หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิรัตน์ อภิธมฺโม (เฆ้พวง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์พรมแดนความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาท และเดวิด ฮิวม์(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิรัตน์ อภิธมฺโม (เฆ้พวง) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ผศ.บุญมี แท่นแก้ว
  นายเฉลียว รอดเขียว
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาวิจัยเรื่อง พรมแดนความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาของเดวิด ฮิวม์ เพื่อนำเสนอเรื่องพรมแดนความรู้ของปรัชญาทั้งสองฝ่าย การวิจัยนี้ได้ข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา ส่วนของฮิวม์เป็นตำราภาษาอังกฤษและหนังสือทั่วไป โดยการนำข้อมูลมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจกว้างขวางยิ่งขึ้น
     วิทยานิพนธ์นี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ บท โดยเริ่มศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ศึกษาทฤษฎีความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาทและฮิวม์ ในแง่ของความหมาย แหล่งกำเนิดความรู้ ประเภทความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเกณฑ์การตัดสินความรู้ ต่อจากนั้นศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีความรู้ทั้งสองฝ่าย และศึกษาวิเคราะห์พรมแดนความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาทและฮิวม์ รวมทั้งสรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
ผลของการศึกษาพบว่า ความหมายของพรมแดนความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาทหมายถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุด ส่วนปรัชญาของฮิวม์นั้น ให้ความหมายของความรู้ว่าเป็นเพียงขั้นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเท่านั้น แหล่งกำเนิดความรู้ทางพุทธปรัชญาเถรวาทมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือเกิดจากการปฏิบัติตามหลักภาวนามยปัญญา และแหล่งกำเนิดความรู้ทางอ้อมได้จากการฟัง (สุตมยปัญญา) การคิด (จินตามยปัญญา) ส่วนแหล่งกำเนิดความรู้ของฮิวม์ ได้มาจากประสาทสัมผัส ประเภทความรู้ทั้งพุทธปรัชญาเถรวาทและฮิวม์ แบ่งความรู้ออกเป็น ๒ ประเภทเหมือนกัน คือความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาทมีทั้งระดับสมมติที่ได้จากประสาทสัมผัส และความรู้ระดับสูงสุด ที่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ส่วนความรู้ของฮิวม์ทั้ง ๒ ประเภท ได้แก่ ความรู้สัมผัสภายนอกคือ รอยประทับ และความรู้ความคิดภายในคือมโนภาพ ธรรมชาติความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งตามความจริงของสรรพสิ่ง ปราศจากอวิชชาตัณหา หลุดพ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง ส่วนธรรมชาติความรู้ของฮิวม์ ต้องรู้ด้วยประสาทสัมผัส ที่มนุษย์ต้องเข้าไปรับรู้ถึงความมีอยู่ซึ่งวัตถุ เกณฑ์ตัดสินความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาทใช้ภาวนามยปัญญา เพราะภาวนาปัญญาเป็นประสบการณ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสุด ส่วนเกณฑ์ตัดสินความรู้ในปรัชญาของฮิวม์ใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และสมนัยของข้อความคือข้อความนั้นต้องจริงทางคณิตศาสตร์ เรื่องพรมแดนความรู้คือเป้าหมายสูงสุดของปรัชญาทั้งสองฝ่าย ที่มนุษย์สามารถจะเข้าถึงพรมแดนความรู้ได้ด้วยศักยภาพ และสมรรถภาพทางกายและทางจิต จากการศึกษาวิจัยพบว่า พรมแดนความรู้ของปรัชญาทั้งสองฝ่ายมีความต่างกันคือ พรมแดนความรู้ทางพุทธปรัชญาเถรวาทคือนิพพาน สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้ แต่พรมแดนความรู้ในปรัชญาของฮิวม์คือการเกิดประสบการณ์ เป็นการตอบสนองความต้องการใคร่รู้ของตน กล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้
     (๑) พรมแดนความรู้ของพุทธปรัชญาเถรวาท คือความหลุดพ้นจากทุกข์ ส่วนพรมแดนความรู้ในปรัชญาของฮิวม์คือเกิดประสบการณ์เท่านั้น
     (๒) บุคคลที่เข้าถึงพรมแดนความรู้ทางพุทธปรัชญาเถรวาทคือพระอรหันต์ ส่วนในปรัชญาของฮิวม์คือมนุษย์ทุกคนที่มีร่างกาย จิตใจสมบูรณ์แข็งแรง
     (๓) อิทธิพลพรมแดนความรู้ของปรัชญาทั้งสองฝ่ายมีความเหมือนกันคืออิทธิพลในทางดี มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม ที่มีการศึกษาและปฏิบัติ
จากที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า ปรัชญาทั้งสองฝ่ายมีพรมแดนความรู้ต่างกันอย่างชัดเจน และทำให้ทราบจุดอ่อน จุดแข็ง ของปรัชญาทั้งสอง

Download : 254822.pdf


 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕