หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ญาณวิทยาในพุทธปรัชญาเถรวาท : ศึกษาเฉพาะในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  ผศ.ดร.วรยุทธ ศรีวรกุล
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์ญาณวิทยาในพุทธปรัชญาเถร
วาทโดยอาศัยคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค ผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นที่สำคัญในการศึกษา
ออกเป็น ๓ ประเด็นคือ ๑. ญาณวิทยาในพุทธปรัชญาเถรวาท ๒. ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสส
วิสุทธิมรรค ๓. ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับญาณวิทยาในปรัชญาต่างสำนัก
ผลจากการวิจัยมีข้อสรุปที่สำคัญ คือ
๑. ญาณวิทยาในพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นระบบความคิดที่มุ่งทำลายความไม่รู้
(อวิชชา) ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเวียนว่าย ตาย เกิด และทำความรู้ (วิชชา)
ให้เกิดขึ้น โดยเปลี่ยนแปลงความเห็น (ทิฏฐิ) และพัฒนาจนเกิดความรู้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ
ธรรมชาติความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาทมุ่งมองทุกอย่างตามเป็นจริงตามหลักไตรลักษณ์ จน
เข้าใจว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง เมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น
ไม่ได้ รวมทั้งเข้าใจสมมติบัญญัติซึ่งอธิบายถึงความจริงในแง่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ยึดติดกับ
หลักการจนกลายเป็นความงมงาย แต่ต้องอาศัยการแยกแยะด้วยปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝน
อบรม
๒. ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค แบ่งความรู้เป็น ๒ ระดับ คือ ความรู้
ทางโลก (โลกิยะ) และความรู้เหนือโลก (โลกุตตระ) กล่าวคือ ความรู้ระดับโลกิยะเป็น
พื้นฐานในการพัฒนาความรู้โดยเริ่มตั้งแต่การรับรู้ การจำได้ การรู้แจ้ง จนเกิดความเข้าใจ
ส่วนความรู้ระดับโลกุตตระ เป็นวิธีการขจัดความไม่รู้ (อวิชชา) ที่เป็นพื้นฐานของความไม่เข้าใจทุกอย่างตามจริง แต่ความรู้ทั้ง ๒ ระดับล้วนต้องอาศัยกันและกัน กล่าวคือ ความรู้
ระดับโลกิยะมีอยู่ก็เพื่ออธิบายความรู้ในระดับโลกุตตระ ส่วนความรู้ระดับโลกุตตระจะ
เกิดขึ้นได้โดยอาศัยความเข้าใจความรู้ระดับโลกิยะเพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นความจริงโดย
สมมติ และสิ่งใดเป็นความจริงสูงสุด ซึ่งความรู้ทั้ง ๒ เกิดจากการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา
ที่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา
๓. ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับญาณวิทยาในปรัชญาต่างสำนัก มี
ข้อที่สรุป ดังนี้ คือ
๑) ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับปรัชญาเชนต่างพัฒนาความรู้ผ่าน
ประสบการณ์ไปสู่ความเข้าใจสรรพสิ่งได้ตามจริง ส่วนความต่างกันคือ ปรัชญาเชนมอง
ความรู้ว่า มีความหลากหลาย จึงตัดสินความรู้โดยทั่ว ๆ ไปว่าไม่สมบูรณ์ ความรู้ทุกอย่างจึง
ถูกต้องทั้งสิ้น แต่ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคถือว่า ความรู้สูงสุดจึงมีอย่างเดียวแต่อธิบายด้วย
สมมติหรือทฤษฎีหลายอย่างด้วยกัน
๒) ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับปรัชญาสางขยะถือว่า ความรู้สูงสุด
คือความรู้อันเป็นเหตุดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ส่วนความต่างกันคือ ปรัชญาสางขยะถือว่า ความ
จริงสูงสุดเกิดจากการรู้แจ้งอาตมันจนไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจกิเลส และเป็นระบบปรัชญา
ที่อาศัยการคิดเป็นหลัก ไม่มีหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน ส่วนในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคถือว่า
ความรู้สูงสุดเป็นการมองทุกอย่างตามจริง เมื่อเข้าใจย่อมหาวิธีปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘
๓) ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับเหตุผลนิยม ปกรณ์วิเสสวิสุทธิ
มรรคได้นำเอาหลักการทางเหตุผลมาอธิบายความจริง แต่ความรู้ขั้นเหตุผลยังไม่สามารถทำ
ให้เข้าใจความจริงที่แท้ได้ทั้งหมด เพราะยังขาดประสบการณ์ในการพิจารณา ความรู้ใน
ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคจึงเป็นความรู้หลังประสบการณ์ ซึ่งต่างจากเหตุผลนิยมที่เชื่อใน
ความรู้ก่อนประสบการณ์
๔) ญาณวิทยาในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคกับประสบการณ์นิยม ในปกรณ์วิ
เสสวิสุทธิมรรคยอมรับว่า ผัสสะหรือประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานการรับรู้เบื้องต้น แต่ใน
ระดับสูงขั้นไปต้องอาศัยผัสสะที่เกิดจากญาณที่ประจักษ์แก่ตน ฉะนั้น ความรู้ขั้นผัสสะของ
ประสบการณ์นิยมจึงเป็นความรู้ระดับพื้นฐาน แต่ไม่สามารถโยงไปสู่ความรู้ที่เกิดภายในได้
แต่ความรู้ที่ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคมุ่งหมายเป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการฝึกฝนอบรม
ภายใน เพื่อเชื่อมโยงถึงความรู้ภายนอก.
Download : 254807.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕