Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาอภิวิชญ์ ธีรปญฺโญ (ศรียะอาจ)
 
Counter : 20037 time
การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของขงจื๊อกับพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๓)
Researcher : พระมหาอภิวิชญ์ ธีรปญฺโญ (ศรียะอาจ) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)
  ผศ.ดร.สมภาร พรมทา
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
Graduate : ๒๖ เมษายน ๒๕๔๓
 
Abstract

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของขงจื๊อ กับพุทธปรัชญาเถรวาท โดยผู้วิจัย ได้แบ่งประเด็นที่สำคัญในการศึกษาออกเป็น ๓ ประการคือ (๑) ปรัชญาการเมืองของขงจื๊อ  (๒) ปรัชญาการเมืองของพุทธปรัชญาเถรวาท และ (๓)  การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของขงจื๊อกับพุทธปรัชญาเถรวาท
 ผลจากการวิจัยมีข้อสรุปที่สำคัญคือ

          (๑) การเมืองในทรรศนะของขงจื๊อ เป็นเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง  ในความหมายที่ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ล้วนมีสาเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของบุคคลในสังคม  นับตั้งแต่ตัวผู้ปกครอง กระทั่งถึงประชาชนผู้ถูกปกครอง  ผู้ปกครองจึงต้องเข้าไปทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคง ขงจื๊อมองว่า  การจะบรรลุถึงจุดประสงค์ดังกล่าวได้ ต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้กับประชาชน ให้การศึกษาแก่ประชาชน เพราะการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะผิดชอบ ชั่วดี  ปฏิบัติได้ถูกต้องตามสถานภาพที่เกี่ยวข้องกับตน และที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง

          (๒)  พุทธปรัชญาเถรวาท มองการเมืองในฐานะเป็นองค์กร หรือตัวกลาง ในการที่จะเข้าไปจัดแจง หรือจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่าย โดยการเข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าว ประชาชนคือผู้ยินยอมมอบอำนาจในการจัดการ  ซึ่งอำนาจดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปโดยธรรม ผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองจึงต้องดำรงอยู่ในศีลธรรม  หากปราศจากศีลธรรมแล้วการปกครองย่อมไม่อาจบรรลุจุดมุ่งหมายได้  พุทธปรัชญาเถรวาทจึงเน้นที่หลักศีลธรรมเป็นสำคัญ

          (๓)  ทั้งขงจื๊อและพุทธปรัชญาเถรวาท มองการเมืองในแง่ของวิวัฒนาการทางธรรมชาติ และสังคม   การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก  ก่อให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีผู้ปกครองเข้ามาเป็นตัวกลาง หรือตัวแทน ทำหน้าที่คอยดูแล เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม  ทั้งนี้ก็โดยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า  ทุกคนเกิดมามีความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งกำลัง สติ ปัญญา ความสามารถ  สังคมจึงมีการแบ่งชั้นสูงต่ำ และปกครองกันตามลำดับ ๆ

          ขงจื๊อนอกจากเป็นครูสอนศีลธรรมแล้ว บทบาทหนึ่งของท่านก็คือเป็นนักการเมือง ด้วย  ความเป็นนักการเมือง  ทำให้ท่านสามารถแสดงบทบาทการเมืองได้โดยไม่มีข้อจำกัด  ส่วนพระพุทธเจ้าทรงดำรงสถานะเป็นศาสดา  วิธีการของพระองค์จึงกระทำการโดยผ่านคำสอนทางศาสนา  อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจุดมุ่งหมายของทั้งสองท่านแล้ว ล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ ความอยู่ดีกินดี ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน  จะต่างกันแต่เพียงว่า  ขงจื๊อมุ่งเป้าหมายเพียงแค่ความสุขแบบโลก ๆ  ขณะที่พุทธปรัชญาเถรวาท เน้นทั้งสุขแบบโลก ๆ (โลกิยสุข)  และความสุขที่อยู่เหนือโลก (โลกุตตรสุข)
 

Download : 254319.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012