ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม
คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์
แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) ๑๒ เล่ม
เล่ม ๓๔ (ธมม)สังคณี
ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ
มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม
อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง
ฯลฯ และชุด ๒ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังเขตธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม
โลกุตตรธรรมชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา
ตอนต่อจากนั้น ซึ้งเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของคัมภีร์นี้เป็นคำวิสัชชนา
ขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม
ที่กระจายออกไปในแง่ของจิต เจตสิก รูป และนิพพาน
ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แต่ละบทแสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ
๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท ต่างแนวกันเป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง
๑๒๒ มาติกา)
เล่ม
๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญๆขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่
และวินิจฉัยจนชัดเจนจบไปเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ ขันธ์
๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน
๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล
๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ฌทณประเภทต่างๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆอธบายเรื่องใด
ก็เรียกว่า วิภังค์ ของเรื่องนั้น เช่น อธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์
เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์
เล่ม
๓๖ มี ๒ คัมภีร์ คือ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลาย
และข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ
๑๘ ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และบุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ
ตามคุณธรรม เช่นว่า โสดาบัน ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว
ดังนี้เป็นต้น
เล่ม
๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระประธานการสังคายนาครั้งที่
๓ เรียบเรียงขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น
ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่น ความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้
เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉา
วิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
เล่ม
๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน
และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก
แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด)
เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขจัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี
๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด
ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี
๗ ยมก
เล่ม
๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค
๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล อกุศล อัพยากตธรรม)
อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
เล่ม
๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร
แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ
ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม
ซึ่งกล่าวไว้แล้วในต้นคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า
อภิธรรมมาติกา
ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน
จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด
๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดนอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร
กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอารัมมณปัจจัยอย่างไร ฯลฯ ฯลฯ (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลม
คือตามนัยปกติ ไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่า อนุโลมปัฏฐาน)
เล่ม
๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด
๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
(พิจารณารูป เสียง เป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้ว ว่าเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
เล่ม
๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย
ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
(รูปายตนะเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
เล่ม
๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
เล่ม
๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆข้ามชุดกันไปมา
ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด
๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เป็นโลกียธรรม
โดยอธิปติปัจจัย เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด
๓ (ติกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน
ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติดมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน
เช่น อธิบายว่า กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม
เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา)
กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่น ชุดโลกียะโลกุตตระ
กับชุด สังขตะอสังขตะ เป็นต้น
เล่ม
๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆนั่นเอง
แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ + ปฏิเสธ เช่นว่า
ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม + ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม
เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ
+ อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร
และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด
๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓
ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น
ติก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน
ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไปจนถึงท้ายสุด
คือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้น
เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนวและทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้ว
เอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด
แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์
ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมด จะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว
ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งวา มหาปกรณ์ แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ
พระอรรถกถาอาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฏกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แบ่งเป็น พระวินัยปิฏก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฏก ๒๑,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฏก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
|