หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. » เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ :การจัดการความขัดแย้งผ่านมิติการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
 
เข้าชม : ๖๖๕๐๔ ครั้ง

''เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ :การจัดการความขัดแย้งผ่านมิติการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2554)

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง 
(ปปร.) รุ่นที่ ๑๕  สถาบันพระปกเกล้า

 

๑. ความนำ 

            จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ โครงสร้างของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ กลางทศวรรษ ๑๙๗๐ โลกหลังสงครามพยายามสร้างระเบียบโลกที่ทำให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจมีความรับ ผิดชอบต่อสังคม  ได้ให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายในด้านการมีงานทำเต็มที่ และเน้นความมั่นคงทางสังคม (Social Security) เหนือสิ่งอื่นใด อีกทั้ง การพยายามลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน  การที่ประเทศต่างๆ ในสังคมโลกไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบายสาธารณะให้สามารถตอบผลประโยชน์และความ ต้องการของกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้อย่างประสานสอดคล้อง จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมจากความสุดขั้วภายในสังคมและระหว่างสังคม ระหว่างคนรวยกับคนจน[๑]

            ห่วงโซ่ที่เชื่อมสังคมมนุษย์ให้สามารถอยู่ ร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางความแตกต่างทางพหุวัฒนธรรม (Multi-Culture) คือ “ระบบการเมือง” (Political System) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดนโยบาย สาธารณะ (Public Policy) เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์และความต้องการด้านปัจจัย ๔ แต่การที่จะดำเนินการจัดการผลประโยชน์ด้านทรัพยากรได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยตัวแปรด้านอำนาจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง[๒]

            ด้วยเหตุนี้  การเกิดขึ้นของระบบการเมืองนั้น ปัจจัยประการหนึ่งคือ “การใช้การเมืองเป็นเครื่องในการจัดการความขัดแย้งในด้านต่างๆ ของประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐหรือชุมชน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับโอกาสทั้งในแง่ของทุน ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ของกลุ่มคนต่างๆ จะ เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจ (Economy) ระบบการเมืองการปกครอง (Politics) จึงมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องเชื่อมต่อกันและเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบ ระเบียบ ยกตัวอย่างเช่นระบบเศรษฐกิจที่ดีจะช่วยเกื้อหนุนและเป็นปัจจัยให้ระบบสังคม เคลื่อนไหวอย่างราบรื่น ในขณะที่ระบบสังคมที่ดีก็จะเกื้อหนุนให้ระบบการเมืองและการปกครองดำเนินไป อย่างไม่สะดุด เป็นต้น ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการทางพฤติกรรมของมนุษย์ทางสังคมที่ล้วนเกิดขึ้นและ ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง

            ถึงกระนั้น ในแต่ละปี  ประชากรของมนุษยชาติเพื่มจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ในขณะเดียวกัน มนุษยชาติก็มีความต้องการทรัพยากรที่เพิ่มสูงขึ้น  อย่างไรก็ดี เนื่องจากทรัพยากรของโลกมีจำนวนจำกัด จึงทำให้ความต้องการกับทรัพยากรไม่ประสานสอดคล้องกัน จึงทำให้มนุษยชาติพยายามที่แสวงหาทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง  เมื่อแต่ละคนพยายามที่จะขยายพื้นที่ของความต้องการ จึงทำให้ความต้องการของมนุษยชาติขบเหลี่ยมของกันและกัน จนนำไปสู่ความขัดแย้ง และบางสถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง เพราะมนุษยชาติไม่สามารถได้รับการตอบสนองตามที่ตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองต้องการ  ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และขยายวงกว้างจนยากต่อการบริหารจัดการได้

            ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์ทางสังคมนั้น กลไกหลักสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศคือ “การเมือง” จะเข้าไปดำเนินการบริหารจัดการอย่างไร เพื่อกลุ่มคนต่างๆ  อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และยอมรับได้ต่อการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการของผู้มีอำนาจในการ บริหารจัดการ  ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องอาศัย “กลไกทางด้านเศรษฐศาสตร์” เข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อให้การดำรงอยู่ของอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะการบริหารจัดการ หรือดำเนินการตามนโยบายแห่งรัฐเป็นไปอย่างราบรื่นได้

            พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอตัวอย่างของการแก้ปัญหาปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอสาเหตุของตัวสาเหตุที่แท้จริง ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนเอาไว้ใน  “กูฏทันตสูตร” ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำมาเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ (Best Practice) เพื่อจะได้ถอดบทเรียนสำคัญในการแก้วิกฤติการณ์ทางสังคมที่สัมพันธ์กับการ เมือง และเศรษฐกิจ และตอบคำถามที่ว่า ในพระสูตรดังกล่าวนี้ ได้นำเสนอหลักการที่ว่า “เศรษฐศาตร์การเมือง” เอาอย่างไร อีกทั้งได้นำเสนอหลักพุทธธรรมเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมได้อย่างไร

๒. แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง : ประวัติและพัฒนาการ

            เศรษฐศาสตร์การเมือง[๓] (Political Economy) มีความหมายกว้างขวาง และครอบคลุมพื้นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติการค่อนข้างมาก  ถึงกระนั้น ความหมายประการหนึ่งคือ ความหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่ พยายามจะนำแนวคิดด้านอื่นๆ เข้าไปรวมด้วย เช่น สังคม วัฒนธรรม ประเพณี พฤติกรรมของคน กฎหมาย การเมือง(ความเกี่ยวข้องกับรัฐ) และพิจารณาถึงปูมหลังของแต่ละทฤษฎีด้วย อีกทั้งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างของระบบ มากกว่า ที่จะพิจารณาแต่ในเชิงคณิตศาสตร์และตรรกะบนการตั้งสมมติฐาน

            “เศรษฐศาสตร์การเมือง”[๔] (Political Economy) ได้รับการนำมาใช้ก่อนคำว่า เศรษฐศาสตร์ (Economics) จะเห็นว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองในสมัยแรกเป็นความพยายามแยกให้เห็นว่า การปกครองเมือง (Political) มีความแตกต่างจากการปกครองแบบเดิม ซึ่งคำว่า Economy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่าการจัดสรรครัวเรือน การเพิ่มคำว่า “Political” เข้าไปอาจทำให้หมายถึง การจัดสรรในแบบที่แตกต่างไปจากครัวเรือนทั่วไปเป็นแบบเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น โดยที่การศึกษาจะเกี่ยวกับการดำเนินงานและการผลิตที่บริหารโดยรัฐ (รัฐเป็นสถาบันใหม่ในสังคม) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของระบบทุนนิยมที่เพิ่งเกิดใหม่และมีบทบาทมากขึ้น 

            เศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นได้รับการจัดเป็นระบบความคิดที่ชัดเจนในคริสตศตวรรษ ที่  ๑๗  ซึ่งเป็นช่วงของการต่อสู้ระหว่างทุนนิยมกับศักดินานิยมในยุโรป และได้มีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในอังกฤษสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อแทนที่แนวคิดสำนักธรรมชาตินิยม (Physiocracy) ของฝรั่งเศส งานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองชิ้นแรกๆ ได้แก่ The labor theory of value (ซึ่งเริ่มโดย จอห์น ล็อก), พัฒนาต่อโดย อดัม สมิธ และวิเคราะห์ต่อในเชิงวิพากษ์โดยคาร์ล มาร์กซ

            ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  การที่วิชาเศรษฐศาสตร์ในแบบกระแสหลักได้เฟื่องฟูจนถึงขีดสุด จึงทำให้คำว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง ได้รับการแทนที่ด้วย คำว่า เศรษฐศาสตร์ และทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ที่ว่านั้น ก็มีการใช้แนวคิดในเชิงองค์รวมน้อยลง เนื่องจากคำพยายามที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์เป็น วิชาที่สามารถตัดออกจากอารมณ์ ความรู้สึกทางวัฒนธรรม สังคมและการเมือง เพื่อให้วิชาดังกล่าวมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เป็นผลทำให้ เศรษฐศาสตร์กลายเป็นสาขาวิชาที่ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของสังคม การเมืองหรือวัฒนธรรมได้อย่างรอบด้านเท่าที่ควรจะเป็น

            ในภายหลัง ที่เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาก ขึ้น เศรษฐศาสตร์การเมือง จึงปรากฏชัดขึ้นอีกครั้ง และมีบทบาทมาถึงปัจจุบัน  ถึงกระนั้น เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Neo Classic) ซึ่งมีความโดดเด่นในการชี้นำให้เห็นถึงสาเหตุการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคมสามารถนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกลไกตลาดที่ทำงานอย่างเสรี แต่ความเป็นจริง กลไกตลาดไม่เคยทำงานอย่างเป็นอิสระ ถูกครอบงำด้วยอำนาจที่ชัดเจนและที่ไม่ชัดเจน เป้าหมายการใช้อำนาจเหนือกลไกตลาดก็คือ การได้กรรมสิทธ์ส่วนเกิน (surplus) เศรษฐศาสตร์การเมืองวิเคราะห์เศรษฐกิจ บนพื้นฐานความจริงทางสังคม อำนาจทางการเมือง การกระทำในประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายรูปแบบเติบโตที่ขาดสมดุลว่า เพราะเหตุใดการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงทำให้การพัฒนา ดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความแตกแยก และแย่งชิงผลประโยชน์และความต้องการด้านทรัพยากรสูงมากขึ้น

๓.  หลักการและแนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในกูฏทันตสูตร 

            สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อพระสูตรนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนรัฐศาสตร์แบบเสริมเศรษฐศาสตร์ในการทรงแสดงธรรมแก่กูฎทันต พราหมณ์ นักปกครองผู้หนึ่งของแคว้นมคธพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ลดอาชญากรรม ด้วยเพิ่มการจัดเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีรายได้ มีความเป็นอยู่ดี เป็นการนำเรื่องเศรษฐกิจมาช่วยในการปกครองด้วย”[๕] สอดรับกับอดิศักดิ์ ทองบุญ[๖]  ที่ชี้ว่า “แนวคิดในกูฏทันตสูตรเป็นการนำเสนอแนวทางการปฏิวัติแนวทางคิดทางเศรษฐกิจโดย การพัฒนาเศรษฐกิจขั้นมูลฐานที่สัมพันธ์กับแนวคิดทางการเมืองแบบ ธรรมาธิปไตย”  คำถามมีว่า “แนวคิดในกูฏทันตสูตรได้นำเสนอหลักการและแนวทางดังกล่าวอย่างไร”  จึง ทำให้นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนามองว่า ควรนำพระสูตรดังกล่าวนั้นมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน ก็จะเกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชนได้อย่างมาก  

๔.  การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบยั่งยืนตามแนวกูฏทันตสูตร 

             ปัจจัย ๔ คือ   “เครื่องนุ่งห่ม  อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค”  นั้น  ถือได้ว่าเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่าง ยิ่ง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือ “อาหาร”   พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง”    ซึ่งความหิว หรือความต้องการนั้น  ถือว่าเป็นปัจจัย หรือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากกรณีการแย่งชิงข้าวสาลีตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร   หรือการที่ภิกษุใส่ร้ายพระทัพพมัลลบุตรในข้อหาจัดวาระในลำดับสุดท้าย จนทำตัวเองได้อาหารที่ไม่ประณีตก็เกิดจากความต้องการด้านอาหาร

            ในกูฏทันตสูตรนั้น  เริ่มแรกนั้นพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมิได้ตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหาเรื่อง “ความยากจน” ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ ว่า เป็นภัยคุกคามต่อสถานะความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ แต่สิ่งกลัวมากที่สุดคือ “การกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจทางการเมืองการปกครองที่ตัวเองมีและเป็น”  ฉะนั้น เพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ จึงต้องการบูชามหายัญ เพื่อที่จะเอาอกเอาใจเทพเจ้าหรือสิ่งลึกลับเบื้องบนซึ่งมีอำนาจอยู่เหนือ ธรรมชาติ เมื่อเทพเจ้าเบื้องบนเกิดความพออกพอใจก็จะอำนวยผลให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ มนุษย์โลก ความเชื่อเช่นนี้ถือเป็นความเชื่อแต่โบราณที่มีมานานแล้วก่อนพุทธศาสนาจะถือ กำเนิดขึ้นด้วยซ้ำ เป็นความเชื่อของศาสนาพราห์มในเรื่องเทพเจ้าว่ามีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดในโลก และสามารถดลบันดาลให้สรรพสัตว์มีความสุขปราศจากทุกข์ภัยต่าง ๆ ดังนั้นจึงเป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติตาม ๆ กันมาด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนและบูชายัญเทพเจ้าเหล่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ทำให้ปัญหาเดิมไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศโดยตรงและก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

            เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราชแล้ว บ้านเมืองของพระองค์เกิดความไม่สงบ โจรผู้ร้ายชุกชุมคอยเบียดเบียนประชาชนคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน พระพุทธองค์มองว่าศัตรูของพระองค์ไม่ใช่โจร เพราะถึงจะปราบปรามอย่างไรก็ไม่หมด โจรที่เหลือก็ยังคงเบียดเบียนทำความเดือนร้อนให้แก่ผู้อื่นได้อยู่ร่ำไป ประชาชนยังยากจนอยู่ และหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ดังแผนภาพต่อไปนี้

 


           

            จากแผนภาพดังกล่าวอธิบายได้ว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์โลกนี้ประกอบไปด้วย ระบบต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนลูกโซ่หรือฟันเฟืองจำนวนมากที่เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ในสถานะที่เป็นปรกติ หรือดีประชาชนไม่ยากจนไม่มีความลำบากในการทำมาหากินแล้ว ก็จะส่งผลต่อฟันเฟืองตัวอื่น ๆ ได้แก่ ระบบสังคม คือคนในสังคม ประชาชนในประเทศก็จะมีคุณภาพ การเมืองและการปกครองก็ราบรื่นไม่สะดุดติดขัด และในท้ายที่สุดความสันติสุขก็จะเกิดขึ้นกับสังคม ๆ นั้น

             ใน “กูฏทัณฑสูตร”[๗] สะท้อนให้เรามองเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว  เพราะเมื่อวิเคราะห์จากประเด็นดังกล่าวพบว่า  การที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเพียบพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ  มนุษย์สมบัติ   และปรารถนาให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่กับพระองค์ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ยังทรงพระ ชนม์อยู่  ฉะนั้น  พระองค์ทรงดำริตามวิธีการที่นิยมกระทำในยุคนั้นคือ “การบูชายัญ”  โดยมุ่งหวังว่า สามารถสร้างความพอใจให้แก่เทพเจ้าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น

             ในขณะที่พราหมณ์ปุโรหิตมองว่า “หัวใจของพระราชาคือประชาชน”  ถ้าพระองค์ไม่สามารถกุมหัวใจ  หรือเข้าไปนั่งในใจของประชาชนได้  ผลที่ตามมาก็คือ “การสูญเสียพลังมวลชน”  จนนำไปสู่การต่อต้าน  และประท้วงเพื่อโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระองค์  (ผู้อ่านสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบประเด็นนี้ได้จากกรณีโมฮัมเมด เบาอะซีซี (Mohamed Bouazizi เกิด 29 มี.ค. 1984 ตาย 4 ม.ค. 2011) เขาเป็นชาวตูนิเซียที่ยากจน แม้ว่าจะได้รับการศึกษามาพอประมาณ แต่ไม่ถึงขั้นมหาวิทยาลัยตามบางข่าวกล่าว เลี้ยงชีพด้วยการเป็นพ่อค้าแผงลอยที่เมือง ซิดิ บูซิด (Sidi Bouzid) เขาถูกตำรวจกลั่นแกล้งรีดไถเป็นประจำ ครั้งหลังสุดถูกหมายปรับเป็นเงิน 400 ดีนาร์ ซึ่งเท่ากับรายได้ 2 เดือน เมื่อถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2010 เกิดการเผชิญหน้าระหว่างหัวหน้าตำรวจที่เป็นสตรีพร้อมกับลูกน้องโดยตำรวจจะ ยึดตราชั่งของเขาไป แต่เขาไม่ยอม เกิดการโต้เถียง เบาอะซีซี ถูกตบหน้า พวกตำรวจจับเขากดไว้ที่พื้น ยึดตราชั่งและสินค้าไป  เขาได้ประท้วงโดยการเผาตัวเองที่หน้าศาลากลางเทศบาล อันเป็นชนวนให้เกิดการลุกขึ้นสู้ทั่วประเทศ นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเขาเป็น "วีรชนผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง" ยุติระบอบปกครองยาวนาน 23 ปีของประธานาธิบดี เบน อาลี ดูรายละเอียดใน http://www.youtube.com/watch?v=IaRdvCazpjM)
             อย่างไรก็ตาม  โจทย์ และคำตอบของพระราชากับพราหมณ์อาจจะสอดคล้องกัน  แต่วิธีการในการแก้โจทย์นั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบมีความแตกต่างกัน  ด้วยเหตุนี้  พราหมณ์จึงนำเสนอสถานการณ์จริงเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแคว้นต่อ พระราชาว่า “บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม  มีการเบียดเบียน  โจรยังปล้นบ้าน  ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง  ดักจี้ในทางเปลี่ยว  พระองค์โปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมก็จะชื่อว่า กระทำสิ่งที่ไม่สมควร” นอกจากนั้น พราหมณ์ยังได้เสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลเสียของการหาทางออกด้วยวิธี การรุนแรงว่า “การปราบเสี้ยนหนามคือโจร  ด้วยการประหาร  จองจำ  ปรับไหม  ตำหนิโทษ  หรือเนรเทศ  ไม่ถือว่าเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรได้อย่างถูกต้อง  เพราะว่าโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วนั้นก็จะมาเบียดเบียนบ้านเมืองได้ใน ภายหลัง”

             ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น  พราหมณ์จึงได้นำเสนอ “นโยบายคู่ขนาน” (Dualistic Policy) อันเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรัฐประศาสนศาสตร์ควบคู่ไปกับนโยบายเกี่ยวกับการ พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายคู่ขนานนั้นประกอบไปด้วย “ไตรภาค”  หรือ “กลยุทธ์สามเส้า”  กล่าวคือ

             (๑) การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชนชั้นรากหญ้า โดยการพระราชทานพันธุ์พืช และอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรม และการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรนั้นไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องต้นทุนทางสินค้า หรือต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบจากแคว้นอื่นมากจนเกินไป 

             (๒) การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับกลาง และระดับสูง โดยการสนับสนุนต้นทุน   ทางการผลิต หรือต้นทุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจขนาดกลาง อันเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่คอยรับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรไปขายใน แคว้นอื่น ๆ หรือภายในแคว้นของพระองค์

             (๓) การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่ง              การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้าราชการเป็นมันสมอง และผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น การพระราชทานอาหาร และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ราชการนั้นจึงถือได้ว่าเป็นมาตรการในการสร้างแรงจูง ใจได้อย่างดีที่สุดทางหนึ่ง

             นโยบาย “สามเส้า”  ดังกล่าวนั้น จัดได้ว่าเป็น “เครื่องยนต์สามตัว” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป  อย่างไรก็ตาม  การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการทำสงคราม หรือประกาศสงครามในหลายด้านด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็น “สงครามกับความยากจน”  “สงครามกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง “สงครามกับยาเสพติด”   “สงครามกับการก่อการร้าย” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สงครามกับกิเลส” ที่มีอยู่ในตัวเองด้วยการปฏิบัติตนตามแนวทางของศีล  สมาธิ และปัญญา

              เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจแบบ “ไตรภาค” มีส่วนสำคัญในการจัดการความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นและลุกลามในหมู่ประชาชน ผลที่ตามมาก็จักเป็นประดุจถ้อยคำของพราหมณ์ปุโรหิตที่ว่า “พลเมืองเหล่านั้นจักขยันขันแข็งเอาใจใส่ในการงานของตัวเอง ไม่เบียดเบียน หรือเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน   บ้านเมืองก็จะอยู่อย่างร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดี และครอบครัวมีความสุข”

              ดังนั้น  เมื่อเสนอแนะวิธีปราบผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนเช่นนี้แล้ว  พระองค์ทรงมุ่งไปที่ปัญหาเศรษฐกิจและพยายามทำให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีความ เป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น  แล้วปัญหาต่าง ๆ  ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ  ถ้าวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่พระองค์ทรงเสนอนั้น  จริง ๆ แล้ว  คือ กระบวนการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ   ๔  นั่นเอง  ถ้าจัดตามลำดับขั้นตอนจะเห็นภาพที่แจ่มชัด ดังนี้

             การมองปัญหาอย่างทะลุปุโปร่ง รวมถึงการหาสาเหตุที่แท้จริงตลอดจนการหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องของพระ พุทธองค์นี้จึงเป็นไปตามหลักการของอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ  มรรค ศัตรูที่แท้จริงของพระองค์ สาเหตุของปัญหา ก็คือ “ความยากจน” ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ประชาการมีความยากจน มีความลำบากในการทำมาหากิน เป็นเหตุให้เกิดการประพฤติอกุศลกรรมมีการลักขโมยเป็นต้นเกิดขึ้น จึงทรงแก้ปัญหาโดยใช้วิธีบูรณาการเข้ากับวิธีแบบเดิมของพราหมณ์คือ การคงไว้ซึ่งการบูชายัญโดยเอายัญเหล่านั้นไปให้ประชาชนที่เดือดร้อนแทนที่จะ เป็นเทพเจ้าเหมือนแต่ก่อน

            ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วนั้น นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะสามารถขยายผลก่อเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมายมีลักษณะเป็นลูกโซ่ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ปัญหาเหล่านั้นได้แก่ ปัญหาความมั่นคงทางสังคม การเมืองและการปกครอง

๕. ขั้นตอนของการพัฒนาตามแนวกูฏทันตสูตร

          ในกูฏทันตสูตรนี้  นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงเน้นหนักให้ผู้ปกครองบ้านเมืองหันมาใส่ใจต่อปัญหา เรื่องการกินการอยู่ของประประชาชน  ซึ่งเป็นปัญหาขั้นรากฐานของสังคมแล้ว  ยังทรงแสดงลำดับขั้นของการพัฒนาที่สูงขั้นไปโดยลำดับ  การแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี  แม้จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  แต่ก็เป็นเพียงการพัฒนาทางด้านวัตถุเท่านั้น  ยังมีองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ซึ่งจะต้องให้ความใส่ใจคือ การพัฒนาทางด้านจิตใจ  เพราะชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยส่วน ๒ ส่วนคือ ร่างกายกับจิตใจ  

          ในองค์ประกอบดังกล่าว พระพุทธศาสนาถือว่าจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและสมควรได้รับการพัฒนาควบ คู่กันไปด้วย  ถ้าไปมุ่งพัฒนาแต่ด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวโดยมิได้ให้ความใส่ใจต่อคุณค่า ทางด้านจิตใจ  สิ่งที่จะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ  การพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ  เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน คือแยกกายออกจากใจ  แต่มิได้พัฒนาแบบองค์รวม (Holistic)   อันเป็นการพัฒนาควบคู่กันไประหว่างกายกับใจ    เมื่อเป็นเช่นนั้น  จึงเป็นการยากที่จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่ได้วางเอาไว้

          ฉะนั้น  ในพระสูตรนี้  หลังจากที่ได้นำเสนอมรรควิธีในการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว   พระพุทธเจ้ายังได้นำเสนอการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไปอีก  โดยอาศัยการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นฐาน  ถ้าจะวิเคราะห์ตามแนวที่พระองค์ทรงเสนอ อาจสงเคราะห์กับหลักบุญกิริยาวัตถุ  ๓  ดังต่อไปนี้

           ลำดับขั้นตอนของการพัฒนาตามแนวกูฏทันตสูตร  จะเห็นได้ว่า  พุทธศาสนาให้ความสนใจต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน  แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้มีเป้าหมายสุดท้ายในตัวของมันเอง   เศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา  เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในกระบวนการพัฒนาเท่านั้น  ไม่ใช่เป้าหมาย (End)  หากแต่เป็นเพียงวิถีทาง (Means)  ที่ทำให้เดินไปสู่เป้าหมาย  ถ้าจะจัดเข้าในหลักทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็อยู่ในขั้นของอธิศีลสิกขาเท่านั้นเอง

 

๖. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเชิงพุทธตามนัยแห่งกูฏทันตสูตร 

            จากกรณีศึกษาในกูฏทันตสูตร เราจะเห็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในเชิงพุทธ ทั้งในมิติของหลักการ วิธีการ และข้อปฏิบัติตนของฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่บริหารบ้านเมืองให้มีความเจริญ ก้าวหน้า ตามยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนทั้ง ๕ ขั้นตอน โดยจัดตามลำดับความสำคัญ  ดังต่อไปนี้

            ยุทธศาสตร์ขั้นที่ ๑ : แก้ปัญหาพื้นฐานที่ต้นเหตุคือความยากจน

            เริ่มต้นด้วยการปราบผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนโดยหลีกเลี่ยงวิธีเผชิญหน้าคือลง โทษผู้กระทำความผิด แต่ใช้วิธีแก้ไขทางอ้อมคือ หันไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือความยากจนที่มีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยการส่งเสริมให้ผู้ที่ขยันขันแข็งในอาชีพการงานได้มีกำลังใจและมีทุนในการ ประกอบการโดยใช้วิธีการ  ๓ ประการ คือ  (๑) ให้โอกาสแก่กลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนในระดับรากหญ้าที่ถือว่าเป็นคนกลุ่ม ใหญ่ของประเทศ   (๒) ให้ทุนแก่กลุ่มพ่อค้าเพื่อความหมุนเวียนและความลื่นไหลของระบบเศรษฐกิจ  (๓)  ดูแลรักษาผลประโยชน์และสวัสดิการของข้าราชการซึ่งถือเป็นตัวแทนของประเทศ และเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างฝ่ายบริหาร รัฐบาล และประชาชน

            ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด กล่าวคือเมื่อรัฐเข้าไปส่งเสริมกลุ่มบุคคลทั้ง ๓ กลุ่มที่มีความขยันทำมาหากินแล้ว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มข้าราชการ ทำให้งบประมาณ และทรัพยากรของประเทศที่หมดไปจากการช่วยเหลือนั้นเกิดผลงอกงามไพบูลย์ขึ้น โดยสมบูรณ์ อนึ่ง ประชาชนทั้ง ๓ กลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นเสมือนเครื่องยนต์สามตัวที่จะขับเคลื่อนอำนาจ และประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนดีมีกำลังใจในการขวนขวายประกอบอาชีพของตน เพื่อเป็นต้นแบบของคนดีที่มีคุณธรรม อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ขยันประกอบอาชีพโดยช่วยสะท้อนภาพให้บุคคลในสังคม เห็นว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐหากขยันทำมาหากิน ส่วนกลุ่มบุคคลผู้ซึ่งมีความเกียจคร้านและกลุ่มที่เป็นโจรก็จะได้เลิกเป็น โจรหันมาทำมาหากินบ้างจากแรงจูงใจดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะมีพัฒนาการไปในเชิงบวก พลเมืองเหล่านั้นขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมือง ทำให้เกิดรายรับเพิ่มมากขึ้น เมื่อรายรับมากขึ้นก็มีเงินมาชำระภาษีกลับคืนให้แก่รัฐ ทำให้ในท้องพระคลังมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ สามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่ยังลำบากได้อีกอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืนบ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว กล่าวโดยสรุปก็คือ “การแก้ปัญหาสังคมโดยกลับไปแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนได้  ก็จะแก้ปัญหาเรื่องการสูญเสียอำนาจได้” เป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

            ยุทธศาสตร์ขั้นที่ ๒  : สร้างเครือข่ายบริหารประเทศ

            สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นกุศโลบายในการสร้างแนวร่วมในการบริหารประเทศ เนื่องจากกลุ่มบุคคล ๔ กลุ่ม คือ (๑)  เจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต (๒)  อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต (๓) พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต  และ (๔)  คหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต  ถือว่าเป็นบุคคลระดับสูงที่มีอิทธิพลทางสังคมและด้านการเมือง ทั้งยังมีสติปัญญา ทรัพย์สิน และง่ายต่อการขยายเครือข่าย เพราะมีเครือข่ายที่ขยายคลอบคลุมอยู่ในสังคมในวงกว้าง ถือเป็นการวางหมากอย่างชาญฉลาด เพื่อความสำเร็จได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบที่เป็นพันธมิตร (Alliance) เพื่อช่วยในการกระจายอำนาจไปสู่ระดับมหภาคอีกด้วย

            จากหลักการสร้างเครือข่ายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าส่งผลให้กระบวนการในการพัฒนาเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช ดำเนินไปอย่างคล่องตัวไม่ติดขัดเนื่องจากมีกัลยาณมิตรที่ดีคอยส่งเสริมและ สนับสนุนให้ความช่วยเหลือตลอดสาย เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ทรงพลัง พลังแห่งความดึงดูดของแม่เหล็กนั้นย่อมดึงดูดนำพาโลหะเหล็กประเภทเดียวกัน ให้มารวมตัวกันเป็นอนุภาคที่มีมวลรวมมากยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างเพิ่มพูนวัตถุประเภทเดียวกันให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ประกอบร่วมกันให้มีความเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นควรแก่การงานต่อไป ดังเช่นตัวอย่างของพระเจ้ามหาวิชิตราช ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลทั้ง ๔ จนเกิด “พันธมิตร” แล้วการประกอบพิธีบูชามหายัญของพระองค์จึงสำเร็จลุล่วงอย่างดี กล่าวคือพันธมิตรเหล่านั้นนอกจากจะเห็นด้วยกับพระองค์แล้ว ยังนำทรัพย์สมบัติมากมายของพวกตนมาถวายด้วย แต่พระองค์ไม่ทรงรับ ด้วยเหตุผลที่ว่า พระราชทรัพย์ของพระองค์มาจากภาษีอากรที่ชอบธรรมของราษฎรนั่นเอง บุคคล ทั้ง ๔ พวกจึงได้นำทรัพย์ของตนเหล่านั้นยกขึ้นในทิศทั้ง ๔ ของหลุมยัญ แล้วแจกทานเหล่านั้นให้กับประชาชนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป แนวทางเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ของตัวเองกลับคืนไปร่วมพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม

 

            ยุทธศาสตร์ขั้นที่ ๓  : สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

            ขั้นตอนต่อไปได้แก่การสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่น (Trust) ให้แก่ประชาชนทั้งประเทศด้วยการรับรองคุณสมบัติทั้ง ๘ ประการของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าของพิธี ว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมที่สุด เหมาะสมที่สุดในการทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองประเทศและเป็นประธานในพิธีมหายัญ ที่ทำ นอกเหนือจากนั้น คุณสมบัติของผู้ประกอบพิธี ได้แก่ พราหมณ์ปุโรหิต ก็เป็นสิ่งที่ถูกนำมาพิจารณาประกอบด้วย กล่าวคือจะต้องมีคุณลักษณะถึง ๔ อย่างเท่านั้น ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของมหายัญ

            จะเห็นว่า องค์ประกอบทั้ง ๑๖ ประการนี้ กล่าวคือ อนุมัติ ๔[๘] ประการ คุณสมบัติของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘[๙] ประการ และคุณสมบัติของพราหมณ์ปุโรหิต ๔[๑๐] ประการ เป็น องค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองแก่พระ เจ้ามหาวิชิตราช โดยมีวัตถุประสงค์ ๔ ประการดังต่อไปนี้คือ

            ๑.  เพื่อสร้างแนวร่วมและเครือข่ายในการบริหารประเทศ (Alliance)

            ๒.  เพื่อสร้างความอาจหาญแกล้วกล้าให้กับพระราชาและสร้างความมั่นใจให้กับคณะผู้ ปกครองทั้งหลายในหลักการ ข้อปฏิบัติ และวิธีการว่าเป็นทางเดินที่ถูกต้องแล้ว สมควรยึดถือและนำไปปฏิบัติตามอย่างไม่มีความลังเลสงสัยอยู่ภายในใจ

            ๓.  เพื่อสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อฝ่ายบริหาร

            ๔.  เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใดครหานินทาในมหายัญที่ทำไปแล้ว ถือเป็นยุทธศาสตร์การป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือไม่เห็นด้วยที่อาจก่อตัว ขึ้นและไม่ให้มีอำนาจขึ้นได้ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียในภายหลังได้

            ยุทธศาสตร์ขั้นที่ ๔ : สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ปกครอง

            เป็นยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของความมั่นใจให้กับผู้ปกครองประเทศให้มี ความเข้มแข็งแกล้วกล้าและเป็นตัวของตัวเองในสิ่งที่ตนกำลังปฏิบัติอยู่ว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรดีแล้ว ทั้งยังป้องกันความรู้สึกสงสัยไม่มั่นใจในแนวทางนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลออกมาในด้านลบ หากผู้นำมีความอ่อนแอก็ไม่สามารถปกครองประชาชนคนทั้งประเทศได้     

            สาเหตุที่พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้พระเจ้ามหาวิชิตราชปฏิบัติตามยัญพิธี ๓[๑๑] ประการก่อนการบูชายัญก็เนื่องจากเป็นกุศโลบายในการชำระจิตใจของผู้ประกอบ พิธีให้สะอาด สบายใจ ไม่เดือดร้อนกังวลใจในกองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่ต้องถูกใช้ไปกับพิธีนั้น ทำให้การบูชานั้นถึงความสมบูรณ์ ได้รับอรรถประโยชน์ครบถ้วนตามหลักของพระพุทธศาสนาดังในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา สุตตนิบาต อรรถกถาขุททกนิกายได้อธิบายไว้ว่าได้แก่ “ยัญญสัมปทา” หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ ๓ กาล คือ ๑) ก่อนให้ ก็มีใจดี  ๒) ขณะให้ ก็ทำจิตให้ผ่องใส  ๓) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ[๑๒] หรือกล่าวอีกในนัยหนึ่งคือ เป็นกุศโลบายในการวางใจให้เป็นกลางกับการลงทุนในรูปแบบของการทำมหาทานให้กับ ประชาชนของพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการในการพัฒนาเศรษฐกิจและการปกครองในระดับมหภาค อันจำต้องอาศัยเวลาและความอดทนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้ในท้าย ที่สุด

            ยุทธศาสตร์ขั้นที่ ๕ : ส่งเสริมและสนับสนุนคนดี

            การที่พราหมณ์ปุโรหิตทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนที่พระเจ้ามหาวิชิตราชจะทรงทำพิธีบูชายัญนั้น มีวัตถุประสงค์อยู่ ๒ ประการด้วยกันได้แก่

            ๑.  เพื่อปรับสภาพจิตใจของพระเจ้ามหาวิชิตราชให้สะอาดก่อนทำพิธีบูชายัญ กล่าวคือ ให้พระองค์ทรงเจริญอุเบกขาธรรม ไม่ให้เดือดร้อนพระทัย วางพระทัยของพระองค์ให้เป็นกลางไม่ยินดีหรือเกิดความทุกข์เมื่อเผชิญกับ ประชาชนพวกที่ประพฤติอกุศลกรรมบถ

             ๒.  เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนดีได้มีโอกาสได้ทำความดี กล่าวคือให้พระองค์ทรงเจาะจงเลือกสนับสนุนเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการประพฤติ อกุศลกรรม ๑๐ ประการมีการฆ่าสัตว์ และลักทรัพย์เป็นต้น แล้วจึงทรงบูชา ทรงบริจาค  ทรงอนุโมทนา  และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส  เนื่องจากในพิธีจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปนกัน มิเช่นนั้น พระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็อาจจะหม่นหมองไม่บริสุทธิ์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่ประการใด

             การดำเนินตามยุทธศาสตร์ทั้ง ๕ ประการนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสย้ำในประเด็นนี้เอาไว้อย่างสนใจว่า “ยัญพิธีที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทำนั้นไม่มีการเบียดเบียนทำให้สัตว์ใด ๆ ต้องเดือดร้อนแม้แต่ตัวเดียว ไม่มีการฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร ฯลฯ ไม่มีการตัดต้นไม้เพื่อมาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้ประชาชนผู้ที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาญา ไม่มีผู้เดือดร้อนเพราะไม่มีใครถูกบังคับให้มาร่วมพิธี  ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส  น้ำมัน  เนยข้น  นมเปรี้ยว  น้ำผึ้ง  และน้ำอ้อยเท่านั้น[๑๓] 

             จะเห็นว่า การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเชิงพุทธตามนัยแห่งกูฏทันตสูตรดังที่กล่าวมาแล้ว นั้น เมื่อสรุปยุทธศาสตร์ทั้ง ๕ ขั้นเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

 

๗. แนวทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยหลักประโยชน์สูง-ประหยัดสุด 

 

            หลักพุทธธรรมในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะนำมนุษย์เข้าถึงความผาสุขทางกาย ไปสู่ความผาสุขทางใจ ที่สะท้อนแง่มุมทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์คือ หลัก “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด"  หรือ ลงทุนน้อย ได้กำไรหรือผลประโยชน์มากกว่า ได้แก่ หลักการของมหายัญแบบพุทธ ซึ่งพระพุทธองค์เป็นผู้เสนอทฤษฏีดังกล่าวนี้คือ โดยตรัสเป็นลำดับตั้งแต่ยัญที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า เริ่มตั้งแต่นิตยทานไปจนถึงภิกษุผู้บรรลุอรหันต์ ดังนี้คือ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล  การสร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔  การถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การสมาทานศีล ๕ มีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น การออกบวชเป็นภิกษุที่สมบูรณ์ด้วยศีล ศีล  ภิกษุผู้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน น้อมจิตไปเพื่อ ญาณทัสสนะ สมาธิ  ภิกษุผู้บรรลุอรหันต์ ปัญญา และทรงตรัสสรุปว่า ภิกษุผู้บรรลุอรหันต์นั้นเป็นยัญที่เลิศที่สุดในพระพุทธศาสนา ไม่มียัญสมบัติอื่น ๆ  ที่จะดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว       

            เมื่อกล่าวโดยสรุป การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเชิงพุทธตามนัยแห่งกูฏทันตสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะไม่หักหานวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่มีมานานแล้วนั่นคือการบูชายัญ แต่ทรงใช้วิธีการบูชายัญนั้น บูรณาการผสมผสานเข้ากับหลักพุทธธรรมแบบแนบแน่นทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทาง การบูชายัญแบบใหม่นั่นคือ การบูชายัญแบบพุทธเพื่อความยั่งยืนของอำนาจทางการเมืองโดยการแก้ปัญหาที่ต้น เหตุคือความยากจนของประชาชนทำให้เศรษฐกิจพัฒนาตัวขึ้น เป็นวิถีทาง (Means) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้มีโอกาสบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา ให้ครบกระบวนการของหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ ยังผลให้เกิด “สังคมแห่งการตื่นรู้” ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่แท้จริง (End)

๘.  บทสรุป 

            พระพุทธศาสนามองว่า เศรษฐกิจมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยปัจจัย หลายอย่าง ในการพิจารณาประกอบ เช่นแก้ไขที่ระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การส่งเสริมให้บุคคลในสังคมได้มีคุณธรรมคือ จริยธรรมและศีลธรรมควบคู่กันไป ส่งผลให้เกิดพัฒนาการใน ๒ มิติคือภายนอกได้แก่สิ่งแวดล้อม และภายในได้แก่จิตใจ  ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ชี้ว่า การสร้างความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำ แต่เราจะต้องให้ความเจริญก้าวหน้าพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจนั้นสัมพันธ์กับจุด หมาย โดยให้เป็นไปเพื่อจุดหมาย คือให้เกิดคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้มนุษย์พร้อมที่จะสร้างสรรค์หรือปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงามจึงเรียก ว่า เศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจเพื่อคุณภาพชีวิต[14]

            การอยู่ร่วมกันของมนุษย์โลกนี้ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนลูกโซ่หรือฟันเฟืองจำนวนมากที่เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ในสถานะที่เป็นปรกติ หรือดีประชาชนไม่ยากจนไม่มีความลำบากในการทำมาหากินแล้ว ก็จะส่งผลต่อฟันเฟืองตัวอื่น ๆ ได้แก่ ระบบสังคม คือคนในสังคม ประชาชนในประเทศก็จะมีคุณภาพ การเมืองและการปกครองก็ราบรื่นไม่สะดุดติดขัด และในท้ายที่สุดความสันติสุขก็จะเกิดขึ้นกับสังคม ๆ นั้น

            จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องพระเจ้ามหาวิชิตราชขึ้นมาแสดงเป็นตัวอย่างเพื่อให้ พราหมณ์นำไปปฏิบัติในการทำพิธีบูชายัญ  ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการแก้ ปัญหาเท่าที่ปฏิบัติสืบ ๆ มา  เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสังคมมักจะมองออกไปนอกตัวจนเกินไป  เช่น มองไปที่อำนาจเหนือธรรมชาติเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาในสังคม  เป็นต้น  เมื่อมองปัญหาพลาดก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาพลาดเช่นเดียวกัน  แทนที่จะกลับมามองที่สังคมว่ามีปัญหาอะไร  อะไรเป็นสาเหตุของปัญหาแล้วจะดำเนินไปสู่การแก้ไขอย่างไร  กลับเบนความสนใจไปสู่สิ่งที่อยู่นอกเหนือสังคม  เลยเป็นที่มาของการแก้ปัญหาด้วยการทำพิธีบวงสรวงเอาใจเทพเจ้า  สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปโดยเปล่าประโยชน์

              เมื่อได้ชี้ให้เห็นถึงการแก้ปัญหาและวิธีมองปัญหาที่ไม่ถูกจุดแล้ว  พระพุทธองค์ทรงพยายามที่จะประยุกต์การแก้ปัญหาสังคมด้วยพิธีบูชาเทพเจ้าแบบ ใหม่ด้วย  กล่าวคือ  ผู้รับเครื่องบูชายัญแทนที่จะเป็นเทพเจ้าเหมือนแต่ก่อน  ก็ให้นำเอาเครื่องบูชายัญเหล่านั้นไปให้ประชาชนที่เดือดร้อนแทน คือให้การสนับสนุนส่งเสริมอาชีพของประชาชน  เพราะผู้ประสบปัญหาคือประชาชนไม่ใช่เทพเจ้า  เมื่อประชาชนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ  ผู้สมควรได้รับการแก้ปัญหาก็น่าจะเป็นประชาชน  นอกจากนั้นในการมองปัญหาสังคม  พระองค์ทรงมองปัญหาแบบองค์อันเป็นการเชื่อมโยงแนวความคิดทั้งหมดเข้าด้วย กัน  มิได้มองแบบแยกส่วน  กล่าวคือ  ปัญหาโจรกรรม  และอาชญากรรมที่ปรากฏอยู่นั้น  ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ  ถ้ามัวไปแก้ปัญหาโจรกรรมหรืออาชญากรรมโดยไม่สนใจปัญหาที่รากฐานจริง ๆ ก็นับเป็นเรื่องที่ยากต่อการดำเนินการแก้ไขให้สำเร็จ  เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

              เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว  เศรษฐศาสตร์การเมืองตามนัยแห่งกูฎทันตสูตร  ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นให้เห็นถึงการปราบปรามผู้อย่างเด็ดขาด  ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจ  โดยมองเห็นว่า  เมื่อทุกคนอยู่ดีมีความสุขทางด้านร่างกายในระดับหนึ่งแล้ว  เรื่องการลักเล็กขโมยน้อย  โจรผู้ร้ายก็จะค่อย ๆ  หมดไปจากสังคม  สังคมก็จะบังเกิดความสันติสุขอย่างแท้จริงหากดำเนินนโยบายเชิงรุกด้วยหลัก ยุทธศาสตร์  ๖  ประการ

              หลักการและแนวทางสำคัญประการหนึ่งในกูฏทันตสูตรคือ การแบ่งปันและกระจายทรัพยากรให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมมากที่สุด กล่าวคือ ให้กลุ่มคนต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม นักธุรกิจ และกลุ่มคนชั้นปกครอง สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ดิน และน้ำ  ทรัพยากรทางสังคม เช่น โอกาสทางการศึกษา ความปลอดภัยทางด้านชีวิต และทรัพย์สิน  ทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจ เช่น โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การตลาด และแรงงานที่เป็นธรรม

              การที่กลุ่มคนต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงโอกาส และได้รับการแบ่่งปันผลประโยชน์และความต้องการด้านทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรมดังกล่าว  จึงเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ในแข็งขัน และแย่งชิงอำนาจที่ว่าด้วยการปกครองรัฐ  เพราะหลายกลุ่มเชื่อว่า รัฐเป็นที่มาของ "อำนาจทางการบริหาร" ซึ่งอำนาจการบริหารอาจจะเป็นที่มาของอำนาจอื่นๆ เ่ช่น อำนาจทางการทหาร อำนาจทางการปกครอง อำนาจทางสังคม อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การร่างและตรากฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือแสวงหาประโยชน์เพื่อกลุ่มการเมืองของตน

              เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้  ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้  เพราะกลุ่มต่างๆ จะพยายามที่จะแสวงหาโอกาสที่เข้าถึงอำนาจในลักษณะดังกล่าว และในหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้   เมื่อวิเคราะห์ตามทฤษฏีของมาเคียวารี นักรัฐศาสตร์ชื่อดังผู้เขียนหนังสือเรื่อง "เจ้าผู้ครองนครแห่งรัฐ" (The Prince) จะพบว่า หากเป้าหมายคือการได้มาซึ่งอำนาจทางการเืมือง และสังคมแล้ว กลุ่มการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะดำเนินการทุกวิถีทาง โดยไม่สนใจ และใส่ใจวิธีการว่าจะรุนแรง นำไปสู่การสูญเสียและขาดความชอบธรรมมากเพียงใด 

               เศรษฐศาสตร์การเมืองตามแนวทางของพระเจ้ามหาวิชิตราชจึงเป็น "วิถีกำมะหยี่"  ที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมของกลุ่มคนต่างๆ "ยืดหยุ่น" และนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น   การกระจายอำนาจต่างๆ ออกไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นทั้งในเมือง และนอกเมือง  ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการบริหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการตลาด  อาจจะทำให้การแย่งชิงอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น  การแข่งขัน แย่งชิงที่นำไปสู่ความรุนแรงจะเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากรัฐภายใต้การบริหารของพระเจ้ามหาวิชิตราช

 

บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย

ข้อมูลปฐมภูมิ 

สํยุตฺตนิกาเย  สคาถวคฺคปาลิ .  มหาจุฬาเตปิฏกํ  มหาจุฬาลงฺกรณราชวิทฺยาลฺเยน  ปกาสิตา  อนุสฺสรณียํ  พุทธวสฺเส  ๒๕๐๐.

 

ข้อมูลทุติยภูมิ 

ขุททกนิกาย  ธรรมบท .พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ . เล่มที่  ๒๕ .  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

ทีฆนิกาย  มหาวรรค .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ .  เล่มที่  ๑๐ .  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

ทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ .  เล่มที่  ๑๑ .  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

ทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค .  พระไตรปิฏก  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  เล่มที่  ๙ .  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ,  ๒๕๓๙.

สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค .  พระไตรปิฏก  ฉบับสังคายนา  เล่มที่  ๑๕ .  กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์การศาสนา ,  ๒๕๓๐.

สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ .  เล่มที่  ๒๐ .  กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

สังยุตตนิกาย   สุตตนิบาต .  พระไตรปิฏก ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ ,  เล่มที่  ๒๐ .  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

อังคุตตรนิกาย  อัฏฐกนิบาต .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ ,  เล่มที่  ๒๓ .  กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ ,  เล่มที่  ๒๓ .  กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต .  พระไตรปิฏก ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ .  เล่มที่  ๒๑.  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต .  พระไตรปิฏก  ฉบับหลวง  ๒๕๑๔ .  เล่มที่  ๒๐ .  กรุงเทพมหานคร :  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ ,  ๒๕๑๔.

 

 

คัมภีร์อรรถกถา

พระธัมมปทัฏฐกถาแปล  ภาค  ๖ , พิมพ์ครั้งที่  ๑๑.  กรุงเทพมหานคร :  มหามกุฏราชวิทยาลัย ,  ๒๕๒๙.

 

๒. หนังสือ

ชัยประกาศ นารยัณ. จากสังคมนิยมสู่สรรโวทัย. แปลโดย รสนา โตสิตระกูล. กรุงเทพมหานคร: บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, ๒๕๒๓.

ชูเมกเกอร์ อี.เอฟ. งานกับชีวิต. แปลโดย พระประชา ปสนฺนธมโม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๔.

ฟริตจ๊อฟ คาปร้า. จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ. แปลโดย พระประชา ปสนนฺจิตโต พระไพศาล วิสาโล  สันติสุข โสภณสิริ รสนา โตสิตระกูล. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๓๙.

สุรพล เพชรลา. เศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๒๖.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

______________________. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่  ๑๑. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑.

______________________. เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ Buddhist Economics. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพมหานคร : มปพ, ๒๕๔๘.

ฉัตรทิพย์  นาถสุภา .  ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง.  กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช , ๒๕๑๙.

ดำรง  มัธยมนันท์.  เศรษฐศาสตร์.  กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์คุรุสภา ,  ๒๕๐๕.

ฟริตจ๊อฟ  คาปร้า.  จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ . แปลโดย พระประชา  ปสนนจิตโต  พระไพศาล  วิสาโล  สันติสุข  โสภณสิริ  และรสนา  โตสิตระกูล   . พิมพ์ครั้งที่  ๓ .  ๓  เล่ม .  กรุงเทพมหานคร :  เรือนแก้วการพิมพ์ , ๒๕๓๙.

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส.  พุทธสันติวิธี: การบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง. กรุงเทพมหานคร: ๒๑ เซ็นจูรี่, ๒๕๕๔

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์  ปยุตโต) .  พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์.  กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๒๘.

พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต) .  พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม .  กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ,  ๒๕๓๒.

พระเทพเวที  (ประยุทธ์  ปยุตโต).  เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ.  กรุงเทพมหานคร : มูลนิธโกมลคีมทอง , ๒๕๓๑.

ทวี หมื่นนิกร. เศรษฐศาสตร์จึงต้องเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๔.

ราชบัณฑิตยสถาน .  พจนานุกรมภาษาไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ .  พิมพ์ครั้งที่  ๓ . กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช , ๒๕๓๐.

สุชีพ  ปุญญานุภาพ .  สารัตถแห่งศาสนธรรม . พิมพ์ครั้งที่ ๑.  กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑.

สุรพล  เพชรลา.  เศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ .  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๒๖.

 

๓. บทความ

ชูมักเกอร์ อี. เอฟ. “เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ.”  พุทธศาสนา   ๖๕  (สิงหาคม-พฤศจิกายน  ๒๕๔๐) : ๘๙-๙๖.

วันรักษ์   มิ่งมณีนาคิน.  “เศรษฐศาสตร์คืออะไร.” ใน เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด,  หน้า ๑๕-๑๙. วันรักษ์  มิ่งมณีนาคิน  .  กรุงเทพมหานคร : นำอักษรการพิมพ์ , ๒๕๓๘.

ทวีวัฒน์  ปุณฑริกวัฒน์ .  “พุทธเศรษฐศาสตร์.”   พุทธศาสน์ศึกษา  ๕   (พฤษภาคม-ธันวาคม  ๒๕๔๑) :  ๕๘-๖๗.

 

๔. ภาษาอังกฤษ

Grolier  Incoration  ed , The Encyclopedia  Americana  and  Dictionaries  international  edition , Usa   :1996.

Jonathan  Crowther  (Editor) , Oxford Advanced  Learner’s Dictionary . Fifth  edition . Oxford  University press , 1995. 

Samuel P. Huntington, The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York : Simon & Schuster, 1996.

Smith ,  Adam .  Aa  InQuiry  into  the  Nature  and  Causes  of  the  Wealth  of  nations .  Edited  by  Edwin  Cannan .  London :  University  Paperbacks ,  1950.

 

๕. สื่ออิเล็กทรอนิคส์

http://gotoknow.org/blog/buddhist-conflict-management/324798?page=1

http://gotoknow.org/blog/buddhist-conflict-management/324798?page=1

http://th.wikipedia.org/wiki/ธรรมาภิบาล



[๑] ดูเพิ่มเติมใน Samuel P. Huntington, The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order, (New York : Simon & Schuster, 1996).

[๒] พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,  พุทธสันติวิธี: การบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง, (กรุงเทพมหานคร: ๒๑ เซ็นจูรี่, ๒๕๕๔), น. ๔.

[๓]   ดูเพิ่มเติมใน  ทวี หมื่นนิกร, เศรษฐศาสตร์จึงต้องเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๔.

[๔] ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, อัตลักษณ์(Identity)เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย, ใน  http://www.wiszanu.com/index.php?option=com_content&task=view&id=๗๗&Itemid=๕๕ เข้าถึงเมื่อ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔.

 

[๕] ดูเพิ่มเติมใน สุชีพ ปุญญานุภาพ, องค์ประกอบที่ทำให้สมบูรณ์, ธรรมจักษุ ฉบับ ๘๔ ปีที่ ๘๔ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐.

[๖] อดิศักดิ์ ทองบุญ, วิเคราะห์มหายัญในกูฏทันตสูตร ใน http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=๒๑๒&articlegroup_id=๖๐  เข้าถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔.

                [๗] ที.สี. (บาลี) ๙/๓๒๓-๓๕๘/๑๒๗-๑๕๐, ที.สี. (ไทย) ๙/๓๒๓-๓๕๘/๑๒๔-๑๕๐.

[๘] ๑.  เจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต

 ๒.  อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต

 ๓.  พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต

 ๔.  คหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนข้อทั่วพระราชอาณาเขต

 

 [๙] ๑.  ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี  ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ  ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล

  ๒.  ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส  มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจพรหม  มีพระวรกายดุจพรหม  โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก

   ๓.  ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร เต็มท้องพระคลัง

   ๔.  ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง  ประกอบด้วยกองทัพ  ๔  เหล่าคือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า อยู่ใน ระเบียบวินัย  คอยรับพระบัญชา  มีพระบรมเดชานุภาพดังจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ

   ๕.  ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก[๙] ทรงเป็นทานบดี[๙] มิได้ทรงปิดประตู ไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถาตลอดเวลา ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ

    ๖.  ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก

    ๗.  ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่านี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆ

    ๘.  ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคตและปัจจุบันได้

 

[๑๐] ๑.  เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะ อ้างถึงชาติตระกูล

    ๒.  เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวข้อและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ

    ๓.  เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ

    ๔.  เป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา

 

[๑๑] ๑.  เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า  กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง

   ๒.  เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป

   ๓.  เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า  กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว

 

[๑๒] ขุ.สุ.อ. (บาลี) ๒/๕๑๒/๒๔๑.

[๑๓] ที.สี. (ไทย) ๙/๓๔๕/๑๔๔.

[14] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (Buddhist Economics), พิมพ์ครั้งที่ ๙, (กรุงเทพมหานคร : มปพ., ๒๕๔๘), หน้า ๕๙-๖๐.

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕