ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฯ l ความเป็นมาของพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ l ความเป็นมาของพระไตรปิฎก CD-ROM  
หน้าหลัก


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก CD-ROM

ชื่อโครงการ
       โครงการพิเศษ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการสืบค้นพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บน ซีดี – รอม
       ( Mahachulalongkornrajvidyalaya University Tipitaka Retrieving Artificial Intelegence CD-ROM, MCUTRAI)

ประเภทโครงการ
       โครงการใหม่

กระทรวง
       กระทรวงศึกษาธิการ

กรม
       มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

แผนงาน
       ศาสนศึกษา

หน่วยงานรับผิดชอบ
       สำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ

หลักการและเหตุผล
       พระไตรปิฎกจัดเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญและทรงคุณค่ายิ่งสำหรับพุทธบริษัท เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งประมวลพระธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสั่งสอนขั้นปฐมภูมิ (Primary Resources) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ยังเป็นมาตรฐานกลางสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องแห่งพระสัทธรรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบัน แม้ว่าชาวพุทธทั่วไปจะเล็งเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกมากเพียงไรก็ตาม แต่ก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านภาษาที่เข้าใจยาก และการมีปริมาณมากของเนื้อหาถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่จัดเก็บในรูปเล่มหนังสือภาษาไทย ๔๕ เล่ม และภาษาบาลีอีก ๔๕ เล่ม
       มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเจ้าเกล้าฯเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการอำนวยประโยชน์แก่การศึกษาพระไตรปิฎกตามพระราชปณิธานดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตรวจชำระและพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลี ครบ ๔๕ เล่ม เรียกว่า ”พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ต่อมา ได้แปลเป็นภาษาไทย ครบ ๔๕ เล่ม เรียกว่า ”พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ซึ่งได้รับความสนใจสั่งจองจากพุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก
       ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการบริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาแก่สังคม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงดำริที่จะให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการสืบค้นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บนซีดี – รอม ขึ้น เพื่อให้สามารถมีระบบการบันทึก จัดเก็บ และเผยแพร่บนซีดี – รอม และสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการสืบค้นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บนซีดี-รอม ขึ้น เพื่อสนองพระราชปณิธาน และนโยบายของมหาวิทยาลัย ดังกล่าว

วัตถุประสงค์
       ๑ เพื่อเตรียมต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประมาณ ๓๐,๒๖๐ หน้า ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ตรงตามต้นฉบับที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม และพร้อมที่จะนำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎก ซีดี – รอม ต่อไป
       ๒ เพื่อวิเคราะห์ และออกแบบระบบฐานข้อมูลสำคัญทางพระพุทธศาสนา (Database) โดยเฉพาะพระไตรปิฎกทั้งภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สามารถรองรับระบบการบันทึก จัดเก็บ และการสืบค้นที่ทันสมัย
       ๓ เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสืบค้นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประมาณ ๓๐,๒๖๐ หน้า ให้สามารถเข้าถึง และสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับธรรมดา และระดับสูง(Advance) โดยครอบคลุมข้อมูลประเภทข้อความ(Text), ภาพ(Graphic), เสียง(Audio), วิดีทัศน์(Video)สำหรับข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
      ๔ เพื่อผลิตซีดี - รอมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด หรือ ๒,๐๐๐ แผ่นในระยะแรก ออกเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายระดับต่าง ๆ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยจะรักษารูปแบบมาตรฐานของเนื้อหาสาระต้นฉบับเดิมไว้ และสามารถเปรียบเทียบได้กับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม
       ๕ เพื่อเตรียมรองรับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่ชาวต่างประเทศ ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคภาษาไทย บาลี โรมัน และภาษาต่าง ๆ ในอนาคต

วิธีการดำเนินงาน
       แบ่งระยะการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
       ๑ การเตรียมต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
            ๑) ทำการแปลงข้อมูลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจากรูปแบบเดิมที่อยู่ในไฟล์คอมพิวเตอร์แม็กคินทอช(Macintosh) มาเป็นรูปแบบคอมพิวเตอร์ชนิดพีซี ที่สามารถใช้งานได้ จำนวน ๓๐,๒๖๐ หน้า โดยครอบคลุมรูปแบบ มาตรฐาน และเนื้อหาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ตั้งแต่บทนำ หัวเรื่อง เนื้อหา เชิงอรรถ และดรรชนีท้ายเล่มของแต่ละเล่ม
            ๒) จัดเตรียมต้นฉบับที่ผ่านการแปลงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ชนิดพีซีให้ตรงตามต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกประการ ทั้งเนื้อหา เครื่องหมาย วรรคตอน เล่ม / ข้อ / หน้า เป็นต้น
            ๓) พิมพ์สำเนาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้อยู่บนคอมพิวเตอร์ชนิดพีซี จำนวน ๓๐,๒๖๐ หน้าเพื่อจัดส่งให้คณะบรรณาธิการของมหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจทานต่อไป
            ๔) บรรณาธิการต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้ถูกต้องตรงตามต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ไปแล้วทุกประการ
            ๕) จัดทำดรรชนีคำ วลี และหมวดธรรมของเนื้อหาพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งจากที่มีอยู่ในแต่ละเล่มและจากการคัดเลือกคำเพิ่มเติม โดยใช้โปรแกรมดรรชนีค้นคำเข้าช่วย เพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนาระบบการสืบค้นที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาและส่วนอื่น ๆ ของเล่มได้ พร้อมทั้งคำนวณสถิติข้อมูลที่ค้นพบ
      
      ๒ การพัฒนาโปรแกรมและระบบการสืบค้น ประกอบด้วย
            ๑) การวิเคราะห์และออกแบบระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมกับตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาเป็นรูปเล่ม ประมาณ ๑๐ ชุด
            ๒) การพัฒนาโปรแกรมการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกคำศัพท์ กลุ่มคำหรือวลี รวมทั้งศัพท์สัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ อีกด้วย
            ๓) การออกแบบด้านกราฟิกสำหรับโปรแกรมระบบฐานข้อมูลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้สวยงามและน่าสนใจ
            ๔) พิมพ์สำเนาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประมาณ ๓๐,๒๖๐ หน้า เพื่อจัดส่งให้คณะบรรณาธิการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทำการตรวจความถูกต้อง
            ๕) พัฒนาฐานข้อมูลจากชุดบรรณาธิการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
            ๖) พัฒนาโปรแกรมตัดคำเพื่อจัดทำดรรชนีประจำเล่ม พร้อมระบบการแก้ไขคำ วลี และระบบการสืบค้นดรรชนี
            ๗) ผลิตระบบฐานข้อมูลการสืบค้นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้ง ๔๕ เล่ม บนแผ่นซีดี-รอม (CD-ROM) ให้เป็นฐานข้อมูลที่มีความสะดวก ปลอดภัย และสนองความต้องการของผู้ใช้ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทุกระดับ

ระยะเวลาการดำเนินงาน
ระยะเวลาในการดำเนินงาน ประมาณ เริ่มตั้งแต่วันลงนามในสัญญา

แผนการดำเนินงาน
การดำเนินงานโครงการพัฒนาโปรแกรมการสืบค้น พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย ตลอดจนการผลิตซีดี – รอม ออกเผยแพร่

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
            ๑. ได้ฐานข้อมูลทางพระพุทธศาสนา ( Database ) ในส่วนของพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีความน่าเชื่อถือ และสะดวกในการสืบค้นและจัดเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมดไว้ได้เป็นระยะเวลานานและปลอดภัย
            ๒. ได้โปรแกรมการสืบค้นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น ๔๕ เล่ม บนซีดี-รอม ที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้งาน
            ๓. ได้ผลิตแผ่นซีดี-รอมต้นฉบับ (Master Copy) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เก็บรักษาไว้ได้นาน ทั้งสะดวกในการพกพาและจัดเก็บเนื้อหาพระไตรปิฎกทั้งหมดจำนวน ๔๕ เล่ม เพื่อนำไปผลิตและคัดลอกในลำดับต่อไป ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ชุด ในระยะแรก
            ๔. ได้ระบบข้อมูลสารสนเทศทางพระพุทธศาสนาเพื่อการวิจัยบนซีดี-รอม เฉพาะเนื้อหาพระไตรปิฎกภาษาไทยฯ จำนวน ๔๕ เล่ม ให้มีประสิทธิภาพกว้างไกลและเอื้อประโยชน์อย่างเต็มที่
            ๕. ได้ฐานข้อมูลสำคัญและมีความสมบูรณ์สำหรับการใช้งานเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสังคมสารสนเทศ

การบริหารงานของโครงการ
เนื่องจากเป็นโครงการพิเศษตามนโยบายของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การดำเนินงานของโครงการฯ จึงอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ได้แก่
            ๑ คณะกรรมการกำกับดูแลการพัฒนาฐานข้อมูลชุดโปรแกรมการสืบคืนพระไตรปิฎก ซีดี - รอม ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
            ๒ คณะบรรณาธิการพระไตรปิฎกภาษาไทย-บาลี ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง รับผิดชอบงาน บรรณาธิการการความถูกต้องสมบูรณ์ของเนื้อหาต้นฉบับ
            ๓ คณะกรรมการตรวจการจ้าง การพัฒนาฐานข้อมูลชุดโปรแกรมการสืบค้นพระไตรปิฎก ซีดี – รอม ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
            ๔ ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ : บริหารโครงการ

top