแล และการตัดสิน รวมไปถึงการป้องปราม      มิให้ชุมชนกระทำการ หรือบิดเบือนโดยการใช้อำนาจ หรือหน้าที่เข้าไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อนำสมบัติสาธารณะมาเป็นของส่วนตน  กรรมการชุดนี้ยังทำหน้าที่ครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบบัญชี หรือกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น บัญชีเงินวัด และบัญชีเงินกองทุนต่างๆ ในชุมชน

๔. การประยุกต์หลักศาสนา และความเชื่อมาเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต  ศาสนาเป็นเครื่องสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเสริมสร้างพลังซื่อสัตย์สุจริต  ในหมู่บ้าน    ท่าคอยนางก็เช่นเดียวกัน  ยึดมั่นและนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำหมู่บ้าน และชุมชนทั้ง ๑๐๐% นับถือพระพุทธศาสนา  จากตัวแปรนี้ จึงทำให้พระพุทธศาสนามีพลังในการเสริมสร้างมิให้ชุมชนเกิดความบกพร่อง  วัดในชุมชนยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญตามเทศกาล การทำวัตร สวดมนต์ การถือศีล ๕ ศีล ๘ และการเทศนาเพื่อย้ำเตือนให้ชุมชนยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมและศีลธรรมอันดี

นอกจากนี้ จุดแข็งประการหนึ่งของชุมชนแห่งนี้คือ “ศาลปู่ตา”  ศาลแห่งนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างหมู่บ้านท่าคอยนาง เพราะความเชื่อคนภาคอีสานจะมองว่า ศาลปู่ตา คือวิญญาณของปู่ย่า ตา และยายที่เสียชีวิตไปแล้ว จะยังคงทำหน้าที่ปกป้อง และรักษาให้ลูกหลานรุ่นหลังๆ อยู่ด้วยกันได้อย่างร่มเย็นและเป็นสุข ทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงาน ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจะมีพิธีกรรมที่สำพันธ์กับปู่ตาอยู่เนื่องๆ  ไม่ว่าจะเป็นการขอพรให้ผ่านการสอบ การขอพรให้สามารถได้งานที่มุ่งหวัง รวมไปถึงการขอพรให้มีครอบครัวที่ดี และมีลูกที่ดี เป็นหลักชัยให้แก่ชุมชน

ศาลปู่ตามิได้มีหน้าที่ย้ำเตือนรุ่นลูกหลานเท่านั้น หากแต่ศาลปู่ตายังได้ย้ำเตือนปู่ย่าตาและยายที่มีชีวิตอยู่ให้สามารถประพฤติตัวและดำรงตนให้เป็นแบบอย่างของลูกหลานต่อไปด้วยเช่นกัน มิฉะนั้น  จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อปู่ตาที่ลูกหลานพากันไปกราบไหว้  สรุปแล้ว ปู่ตาจึงสะท้อนผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และปู่ยาตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ให้อยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป  การดำเนินอยู่บนหลักการนี้จะทำให้ชุมชนสามารถเชื่อมสมานและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนฐานการให้เกียรติ และซื่อสัตย์สุจริตต่อกันและกัน

 

๑๕. ข้อเสนอแนะ

          ในช่วงเวลาการวิจัยและพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดตลอด ๔ เดือนนั้น คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน และเป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้การทำงานร่วมกันประสานสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พบประเด็นที่ชาวบ้าน นักศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำเสนอประเด็นเพื่อการพัฒนาดังต่อไปนี้

          ๑๕.๑ ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด

                    (๑) จากผลลัพธ์ในเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด อันส่งผลให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ชุมชนและคณะนักศึกษาจึงเสนอให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มุ่งหวังพัฒนา หรือกระตุ้นให้สังคมดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ได้ร่วมกันทุ่มเทการวางแผนงาน ทุ่มเทงบประมาณ และคนไปสู่การพัฒนาพัฒนาความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน เพราะคำตอบที่แท้จริงของความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ที่หมู่บ้านตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงโรงเรียน และสังคมอื่นๆ

                   (๒) จากการนำ “บวร” คือ บ้าน วัด และโรงเรียนมาเป็นฐาน หรือเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาชุมชนช่อสะอาดนั้น  นักวิชาการ และนักปฏิบัติการด้านพัฒนาสังคมจึงเสนอว่า ในชุมชนมีองคาพยพอื่นๆ ที่สามารถนำมาขยายผล และเปิดตัว เพื่อร่วมเป็นพลังในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดด้วย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัครด้านสาธารณสุข และยุติธรรมชุมชน  การนำพลังเหล่านี้มาเสริมแรงในการอธิบายบ้าน วัด และโรงเรียนในมิติที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดแนวร่วม และทำให้การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

                   (๓) จากการพัฒนาแนวร่วมในชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนสามารถออกระเบียบ และแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน (ป.ป.ม.) ให้ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในชุมชน โดยการรับข้อร้องเรียน การพิจารณาตัดสิน และกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ชุมชนได้ปฏิบัติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตนั้น  ชุมชนและคณะนักศึกษาจึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหามาตรการ หรือวางแนวทางให้   แต่ละหมู่บ้านแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้านกว่า ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน            ทั่วประเทศ  ซึ่งจะทำให้การป้องกันและแก้ไขการทุจริตเริ่มต้นจากชุมชนและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

                   (๔) จากการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดโดยการนำรูปแบบ (Model) ไปปรับใช้ในพื้นที่บ้านท่าคอยนาง คณะนักศึกษาได้ทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) กำหนดทิศทางการพัฒนา กำหนดยุทธศาสตร์ แล้วปรับรูปแบบดังกล่าวให้สอดรับกับบริบท วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชน ฉะนั้น การที่จะนำรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดไปปรับใช้ในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ของประเทศไทย จึงควรตระหนักรู้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ศาสนา และความเชื่อ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนที่มีศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง จำเป็นต้องปรับให้สอดรับหลักการทางศาสนา และพื้นฐานทางความเชื่อของภาค หรือชุมชนนั้น เช่น ชุมชนชาวคริสต์ ชุมชนชาวมุสลิม และชุมชนชาวมอญ ทั้งนี้ อาจจะปรับรูปแบบบ้านทรงไทยให้กลายเป็นบ้านทรงต่างๆ ที่สอดรับกับบ้านแต่ละภาค

                    (๕) จากการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด ที่ต้องเน้นทั้งมิติทางกายภาพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้มีวิถีชีวิต และสุขภาวะที่ดีนั้น คณะนักศึกษาได้เสนอว่า ไม่ควรทำให้การพัฒนาดังกล่าวทำให้ชุมชนเกิดความอ่อนแออันเนื่องมาจากการตั้งรับ หรือการทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้รับมากจนเกินไป จนขาดการตระหนักรู้และหลงลืมจิตวิญญาณของการเสียสละ และการเป็นผู้ให้ที่เป็นวัฒนธรรมที่ดีของชุมชนท้องถิ่น  ด้วยเหตุนี้ จึงควรอาศัยทุนชุมชนมาช่วยพัฒนาตัวชุมชนเอง โดยการกระตุ้นให้ชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ (Identity) หรือจุดเด่น (Positioning) ที่แท้จริงของตนเอง แล้วนำจุดเด่นดังกล่าวมาต่อยอดและพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

๑๕.๒ ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป

          ในการศึกษา วิจัยและพัฒนาครั้งนี้  คณะนักศึกษาได้พยายามที่จะผลักดันให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยชุมชนเพื่อตัวของชุมชนเอง ฉะนั้น ในขณะวิจัย ทำให้พบประเด็นที่กลุ่มคนต่างๆ ที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชน หรือพัฒนาสังคมสามารถนำประเด็นต่อไปนี้ทำวิจัย เพื่อขยายฐาน หรือขอบฟ้าของความรู้ให้กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่ชุมชนต่างๆ อันจะทำให้คำตอบต่างๆ ในหมู่บ้านชัดเจนมากยิ่งขึ้น

          (๑) ควรศึกษา และวิจัยเรื่อง “บทบาทของรัฐบาล หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อการพัฒนาและส่งเสริมหมู่บ้านช่อสะอาดเพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ฐานราก”  เหตุผลสำคัญที่จะต้องทำวิจัยในประเด็นนี้ เพราะรัฐบาล หรือ ป.ป.ช. มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดกว่า ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ทั่วประเทศ  ความสะอาดในชุมชนย่อมส่งผลโดยตรงต่อความสะอาดในระดับประเทศ ฉะนั้น การลงทุนพัฒนาความสะอาด           ในระดับฐานรากจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความโปร่งใส่ของประเทศ การวิจัยจะช่วยตอบคำถามให้รัฐบาล และ ป.ป.ช. ได้แนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดได้อย่างเป็น            รูปธรรมมากยิ่งขึ้น

          (๒) ควรศึกษาและวิจัยในหัวข้อเรื่อง “คุณค่าและความสำคัญของทุนมนุษย์ในการเสริมสร้างและพัฒนาทุนในชุมชนช่อสะอาด”  ทุนทั้งสองประเด็นนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะในขณะทำวิจัยทำให้พบว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราสามารถค้นพบทุนทางสังคมได้ คือ ทุนมนุษย์ อันหมายถึงศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชน

          (๓) ควรศึกษา และวิจัย เรื่อง “คุณค่าและความสำคัญของปราชญ์ชาวบ้านในฐานะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนช่อสะอาด”  เพราะจากการประเมินปราชญ์ชาวบ้านในตัวหมู่บ้านเอง รวมไปถึงปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่ชุมชนช่อสะอาดในบ้านท่าคอยนาง  จะพบว่า ชุมชนให้ความสนใจ และเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาชุมชนด้วยศักยภาพของชุมชนเอง ฉะนั้น การเข้าใจปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ จะทำให้เราสามารถนำภูมิปัญญาเหล่านั้นมาประสานและต่อยอดเพื่อการพัฒนาร่วมกันได้

          (๔) ควรศึกษา และวิจัยเรื่อง “ตัวแปรและปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด”  ในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดให้ประสบผลนั้น เกิดจากตัวแปรหลายตัว  คำถามที่สำคัญคือ จะพัฒนาตัวแปรเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างไร  การค้นพบตัวแปร หรือปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ จะทำให้ชุมชนต่างๆ ได้วิเคราะห์ตัวแปรที่ตัวเองมีอยู่ รวมไปถึงการช่วยกันพัฒนาตัวแปรที่ยังไม่มีให้เกิดขึ้น  ซึ่งจะทำให้การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดให้พื้นที่ต่างๆ  บรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

---------------------------------------------------------------------------

 

 



[1]ดูเพิ่มเติมใน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, คู่มือการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านศีล ๕”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๗).

[2]สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, เอกสารสรุปข้อมูลโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านศีล ๕”, เอกสารอัดสำเนา, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗.

[3] ดูเพิ่มเติมใน มหาตมะ คานธี, คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน, รสนา โตสิตระกูล บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๘).

[4]หนังสืออ้างอิง

(Source: Academic Article)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012