หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดธนัญชัย อริญฺชโย (ถิ่นกำเหนิด)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบหลักทางสายกลางของพระพุทธศาสนาเถรวาท กับแนวคิดเรื่องทางสายกลางของขงจื๊อ(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดธนัญชัย อริญฺชโย (ถิ่นกำเหนิด) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
  อาจารย์สุมาลี มหณรงค์ชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักคำสอนเรื่องทางสายกลางของพระพุทธศาสนาเถรวาทกับแนวคิดเรื่องทางสายกลางของขงจื๊อ และเปรียบเทียบทางสายกลางของพระ พุทธศาสนากับทางสายกลางของขงจื๊อ
ผลของการวิจัยพบว่า ทางสายกลางของพระพุทธศาสนา เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ดับอาสวะกิเลสทั้งปวง และนัยแห่งความเป็นกลางวัดกันที่ ๑) ความถูกต้อง ๒) ตรงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือความดับทุกข์ ซึ่งเท่ากับว่าเราใช้เป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายเป็นตัวชี้วัด ดังนั้น ความเป็นทางสายกลางจึงมีลักษณะเป็นเหตุนำไปสู่ผล คือความดับทุกข์ ซึ่งเป็นจุดหมาย หรือเป้าหมายสุดท้ายแห่งการปฏิบัติ ทางสายกลางของขงจื๊อ เพ่งเอาสภาพของจิตที่สามารถดำรงอยู่ในภาวะเป็นปกติ แม้จะถูกสภาพแวดล้อมทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีเข้ามากระทบ หรือรบกวน แต่จิตไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น ยังสามารถรักษาดุลยภาพไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานภาพที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น ความเป็นทางสายกลางของขงจื๊อจึงมีลักษณะเป็นผลมากกว่าเป็นเหตุ
     ข้อเปรียบเทียบที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ในคำสอนทั้งสองระบบดังกล่าว คือ
๑. ทางสายกลางของพระพุทธศาสนาเป็นระบบของพรหมจรรย์ทั้งหมด ในขณะที่ทางสายกลางของขงจื๊อเป็นแต่เพียงข้อย่อยของหลักจริยธรรมอันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่หลักธรรมสำคัญอันสูงสุด
๒. ทางสายกลางของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน อบรม และปฏิบัติให้มีขึ้นในตนเอง ขณะที่สายกลางของขงจื๊อ เป็นเรื่องที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นธรรมชาติที่ถูกประทานมาให้โดยฟ้า หรือสวรรค์ การปฏิบัติจึงเป็นแค่กระบวนการรื้อฟื้นความทรงจำของจิต เพื่อให้จิตได้รับรู้และปฏิบัติตามความเป็นจริง
๓. ทางสายกลางของพระพุทธศาสนา มีความชัดเจน และเป็นระบบที่สมบูรณ์ มีองค์ประกอบแต่ละข้อ ๆ มีแนวทางในการปฏิบัติชัดเจน และมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ขณะที่ทางสายกลางของขงจื๊อยังขาดความชัดเจนในแง่มุมของการปฏิบัติ

Download : 254824.pdf





 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕