หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ดร.แม่ชี กฤษณา รักษาโฉม » ปัญหาการปรับอาบัติพระอานนท์
 
เข้าชม : ๑๒๘๑๔ ครั้ง

''ปัญหาการปรับอาบัติพระอานนท์''
 
ดร.แมีชีกฤษณา รักษาโฉม (2554)

๑. บทนำ
         ในแวดวงวิชาการมีนักวิชาการเขียนบทความและเขียนหนังสือเกี่ยวกับภิกษุณี หลายประเด็นมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือประเด็นการปรับอาบัติพระอานนท์ สาเหตุแห่งการปรับอาบัตินั้นเพราะพระอานนท์ขวนขวายให้สตรี (มาตุคาม) บวชและอนุญาตให้สตรี (มาตุคาม) เข้าถวายบังคมพระบรมศพของพระพุทธเจ้าก่อนใครอื่นทั้งหมด นักวิชาการทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้แสดงทัศนคติหลายมุมมอง บ้างว่าพระอานนท์ท่านคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี บ้างว่าเป็นความพลั้งเผลอของพระอานนท์  ผู้เขียนใคร่จะศึกษาหาเท็จจริงจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา พร้อมทั้งสัมภาษณ์นักวิชาการทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
 
๒. ปรับอาบัติพระอานนท์
 
        การสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๑ นั้นในที่ประชุมได้ปรับอาบัติพระอานนท์ทั้งหมด ๕ ข้อ ในจำนวน ๕ ข้อนั้นมี ๒ ข้อที่เกี่ยวกับสตรี (มาตุคาม)โดยตรง  ในพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ ได้บันทึกข้อความที่ปรับอาบัติพระอานนท์ความว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านให้มาตุคาม ถวายอภิวาทพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระจึงเปียกเปื้อนน้ำตาของมาตุคามเหล่านั้นผู้ร้องไห้   เรื่องนี้ปรับอาบัติทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงอาบัติทุกกฎนั้น”[๔] “เป็นข้อน่าสงสัยว่าทำไมจะต้องกล่าวโทษพระอานนท์ ซึ่งก็แสดงว่า เพราะต้องการจะนำเอาความคิดการรังเกียจผู้หญิงเข้ามาในคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา”[๕] เพื่อความชัดเจน ผู้เขียนจึงคัดข้อความภาษาบาลีในส่วนที่เกี่ยวกับสตรีเท่านั้นมากล่าว ดังนี้ และ   นิธิ เอียวศรีวงศ์   ได้ตั้งข้อสงสัยคล้ายกับพระมโนว่า[๑] และข้อความว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศไว้แล้ว เรื่องนี้ปรับอาบัติทุกกฏแก่ท่าน”[๒]เนื่องจากในพระไตรปิฎกภาษาไทยทุกฉบับแปลข้อความที่พระสังคีติกาจารย์ตำหนิพระอานนท์เป็นการปรับอาบัติทุกกฏ[๓] จึงเป็นเหตุผลให้มีผู้วิจารณ์เรื่องพระอรหันต์ปรับอาบัติพระอานนท์ในคราวสังคายนา ทำให้ดูเหมือนว่าพระอานนท์ไม่รู้เรื่องพระวินัยเลย ทั้งที่พระอานนท์อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาตลอด พระมโน เมตฺตานนฺโท ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับอาบัติพระอานนท์ในประเด็นที่ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา
        อถ โข เถรา ภิกฺขู อายสฺมนฺตํ อานนฺทํ   เอตทโวจุ  อิทมฺปิ เต อาวุโส อานนฺท ทุกฺกฏํ, ยํ ตฺวํ มาตุคาเมหิ ภควโต สรีรํ ปฐมํ วนฺทาเปสิ, ตาสํ โรทนฺตีนํ ภควโต สรีรํ อสฺสุเกน มกฺขิตํ. เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ. อหํ โข ภนฺเต “มายิมา วิกาเล อเหสุนฺ”ติ มาตุคาเมหิ ภควโต สรีรํ ปฐมํ วนฺทาเปสึ. นาหํ ตํ ทุกฺกฏํ ปสฺสามิ, อปิจายสฺมนฺตานํ สทฺธาย เทเสมิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ. อิทมฺปิ เต  อาวุโส อานนฺท ทุกฺกฏํ, ยํ ตฺวํ มาตุคามสฺส ตถาคตปฺปเวทิเต  ธมฺมวินเย ปพฺพชฺชํ อุสฺสุกฺกํ อกาสิ. เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ. อหํ โข ภนฺเต “อยํ มหาปชาปติ โคตมี ภควโต มาตุจฺฉา อาปาทิกา โปสิกา ขีรสฺส ทายิกา ภควนฺตํ ชเนตฺติยา กาลงฺกตาย ถญฺญํ ปาเยสี”ติ มาตุคามสฺส ตถาคตปฺปเวทิเต ธมฺมวินเย ปพฺพชฺชํ อุสฺสุกฺกํ อกาสึ. นาหํ ตํ ทุกฺกฏํ ปสฺสามิ, อปิจายสฺมนฺตานํ สทฺธาย เทเสมิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ.[๖]
        คำแปลฉบับ ม.จ.ร. ๒๕๓๙ ว่า “ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวกับท่านอานนท์ดังนี้ว่า ท่านอานนท์ การที่ท่านให้มาตุคามถวายอภิวาทพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระจึงเปียกเปื้อนน้ำตาของมาตุคามเหล่านั้นผู้ร้องไห้ เรื่องนี้ปรับอาบัติทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงอาบัติทุกกฎนั้น” ภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศไว้แล้ว เรื่องนี้ปรับอาบัติทุกกฎแก่ท่าน ท่านจงแสดงอาบัติทุกกฎนั้น”
        ประเด็นสำคัญคือภาษาบาลีประโยคที่ว่า “เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏํ” ที่แปลว่า “ท่านจงแสดงอาบัติทุกกฎ” เมื่อเทียบเคียงลักษณะการต้องอาบัติทุกกฎ ในคัมภีร์วินัยมหาวรรคกับวินัยจูฬวรรค ซึ่งมีจำนวน ๖๐๔ ข้อ แบ่งเป็นของฝ่ายภิกษุ ๕๑๔ ข้อ ของฝ่ายภิกษุณี ๙๐ ข้อ ข้อความที่ใช้เกี่ยวกับการต้องอาบัติ พระพุทธเจ้าจะทรงใช้คำว่า “อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส”  ทุกแห่ง[๗] เช่น “น จ ภิกฺขเว สพฺพมตฺติกามยา กุฏิกา กาตพฺพา, โย กเรยฺย, อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส”[๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำกุฎีดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”[๙] “น ภิกฺขเว นหายมาเนน ภิกฺขุนา รุกฺเข กาโย อุคฺฆํเสตพฺโพ, โย อุคฺฆํเสยฺย, อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส”[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกายกับต้นไม้ รูปใดขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ[๑๑] “น ภิกฺขเว ภิกฺขุนิยา อตฺตโน ปริโภคตฺถาย ทินฺนํ อญฺเญสํ ทาตพฺพํ, ยา ทเทยฺย, อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส”[๑๒] แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย อาหารที่ทายกถวายให้ตนฉัน ภิกษุณีไม่พึงให้แก่ผู้อื่น รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฎ[๑๓] 
        พึงสังเกตว่าข้อความที่แสดงอาบัติต้องมีคำว่า “อาปตฺติ” ขึ้นก่อน และตามด้วยคำว่า “ทุกฺกฏสฺส” ส่วนประโยคว่า เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏํ ไม่มีคำว่า อาปตฺติ   จึงสันนิษฐานว่าพระอานนท์ไม่ได้ถูกปรับอาบัติแต่อย่างใด และการที่พระอานนท์แสดงโทษ หรือยอมรับผิดนั้น มิใช่เป็นการแสดงอาบัติ แต่เป็นการยอมรับในการกระทำที่ไม่เหมาะสม เคยมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุทั้งหลาย ช่วยกันเย็บจีวรถวายพระพุทธเจ้า สำหรับทรงใช้เสด็จเที่ยวจาริก แต่ท่านพระภัททาลิ มิได้ช่วยจึงถูกภิกษุเหล่านั้นตำหนิตักเตือนให้รู้ว่าท่านผิด ท่านจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอรับผิด ข้อความภาษาบาลี ดังนี้
        อายสฺมา ภทฺทาลิ... เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ; อุปสงฺกมิตฺวา ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา เอกมนฺตํ นิสีทิ. เอกมนฺตํ นิสินฺโน โข อายสฺมา ภทฺทาลิ ภควนฺตํ เอตทโวจ “อจฺจโย มํ ภนฺเต อจฺจคมา ยถาพาลํ ยถามูฬฺหํ ยถาอกุสลํ, โยหํ ภควตา สิกฺขาปเท ปญฺาปิยมาเน ภิกฺขุสํเฆ    สิกฺขํ สมาทิยมาเน อนุสฺสาหํ ปเวเทสึ. ตสฺส เม ภนฺเต ภควา อจฺจยํ อจฺจยโต ปฏิคฺคณฺหาตุ อายตึ สํวรายา”ติ.[๑๔]
        ท่านภัททาลิ ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนโง่ เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ผู้ประกาศความไม่สามารถใน (การรักษา) สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ (และ) ให้ภิกษุสงฆ์สมาทานศึกษาอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับรู้โทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด”
        ข้อความในอรรถกถาเป็นหลักฐานที่รับรองอีกหลักฐานหนึ่งในการที่พระอานนท์มิได้ถูกปรับอาบัติความว่า
        อิทมฺปิ เต อาวุโส อานนฺท ทุกฺกฏนฺติ อิทํ “ตยา ทุฏฺฐุ กตนฺ”ติ เกวลํ ครหนฺเตหิ เถเรหิ วุตฺตํ, น อาปตฺตึ สนฺธาย วุตฺตํ. น หิ เต       อาปตฺตานาปตฺตึ น ชานนฺติ. อิทาเนว เหตํ     อนุสฺสาวิตํ “สํโฆ อปญฺญตฺตํ น ปญฺเปติ ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉนฺทตี”ติ. เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ อิทมฺปิ จ “อาม ภนฺเต, ทุฏฺฐุ มยา กตนฺ”ติ เอวํ ปฏิชานาหิ ตํ ทุกฺกฏนฺติ อิทํ สนฺธาย วุตฺตํ,      น อาปตฺตเทสนํ.[๑๕]
        คำว่า อิทมฺปิ เต อาวุโส อานนฺท ทุกฺกฏํ : ท่านอานนท์เรื่องนี้ท่านทำไม่ดี อันพระเถระทั้งหลาย เพียงแต่จะกล่าวตำหนิว่า เรื่องนี้ท่านทำไม่ดี   มิได้กล่าวหมายถึงอาบัติ   พระเถระเหล่านั้นไม่ใช่จะไม่ทราบว่าอะไรเป็นอาบัติอะไรไม่เป็นอาบัติ  และพระมหากัสสปะก็ได้สวดประกาศให้ทราบแล้วในบัดนี้เองว่า สงฆ์จะไม่บัญญัติสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคไม่บัญญัติไว้   จะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้
        คำว่า เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏํ : ท่านจงแสดง (ยอม รับ) เรื่องที่ท่านทำไม่ดีนั้น นี้ พระเถระทั้งหลายกล่าวหมายเอาความนี้ว่า ท่านจงยอมรับการทำไม่ดีนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ครับ ข้าพเจ้าทำไม่ดี   มิได้กล่าวหมายถึงการแสดงอาบัติ[๑๖]
        หลักฐานในอรรถกถา ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ได้ปรับอาบัติพระอานนท์ แต่บอกว่าการที่พระอานนท์ทำอย่างนั้นเป็นการกระทำไม่ดี ให้พระอานนท์ยอมรับการกระทำไม่ดีนั้น
        ส่วนคำว่า ทุกฺกฏํ ที่ไม่มีคำว่า อาปตฺติ จึงไม่ได้แปลว่าเป็นอาบัติทุกกฎ แต่หมายถึงการกระทำไม่ดี ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีเรื่องที่มหาพรหมตำหนิภิกษุมาถามปัญหาตนแทนที่จะกราบทูลถามพระพุทธองค์ ข้อความที่มหาพรหมตำหนิภิกษุดังนี้
        อถโข โส มหาพฺรหฺมา ตํ ภิกฺขุ พาหาย คเหตฺวา เอกมนฺตํ อปเนตฺวา ตํ ภิกฺขุ เอตทโวจ “...อหํปิ โข ภิกฺขุ น ชานามิ, ยตฺถิเม จตฺตาโร     มหาภูตา อปริเสสา นิรุชฺฌนฺติ, เสยฺยถีทํ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วโยธาตูติ, ตสฺมาติห ภิกฺขุ      ตุยฺเหเวตํ ทุกฺกฏํ ตุยฺเหเวตํ อปรทฺธํ, ยํ ตฺวํ ภควนฺตํ อภิมุญฺจิตฺวา พหิทฺธา ปริเยฏฺฐึ อาปชฺชสิ อิมสฺส ปญฺหสฺส เวยฺยากรณาย, คจฺฉ ภิกฺขุ ตเมว ภควนฺตํ อุปสงฺกมิตฺวา  อิมํ ปญฺหํ ปุจฺฉ, ยถา เต ภควา   พฺยากโรติ, ตถา นํ ธาเรยฺยาสีติ.[๑๗]
        ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น ได้จับแขนภิกษุนั้นพาไปยังสถานที่ด้านหนึ่งแล้วกล่าวกับภิกษุนั้นว่า ... แม้เราก็ไม่ทราบที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภิกษุ ในเรื่องนี้ การที่ท่านละเลยพระผู้มีพระภาคแล้วมาหาคำตอบเรื่องนี้ภายนอก นับว่าท่านทำผิด (ตุยฺเหเวตํ ทุกฺกฏํ) นับว่าท่านทำพลาด ไปเถิด ภิกษุ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามปัญหาข้อนี้ และท่านพึงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ[๑๘]
        ข้อความว่า “ตุยฺเหเวตํ ทุกฺกฏํ : ข้อนั้นท่านทำผิด” คือที่ไม่ถามพระพุทธเจ้าแต่มาเที่ยวถามผู้อื่นก็ตรงกับความเป็นจริงกับเรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่มีการปรับอาบัติทุกกฏภิกษุที่ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงปัญหาที่ตนสงสัย
        ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ได้เล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าตอบปัญหาของอดีตนักรบซึ่งมาทูลถามว่า เขาได้ฟังอาจารย์ที่สอนการศึกสงครามสอนกันต่อๆ มาว่า นักรบที่อุตสาห์พยายามต่อสู้ในสงคราม ถ้าถูกฆ่าตาย เขาจะได้ไปเกิดอยู่กับพวกเทวดาสรชิต ข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสตอบเขาตอนหนึ่ง ดังนี้
        อปิจ ตฺยาหํ พฺยากริสฺสามิ. โย โส คามณิ โยธาชีโว สงฺคาเม อุสฺสหติ วายมติ, ตสฺส ตํ จิตฺตํ ปุพฺเพ คหิตํ ทุกฺกฏํ ทุปฺปณิหิตํ “อิเม สตฺตา หญฺนฺตุ วา พชฺฌนฺตุ วา อุจฺฉชฺชนฺตุ วา วินสฺสนฺตุ ว มา วา อเหสุ อิติ วา”ติ, ตเมนํ อุสฺสหนฺตํ วายมนฺตํ ปเร หนนฺติ ปริยาปาเทนฺติ, โส กายสฺส เภทา ปรํ มรณา สรชิโต นาม นิรโย, ตตฺถ อุปปชฺชตี”ติ.[๑๙] เอาละ เราจะตอบท่าน ท่านนายบ้าน นักรบอาชีพคนใดอุตสาห์พยายามในการสงคราม เขายึดจิตไว้ ทำจิตไว้ ผิด (ทุกฺกฏํ) ตั้งจิตไว้ไม่ดี ในเบื้องต้นว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้มีชีวิตอยู่เลย พวกนักรบฝ่ายข้าศึก สังหารเขาผู้อุตสาห์พยายามนั้นจนถึงแก่ความตาย หลังจากเขาตายไป เขาจะไปเกิดในนรกสรชิต[๒๐]
        ข้อความว่า ตสฺส ตํ จิตฺตํ ปุพฺเพ คหิตํ ทุกฺกฏํ ทุปฺปณิหิตํ : นักรบนั้นยึดจิต คือ ความคิดนั้นในเบื้องต้น นับว่าทำจิตไม่ดี (ทุกฺกฏํ) นับว่าตั้งจิตไว้ผิด ตรงนี้แปลเป็นอาบัติทุกกฏ ไม่ได้แน่นอน เพราะชาวบ้านไม่มีการต้องอาบัติทุกกฏ และอรรถกถาที่อธิบายข้อความแห่งคำว่า ทุกฺกฏํ ได้อธิบายว่า      ทุกฺกฏนฺติ ทุฏฺฐุ กตํ.[๒๑] แปลว่า คำว่า ทุกฺกฏํ ได้แก่นักรบนั้นทำไม่ดี
        ในคัมภีร์ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ได้เล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องภิกษุที่มีศีลมีธรรมมีปัญญางาม ทรงถือว่าเป็นพระอรหันต์จริง แล้วพระองค์ได้ทรงอธิบายขยายความการที่ภิกษุมีศีลมีธรรมมีปัญญางาม ทรงสรุปความเป็นพระคาถา ใจความว่า ภิกษุที่มีศีลมีธรรมมีปัญญางาม จะไม่มีการทำชั่วทางกาย วาจาและใจ ข้อความภาษาบาลี ดังนี้
        ยสฺส กาเยน วาจาย   มนสา นตฺถิ ทุกฺกฏํ
        ตํ เว “กลฺยาณสีโล”ติ อาหุ ภิกฺขุ หิรีมนํ[๒๒]
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตรัสเรียกภิกษุที่ไม่ทำชั่วทางกาย วาจา ใจ มีหิริครองใจนั้นว่า เป็นผู้มีศีลงาม[๒๓]
        คำว่า ทุกฺกฏํ ในคาถานี้ แม้จะเป็นการกระทำของภิกษุ ก็ไม่ใช่อาบัติทุกกฎ เพราะอาบัติทางใจไม่มี ซึ่งอรรถกถา ถือคำอธิบายที่จัดเป็นหลักการอาจริยวาท ได้อธิบายว่า ทุกฺกฏนฺติ ทุฏฺฐุ กตํ, ทุจฺจริตนฺติ อตฺโถ[๒๔] “คำว่า ทุกฺกฏํ ได้แก่ที่เขากระทำไม่ดี อธิบายว่า ที่เขาประพฤติผิด” ก็พอจะเห็นแล้วว่า ทุกฺกฏํ ถ้าปรากฏโดดๆ ไม่มีคำว่า อาปตฺติ จะไม่หมายถึงอาบัติ แต่หมายถึงการกระทำที่ไม่ดี ซึ่งคัมภีร์ที่อธิบายกรณีพระอานนท์ ท่านก็ได้อธิบายลงกันสมกันกับสุตตานุโลมและอาจริยวาทในคัมภีร์อื่นๆ คือ
        นอกจากคำอธิบายในอรรถกถา ที่จัดอยู่ในลำดับอาจริยวาทนี้แล้ว ยังมีอรรถกถาที่มิได้อธิบายคำว่า ทุกฺกฏํ แต่ได้ใช้ศัพท์ว่า ทุกฺกฏํ ที่หมายถึงการกระทำไม่ดี เช่นในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ที่เล่าประวัติของปูรณกัสสปะ มีข้อความที่ใช้คำว่า ทุกฺกฏํ ดังนี้
        ปูรโณติ ตสฺส สตฺถุปฏิญฺญสฺส นามํ. กสฺสโปติ โคตฺตํ. โส กิร อญฺตรสฺส กุลสฺส  อกูนทาสสตํ ปูรยมาโน ชาโต, เตนสฺส “ปูรโณ”ติ นามํ อกํสุ. มงฺคลทาสตฺตา จสฺส “ทุกฺกฏนฺ”ติ วตฺตา นตฺถิ.[๒๕]
          คำว่า ปูรโณ เป็นชื่อของเขาที่ปฏิญาณตนเป็นศาสดา คำว่า กสฺสโป เป็นโคตร (วงศ์ตระกูล) เล่ากันมาว่า กัสสปะนั้น เป็นทาสที่เต็มจำนวน ๑๐๐ คนของตระกูลหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงได้รับการตั้งชื่อว่า ปูรณะ ไม่มีใครพูดถึงเขาว่า ทำไม่ดี (ทุกฺกฏํ) เพราะเขาเป็นทาสที่เป็นมงคล
          ข้อความจากคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีที่ผู้เขียนยกมาเป็นอุทาหรณ์สุดท้ายนี้ เป็นหลักฐานชั้น    อาจริยวาท ทุกฺกฏํ แปลเป็นอาบัติทุกกฎไม่ได้ เพราะปูรณกัสสปะมิได้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา[๒๖]
        จากหลักฐานที่เทียบเคียงมานี้ รังษี สุทนต์แสดงความคิดเห็นว่า “การแปลให้พระถูกปรับอาบัติจึงเป็นการทิ้งประเด็นให้ประชาชนสงสัยในพฤติกรรมของพระอรหันต์ในคราวสังคายนา แท้ที่จริงแล้วพระอานนท์ไม่ได้ถูกปรับอาบัติ แต่เป็นเรื่องของการแปลที่กรรมการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกแปลไว้ และคงจะเป็นการแปลเทียบเคียงกันสืบๆ มา การแปลปรับอาบัติพระอานนท์ ปรากฏว่าตรงกันทุกฉบับ เริ่มตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.๒๕๐๐ ถึง ฉบับ พ.ศ.๒๕๓๐ แม้แต่ฉบับมหาจุฬาฯ ก็แปลเหมือนกัน ถ้าแปลใหม่ คำว่า เทเสหิ ตํ ทุกฺกฏํ แปลว่า “ท่านจงแสดง (ยอมรับ) เรื่องที่ท่านทำไม่ดีนั้น” ก็จะไม่มีปัญหาข้อสงสัย ในเรื่องการปรับอาบัติพระอานนท์ ข้อความที่แปลใหม่ดังนี้ “ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวกับท่านอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านให้มาตุคามถวายอภิวาทพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระจึงเปียกเปื้อนน้ำตาของมาตุคามเหล่านั้นผู้ร้องไห้ เรื่องนี้ท่านทำไม่ดี ท่านจงแสดง (ยอมรับ) เรื่องที่ท่านทำไม่ดีนั้น” ภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า “ท่านอานนท์ การที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศไว้แล้ว เรื่องนี้ท่านทำไม่ดี ท่านจงแสดง (ยอมรับ) เรื่องที่ท่านทำไม่ดีนั้น”
        พระอานนท์ได้ชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมถึงข้อที่ถูกตำหนิเกี่ยวกับสตรี ๒ ข้อ ซึ่งท่านพระอานนท์ชี้แจงว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าตระหนักว่า มาตุคามเหล่านี้อย่ารออยู่จนถึงเวลาวิกาล จึงให้พวกเธอถวายอภิวาทพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน    ข้าพเจ้าไม่เห็นเรื่องที่ให้มาตุคามถวายอภิวาทพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อนนั้นว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ดี    แต่เพราะเชื่อฟังท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยอมแสดงสิ่งที่ทำไม่ดีนั้น”
        ท่านพระอานนท์ชี้แจงว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศไว้แล้ว เพราะคิดว่า ‘พระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้นี้เป็นพระมาตุฉาของพระผู้มีพระภาค เคยประคับประคองดูแล ถวายเกษียรธารเมื่อพระชนนีสวรรคต’ ข้าพเจ้าไม่เห็นเรื่องการขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศไว้แล้วนั้นว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ดี แต่เพราะเชื่อฟังท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยอมแสดงสิ่งที่ทำไม่ดีนั้น”[๒๗]
 
๓. คำสัมภาษณ์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.     ปยุตฺโต)
        การที่พระอรหันต์ได้ตำหนิพระอานนท์ในท่ามกลางที่ประชุมสังคายนาในกรณีที่ท่านให้มาตุคาม ถวายอภิวาทพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระจึงเปียกเปื้อนน้ำตาของมาตุคามผู้ร้องไห้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงข้อคิดเห็นว่า “เป็นการดีสำหรับ ๒ ฝ่าย คล้ายๆ ว่าพระอรหันต์ช่วยป้องกันพระอานนท์ คือให้พระอานนท์ได้ชี้แจง เพราะมิฉะนั้น คนจะไปมองในแง่ไม่ดี เพราะคนสมัยนั้นเขาถืออยู่ และมีพระอรหันต์เถระผู้ใหญ่มาร่วมงาน แต่ไม่ได้ให้เข้าไปก่อน กลับไปปล่อยให้ผู้หญิงเข้าไปก่อน และไม่ใช่เข้าไปเฉยๆ แต่ไปร้องไห้ทำให้พระบรมสรีระศพเปียกปอน พระเถระผู้ใหญ่เข้ามากราบก็ไม่สะดวก มีน้ำตานองอยู่ ถ้าว่าตามหลักการทั่วไป ก็ควรให้พุทธบริษัทเข้าเคารพกันตามลำดับ คือภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท ผู้ใหญ่ผู้น้อยก็เข้าไปตามลำดับ นี้หมายความว่าตามระเบียบปกติ พระอรหันต์ก็เอาหลักการมาพูด และพระอานนท์ท่านปฏิบัติไปแล้วท่านมีเหตุผลของท่าน เมื่อพระอรหันต์ได้มาพูดอย่างนี้แล้ว พระอานนท์ก็จะได้มีโอกาสชี้แจงเหตุผลให้รู้ว่าที่ทำอย่างนี้มันมีเหตุจำเป็น พระอานนท์ก็ได้โอกาสก็แสดงเหตุผลไปแล้วก็จบกันไป และพระอรหันต์ก็ไม่ได้ปล่อยเรื่องทิ้งไว้ เพราะคนจะว่าได้ว่า งานพระศพของพระพุทธเจ้าไม่มีระเบียบเลย ปล่อยกันเปรอะหมด แสดงว่าพระเถระผู้ใหญ่ท่านไม่ได้ปล่อยปละละเลย จึงได้ยกมาถามพระอานนท์ และพระอานนท์ได้ชี้แจงเหตุผลให้เห็นว่า มีเหตุจำเป็นในเรื่องนี้ ถ้าหากพระอรหันต์ไม่พูดขึ้นมา คนก็จะไปพูดกันว่างานพระศพของพระพุทธเจ้านี้ไม่เป็นเรื่องเลยปล่อยเลอะเทอะไม่มีระเบียบ พระเถระผู้ใหญ่ก็ได้แสดงออกให้เห็นว่า เรานี้มีระเบียบ พระอานนท์ก็บอกว่ามีเหตุผลอย่างนี้”[๒๘]
        ในกรณีพระอรหันต์ตำหนิพระอานนท์ที่เป็นผู้ขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แสดงทัศนะว่า “สังคมก็อยู่ในภาวะอย่างนั้น เมื่อผู้หญิงบวชเข้ามาแล้วก็ทำให้อ่อนแอ อันนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเพราะว่าในวินัยก็ชัดอยู่แล้ว พอผู้หญิงเข้ามาบวช ก็เหมือนกับว่าสภาพสังคมไม่เอื้อ พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับว่า ทำให้เขาสำนึกว่า โดยสภาพสังคมนี้มันไม่เอื้อ แต่ที่อนุญาตให้เพราะว่าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ละทิ้งผู้หญิง แต่มิใช่ว่าจะทำโดยประมาทหรือปล่อยปละละเลย ต้องให้เขาสำนึกในความสำคัญนี้ เพราะว่าเมื่อผู้หญิงบวช พระภิกษุก็มีภาระเพิ่มขึ้นในการที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ และต้องคอยระวังระแวง เพราะว่ามีหลายสิกขาบทที่เกิดขึ้น การที่ภิกษุณีเดินทางตามลำพังก็ถูกประทุษร้ายต่างๆ พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติว่าไม่ให้ภิกษุณีเดินทางไกลตามลำพัง ต้องไปกับภิกษุด้วย ที่นี้ภิกษุไปกับภิกษุณีนี่ ชาวบ้านในสมัยนั้นรับไม่ได้ เพราะว่านักบวชไม่มีที่ไหนที่มีนักบวชหญิงติดตาม ชาวบ้านเขาก็ร้องกันว่า พระพวกนี้มีภรรยาเดินติดตามกันไป พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบทเพื่อป้องกัน และเพื่อจะให้รักษาทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะภิกษุณีก็มีภัยอันตราย ภิกษุก็ต้องไปด้วย ภิกษุไปด้วยก็โดนติเตียน ทำอย่างไรให้สังคมยอมรับ ให้เป็นไปด้วยดี หรือว่าภิกษุณีไปจำพรรษาอยู่ในป่าก็ถูกประทุษร้าย ก็ต้องให้ภิกษุณีอยู่ในวัดที่มีภิกษุ กลายเป็นว่า ภิกษุเองก็ต้องระวังตัว พร้อมกันนั้นพระภิกษุเองก็ต้องเป็นภาระที่จะต้องเอาใจใส่ เพราะว่าถ้าระวังไม่ดีความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ๒ ฝ่ายก็เสีย อีกอย่างหนึ่งพระภิกษุจะทำอะไรก็ไม่เป็นอิสระ ต้องระวังห่วงกังวลทางฝ่ายผู้หญิงนี้ด้วย คือมันเป็นเรื่องของสภาพสังคม แม้ยุคสมัยต่อมาในเมืองไทย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่สมัยก่อนนี้ภาระมันหนักมาก ฉะนั้น การที่ผู้หญิงมาบวชนี้ ในแง่หนึ่งก็ทำให้การปฏิบัติงานของพระภิกษุต้องเชื่องช้าหย่อนลง อ่อนกำลังลงก็หมายความว่าในแง่หนึ่งก็ได้ข้างหนึ่ง เสียข้างหนึ่ง ภิกษุณีผู้หญิงก็ได้มีการศึกษาได้บวช แต่ก็ทำให้การพระศาสนาอ่อนกำลังไป ได้อย่างเสียอย่าง เมื่อจะได้อย่างเสียอย่างก็ต้องมีการกระทำอะไรเพื่อที่จะให้มาพยุงได้ พระพุทธเจ้าก็ต้องวางสิกขาบทบัญญัติโน่นบัญญัตินี่ พระอรหันต์ตำหนิพระอานนท์ในแง่ที่ว่าไปขอร้องให้พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ผู้หญิงได้บวช เพราะว่าเมื่อบวชมาแล้วก็จะเกิดปัญหาขึ้นแก่การคณะสงฆ์การพระศาสนาในการทำงานที่ต้องอ่อนกำลังลง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีภิกษุณีขึ้นก็เหมือนกับว่านาที่มีศัตรูพืชลงและก็ทำให้เสียผลลงไป ได้ผลไม่เต็มที่ ในแง่นี้คือต้องยอมรับว่าได้อย่างเสียอย่าง”[๒๙]
 
๔. คำสัมภาษณ์พระธรรมกิตติวงศ์  (ทองดี        สุรเตโช) 
        พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องปรับอาบัติพระอานนท์ว่า “การกระทำของพระอานนท์ที่อนุญาตให้สตรีเข้าถวายบังคมพระบรมศพก่อน และการขวนขวายให้สตรีได้บวชนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ พระอรหันต์ในสมัยนั้นตำหนิพระอานนท์และมองว่าเป็นความพลั้งเผลอความประมาท เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควรเป็นการทำไม่ถูกของพระอานนท์ กรณีที่ให้ผู้หญิงเข้าไปถวายพระบรมศพก่อนนั้นเป็นความเผลอความประมาทลืมนึก  กรณีที่ขวนขวายให้ผู้หญิงบวชนั้น พระอรหันต์ปรับอาบัติทุกกฎพระอานนท์ พระอานนท์ไม่ควรเซ้าซี้พระพุทธเจ้าให้รับผู้หญิงบวช ส่วนใหญ่พระอานนท์ถูกปรับอาบัติเพราะความเผลอ  คนปัจจุบันสันนิษฐานว่า การที่พระอานนท์ให้สตรีเข้าไปถวายพระบรมศพก่อนเพราะค่ำมืดนั้นเป็นข้อสันนิษฐานในภายหลัง การที่พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ผู้หญิงบวชนั้นก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะเป็นพุทธญาณ แต่ในที่สุดก็ทรงอนุญาตให้บวชพร้อมตั้งเงื่อนไขด้วยครุธรรม ๘ ต้องการให้ภิกษุณีหมดไปโดยปริยาย การที่เราจะสันนิษฐานเกี่ยวกับพระอรหันต์ปรับอาบัติพระอานนท์ที่เป็นเรื่องเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วนั้น เป็นเรื่องยากเพราะเกินวิสัยที่จะไปคาดเดา วินิจฉัยตัดสิน และก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา หรือทำให้ตัวเองมีความรู้เพิ่มขึ้น จะบอกว่าเป็นเรื่องของวิชาการ แท้จริงแล้วเรื่องของวิชาการก็เป็นเรื่องของคนในยุคปัจจุบัน ถามว่า รู้ไปทำไมและถูกหรือเปล่าที่รู้และใครจะวินิจฉัยได้ว่าจริงหรือเป็นอย่างนั้น ไม่มีคนตัดสิน การวินิจฉัยในเชิงวิชาการทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าไม่มีคนตัดสิน เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก โดยที่สุดแม้แต่ตำราเรียนที่ชาวพุทธศึกษากัน ก็มีข้อบกพร่องแต่เราก็ไม่ได้วิจารณ์การทำสังคายนาก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ กรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับสตรีบวชทันทีนั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์  ไม่เชื่อเครดิตของคนที่จะมาตัดสิน ไม่ใช่ฐานะที่จะมาตัดสินได้ คนที่จะมาตัดสินวิสัยของพระพุทธเจ้าได้นั้นต้องเป็นพระพุทธเจ้า คนที่จะมาตัดสินวิสัยของพระอรหันต์ได้นั้นต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ส่วนมากจะมองเป็นเรื่องอจินไตย อาบัติทุกกฎเป็นเรื่องหยุมหยิม เมื่อถูกตำหนิเมื่อไร นั่นแหละ คือ ทุกกฎ การแบ่งชั้นของความผิด (อาบัติ) ไม่ใช่วิสัยของพวกเราแต่เป็นวิสัยของพุทธญาณ”[๓๐] 
 
 
 
๕. คำสัมภาษณ์ของพระมหาบูรณะ ชาตเมโธ
                   พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ แสดงทัศนะว่า “พระอานนท์อนุญาตให้สตรีเข้าถวายบังคมพระบรมศพของพระพุทธเจ้าก่อน สตรีเหล่านั้นร้องไห้น้ำตากระเด็นเปื้อนพระบรมศพ เป็นการกระทำที่ไม่ดี ปรับอาบัติทุกกฎ ท่านพระอานนท์ท่านให้เหตุผลว่า สตรีจะมาอยู่ในท่ามกลางป่า ท่ามกลางบุรุษ และท่ามกลางสงฆ์ในเวลากลางคืนคงไม่เหมาะ ท่านจึงจัดให้สตรีเหล่านั้นรีบเข้าไหว้พระบรมศพ จะได้กลับเข้าเมืองโดยเร็วก่อนมืด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่า เป็นการกระทำไม่ดี ท่านก็ยอมรับ และปลงอาบัติ ในเรื่องนี้หากเราจะพิจารณาโดยถ้วนถี่แล้ว เราจะเห็นว่าเป็นการไม่งามโดยประการทั้งปวงที่สรีระของพระพุทธเจ้าจะเปื้อนด้วยน้ำตาของสตรีหรือของใครทั้งหลาย ย่อมเป็นการไม่งามโดยประการทั้งปวง และการที่สตรีทั้งหลายจะมาอยู่ในกลางป่าเวลาค่ำคืนก็ไม่งามเช่นเดียวกัน ท่านได้พยายามรักษาเกียรติภูมิของหญิงเหล่านั้นไว้นับว่าน่ายกย่อง แต่การทำให้พระบรมศพมัวหมองก็เป็นสิ่งที่น่าตำหนิเช่นกัน
        พระอานนท์เป็นธุระขวนขวายให้สตรีได้บวชในพระธรรมวินัย ถือว่าเป็นอาบัติทุกฏ ท่านพระอานนท์ให้เหตุผลว่า ท่านขวนขวยให้พระนางปชาบดีโคตมีได้บวช เพราะนึกถึงอุปการคุณที่พระนางมีต่อพระพุทธเจ้าตั้งแต่เกิดมา เป็นการตอบแทนบุญคุณท่าน แต่กระนั้นเมื่อสงฆ์ปรับอาบัติท่าน ท่านก็ยอมรับและปลงอาบัติตามที่สงฆ์ลงโทษท่าน ในการที่ท่านได้พยายามจนให้สตรีได้บวชในพระพุทธ ศาสนาเพื่อตอบแทนคุณพระพุทธมารดาประการหนึ่ง และเพื่อให้สตรีมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมบรรลุธรรมประการหนึ่ง นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะภาวะแห่งการบรรลุธรรมนั้นไม่ขึ้นกับความเป็นหญิงหรือชาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ แต่การที่ท่านขวนขวายให้สตรีได้บวชนั้น สงฆ์ถือว่าท่านมีส่วนในการทำให้อายุพระพุทธศาสนาสั้นลง เพราะเป็นการส่งเสริมให้ชายหญิงได้มีโอกาสพบเห็นกันเป็นทางเกิดอกุศล มีผลกระทบต่อการพัฒนาปัจเจกบุคคล  ท่านจึงถูกปรับโทษ การที่พระอานนท์ถูกปรับอาบัตินี้ล้วนแต่เกิดขึ้นในสมัยที่พระอานนท์ท่านยังเป็นเพียงโสดาบันอยู่ ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหตุนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ผู้ที่มีสติยังไม่สมบูรณ์นั้นอาจมีการกระที่ผิดพลาดเล็กน้อยได้ แต่เมื่อถูกทักท้วงก็ยอมรับตามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไป และเพื่อเป็นการพัฒนาปรับปรุงตนเองไปสู่ความพ้นทุกข์ไปในที่สุด.[๓๑]
 
๖. ข้อมูลจากอาจารย์แสวง อุดมศรี
          แสวง อุดมศรี มองว่า “การปรับอาบัติพระอานนท์นั้นคงมิใช่ประเด็นสำคัญอะไรนัก น่าจะมีเป้าหมายที่ลึกซึ้งอย่างอื่นซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังเพราะพระเถระแต่ละรูปที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมทำสังคายนาในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดทุกรูป ภิกษุที่ได้บรรลุคุณธรรมในชั้นนี้ย่อมไม่เคลือบแคลงหรือสงสัยในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ เข้าใจสภาวธรรมตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงทุกประการ แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่ว่า เพื่อจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นที่ประจักษ์แก่ภิกษุและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปว่า พระอานนท์เถระเชื่อฟังและเคารพมติสงฆ์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้บรรดาภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนหรือพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มยกพระอานนท์เถระมาเป็นฉากกำบัง เพื่อทำการบางอย่างที่จะเป็นไปในทำนองกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองคณะสงฆ์นั่นเอง”[๓๒]
 
๗. คำสัมภาษณ์จำรูญ ธรรมดา
        จำรูญ ธรรมดา แสดงทัศนคติว่า “เนื่องจาก พระสงฆ์ในยุคนั้นล้วนเป็นผู้ที่เลื่อมใสเชิดชูพระอานนท์อยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้จะตำหนิพระอานนท์ด้วยการยกเอาข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่า อัพโพหาริก (ข้อผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งไม่พอที่จะเรียกว่าเป็นข้อผิดพลาด) แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวตำหนิไปตามที่เป็นจริง ซึ่งเป็นการเปิดเผยความจริงให้ที่ประชุมได้รับทราบและเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนพระอานนท์ด้วย แต่มิใช่เป็นการตำหนิ เพื่อกลั่นแกล้ง หรือข่มพระอานนท์อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะว่าคณะสงฆ์ที่ตำหนินั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับคัดเลือกเพื่อการทำปฐมสังคายนาโดยพระมหากัสสปะเถระทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม การที่คณะสงฆ์กระทำเช่นนั้นยังเผยให้เห็นถึงการยกย่องและยอมรับพระอานนท์โดยทางอ้อมเป็นนัยๆ ว่า “ในตัวท่านพระอานนท์นี้ นอกจากโทษเล็กๆ น้อยๆ ๕ ประการเหล่านี้แล้วท่านไม่มีโทษความผิดพลาดใดๆปรากฏให้เห็นเลย” การตำหนิในที่นั้นหากมองให้ลึก จะทำให้มองเห็นความหมายตรงกับความหมายแฝงพันกันอยู่ ความหมายตรงคือ ตำหนิ ส่วนความหมายแฝงก็คือยกย่อง กล่าวได้ว่า นี่เป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาดในการใช้คำพูดเพื่อการอบรมและยกย่องโดยมิให้บุคคลที่ถูกกระทำลืมตัว”[๓๓]
        ผู้เขียนได้ค้นประวัติพระอานนท์พบว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีการศึกษาดี สนใจในการศึกษา            เป็นคนมีเหตุผล ปรากฏข้อความบันทึกเกี่ยวกับพระอานนท์ไว้ว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ ๗ ประการคือ ๑. อาคมสมบัติ ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน ๒. โยนิโสมนสิการสมบัติ ถึงพร้อมด้วยปัญญาพิจารณาเหตุผลอย่างรอบคอบ    พระสารีบุตรยกย่องพระอานนท์ว่าเป็นผู้มีธรรม ๖ ประการ คือ ๑.เป็นผู้ได้เรียนได้ฟังธรรมมาก ๒. เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนมาได้ฟังมาโดยพิศดาร ๓. เป็นผู้สาธยายโดยพิศดาร ๔. เป็นผู้ตรึกตรองเพ่งพิจารณาธรรมโดยรอบคอบ ๕. เป็นผู้อยู่ใกล้พระมหาเถระผู้เป็นพหูสูตทรงธรรมทรงวินัยทรงมาติกา ๖. เป็นผู้ได้เรียนถามพระมหาเถระเหล่านั้นตามกาลเวลาอันสมควร[๓๔] พระอรรถกถาจารย์ได้ยกย่องสติปัญญาของท่านว่าเหมือนน้ำมันราชสีห์ดังข้อความว่า “เหมือนน้ำมันของราชสีห์ที่เขาใส่ได้ในหม้อทองคำ”[๓๕]  “เป็นผู้มีบุญ สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร บารมีธรรม จึงสามารถรักษาความเลื่อมใสในตระกูลไว้ได้ เพราะความเป็นผู้ดำรงอยู่ด้วยอำนาจแห่งเหตุผล”[๓๖] 
        นอกจากนั้นยังพบว่า พระอานนท์สามารถทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า คลังแห่งพระธรรม[๓๗] พระอานนท์เกิดในวรรณะกษัตริย์ ได้รับการศึกษามาดีและได้ฟังธรรมเทศนาของพระปุณณมันตานีได้บรรลุโสดาบัน[๓๘]
 
๘. บทสรุป
        จากหลักฐานข้างต้นนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า “ข้อความตามที่กล่าวมานั้นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าพระอานนท์มิได้ถูกปรับอาบัติในทุกกรณี โดยเฉพาะกรณีที่ให้สตรีเข้าถวายบังคมพระบรมสรีระศพก่อน ต้องนึกถึงสภาพตามความเป็นจริงในวันที่จะเผาศพของบุคคลทั้งหลาย มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งมหาเถระ พระเถระ พระภิกษุ กษัตริย์ พระบรมวงศ์นุวงศ์ เสนาบดี ทหาร เศรษฐี คหบดี พราหมณ์ ประชาชนทุกหมู่ งานครั้งนั้นเป็นงานบรมศพของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาชาวพุทธ ในวันนั้นจึงมีพุทธบริษัท ๔ มากันเป็นจำนวนมาก การกลับกลายเป็นว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ไปถวายบังคมพระสรีระศพของพระพุทธเจ้าก่อนใครทั้งหมดเป็นมาตุคาม (สตรี) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นถวายบังคมภายหลังมาตุคาม   การกระทำของพระอานนท์เป็นเหตุให้ ภิกษุปุถุชนทั้งหลายและประชาชนตำหนิ เป็นเสียงอื้ออึง วิพากษ์วิจารณ์มากทั่วทุกหนทุกแห่งเสียงอื้ออึงเกี่ยวกับการให้สตรีได้ถวายบังคมพระบรมสรีระก่อน นี้เป็นเหตุการณ์ที่ยังใหม่ ส่วนเสียงของประชาชนที่ตำหนิพระอานนท์ที่ขวนขวายให้สตรีบวชคงมีมานาน พระเถระอรหันต์เหล่านั้นท่านคงมีข้อมูลมากพอสมควร เพราะท่านต้องไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน หรือจาริกแสดงธรรมไปในที่ต่างๆ ได้ยินได้ฟังมา พระอรหันต์เหล่านั้นจึงถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องจัดการเสียงอื้ออึงวิพากษ์วิจารณ์ให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง เหมือนการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าเมื่อมีผู้ทำผิด มีผู้ตำหนิจะทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ตรัสถามผู้ก่อเหตุ ทรงตำหนิผู้ที่ก่อเรื่อง และชี้โทษ พระอรหันต์ท่านคงถือแบบอย่างในการบัญญัติพระวินัย มาใช้กับพระอานนท์ ซึ่งถือเป็นจารีตประเพณีเมื่อมีภิกษุทำผิด ประชาชนตำหนิ   พระพุทธศาสนามีทัศนวิสัยในการฟังเสียงของประชาชน และพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุและภิกษุณีปฏิบัติตามก็มาจากเสียงตำหนิของประชาชนบ้าง ภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง   คำตำหนิที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นไม่ใช่พระอรหันต์ตำหนิแต่พระอรหันต์ได้ฟังเสียงตำหนิมาจากประชาชนและภิกษุปุถุชน ถือเป็นโอกาสอันดีจึงนำมาบอกกล่าวในที่ประชุมสังคายนาเพื่อที่จะปลดเปลื้องเสียงอื้ออึงนั้นให้กับพระอานนท์ และสร้างความเข้าใจอันดีให้มีขึ้นในพุทธบริษัท ซึ่งพระอานนท์ก็ยอมรับผิดในการกระทำทุกอย่างที่ถูกตำหนิ และได้ชี้แจงทุกประเด็น คำชี้แจงของพระอานนท์ พระเถระทั้งหลายจะได้นำไปชี้แจงให้พุทธบริษัททราบต่อไป พระอานนท์เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศในการที่ไม่มีทิฐิมานะ ท่านยอมรับความเห็นของสงฆ์ส่วนรวม ทั้งๆ ที่ท่านไม่เห็นว่าจะเป็นความผิด แต่เมื่อเป็นมติสงฆ์ส่วนรวมท่านก็ยอมปลงอาบัติ พระอานนท์เป็นผู้มีการศึกษาดีเยี่ยมผู้หนึ่งในสมัยนั้น เรื่องระเบียบเกี่ยวกับสังคมในสมัยนั้นท่านคงมีความรู้เป็นอย่างดี เพราะผู้ที่เป็นอุปฐากของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ไกล รอบรู้เฉลียวฉลาด  
        ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้รวบรวมจากเอกสารและคำสัมภาษณ์ของนักวิชาการทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ เป็นเพียงความคิดเห็นทางวิชาการเท่านั้น ส่วนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระอรหันต์ที่ตำหนิหรือปรับอาบัติพระอานนท์ เกี่ยวกับการขวนขวายให้สตรีบวช และการให้สตรีเข้าถวายพระสรีระศพของพระพุทธเจ้าก่อนใครอื่นเป็นอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ เพราะเหตุการณ์ได้ล่วงมา ๒๕๕๔ แล้ว ก็คงต้องมีการตีความกันต่อไป ตามภูมิหลังพื้นความรู้ของแต่ละคน.


 
 
 
 


[๑] วิ.จู.(บาลี)๗/๔๔๓/๒๘๐,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๓/๓๔๔.
[๒] วิ.จู. (บาลี) ๗/๔๔๓/๒๘๐,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๓/๓๘๕.
[๓] ศึกษารายละเอียดคำแปลการปรับอาบัติทุกกฎพระอานนท์ได้ใน พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๑๑ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๓ อนุสรณ์งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช ๒๕๐๐, (พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๐๐), ข้อ ๖๒๒ หน้า ๒๖๑-๒๖๓.
[๔] เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ, เหตุเกิด พ.ศ. ๑ เล่ม ๒ วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณีสงฆ์, หน้า ๘๐.
[๖] วิ.จู. (บาลี) ๗/๔๔๓/๒๘๐-๒๘๑.
[๗] ดูรายละเอียดใน วินยักกมจันทิกา : สิกขาปทักกมะ บาลี-แปล, รังษี สุทนต์ แปลและเรียบเรียง, (กรุงเทพมหา นคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๗), หน้า [๒๖] (บทนำ), ๒-๑๘๖.
[๘] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๘๕/๕๖.
[๙] วิ.มหา. (ไทย) ๑/๘๕/๗๕.
[๑๐] วิ.จู. (บาลี) ๗/๒๔๓/๑.
[๑๑] วิ.จู. (ไทย) ๗/๒๔๓/๓.
[๑๒] วิ.จู. (บาลี) ๗/๔๒๑/๒๕๓. อ้างใน รังษี สุทนต์,งานวิจัยเรื่องภิกษุณี.
[๑๓] วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๒๑/๓๔๔.
[๑๔] ม.ม. (บาลี) ๑๓/๑๓๕/๑๑๑, อ้างในรังษี สุทนต์,งานวิจัยเรื่องภิกษุณี.
[๑๕] วิ.จู.อ. (บาลี) ๓/๔๑๓.
[๑๖] รังษี สุทนต์, อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย, แปล.
[๑๗] ที.สี. (บาลี) ๙/๔๙๕/๒๒๒. อ้างในรังษี สุทนต์, งานวิจัยเรื่องภิกษุณี.
[๑๘] ที.สี. (ไทย) ๙/๔๙๕/๒๑๙. อ้างในรังษี สุทนต์ งานวิจัยเรื่องภิกษุณี.
[๑๙] สํ.สฬา. (บาลี) ๑๘/๓๕๕/๒๗๙.
[๒๐] สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๓๕๕/๓๙๘.
[๒๑] สํ.สฬา.อ. (บาลี) ๓/๓๕๕/๑๖๕.
[๒๒] ขุ.อิติ. (บาลี) ๒๕/๙๗/๓๑๕.
[๒๓] ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๙๗/๔๗๒.
[๒๔] ขุ.อิติ.อ. (บาลี) ๙๗/๓๕๑.
[๒๕] ที.สี.อ. (บาลี) ๑/๑๕๑/๑๓๐.
       [๒๖] สรุปจากรังสีสุทนต์,วารสาร บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๐),หน้า๓๒-๓๘.
[๒๗] รังษี สุทนต์, อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย แปล.
[๒๘] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สัมภาษณ์ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐.
[๒๙]  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สัมภาษณ์ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐.
[๓๐] พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), สัมภาษณ์ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔.
[๓๑] พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ, เจ้าหน้าที่ฝ่ายคัมภีร์ พุทธศาสตร์, สัมภาษณ์ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓.
[๓๒]  แสวง อุดมศรี, การปกครองคณะสงฆ์ไทย,(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๔), หน้า ๕๑.
[๓๓]  จำรูญ ธรรมดา, หัวหน้าฝ่ายวางแผนและวิชาการ, สัมภาษณ์ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓.
[๓๔] องฺ.ฉกฺก. (ไทย) ๒๒/๕๑/๓๔๐.
[๓๕] เถร.อ. (ไทย) ๒/๑๐๕๓/๔๗๑.
[๓๖] ธ.อ. (ไทย) ๓/๗-๘.
[๓๗] องฺ.อ. (ไทย) ๑/๒๑๙-๒๒๓/๒๕๖.
       [๓๘] วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๓๑/๑๑๖.

 

(ที่มา: วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (ม.ค.-เม.ย.))
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕