กลับหน้าเมนูเก็บเพชร หน้าหลัก
คำปรารภ

พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระปิยมหาราช ที่ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ดังนั้นท่านพระมหาเถรานุเถระจึงได้สนองงานตามแนวพระราชปณิธานนี้มาโดยตลอด ในการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนใช้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ พระไตรปิฎก จึงเรียกว่าพระปริยัติสัทธรรม เพราะเป็นปทัฏฐานให้เกิดมีพระปฏิบัติสัทธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และพระปฏิเวธสัทธรรม คือ มรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด
ผู้ที่จะถ่ายทอดสื่อธรรมต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีความรู้ดีในศาสตร์สมัยใหม่ต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า “วิชาชั้นสูง” การจับแก่นของวิชาการในศาสตร์นั้น ๆ ได้จะนำไปสู่การเปรียบเทียบทำความเข้าใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือ ในการถ่ายทอดพุทธธรรม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอุปถัมภ์ให้มีการปริวรรตพระไตรปิฎกที่จารึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอมเป็นอักษรไทย แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่ม จำนวน ๓๙ เล่ม ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๖ นับเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระไตรปิฎก ฉบับตราแผ่นดิน”
ต่อมาได้มีการชำระและจัดพิมพ์เป็นเล่มจำนวน ๔๕ เล่ม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ ฉบับนี้เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ”
หลังจากเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดิน จากราชาธิปไตยมาสู่ ประชาธิปไตย คณะรัฐบาลได้ดำเนินการอุปถัมภ์ให้จัดให้มีการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย เริ่มจาก พ.ศ. ๒๔๘๓ มาเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๐ ทันการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษพอดี พิมพ์เป็นเล่มได้ ๘๐ เล่ม ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในวโรกาสรัชดาภิเษก ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้จัดพิมพ์เป็น ๔๕ เล่ม เท่ากับภาษาบาลี เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบนักษัตร คณะสงฆ์อันมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นองค์ประธาน ได้ปรารภการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกแล้วจัดพิมพ์โดยการอุปถัมภ์ของรัฐบาลสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อุปถัมภ์งบประมาณเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ และได้เสร็จทันวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ พอดี พระไตรปิฎกฉบับนี้ เรียกชื่อว่า "พระไตรปิฎกฉบับสังคีติ" (ทยฺยรฏฺฐสฺส สงฺคีติเตปิฏกํ)
ในการฉลอง ๒๕๐๐ ปี แห่งพระพุทธศาสนา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ปรารภการชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก โดยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อให้มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นคัมภีร์เรียนตามหลักสูตรของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยเฉพาะ สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมุ่งให้เป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎก
๒. พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ในครั้งก่อน ๆ ขาดตลาด ที่เหลืออยู่กระดาษ ก็เสื่อมคุณภาพ ไม่เพียงพอกับจำนวนนิสิต
๓. เพื่อเป็นอนุสรณ์ มหามงคลสมัย ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งทางฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรได้จัดเฉลิมฉลองอย่างเป็นการเอิกเกริกมโหฬาร
งานชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ครั้งนี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวนทั้งสิ้น ๒๑๐,๐๐๐ บาท และจากพุทธบริษัทที่มีจิตศรัทธาตามรอยพระยุคลบาทได้ดำเนินการจัดพิมพ์เสร็จครบ ๔๕ เล่ม ในปี ๒๕๓๕
ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ปรารภการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา สมควรจะได้จัดการแปลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เป็นภาษาไทย ให้ชื่อว่า “พระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่ง และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ นายชวน หลักภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณ ใน ปี ๒๕๓๗-๒๕๓๙ จำนวนเงินทั้งสิ้น
๓๕,๕๒๗,๐๐๐ บาท (สามสิบห้าล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) อุปถัมภ์การแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จนสำเร็จลงด้วยดี เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาเสร็จสมบูรณ์ ในเดือนกันยายน ๒๕๔๒
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงเป็นประธานอุปถัมภ์โครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดงานสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. และกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาประทานพระไตรปิฎก แก่เจ้าคณะภาค ๑๘ ภาค และเจ้าคณะจังหวัด ๗๖ จังหวัด และประทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธา เป็นเจ้าภาพถวายแด่พระสังฆาธิการในวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. ดังกล่าวด้วย
ในวโรกาสงานสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์หนังสือ ๒ เล่ม คือ
๑. หนังสือสูจิบัตรงานสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวนพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม
๒. หนังสืออนุสรณ์งานสมโภชพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้ชื่อว่า “เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก” จำนวนพิมพ์ ๕,๐๐๐ เล่ม
ขอผลานิสงส์ที่เกิดจากการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยครั้งนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์แด่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น
ขออำนาจแห่งบุญกิริยาธรรมทานมัยครั้งนี้ได้อภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพระเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ อุปสรรคอุปัทวันตรายทั้งปวง อย่าแผ้วพานพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระราชวงศ์ มุขอำมาตย์มนตรี ชาวประชาราษฎร์ สมณชีพราหมณ์ ตลอดนิรันดร์กาล
(พระราชวรมุนี)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒