งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะ "ศึกษาแนวคิดเรื่องมุสาวาทในพุทธปรัชญาเถรวาท" โดยศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและตำราอื่น ๆ ตลอดถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏในสังคมไทย ที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า มุสาวาทคือคำพูดที่ไม่จริง ครอบคลุมถึงคำพูดที่ไม่ดีทั้งหมด การที่จะตัดสินว่า คำพูดหรือการกระทำใดผิดศีลข้อมุสาวาทหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ ๑. พูดเรื่องไม่จริง ๒. มีเจตนาพูดให้ผิดจากความจริง ๓. พยายามพูดเรื่องไม่จริงนั้น ๔. มีผู้อื่นรับรู้หลงเชื่อและได้รับความเสียหายจากเรื่องไม่จริงนั้น เมื่อใดที่องค์ประกอบ ๔ ประการนี้ครบถ้วน การละเมิดศีลข้อมุสาวาทก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ในเรื่องมุสาวาทนี้มีประเด็นปัญหาจริยธรรมที่คนส่วนมากเข้าใจว่า หากพูดจริงทำให้สูญเสียกับการพูดเท็จแล้วทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ และรักษาผลประโยชน์เอาไว้ได้ คนส่วนมากมักเลือกพูดเท็จมากกว่าพูดจริง สอดคล้องกับพุทธปรัชญาที่ว่า สัตว์ผู้งดเว้นจากมุสาวาทมีน้อย โดยแท้จริงแล้ว สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากมุสาวาทมีมากกว่า การละเมิดศีลข้อมุสาวาทมีอยู่แพร่หลายในทุกสาขาอาชีพ มีทั้งแบบบุคคลต่อบุคคลและแพร่กระจายมากับข่าวสารข้อมูลของสื่อสารมวลชน ต่อประเด็นปัญหาที่ว่า การละเมิดศีลข้อมุสาวาทเป็นสิ่งที่จำเป็นและกระทำได้หรือไม่นั้น ได้รับคำตอบจากแนวปรัชญา ๓ กลุ่ม คือ ๑. กลุ่มที่ตอบว่าการละเมิดศีลข้อมุสาวาทเป็นสิ่งที่จำเป็นและกระทำได้ คือการพูดเท็จและจริงขึ้นอยู่กับความสุขและผลประโยชน์ที่จะพึงมีพึงได้และผลประโยชน์ที่สูญเสียไป ได้แก่กลุ่มที่ยึดถือตามแนวความคิดแบบสุขนิยม (Hidonism) และประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ของเบ็นธัม (Jeremy Bentham) และมิลล์ (John Stuart Mill) เป็นต้น ๒. กลุ่มที่ตอบว่า การละเมิดศีลข้อมุสาวาทเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและบุคคลกระทำไม่ได้เด็ดขาด คือให้พูดและทำได้เฉพาะความจริงเท่านั้น แม้แต่ความจริงที่ทำให้เกิดโทษ ได้แก่กลุ่มที่ยึดถือว่าความเท็จจริงเป็นกฎตายตัวตามแนวความคิดแบบเหตุผลนิยม (Rationalism) ของค้านท์ (Immanuel Kant) เป็นต้น ๓. พุทธปรัชญา ให้ทรรศนะว่า การละเมิดศีลข้อมุสาวาทเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและบุคคลกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามถือว่า ผิดทุกกรณี ให้พูดได้เฉพาะคำจริงที่เป็นประโยชน์ให้ถูกกาลเทศะ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น คนส่วนมากเข้าใจว่า การละเมิดศีลข้อมุสาวาทมีโทษน้อยกว่าการละเมิดศีลข้ออื่น ๆ แต่พุทธปรัชญาถือว่า มีโทษมากเท่ากัน ดังนั้น บุคคลจึงควรรักษาการพูดจริงไว้ยิ่งชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขสูงสุด คือ นิพพาน