กลับหน้าเมนูเก็บเพชร หน้าหลัก
สัมโมทนียกถา

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้ง ๔๕ เล่ม จำนวน ๖,๐๐๐ ชุด ได้สำเร็จลงด้วยดี ก็ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระปิยมหาราช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง และด้วยเดชะพระบารมีของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทำให้การแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นี้สำเร็จ ลงในเวลาอันรวดเร็ว
พระไตรปิฎก เป็นพระคัมภีร์ที่ประมวลคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในส่วนพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก การได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง ในสัจธรรม ทำตนให้พ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และนักเรียน แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่างรู้สึกสำนึกในพระเมตตาคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับเป็นประธานอุปถัมภ์ ในคราวครั้งนั้น ได้รับสั่งในการแปลพระไตรปิฎกให้ถอดถ้อยคำแปลในเนื้อหาสาระทั้งในอรรถและพยัญชนะในลักษณะที่ชาวบ้านอ่านรู้เรื่องและเข้าใจง่าย และได้ทรงรับเป็นประธานอุปถัมภ์โครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดงานสมโภชพระไตรปิฎกครั้งนี้ ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ และขอรำลึกในพระเมตตาคุณอย่างสูงของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาประทานพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แก่เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
ขออนุโมทนาสาธุการต่อคณะกรรมการที่ได้เป็นกำลังอย่างสำคัญในการแปลพระไตรปิฏก และพุทธบริษัททั้งบรรชพและคฤหัสถ์ที่ได้ถวายกำลังศาสนูปถัมถ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย และร่วมเป็นเจ้าภาพถวายพระไตรปิฎกแก่เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด และขออนุโมทนาของคุณคณะกรรมการจัดงานสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกฝ่ายได้รวมพลังกันจัดงานอย่างสมเกียรติเรียบร้อยดีทุกประการ ก่อให้เกิดปีติสุขโสมนัสแก่ผู้มาร่วมงานโดยทั่วกัน
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้าฯ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีพระปรีชาญาณได้พิจารณาเห็นเนื้อหาสาระจากพระไตรปิฎก ทรงมุ่งหวังให้พระสงฆ์ได้ศึกษาค้นคว้าพระพุทธวจนะคำสอนอันเป็นเนื้อหาสาระในพระไตรปิฎกสมตามพระราชปณิธานทุกประการ
ขอบุญญาธิการบุญญาบารมีอันเกิดจากการแปลพระไตรปิฎก ให้เป็นบุญญาธิการสมตามพระราชปณิธาน ได้คุ้มครองปกป้องชาติบ้านเมืองและพระศาสนาให้ร่มเย็นยิ่งๆ เทอญ.วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน(พระสุเมธาธิบดี) นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย