|
โครงการประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน (International Conference on Theravada and Mahayana Buddhism) โดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
|
๑. หลักการและเหตุผล โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีมติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานขึ้น ณ ประเทศไทย สืบเนื่องจากการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธแห่งโลก ครั้งที่ ๒ ขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นการประชุมร่วมผู้นำชาวพุทธทั่วโลกทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานจาก ๑๗ ประเทศ และต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้จัดประชุมสภาผู้นำทางศาสนาเพื่อสันติภาพแห่งโลก มีผู้แทน ๑๓ ศาสนาจาก ๔๘ ประเทศเข้าประชุม ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์และวิธีการในการดำเนินการของแต่ละประเทศ ศาสนาและกลุ่มต่างๆ นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาและประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการจัดงานดังกล่าวให้สำเร็จไปได้ด้วยดี ด้านวงการพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์และวิธีการดำเนินการระหว่างบุคคลและองค์กร อันจะทำให้พระพุทธศาสนายังคงความบริสุทธิ์ มั่นคง มีการศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเผยแผ่ไปสู่ชาวโลกทุกระดับชั้น จนทำให้ชาวพุทธมีความรู้และโลกทัศน์ รู้เท่าทันและอยู่กับสังคมโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม พระสงฆ์จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปภายใต้หลักคำสอนที่เชื่อถือได้ ไม่ผิดไปจากหลักการและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกและคัมภีร์ที่เชื่อถือได้ จึงจะเกิดความร่วมมือและเผยแผ่ไปสู่สังคมตั้งแต่ระดับประเทศไปถึงระดับโลกได้ ชาวพุทธจำเป็นต้องเร่งศึกษา ปฏิบัติ ในหลักคำสอนที่ถูกต้อง และมีความร่วมมือกันในกิจการต่าง ๆ เป็นอย่างดี กอปรกับมหาเถรสมาคมในคราวประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ได้มอบหมายให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและผู้แทนคณะสงฆ์ไทย โดยการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ ไปร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ เรื่อง "พระพุทธศาสนาในประเทศเถรวาท : ประเด็นและแนวทางสำหรับอนาคต" (Buddha Sasana in Theravada Countries : Issues & the Way Forward) ยังผลให้จำต้องมีการประชุมทางวิชาการอย่างต่อเนื่องระหว่างฝ่ายเถรวาทและมหายาน ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงมีมติให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง "การประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน" ขึ้นในประเทศไทย โดยอาราธนาและเชิญผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนามาประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำชาวพุทธจาก ๑๓ ประเทศ ที่มาร่วมกิจกรรมงานวันวิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๔๗ ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม เสนอให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาติ ครั้งที่ ๕๔ (วันที่ ๑๓ และ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒) ซึ่งรับรองให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ และให้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาทุกแห่งของสหประชาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้มีการพิจารณากำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมประจำปีเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ในกรุงเทพมหานครไว้เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ด้วย
๒. วัตถุประสงค์ ๒.๑ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานระดับนานาชาติผ่านการศึกษา การปฏิบัติและการเผยแผ่ ๒.๒ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน ๒.๓ เพื่อให้ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานได้กำหนดแนวทางความร่วมมือในการจรรโลงพระพุทธศาสนา ๒.๔ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดกิจกรรมประจำปีเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
๓. เป้าหมาย ๓.๑ ด้านปริมาณ : ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป/คน ๓.๒ ด้านคุณภาพ : ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กำหนดแนวทางความร่วมมือในการจรรโลงพระพุทธศาสนา และดำเนินการจัดกิจกรรมประจำปีเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
๔. ประเด็นการประชุม ๔.๑ องค์กรชาวพุทธ (Buddhist Organization) ๔.๒ การศึกษาพระพุทธศาสนา (Buddhist Education) ๔.๓ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (Propagation of Buddhism) ๔.๔ พระพุทธศาสนากับการสังคมสงเคราะห์ (Buddhism and Social Welfare) ๔.๕ ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมประจำปีเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของ สหประชาชาติ (Collaboration in Organizing Annual Activities on International Recognition of the Day of Vesak)
๕. ผู้รับผิดชอบโครงการ (เจ้าภาพ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (Mahachulalongkornrajavidyalaya University)
๖. วัน เวลา และสถานที่ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ลงทะเบียน และพิธีเปิดการประชุม ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วันที่ ๑๗-๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การประชุม ณ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ สนง.กรุงเทพฯ (UNCC) วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
๗. ผู้เข้าร่วมประชุม ๗.๑ ผู้เข้าประชุมในวันพิธีเปิด ณ พุทธมณฑล จำนวน ๑,๐๐๐ รูป/คน ดังนี้ ๗.๑.๑ นักวิชาการ นักปราชญ์ ผู้นำและผู้มีบทบาททางพุทธเถรวาทและมหายานจากต่างประเทศ (แบ่งกันเชิญฝ่ายละ ๑๕๐) ๓๐๐ รูป/คน ๗.๑.๒ พระสงฆ์ ผู้แทนองค์กรชาวพุทธ นักวิชาการและสื่อมวลชนจากประเทศไทย ๒๕๐ รูป/คน ๗.๑.๔ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕๐ รูป/คน ๗.๒ ผู้เข้าประชุมในวันประชุม ณ UNCC จำนวน ๗๐๐ รูป/คน ดังนี้ ๗.๒.๑ นักวิชาการ นักปราชญ์ ผู้นำและผู้มีบทบาททางพุทธเถรวาทและ มหายานจากต่างประเทศ (แบ่งเชิญฝ่ายละ ๑๕๐) ๓๐๐ รูป/คน ๗.๒.๒ พระสงฆ์ ผู้แทนองค์กรชาวพุทธ นักวิชาการและสื่อมวลชนจากประเทศไทย ๒๕๐ รูป/คน ๗.๑.๓ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๑๕๐ รูป/คน
๘. งบประมาณดำเนินการ ๘.๑ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ๘.๒ การบริจาคทั่วไป
๙. องค์กรหรือหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดประชุม ๙.๑ มหาเถรสมาคม ๙.๒ กระทรวงศึกษาธิการ ๙.๓ กระทรวงการต่างประเทศ ๙.๔ กระทรวงวัฒนธรรม ๙.๕ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ๙.๖ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ๙.๗ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ๙.๘ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ๙.๙ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ๙.๑๐ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ๙.๑๑ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ๙.๑๒ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๙.๑๓ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ๙.๑๔ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๙.๑๕ กรมการศาสนา ๙.๑๖ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๙.๑๗ กรุงเทพมหานคร ๙.๑๘ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ๙.๑๙ วิทยาลัยสงฆ์ชิง จู
๙. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ๙.๑ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาผ่านการศึกษาและการปฏิบัติของผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการด้านเถรวาทและมหายาน ๙.๒ ได้สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการที่นับถือและปฏิบัติแบบเถรวาทและมหายาน ๙.๓ ได้ร่วมกันเสนอและกำหนดทิศทางเพื่อการดำเนินการกิจการพระพุทธศาสนาเพื่อศานติสุขของมวลมนุษย์ และความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ๙.๔ ได้แนวทางการดำเนินการเพื่อจัดกิจกรรมประจำปีเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
|
|