Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระสำเริง ญาณวีโร (สุขภาพ)
 
Counter : 20035 time
การศึกษาวิเคราะห์ขอบเขตของเสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาท และปรัชญาฌอง-ปอล ซาร์ตร์(๒๕๔๙)
Researcher : พระสำเริง ญาณวีโร (สุขภาพ) date : 19/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระวิสุทธิภัทรธาดา (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี)
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,
  อาจารย์สุมาลี มหณรงค์ชัย
Graduate : ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙
 
Abstract

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ผู้วิจัยมีความประสงค์ที่จะศึกษาแนวคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาและในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจต่อหลักการเรื่องเสรีภาพของทั้งสองแนวคิดในแง่มุมต่าง ๆ
ในวิทยานิพนธ์นี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕  บท โดยแต่ละบทจะมีเนื้อหาที่จะต้องศึกษา เปรียบเทียบและวิเคราะห์ ดังนี้
บทที่ ๑ ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่จะวิจัย
บทที่ ๒ ศึกษาแนวคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาและปรัชญาฌอง-ปอล ซาร์ตร์
บทที่ ๓ เปรียบเทียบเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาและปรัชญาฌอง-ปอล ซาร์ตร์
บทที่ ๔ วิเคราะห์ขอบเขตของเสรีภาพในพุทธปรัชญาและปรัชญาฌอง-ปอล ซาร์ตร์
บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัยที่ค้นพบ และเสนอแนะแนวคิดบางประการเพิ่มเติม เพื่อการวิจัยครั้งต่อไป


                 ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
แม้ว่าแนวคิดเรื่องเสรีภาพ (Freedom) ในพุทธปรัชญาเถรวาทจะมีลักษณะเปิดกว้างสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ เพศ ภูมิ และเผ่าพันธุ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยืนยันภาวะแห่งเสรีภาพเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน แต่ก็มิได้หมายความว่า ส่งเสริมให้ทำอะไรตามใจปรารถนา เพราะได้วางหลักเกณฑ์และแสดงขอบเขตของเสรีภาพไว้สองลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรกคือ กรอบที่เป็นขอบเขตภายนอกหมายถึง ข้อห้ามมิให้ล่วงละเมิดในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นตามที่ปรากฏในหลักคำสอน ได้แก่พระวินัยในหมู่สงฆ์ และหลักจริยธรรมสำหรับชาวบ้าน หากปฏิบัติตามแล้วเป็นการส่งเสริมเสรีภาพของผู้อื่นด้วย ลักษณะที่สองคือ ปัจจัยบางอย่างที่เป็นขอบเขตภายในจิต เช่น กรรมและกิเลส แต่สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ หากดำเนินชีวิตไปตามกระบวนธรรมคือ มรรคมีองค์ ๘ ประการที่มุ่งพัฒนากายและจิตแล้ว ย่อมเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เข้าใจโลกและชีวิต จิตที่เป็นอิสระ เป็นจุดหมายที่บรรลุได้ในทุกยุคทุกสมัย ขอบเขตเหล่านั้นก็จะไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป
ปรัชญาของซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ไม่เพียงทรงอิทธิพลอย่างสูงยิ่งในยุคสมัยของเขาเท่านั้นแต่ยังส่งผลล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน หลักคิดในข้อที่ว่า มนุษย์คือเสรีภาพ อันเป็นแก่นที่เขาสรุปรวมเอาไว้นั้น ยังคงนับเนื่องได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญให้คนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยทั่วทุกมุมโลกได้ยึดถือเป็นสายธารใหญ่ในการนำพาชีวิต หลักปรัชญาของเขายึดมั่นอยู่กับความเป็นอิสระในการเลือก ด้วยเหตุนี้ แต่ละบุคคลจึงเลือกตามเจตจำนงของตน ทำให้มองว่าเสรีภาพของมนุษย์ไม่มีขอบเขตแน่นอน แท้จริงแล้วซาร์ตร์ได้เสนอทรรศนะเรื่องความรับผิดชอบด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพและความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กันเสมอ เป็นการแสดงขอบเขตให้เสรีภาพมีครรลองและคุณค่ามากขึ้น อาจมองว่าไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจทุกครั้ง แต่ก็ทำให้บุคคลต้องทบทวนความคิดก่อนกระทำสิ่งใด เพราะเหตุว่าต้องรับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพของตน เช่นนี้แล้ว ความรับผิดชอบจึงเป็นเสมือนขอบเขตที่มาจำกัดมิให้บุคคลทำอะไรตามใจชอบ ทำให้หลายคนพยายามหลอกตัวเอง (Bad Faith) ว่าไม่มีเสรีภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบซึ่งผิดเจตนารมณ์ของซาร์ตร์อย่างสิ้นเชิง เพราะเสรีภาพตามทรรศนะของซาร์ตร์ต้องเป็นการตัดสินใจเลือกกระทำด้วยตนเอง และไม่ก้าวล่วงต่อเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เสรีภาพจึงจะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และมีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด


                    ดังนั้น เสรีภาพในทั้งสองทรรศนะจึงมิใช่ว่าบุคคลจะทำอะไรก็ได้ ยังคงมีขอบเขตอยู่บ้างดังที่พระพุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตมิได้อยู่ด้วยกฎข้อบังคับ แต่ชีวิตที่ดีงามอยู่ด้วยหลักการ และด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เปิดกว้าง นับเป็นศาสนาที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากที่สุด แม้ในปรัชญาของซาร์ตร์ก็ไม่มีขอบเขตที่เป็นหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่มุ่งเสริมให้แต่ละบุคคลเป็นผู้ใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง คือใช้อย่างรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการใช้เสรีภาพของตน ตามความเหมาะสมของเหตุและปัจจัย ซึ่งสุดท้ายขอบเขตของเสรีภาพก็คือ พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

 

Download :  254944.pdf

 

Download :
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012