Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » นางสาวรุ่งนิภา พัฒนพฤกษชาติ
 
Counter : 20020 time
การศึกษาการพัฒนาเด็กตามทัศนะของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)(๒๕๕๑)
Researcher : นางสาวรุ่งนิภา พัฒนพฤกษชาติ date : 22/07/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  ผศ.ดร. ชาติชาย พิทักษ์ธนาคม
  ผศ. สมชัย ศรีนอก
Graduate : ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
 
Abstract

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการพัฒนาเด็กตามทัศนะของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ส่วนที่สอง เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กตามทัศนะของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) และส่วนที่สาม เป็นการศึกษาวิธีการประยุกต์การพัฒนาเด็กมาใช้ในสังคมปัจจุบัน
ผลการวิจัยพบว่า ด้านแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก พระพุทธศาสนาเห็นว่าเด็กนั้น ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยร่างกาย (รูป) และจิตใจ (นาม) การอบรมเลี้ยงดูเด็กตามหลักพระพุทธศาสนาจึงต้องพัฒนาทั้งสองส่วนนี้ ให้เกิดการสมดุลกัน โดยมีคุณธรรมเป็นแกนของการพัฒนาทุกด้าน กระบวนการพัฒนาคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น ก็คือการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยใช้หลักของศีล สมาธิ และปัญญา หลักของศีล คือ การฝึกหัดอบรมกาย และวาจา ให้เด็กพูดดี ทำดี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี หลักการของสมาธิ เป็นการฝึกอบรมด้านจิตใจ ให้มีความคิดแน่วแน่ตั้งใจจริง นั่นคือ มีความเพียร มีสมาธิในการเรียน และหลักของปัญญา จะฝึกหัดอบรมให้เด็กมีความเห็นที่เป็นสัมมาทิฎฐิ ประเด็นการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้พัฒนาอย่างถูกต้องนั้น พระพุทธศาสนาถือว่าคุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ ซึ่งนำไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง และชอบธรรมต่อไป
การพัฒนาเด็กตามทัศนะของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) มีลักษณะสำคัญคือ การพัฒนาเด็กของท่านมีความสอดคล้องกับกระบวนการพัฒนามนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา
กระบวนการที่ท่านนำมาปรับประยุกต์ใช้ มีลักษณะที่บูรณาการมาจากหลักการของพระพุทธศาสนา อันได้แก่หลักของไตรสิกขา ที่ประกอบด้วย หลักของศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้การพัฒนาเด็กนั้น เป็นไปได้อย่างมีสัดส่วน กล่าวคือ ทางด้านร่างกายนั้น ใช้หลักของศีล ในการเลี้ยงดูเด็ก โดยการเริ่มตั้งแต่ให้ยึดหลักของความพอเหมาะพอดีในการเลี้ยงดูเด็ก การให้อาหาร การให้พักผ่อน เป็นต้น ส่วนทางด้านจิตใจ จะยึดหลักของสมาธิ การบริหารจิตให้บริสุทธิ์ คือ การสอนให้เด็กหัดนั่งสมาธิแบบง่ายๆ ลดละอกุศล การฝึกสมาธิเพื่อช่วยให้จิตมีความบริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ส่วนทางด้านปัญญานั้น ท่านจะยึดหลักโดยการสอนให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ใช้เหตุผลในการดำรงชีวิต ท่านได้ใช้หลักการในการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยเน้นถึงองค์รวมทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและบุคคล ที่แวดล้อมด้วย โดยใช้หลักพุทธธรรมเป็นแกนกลางในการพัฒนาทุกด้าน
ส่วนการศึกษาวิธีการประยุกต์หลักการพัฒนาเด็กมาใช้ในสังคมปัจจุบัน คือ บทบาทของสถาบันต่างๆ ในสังคมที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็ก เช่น สถาบันครอบครัว (บทบาทและหน้าที่ของพ่อแม่) สถาบันการศึกษา (บทบาทและหน้าที่ของครูอาจารย์) สถาบันศาสนา (บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์) ทั้ง ๓ สถาบัน สามารถนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ได้ โดยเป็นต้นแบบด้วยการนำมาประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการจัดผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ร่วมด้วย ส่วนสถาบันทางสังคมนั้น บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆในสังคม ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก โดยการพัฒนาออกมาในรูปแบบของสื่อ และการจัดกิจกรรมการกุศลที่ไม่มุ่งเน้น ผลตอบแทน เพื่อจูงใจให้เด็กมีทัศนคติและเห็นความสำคัญของการประพฤติตนเป็นคนดีของ สังคม สุดท้ายประเด็นของการคบมิตรนั้น เป็นหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ผู้ปกครอง) ควรให้การอบรมสั่งสอน การเป็นแบบอย่างที่ดีประพฤติตนเป็นกัลยาณมิตร คอยชี้แนะให้แก่เด็กและเยาวชนดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง โดยการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานะและบทบาทของตน เพื่อมุ่งให้เด็กและเยาวชนของชาติเป็นบุคคลที่เก่ง ดี และมีความสุขของสังคมต่อไป
Download : 255139.pdf

Download :
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012