หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิกรสุนทรกิจ (สมพงษ์ นุ่มสกุล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เรื่องความความสามัคคีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิกรสุนทรกิจ (สมพงษ์ นุ่มสกุล) ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  .
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาแนวความคิดและ คุณลักษณะของความสามัคคีที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๓)การประยุกต์แนวคิดเรื่องความสามัคคีมาใช้กับสังคมไทย   การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) โดยเก็บข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือ เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ผลการศึกษาพบว่า

๑)  แนวความคิดและคุณลักษณะเรื่องความสามัคคีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สามารถแบ่งออกเป็น   ประเด็น  คือ ความหมายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และความหมายโดยอรรถ ในพระวินัยปิฎกได้กล่าวถึงลักษณะของความสามัคคีใน ๓ ลักษณะ คือ สังฆราชี (ความร้าวฉานของหมู่คณะ) สังฆเภท และ สังฆสามัคคี  ในพระสุตตันตปิฎกได้ให้ความหมายสามัคคีว่า หมายเอาการตั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาในมิตรสหายและคนทั้งหลายในสังคม โดยไม่ถือว่าตนเป็นใหญ่กว่าคนอื่น ให้เกียรติให้ความสำคัญต่อผู้อื่นด้วยจึงจะถือว่าได้บำเพ็ญสามัคคีธรรม  ในพระอภิธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความสามัคคีในลักษณะเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของอันตรายที่เกิดจากไฟทั้ง ๓ อย่างคือ ราคะ  โทสะ โมหะ  ซึ่งสามสิ่งนี้เป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกของความสามัคคีในหมู่ชน  ส่วนความหมายโดยอรรถ สรุปได้ว่า ความสามัคคีเป็นการแสดงออกซึ่งการร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามัคคีต้องอาศัยความอดทน เสียสละ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และตระหนักในปัญหาร่วมกัน โดยจะต้องมีการทำงานร่วมกันบ่อยๆ ความสามัคคีจะก่อให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันและก็สามารถปฏิบัติงานทุกอย่างได้สำเร็จ

๒)  หลักธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท จากการศึกษาพบว่า การสร้างความสามัคคีของสังคม คือ การให้ความร่วมมืออนุเคราะห์กัน เพราะความมีคุณธรรมในใจที่มองเห็นผู้อื่นเป็นพี่น้อง มีการปฏิบัติต่อกันตามหลักสามัคคีธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีหลักพุทธรรมในการสร้างความปรองดองหรือความสามัคคีกัน เช่น หลักสังคหวัตถุ  หลักสาราณียธรรม  หลักอปริหานิยธรรม เป็นต้น  โดยมีหลักสามัคคีธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติทั้งด้านส่วนตัวและสังคมส่วนรวม เป็นสื่อสัมพันธ์ให้เข้าถึงจิตใจของกันและกัน เป็นที่รักของกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน สงเคราะห์กัน ถือความสามัคคีเป็นใหญ่ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

๓)  แนวคิดเรื่องความสามัคคีมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย จากการศึกษาพบว่า สังคมไทยต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนในสังคม ทุกคนจึงต้องช่วยกันเสริมสร้างคนละไม้คนละมือ ด้วยการรวมพลังกันปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องตามหลักการ ข้อบังคับ กติกา ศีลธรรมซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่สังคมแห่งความสามัคคีธรรม  กล่าวคือ ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ไม่ฝืนทำอะไรตามใจหรือตามกิเลส ตัณหาของตน  และเมื่อทุกคน ทุกฝ่าย และทุกคณะในสังคมไม่มีความขัดแย้งกัน มีแต่ความสามัคคีปรองดองกันแล้ว แม้จะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ และเหตุการณ์เลวร้ายอื่น ๆ ขึ้นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คนไทยทุกคนก็จะสามารถระงับป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์เช่นนั้นได้  ดังนั้น  การศึกษาและปฏิบัติตามหลักสามัคคีโดยการนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกันจะช่วยส่งผลให้สังคมไทยมีความสงบร่มเย็น เป็นบ้าน เป็นชุมชน สังคม เป็นประเทศชาติที่น่าอยู่อาศัยด้วยผลแห่งความสามัคคี

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕