หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูประสิทธิ์กิตติสาร (จำลอง กิตฺติสาโร / นิติธรรม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การศึกษาเชิงเปรียบเทียบแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพจากพระไตรปิฎกกับแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพของแพทย์แผนไทยโดยพระสงฆ์ : ศึกษาเฉพาะกรณีวัดป่าเหวไฮ ตำบลหัวนาคำ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูประสิทธิ์กิตติสาร (จำลอง กิตฺติสาโร / นิติธรรม) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบาง เขมานนฺโท, ดร.
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  ผศ.ชอบ ดีสวนโคก
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎก ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพของแพทย์แผนไทยและการรักษาตามแนวของวัดป่าเหวไฮ และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎก และผลดำเนินการรักษาสุขภาพของพระสงฆ์วัดป่าเหวไฮ ตำบลหัวนาคำ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี    

              ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎก เป็นแนวคิดพื้นฐานของโรคเกิดจากทางกายและจิตใจ แนวทางรักษาด้วยธรรมโอสถ สำหรับป้องกันโรคทางใจ คือ สัปปายะ ๗ และสำหรับรักษาโรค โลภะ โทสะ โมหะ คือ สอนให้เป็นผู้รู้จักพอ มีความเมตตา และรู้จักการเจริญสติ ด้วยสมาธิบำบัด คือ ความอดทน อดกลั้นต่อทุกขเวทนา ใช้สมาธิกำหนดจิตให้แน่วแน่เพื่อทำให้จิตใจเกิดความสงบ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน และสัจจกิริยา คือ อธิฐานจิตว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งใดก็ดำเนินการตามกิริยาที่ทำนั้น ๆ การรักษาด้วยการประยุกต์หลายวิธีมีทั้งสัปปายวิธี ให้ประพฤติพรหมจรรย์ การรักษาสุขภาพด้วยเภสัชที่ได้รับพุทธานุญาตประกอบด้วยเภสัช ๕ ประการ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย สำหรับสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมี รากไม้ น้ำฝาด ใบไม้ ผลไม้ และยางไม้ วิธีเก็บรักษาเภสัชได้ ๗ วัน หลักการฉันอาหารและเภสัชที่ถูกต้อง จะมีทั้งในเวลาตั้งแต่รุ่งอรุณไปจนถึงเที่ยงวันและนอกเวลาตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งอรุณ เพื่อรักษาโรคและความผาสุกของสุขภาพ

              แนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพของแพทย์แผนไทยและตามแนวของวัดป่าเหวไฮ  ผลของการดำเนินงานในการรักษาสุขภาพ การรักษาโรคของวัดป่าเหวไฮมีขั้นตอนการใช้สมุนไพร การสอบถามคนป่วยเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องการบำบัด การปรุงยาขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค และวิธีการใช้สมุนไพรบำบัดมีทั้งรมควัน อบ ต้มอาบ ต้มดื่ม และใช้ทาภายนอก ผลการดำเนินงานในการรักษาสุขภาพกลุ่มที่กำลังรักษาส่วนมากอาการดีขึ้นจากก่อนที่ยังไม่มารักษาและมีความมั่นใจสบายใจ เชื่อว่าต้องหายจากโรคที่เป็นอยู่แน่นอน  ส่วนกลุ่มที่รักษาหายแล้วมีความเชื่อและศรัทธา ในวิธีการของวัดเพราะทำการรักษาตามขั้นตอนจนทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงทำงานเลี้ยงชีพได้เป็นปกติ ทั้งนี้ก็เพราะแนวทางการรักษาสุขภาพของวัดป่าเหวไฮได้ยึดถือแนวปฏิบัติตามพระไตรปิฎก คือ ใช้ธรรมโอสถในการรักษาควบคู่ไปด้วยกัน

          เปรียบเทียบแนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎกและผลดำเนินการรักษาสุขภาพของพระสงฆ์วัดป่าเหวไฮ แนวคิดวิธีการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎก เป็นการรักษาทางกายและทางจิตใจไปพร้อมกัน มีการประยุกต์หลายวิธี การกำกับเภสัช หลักการฉันอาหารและการใช้ยาสมุนไพรบำบัด  ส่วนวัดป่าเหวไฮให้การรักษาสุขภาพตามหลักทางพระพุทธศาสนา โดยเน้นทั้งทางกายและจิตใจ มีหลักการคือ ทางกาย เป็นผู้ที่เข้าใจสมุฎฐานโรค รู้ยา สามารถจัดปรุงยาตามอาการของผู้ป่วย แนะนำการฉันหรือการรับประทานอาหารให้ถูกกับโรค และการใช้สมุนไพรบำบัดได้ถูกต้อง  ทางจิตใจ ให้คำปรึกษาแนะนำด้วยการเจริญสมาธิ-ภาวนา แผ่เมตตา สวดมนต์ และการรักษาศีล ๕  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจร่าเริง แจ่มใส  สามารถชี้แจงอาการไข้ให้เห็นชัดเจนตลอดจนทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในการรักษา ทราบในสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย มีจิตใจเมตตา มีจิตอาสา ไม่รังเกียจผู้ป่วย และไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างรางวัล ผลการดำเนินการรักษาสุขภาพในพระไตรปิฎกมีผลทำให้ร่างกายแข็งแรงจิตใจผ่องใสบริสุทธิ์ ทางด้านพระธรรมวินัยได้ยึดหลักปฏิบัติตามพระวินัย ด้านสังคมทำให้เกิดความผาสุกในสังคม ส่วนผลดำเนินการรักษาสุขภาพของวัดป่าเหวไฮ ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงเป็นปกติจิตใจสบายคลายความกังวล ด้านพระธรรมวินัยผู้เข้ารับการรักษาปฏิบัติตามระเบียบในการรักษาของตนเองประกอบกับการปฏิบัติเจริญสติ รักษาศีล ๕ ด้านสังคมทำให้มีความสุขในครอบครัวและชุมชน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕