Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาศิริวัฒน์ อริยเมธี (จันต๊ะ)
 
Counter : 20038 time
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากมุมมองของพระพุทธศาสนา (๒๕๔๗)
Researcher : พระมหาศิริวัฒน์ อริยเมธี (จันต๊ะ) date : 21/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร
  ดร.บาลี พุทธรักษา
  รศ.ฤทธิ์ ศิริมาตย์
Graduate : ๑๙ มกราคม ๒๕๔๗
 
Abstract

     วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากมุมมองของพระพุทธศาสนานี้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักพุทธธรรม ๒) เพื่อศึกษาพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหลักของเศรษฐกิจแนวพุทธ โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารคือคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับแปล ตลอดถึงเอกสาร ตำราวิชาการ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในเอกสารข้างต้นมาศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์และเสนอแนะผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า
     เศรษฐกิจพอเพียงได้แก่เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พออยู่ พอกิน พอใช้ ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทาในการดำเนินชีวิต มีดุลยภาพระหว่างชีวิตกับสิ่งต่างๆ ที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้าว ดำเนินชีวิตแบบพอมีพอกินเป็นสัมมาอาชีวะก่อนเป็นเบื้องต้นจากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่มีหลักการช่วยพัฒนาชีวิตมนุษย์และสังคมให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนด้วยการรู้จักตนเอง พึ่งตนเอง พอเพียง พอประมาณ ไม่โลภมาก ไม่ประมาท มีเหตุผลในการดำเนินชีวิต
     จุดเน้นของเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องการยับยั้งความโลภของมนุษย์ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการแข่งขัน ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง การหลงใหลวัตถุ เป็นบริโภคนิยม นำมูลค่ามานำคุณค่าของชีวิต
     ในส่วนของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักพุทธธรรม ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดเศณษฐกิจพอเพียงกับหลักพุทธธรรมมีความสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ คือ ด้านปรัชญา ด้านโครงสร้าง และด้านกระบวนการ กล่าวคือ พระพุทธศาสนาในส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เรียกเศรษฐกิจแนวพุทธและเศรษฐกิจพอเพียงต่างมีปรัชญาอันประกอบด้วยหลักการและอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนประสานเชื่อมโยงกัน คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรมสูง คำนึงถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ของส่วนรวมอย่างเป็นธรรม เป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นองค์รวม ไม่มองเรื่องของเศรษฐกิจแบบแยกเป็นส่วนๆ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามหลักมัชฌิมาปฎิปทาโดยเริ่มจากสัมมาทิฐิ มีความเห็นถูกต้อง สัมมาวาจา วจีสุจริต สัมมากัมมันตะ กายสุจริต สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ไม่ประมาท ยึดหลักความสมดุล ๓ ประการ คือ ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ และวัตถุกับจิตใจ
     ด้านโครงสร้าง เศรษฐกิจแนวพุทธและเศรษฐกิจพอเพียง ต่างมีโครงสร้างที่ประสานสัมพันธ์กันกล่าวคือกรอบแนวคิดของเศรษฐกิจทั้ง ๒ ข้างต้น อยู่ที่ความพอดี พอประมาณ ไม่สุดโต่งไม่โลภมาก และไม่เบียดเบียนคนอื่น เป็นวิธีคิดและวิถีชีวิตที่มีสันโดษธรรมเป็นตัวกำหนดควบคุมให้ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ให้ความสำคัญแก่ชีวิตทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งด้านจิตวิสัยและด้านวัตถุวิสัย บนความพอเพียง
     ด้านกระบวนการ เศรษฐกิจแนวพุทธและเศรษฐกิจพอเพียง มีกระบวนการที่สัมพันธ์สอดคล้องกัน โดยต่างมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การผลิต การบริโภค การแลกเปลี่ยนซื้อขาย และการจัดสรรผลผลิต ที่พยายามปรับทัศนะของคนให้เห็นความสำคัญของความสงบสุขด้านจิตใจมากกว่าความสุขที่เกิดมาจากวัตถุเงินตรา มุ่งให้เกิดดารเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ตามอัตภาพของตนและใช้ชีวิตบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมต่อไป
     ด้านพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหลักของเศรษฐกิจแนวพุทธ ผลการวิจัยพบว่า พุทธธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงมีความสัมพันธ์กันอย่างสำคัญโดยแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยหลักพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแยกกล่าวได้ ๔ ประเด็น คือ ๑) หลักพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้านการผลิต ๗ ประการ คือ เรื่องสุขของคฤหัสถ์, ความไพบูลย์, ขุมทรัพย์สี่อย่าง, ประโยชน์ของมนุษย์, ปริเยสนา หรือการแสวงหา, แนวทางแห่งความสำเร็จมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์โดยชอบธรรมของคฤหัสถ์ และเรื่องเบญจศีลเบญจธรรม ๒) หลักพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้านการบริโภค ๖ ประการ คือ ปัจจัยสี่, เป้าหมายของการบริโภค, สันโดษ, การจัดสรรทรัพย์ใช้, หลักว่าด้วยความตั้งมั่นแห่งตระกูลและอบายมุขคือทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ ๓) หลักพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้านการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ๔ ประการ คือ หลักอาชีวัฏฐมกศีล, คุณสมบัติของนักการค้าที่ดี, เหตุที่ทำให้การค้าขายขาดทุนและได้กำไร และ หลักอัปปมาทธรรม ๔) หลักพุทธธรรมที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้านการจัดสรร จัดการผลผลิต ๒ ประการ คือ หลักสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และหลักอคติสี่อย่าง

Download : 254631.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012