หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
การสืบสานมรดกทางวิชาการ
 
 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒

สถาบันนวนาลันทา (Nava Nalanda Institute)
: ความพยายามฟื้นฟู มรดกทางวิชาการพระพุทธศาสนา


ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งนามว่า กัศยปะเถระ๑ ซึ่งอาจเรียกตามเสียงไทยว่า กัสสปก็ได้ พระเถระรูปนี้เป็นสังฆนายกของสงฆ์ ทั่วประเทศอินเดีย ท่านเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ท่านได้สร้าง วิหารขึ้นใหม่ ณ บริเวณสถาบันการศึกษานาลันทาเก่านั้น และตั้งชื่อว่า นวนาลันทามหาวิหาร จัดให้มีการศึกษาค้นคว้าทางด้านศาสนาและปรัชญา ตั้งแต่ชั้นอนุปริญญา ถึงปริญญาเอก และให้ชื่อใหม่ว่า Nalanda Institute (สถาบันนาลันทา) และบัดนี้มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ มีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ คือ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ทิเบต และพระสงฆ์ชาวอินเดียได้เข้าไปศึกษาจำนวนมาก เป็นการฟื้นฟูการศึกษาทางพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ของอินเดีย

ในปัจจุบัน สถาบันนาลันทาใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาตรฐาน และสิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดของชาวมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คือ นิสิตรุ่นแรกของมหาจุฬาฯ และเป็นพระไทยรูปแรก ที่ได้เข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้จนได้สำเร็จปริญญาเอก คือ พระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาอธิการบดี และเป็น อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ในปัจจุบันอาจารย์ที่บรรยายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ จำนวนหนึ่ง ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา โท - ปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย นาลันทา แห่งนี้

หลักสูตรการศึกษา ของสถาบันนวนาลันทา๒

สถาบันนวนาลันทามีหลักสูตรการศึกษาดังนี้

ปีที่ ๑ ชั้น ปาลิอาจารยะ กำหนดระยะเวลาศึกษา ๑ ปี มหาวิทยาลัย เค. เอส. สันสกฤต เป็นผู้จัดสอบ ภาษาที่ใช้ในการทำข้อสอบ ใช้ภาษาบาลี อักษรโรมันอย่างเดียวเท่านั้น

ปีที่ ๒ ศึกษาภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี เป็นหลักสูตร และศึกษา หลักสูตรปริญญาโท ปีที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี ต้องผ่านการสอบภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรีซึ่งมหาวิทยาลัยมคธเป็น ผู้ดำเนินการสอบ สำหรับหลักสูตรปริญญาโท ปีที่ ๑ ยกไปรวมสอบพร้อมกับการสอบปีสุดท้าย

ปีที่ ๓ ศึกษาหลักสูตรปริญญาโท ปีที่ ๒ การสอบภาคสุดท้ายต้องสอบวิชาในหลักสูตรปริญาโท ปีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งมหาวิทยาลัยมคธเป็นผู้จัดสอบ ภาษาที่ ใช้ในการทำข้อสอบ ใช้ภาษาบาลี (อักษรโรมัน) ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาฮินดี สุดแต่นักศึกษาจะเลือก

การศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีการศึกษาในระดับปริญญาเอก ๒ สาขาวิชา คือปริญญาเอกทางปรัชญา (Ph.D.) และปริญญาเอกทางวรรณคดี (D.L.H) ในการศึกษาระดับปริญญาเอกนี้ มหาวิทยาลัย ได้วางกฎไว้โดยเฉพาะนักศึกษา จะต้อง ปฏิบัติตามกฎแต่ละข้อของมหาวิทยาลัย

พระสงฆ์นักศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ได้รับความสะดวกในเรื่องที่พักมาก อาจจะอยู่ในหอพักนานาชาติหรือในตึกใหม่ก็ได้ หรือแม้จะพักอยู่ในอาคารเรียนก็ได้ตามสภาพของตน ในขณะที่พักอยู่ในสถานที่ต่างๆ นั้น พระสงฆ์นักศึกษาก็สามารถ ประกอบศาสนกิจเป็นกิจวัตรประจำวัน ของตนได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น

มหาวิทยาลัยนาลันทานั้น แม้ว่าในอดีตจะประสบอุปสรรคถึงขนาดถูกทำลายเหลือแต่ซากปรักหักพังก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยนาลันทา ก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟู และได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ จนอยู่ในขั้นมหาวิทยาลัยระดับมาตรฐาน เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะเป็นมหาวิทยาลัย พุทธศาสนาแห่งแรกในโลก ควรที่เราชาวพุทธทั่วโลกจะภูมิใจในความก้าวหน้าแห่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สภาพที่มหาวิทยาลัยนาลันทาได้รับนั้น น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับ ชาวพุทธทั่วไปว่า สรรพสิ่งในโลกมีเสื่อมได้ก็มีเจริญได้หรือในทางตรงกันข้าม มีเจริญได้ ก็ย่อมมีเสื่อมได้เป็นกฎธรรมดา มหาวิทยาลัยนาลันทา อาจเป็นกระจกเงาอันดี แก่ชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัยในอดีต ในช่วงแรกแห่ง การดำเนินการสอนในระดับปริญญาใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้ประสบอุปสรรคนานา ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องงบ ประมาณ ค่าใช้จ่ายในการบริหารมหาวิทยาลัยมีไม่เพียงพอ ผู้บริหารที่มีความรู้ความชำนาญมีจำนวนจำกัด แต่เมื่อกาลผ่านไปๆ สิ่งที่ขาดแคลน ก็ค่อยๆ ได้รับการแก้ไขให้มีเพิ่มขึ้น และผู้บริหารที่มีความรู้ความชำนาญก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นโดยลำดับ จนในที่สุด เพราะความพยายาม ของบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกส่วน รัฐสภาจึงได้ผ่านพระราชบัญญัติกำหนด วิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา- ภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า พุทธศาสตรบัณฑิต และด้วยความสามารถ และประสิทธิภาพ ของบุคลากรของมหาวิทยาลัย รัฐสภาได้ผ่านพระราชบัญญัติยกฐานะของมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ นับว่า เป็นความก้าวหน้าที่น่าภาคภูมิใจของบรรดาบุคลากร ของมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย

ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีลักษณะ พัฒนาไปเรื่อยๆ เหมือนมหาวิทยาลัย นาลันทา มหาวิทยาลัยนาลันทาเปิดสอนปริญญาโท-เอก แก่นักศึกษาทั่วไปทั้งชาวต่างชาติและชาวอินเดีย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้เปิดสอนระดับปริญญาโท ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ ปัจจุบันเปิดสอน ๔ สาขาวิชา คือ สาขาบาลี สาขาพระพุทธศาสนา สาขาปรัชญา และสาขาธรรมนิเทศ และเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับจากเดิมที่เปิดสอนเฉพาะภิกษุสามเณร มาเป็นการเปิดสอนกว้างขึ้น โดยรับคฤหัสถ์เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโท เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๔๒ รับเพียง ๒๐ คน เป็นลักษณะการนำร่อง นักศึกษาประกอบด้วยคฤหัสถ์ ผู้ชาย ผู้หญิง แม่ชี ต่อไปก็จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์ ให้มากขึ้น และจะยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น ถึงปริญญาเอก

ลักษณะเด่นอันหนึ่งของชาวมหาวิทยาลัยนาลันทา คือมหาวิทยาลัยมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เปิดโอกาสให้พระสงฆ์สามเณรจากประเทศต่างๆ ได้ศึกษา ลักษณะเด่นข้อนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็มี เหมือนมหาวิทยาลัยนาลันทา คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตรการศึกษา นานาชาติระดับปริญญาโท โดยจะรับสมัครชาวต่างชาติทั้งพระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ จากประเทศต่างๆ มาศึกษาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในสาขาพระพุทธศาสนา(Buddhist Studies) ความเจริญก้าวหน้าที่พบในมหาวิทยาลัยนาลันทามีฉันใด ความเจริญก้าวหน้าที่พบและจะพบในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็มีฉันนั้น
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕