หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์ชาญชัย ญาณชาโต (เพชรดี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบโอวาทปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนากับบทเทศน์ บนภูเขาในคริสตศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์ชาญชัย ญาณชาโต (เพชรดี) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๕/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม
  บาทหลวงแดเนียล มัซสา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาโอวาทปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาบทเทศน์บนภูเขาในคริสต์ศาสนา และ ๓) เพื่อเปรียบเทียบโอวาท-ปาฏิโมกข์กับบทเทศน์บนภูเขา เป็นการศึกษาเอกสารจากคัมภีร์ทางศาสนา ตำรา เอกสารงานวิจัยต่าง ๆ เป็นสำคัญ ผลการวิจัย พบว่า

โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนและหลักการปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่ ก) อุดมการณ์ ๔ คือ ๑) ความอดกลั้น ๒) พระนิพพาน ๓) การไม่ฆ่าสัตว์ ๔) การไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ข)  หลักการ ๓ คือ ๑) การไม่ทำบาปทั้งปวง  ๒) การทำกุศลให้สมบูรณ์ ๓) การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ค) วิธีการในการปฏิบัติตนสำหรับนักเผยแผ่ คือ ๑) การไม่กล่าวร้าย ๒) การไม่ทำร้าย ๓) ความสำรวมใน       พระปาฏิโมกข์ ๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ๕) มีที่นั่งนอนอันสงัด ๖) ความเพียรในอธิจิต

บทเทศน์บนภูเขา เป็นจิตตารมณ์ใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า จัดเป็น              ก) อุดมการณ์ คือ อาณาจักรของพระเป็นเจ้าที่ตั้งอยู่ในจิตใจของมนุษย์ และการเข้าถึงชีวิตนิรันดรหลังจากตายแล้ว โดยพระเจ้าจะเป็นผู้ทรงตัดสิน ข) หลักการ ได้แก่ ๑) จิตตารมณ์ซึ่งบุตรแห่ง     พระอาณาจักรควรจะมีในการดำเนินชีวิต ๒) วิธีการปฏิบัติตามกฎหมายและธรรมเนียมยิวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีการให้ทาน เป็นต้น ๓) การตัดใจจากทรัพย์สมบัติ ๔) ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ คือ การช่วยเหลือหรือแนะนำคน จะต้องพิจารณาให้ดี และ ค) วิธีการของคริสต์ศาสนา ได้แก่ การเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า และเรียกร้องให้มนุษย์มีการตัดสินใจอย่างมั่นคงแน่วแน่

จากการศึกษาคุณค่าของหลักโอวาทปาฏิโมกข์กับบทเทศนาบนภูเขา พบว่า ทั้งสองศาสนามีทัศนะเหมือนกันว่า การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ เป็นวิธีการเข้าสู่จุดหมายสูงสุดในศาสนา การเสริมสร้างสันติสุขในสังคม สงเคราะห์อนุเคราะห์ชาวโลก ส่วนทัศนะที่ต่างกัน คือ พระพุทธศาสนาเชื่อเรื่องกรรม คนจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ และมีจุดหมายสูงสุด คือ ต้องการเข้าสู่พระนิพพาน ส่วนคริสต์ศาสนาเชื่อในพระเจ้า ฉะนั้น ต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า และมีจุดหมายสูงสุด คือ ต้องการเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕