หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหายวง ทิวากโร (คนทา)
 
เข้าชม : ๑๖๘๗๓ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องเหรินในปรัชญาขงจื๊อกับเมตตาใน-พุทธปรัชญาเถรวาท(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหายวง ทิวากโร (คนทา) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : 15 / 05 / 2549
 
บทคัดย่อ

                   วิทยานิพนธ์นี้ประสงค์ที่จะศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องเหรินในปรัชญาขงจื๊อกับเมตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทเพื่อค้นหาความเหมือนและความต่างระหว่างแนวคำสอนทั้งสองระบบ
ผลของการวิจัยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้  ในแง่ของบทนิยามและความหมาย ทั้งเหรินและเมตตาเพ่งถึงเรื่องของจิตใจที่มุ่งดี ปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น เป็นความรู้สึกดีงามที่ต้องการให้ทุกคนในสังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยไม่เบียดเบียนกัน แต่ก็มีประเด็นที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่นเมตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทมีการกำหนดลงไปชัดเจนว่า ความรู้สึกหรืออารมณ์ดังกล่าวนั้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องตัณหา หรือราคะ ขณะที่ขงจื๊อไม่ได้ย้ำถึงประเด็นดังกล่าว อีกทั้งเหรินในปรัชญาขงจื๊อเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ขณะที่พุทธปรัชญาเถรวาทไม่ได้ถือเช่นนั้น ในประเด็นเกี่ยวกับสารัตถะ และปัจจัยสนับสนุนให้เกิด ทั้งเหรินและเมตตาเริ่มต้นจากจิตใจ จากนั้นก็พัฒนาไปสู่พฤติกรรมทางกาย และวาจาในรูปแบบต่าง ๆ โดยอาศัยการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างสม่ำเสมอ แต่ส่วนที่แตกต่างกันก็มีเช่นกัน เช่น เมตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทมีส่วนที่เหรินในปรัชญาขงจื๊อไม่มี ได้แก่เมตตาระดับฌาน หรือเมตตาเจโตวิมุตติ เหรินในปรัชญาขงจื๊อเน้นเฉพาะสังคมมนุษย์ ขณะที่พุทธปรัชญาเถรวาทไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตไปยังสรรพสัตว์ด้วยในประเด็นเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและความสำคัญ เหรินและเมตตาเน้นเรื่องความสงบสุขของสังคม และเป็นคุณธรรมที่สามารถใช้ได้ในที่ทั่วไป ในส่วนที่แตกต่างกัน น้ำหนักคำสอนเรื่องเหรินของขงจื๊ออยู่ที่สังคม และการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พุทธปรัชญาเถรวาทโดยเฉพาะตามหลักฐานที่ปรากฏในชั้นบาลี เมตตาถูกย้ำมากที่สุดในสังคมสงฆ์ และก็ผูกติดอยู่กับเรื่องกัมมัฏฐาน ในฐานะเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานเมื่อกล่าวถึงฐานะของเหรินและเมตตา เหรินถือว่าเป็น “หวใจ” ของคำสอนในปรัชญาขงจื๊อ ขณะที่เมตตา แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็น “หัวใจ” ของคำสอน
ในแง่ของความสัมพันธ์กับหลักธรรมอื่น ๆ เหรินและเมตตามีคุณธรรมอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเพื่อให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันหลายประเด็น เช่น เหรินผูกติดอยู่กับคุณธรรมอื่นอย่างชนิดที่ขาดไม่ได้ หมายความว่า ถ้าไม่มีคุณธรรมอื่น ๆ มาช่วยสนับสนุน เหรินก็จะขาดความสมบูรณ์ ขณะที่เมตตามีความสมบูรณ์อยู่ในตัว ยิ่งไปกว่านั้น เมตตายังช่วยทำให้คุณธรรมอื่น ๆ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย ในส่วนของแนวทางปฏิบัติ เหรินและเมตตาเริ่มต้นฝึกจากตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก โดยขงจื๊อและพุทธปรัชญาเถรวาท เน้นที่การขัดเกลาทางด้านจิตใจ และการระมัดระวังกิริยามารยาทที่แสดงออก ส่วนที่แตกต่างกันคือ ขงจื๊อนำหลักเหรินไปผูกติดอยู่กับหลักจารีต(หลี่) ทั้งรูปแบบในการปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่อาจกำหนดชัดตายตัวได้ ขณะที่พุทธปรัชญาเถรวาทมีรูปแบบที่ชัดเจนกว่าในแง่ของผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ทั้งเหรินและเมตตามักจะถูกนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เป็นแง่บวก แต่ก็มิได้หมายความว่า เหรินและเมตตาจะไม่มีผลในทางที่เสีย โดยเฉพาะหากปฏิบัติไปโดยขาดปัญญา และเมื่อพิจารณาในส่วนของการประยุกต์ใช้ในปัจจุบันก็ทำให้พบว่า หลักเมตตา ในพุทธปรัชญาเถรวาท มีความหลากหลายมากกว่าหลัก เหรินในปรัชญาขงจื๊อ

 

Download : 254942.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕