หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ (ยุนิรัมย์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการหลอกตัวเองในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ (ยุนิรัมย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระวิสุทธิภัทรธาดา (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี)
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
  ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์นี้ผู้วิจัยมีความประสงค์ที่จะศึกษาแนวคิดเรื่องการหลอกตัวเอง ในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เพื่อศึกษากระบวนการหลอกตัวเองในปรัชญาของซาร์ตร์ซึ่งจะทำให้เข้าใจการสำนึกรู้ในเสรีภาพและความรับผิดชอบที่ปราศจากความช่วยเหลือและความสำเร็จใดๆ
ในวิทยานิพนธ์นี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ บท โดยแต่ละบทจะมีเนื้อหาที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ ดังนี้
บทที่ ๑ ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่จะวิจัย
บทที่ ๒ ศึกษาแนวคิดการหลอกตัวเองในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์
บทที่ ๓ ศึกษากระบวนการหลอกตัวเองในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์
บทที่ ๔ วิจารณ์แนวคิดการหลอกตัวเองในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ ตามแนวพุทธทรรศนะและอิทธิพลการหลอกตัวเองที่มีต่อวิถีชีวิต
บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัยที่ค้นพบและเสนอแนะแนวคิดบางประการเพิ่มเติมเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
ประการที่หนึ่ง แนวคิดเรื่องการหลอกตัวเองในปรัชญาของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เป็นกระบวนการแห่งการสำนึกรู้ของมนุษย์ที่มีต่อปรากฎการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อหลีกเลี่ยงจากความประหวั่นพรั่นพรึงและความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากการเลือกสิ่งใด
สิ่งหนึ่ง ด้วยลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดอันเป็นธาตุแท้ของตน ทั้งนี้ การหลอกตัวเองของมนุษย์มักเป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ (๑) ลักษณะของการทำตัวเป็นวัตถุที่ไร้จิตวิญญาณ เพราะไม่มีทั้งการยอมรับและการปฏิเสธต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในขอบเขตแห่งเสรีภาพและความรับผิดชอบของตน (๒) ลักษณะของการเล่นเกมส์ เพราะเป็นการ ตกอยู่ในสภาวะที่จำยอมของบทบาทหน้าที่การงาน กฎเกณฑ์ รวมถึงความคาดหวังของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่เกินขอบเขตแห่งเสรีภาพและความรับผิดชอบ เพราะอัตถิภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ (Existence of Human) คือการสำนึกรู้ใน ความว่างเปล่า (Emptiness) และพยายามเลอกอัตถิภาวะใหม่ (New Existence) ในท่ามกลางปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะมีหรือเป็น ซึ่งเต็มไปด้วยความ รับผิดชอบและความกังวลใจในเป้าหมายที่ไร้ความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา
ประการที่สอง แนวความคิดดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับแนวคิดอื่นๆ เช่น สัต (Being) สุญตา (Nothingness) เสรีภาพ (Freedom) ความรับผิดชอบ (Responsibility) สถานการณ์ (Situation) เป็นต้น เนื่องจากมนุษย์ในทรรศนะของซาร์ตร์เป็นสัตประเภทเดียวที่สามารถเป็นในสิ่งที่ไม่เป็นและไม่เป็นในสิ่งที่เป็น ในฐานะที่มนุษย์คือเสรีภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ความสำเร็จ หมายความว่า มนุษย์จะต้อง เปลี่ยนแปลงอัตถิภาวะ (Existence) จากสิ่งที่มี (Being-in-itself) ไปสู่สิ่งที่เป็น (Being-for-itself) โดยปราศจากการยอมรับและปฏิเสธที่แน่นอน แต่มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ โดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ
ประการสุดท้าย แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับหลักการใน พุทธปรัชญาโดยตรงก็ตาม แต่การวิเคราะห์ในเชิงปรัชญานั้นเป็นการขยายทรรศนะให้มีความร่วมสมัย ในฐานะที่แนวคิดดังกล่าวมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงตามธาตุแท้ของตนก็จริง หากแต่สิ่งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกันอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรง และทางอ้อม อาทิ เช่น พฤติกรรมการอบรมเลี้ยงในครอบครัว กระบวนการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน ความรัก การเมือง เศรษฐกิจ วรรณกรรม และจริยธรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นบริบทที่สำคัญของมนุษย์อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากแต่มนุษย์เผชิญหน้าด้วยการเลือกทั้งด้านความรู้สึกและการกระทำ ซึ่งแฝงไปด้วยการทำตัวเป็นวัตถุและการเล่นเกมส์ เพื่อต่อสู้ดิ้นรนให้ชีวิตมีความเป็นไปได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ตลอดเวลา

Download : 254857.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕