หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสุทธิพร รัตนธร ศรัทธา
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๕ ครั้ง
ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางสุทธิพร รัตนธร ศรัทธา ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร , ผศ.ดร.
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ(ละลง), ผศ.ดร.
  ดร.เสนาะ ผดุงฉัตร
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตฺโต) มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)

ผลการวิจัยพบว่า

การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ มีบ่อเกิดมาจากการพัฒนาโลกเฉพาะด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดปัญหาวิกฤติต่อสิ่งแวดล้อมในยุคสภาพแวดล้อมได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ได้จัดทำรายงานสำคัญชื่อ OUR COMMON FUTURE บัญญัติศัพท์ การพัฒนาที่ยั่งยืน” ต่อมาได้นำมาเป็นเป้าหมายของการพัฒนาโลกโดยกำหนดแผนปฏิบัติการ ๒๑ อันมีแนวทางพัฒนาระบบนิเวศน์เพิ่มขึ้นมาคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวชี้วัด มีอุปสรรคที่รากฐานแนวคิดพิชิตธรรมชาติแบบประนีประนอมในระบบทุนนิยม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยการยอมรับและยับยั้งความต้องการประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตอยู่ได้ดีอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

การพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มีที่มาจากหลักพุทธธรรมซึ่งเป็นระบบการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง แต่มิได้ใช้ชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่านแสดงมุมมองวิธีการแก้ปัญหาขององค์การสหประชาชาติ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนาด้วยหลักมัชฌิมาปฏิปทา ไตรสิกขา และหลักมัตตัญญุตา ที่เป็นกระบวนการพัฒนาระบบการดำเนินชีวิตของคนทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาอย่างบูรณาการ มีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมเรียกว่า สุขภาวะองค์รวมทำให้เกิดความสุขที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติแวดล้อม แต่กิเลส ได้แก่ ตัณหา มานะ และมิจฉาทิฎฐิ ยังเป็นอุปสรรคที่คนต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์อันอำนวยสันติสุขแก่มนุษย์และธรรมชาติต่อไป

เมื่อเปรียบเทียบการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสองเรื่องแล้ว พบว่า มีแนวทางการแก้ปัญหาที่คน แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธเพ่งมองคุณค่าและปัญหาอุปสรรคของคนลึกละเอียดถึงขั้นกิเลส เนื่องมาจากรากฐานแนวคิดที่แตกต่างกัน คือ แบบตะวันตกแยกคนออกจากธรรมชาติและพึงรับประโยชน์ ในฐานะเจ้าของธรรมชาติ อันเป็นอุปสรรคของการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดมาเป็นเวลานาน อีกทั้งตัวชี้วัดแบบเศรษฐศาสตร์ไม่มีความละเอียดพอกับค่าของความจริงตามธรรมชาติ ส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวพุทธในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มีรากฐานความคิดว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน จึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕