พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ - ๘ l พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ - ๓๓ l พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓๔ - ๔๕  

หน้าหลัก
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ - ๓๓

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) ๒๕ เล่ม

ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
(ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว)

เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร เริ่มด้วย พรหมชาลสูตร (หลายสูตรกล่าวถึงความถึงพร้อทด้วยสีลขันธ์ ซึ่งบางทีก็จำแนกเป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล จึงเรียกว่า สีลขันธวรรค)

เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย “มหา” เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสมยสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น

เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียง เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร

มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
(ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง)

เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ (บั้นต้น) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร บางสูตรอาจจะคุ้นชื่อ เช่น ธรรมทายาทสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สติปัฏฐานสูตร วีมังสกสูตร

เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ (บั้นกลาง) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร ที่อาจคุ้นชื่อ เช่น เสขปฏิปทาสูตร ชีวกสูตร อุปาลิวาทสูตร อภยราชกุมารสูตร มาคัณฑิยสูตร รัฏฐปาลสูตร โพธิราชกุมารสูตร องคุลิมาลสูตร ธรรมเจดียสูตร วาเสฏฐสูตร

เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ (บั้นปลาย) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร มีเนื้อหาแตกต่างกันหลากหลาย เช่น เทวทหสูตร โคปกปานสติสูตร สัปปุริสสูตร มหาจัตตารีสกสูตร อานาปานสติสูตร สัจจวิภังคสูตร ปุณโณวาทสูตร สฬายตนวิภังคสูตร อินทรียภาวนาสูตร

สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม
( ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกันๆ คือ ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒)

เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมภาษาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พรามหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่มี ๑๑ สังยุตต์

เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุและปัจจัย คือ หลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรมสังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิ และทิฏฐิต่างๆปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ ยุตต์

เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฎิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค (พร้อมทั้งองค์ธรรมก่อนมรรค) โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์

อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
(ชุมนุมพระสูตรที่เพิ่มจำนวนขึ้นทีละหน่วย คือ ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรมมี ๙,๕๕๗ สูตร)

เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ (เช่น ธรรมเอกที่ฝึกอบรมแล้ว เหมาะแก่การใช้งาน ได้แก่ จิต , องค์คุณภายในอันเอกที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ความไม่ประมาท ฯลฯ รวมทั้งเรื่อง เอตทัคคะ) หมวด ๒ (เช่น สุข ๒ สิบสามชุด , คนพาล ๒ , บัณฑิต ๒ , ปฏิสันถาร ๒ , ฤทธิ์ ๒ ฯลฯ) หมวด ๓ (เช่น มารดาบิดามีฐานะต่อบุตร ๓ อย่าง , ความเมา ๓ , อธิปไตย ๓ , สิกขา ๓ ฯลฯ)

เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๔ (เช่น อริยธัมม์ หรืออารยธรรม ๔ , พุทธบริษัท ๔ , ปธาน ๔ , อคติ ๔ , จักร ๔ , สังคหวัตถุ ๔ ฯลฯ)

เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๕ (เช่น พละ ๕ , นิวรณ์ ๕ , อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ , นักรบ ๕ ฯลฯ) และ หมวด ๖ (เช่น สาราณียธรรม ๖ , อนุตติยะ ๖ , คารวตา ๖ , อภัพพฐาน ๖ , ฯลฯ)

เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๗ (เช่น อริยทรัพย์ ๗ , อนุสัย ๗ , อปริหานิยธรรม ๗ , สัปปุริสธรรม ๗ , กัลยาณมิตรธรรม ๗ , ภรรยา ๗ , ฯลฯ) หมวด ๘ (เช่น โลกธรรม ๘ , คุณสมบัติของภิกษุที่จะไปเป็นฑูต ๘ , ทาน ๘ , ทานวัตถุ ๘ , การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ในระดับต่างๆ ๘ , สัปปุริสทาน ๘ , ทิฏฐธัมมิก-สัมปรายิกัตถิกธรรม ๘ , ฯลฯ) และหมวด ๙ (เช่น อาฆาตวัตถุ ๙ , อนุปุพพวิหาร ๙ , นิพพานทันตา ๙ , ฯลฯ)

เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑๐ (เช่น สังโยชน์ ๑๐ , สัญญา ๑๐ , นาถกรณธรรม ๑๐ , วัฑฒิธรรม ๑๐ , ฯลฯ) และหมวด ๑๑ (เช่น ธรรมที่เกิดต่อจากกันตามธรรมดา ไม่ต้องเจตนา ๑๑ , อานิสงส์เมตตา ๑๑ , ฯลฯ)
ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลายหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน

ขุททกนิกาย ๙ เล่ม (ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้ ๑๕ คัมภีร์)

เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ
ขุททกปาฐะ รวมบทสวดย่อยๆ เช่น มงคลสูตร รตนสุตร กรณียเมตตสูตร
ธรรมบท บทแห่งธรรม หรือบทร้อยกรองเอ่ยเอื้อนธรรม มี ๔๒๓ คาถา
อุทาน พระสูตรแสดงคาถาพุทธอุทาน มีความนำเป็นร้อยแก้ว ๘๐ เรื่อง
อิติวุตตกะ พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย “เอวมฺเม สุตํ” แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า “อิติ วุจฺจติ” รวม ๑๑๒ สูตร
สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีร้อยแก้วเฉพาะส่วนที่เป็นความนำ รวม ๗๑ สูตร

เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อย ๔ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ร้อยกรอง คือคาถาล้วน ได้แก่
วินานวัตถุ เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง
เปตวัตถุ เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๔๑ เรื่อง
เถรคาถา คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น
เถรีคาถา คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น

เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมบทร้อยกรองคือคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้นเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติและมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตฬีสนิบาต) รวม ๕๔๗ ชาดก

เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้นเพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา ภาคนี้มี ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก

เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรค แห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรคและขัดควิสาณสูตรในอุรควรรคแห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน

เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ บทประพันธ์ร้อยกรอง (คาถา) แสดงประวัติพระอรหันต์ โดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เริ่มแต่พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ ฯลฯ พระอานนท์ต่อเรื่อยไปจนจบถาค ๑ รวม ๔๑๐ รูป

เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐
ต่อนั้นเป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้มนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญ คือ พระมหาปชาบดีโคตรมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจรา ฯลฯ พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ
ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฏก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ
 ขุททกนิกาย นี้ เมื่อมองโดยภาพรวม ก็จะเห็นลักษณะที่กล่าวว่าเป็นที่ชุมนุมของคัมภีร์ปลีกย่อยเบ็ดเตล็ด คือ แม้จะมีถึง ๑๕ คัมภีร์ รวมได้ถึง ๙ เล่ม แต่
      • มีเพียงเล่มแรกเล่มเดียว (๒๕) ที่หนักในด้านเนื้อหา หลักธรรม แต่ก็เป็นคัมภีร์เล็ก ๆ ในเล่มเดียวมีถึง ๕ คัมภีร์ ทุกคัมภีร์มีความสำคัญและลึกซึ้งมาก
      • อีก ๓ เล่ม (๒๘–๒๙–๓๐) คือ นิทเทส และ ปฏิสัมภิทามรรค แม้จะแสดงเนื้อหาธรรมโดยตรง แต่ก็เป็นคำอธิบายของพระสาวก (พระสารีบุตร) ที่ไขความพุทธพจน์ที่มีอยู่แล้วในคัมภีร์ข้างต้น (ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอรรถกถา)
      • ที่เหลือจากนั้นอีก ๘ คัมภีร์ ล้วนเป็นบทประพันธ์ร้อยกรอง ที่มุ่งความไพเราะงดงามให้เร้าความรู้สึก เช่น เสริมศรัทธาเป็นต้น คือ
        เล่ม ๒๖ วิมารวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา เล่าประสบการณ์ ความรู้สึก และคติของคนดี คนชั่วตลอดจนพระอรหันตวาวกที่จะเป็นตัวอย่าง / แบบอย่างสำหรับเร้าให้เกิดความรู้สึกสังเวช เตือนใจ และเร้ากำลังใจ ให้ละความชั่ว ทำความดี และเพียรบำเพ็ญอริยมรรค
          เล่ม ๒๗–๒๘ ชาดก แสดงคติธรรมที่สั่งสอนและเร้าเตือนให้กำลังใจจากการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าเอง
       เล่ม ๓๒–๓๓ อปทาน พุทธวงส์ จริยาปิฎก เป็นบทร้อยกรอง บรรยายประวัติ ปฎิปทา และจริยา ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกในแนวของวรรณศิลป์ที่จะเสริมปสาทะและจรรโลงศรัทธา


top