หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ดร.บูรกรณ์ บริบูรณ์ » รูปแบบการนำตนเองเข้าไปผูกพันกับชุมชนของพระสงฆ์ในการแก้ไขปัญหาสังคม
 
เข้าชม : ๕๑๖๕๖ ครั้ง

''รูปแบบการนำตนเองเข้าไปผูกพันกับชุมชนของพระสงฆ์ในการแก้ไขปัญหาสังคม ''
 
ดร.บูรกรณ์ บริบูรณ์ และคณะ (2556)

 

รูปแบบการนำตนเองเข้าไปผูกพันกับชุมชนของพระสงฆ์

ในการแก้ไขปัญหาสังคม

Model of Community Engaged Monks in Solving Their Social Problems

 

ดร.บูรกรณ์ บริบูรณ์

พธ.บ.(ภาษาอังกฤษ), อ.ม.(ศาสนาเปรียบเทียบ)

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ประชากรศึกษา)
วิบูลย์ แมนสถิต

                          กศ.บ.(สังคมศึกษา), ค.ม.(การบริหารการศึกษา)

 

บทคัดย่อ

 

“รูปแบบ” การทำงานของพระสงฆ์การทำงานในการนำตนเข้าไปผูกพันกับชุมชนมาจากชุดของความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชุมชนชุดหนึ่ง ได้แก่ การทำงานมาจากแรงจูงใจที่เกิดจากภายในเพราะสัมผัสกับบริบททางสังคมที่มีตนเองอาศัยอยู่ประสบการปัญหาบางประการและตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะต้องเข้าไปคลี่คลายปัญหามากที่สุด ลักษณะงานมักจะเป็นงานการสังเคราะห์เป็นหลัก รองลงมาเพราะเงื่อนไขบริบทอันเป็นข้อผูกมัดทางวัฒนธรรมของพระสงฆ์ที่ควรทำหน้าที่จะพึงกระทำ ลักษณะงานจะเป็นงานจะมีขอบเขตงานพัฒนาด้านจิตใจเป็นหลัก และน้อยที่สุดคือคือเงื่อนไขสภาพแวดล้อมบังคับที่ชุมชนผู้รับบริการต้องการหลักธรรมจากพระสงฆ์ อย่างไรก็ดี แรงจูงใจที่แตกต่างกันนี้จะมีความคล้ายคลึงกันเมื่อพระสงฆ์ได้นำตนเองไปผูกพันกับชุมชนจะหลอมตนเองเข้าไปชุมชนแล้วจะส่งผลต่อแรงบันดาลใจและอุทิศตนเองทำงานตลอดชีวิตต่อมา หลักการแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially engaged Buddhism) คือ ๑) สรรพสิ่งมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและสิ่งที่รูปธรรม พระสงฆ์มีความเชื่อมโยงกับหลักธรรมคือเป็นผู้ปฏิบัติธรรม และในเชิงปรากฏการณ์ทางสังคมพระสงฆ์จึงมีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยพระสงฆ์และหน่วยสังคมอย่างแยกออกกันไม่ได้ ๒) พระสงฆ์กล่อมเกลาตนเองจากการเห็นหลักการเชื่อมโยงนั้น และ ๓) นำตนเองเข้าไปผูกพันกับชุมชนในฐานะตนเองเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหานั้น    

                                   

คำหลัก: พระสงฆ์, ชุมชน, ปัญหาสังคม, การนำตนเข้าไปผูกพัน    

 

 

 

Abstract

 

The “Pattern” of community engaged monks aspect shows the relations between the community and monks: the working motivation is first mainly caused by the social context that those monks living in and realize they are part of the community that must solve the their community problems.  The second cause is the conditional context that the main cultural obligation for monks is to cultivate human spiritual.  And the last cause is the social condition that the community need the dharma instructions from the monks.  Nevertheless, these different motivations become similar when the monks self-engaged to the community, they themselves will be fused with the community and eventually, it’s result the inspiration and the self-devotion in their livelong work. The socially-engaged Buddhism concept is 1) All things are linked to each other, both abstract and substantial ones. Monks are linked to Dharma by their practice. And the social phenomenon, monks are inseparably linked with the society.  2) Monks cultivate themselves by understanding the linkage. 3) Monks engage themselves in the community as part of it to solve the problems as well.

 

Key Word:  Monks, Community, Social Problems, Community engaged Monks

 

บทนำ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคมค่อย ๆ พัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ในแง่สหวิทยาการมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนำมาสู่การเปลี่ยนเปลงโครงสร้างทางสังคม สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สังคมไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปรับตัวสอดรับกับการท้าทายนี้ด้วยการปฏิรูปสังคมไทยทุกภาคส่วน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ การทหาร การเมืองและการศึกษา ผลแห่งการปฏิรูปมีทั้งด้านบวกและลบ ความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกหน่วยสังคมมีความสลับซับซ้อนหลากหลายก่อให้เกิดการแบ่งหน้ากันและพัฒนาการไปอย่างมีดุลภาวะ ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของความหลากหลายเชิงบทยืน (Thesis) และเป็นพื้นฐานของอุดมคติ เจตคติ การดำเนินชีวิตของคนในสังคมอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อแกนจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยจากที่เคยมีฐานบทยืนทางพระพุทธศาสนาเป็นการแกนจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคม พระสงฆ์เคยมีบทบาทสำคัญหลากหลายในอดีตได้ลดบทบาทลง อย่างไรก็ดี บทบาทสำคัญของพระสงฆ์ที่ยังมีความชัดเจนคือทำหน้าที่พัฒนาด้านจิตใจเป็นหลัก บทบาทนี้ยังปรากฏอยู่โดยเฉพาะในสังคมชนบทซึ่งอาจจะปรากฏมีรูปแบบบางประการที่ยังคงรักษาดุลยภาพและทำหน้าที่เป็นแกนจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมนั้น ๆ รูปแบบบางประการยังคงดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ทั้งที่คล้ายและแตกต่างจากสังคมเดิมอย่างไร

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

                  เครื่องมือในการศึกษาและแนวคำถามปรับตามสภาพของหน่วย/บุคคลที่ถูกศึกษา มีดังนี้

                  ๑.  แนวทางคำถามสำหรับสัมภาษณ์ (interview guide) เจ้าอาวาส จำนวน ๑๐ รูป ตามประเด็นที่ศึกษาคือศึกษารูปแบบการนำตนเข้าไปผูกพันระหว่างพระสงฆ์กับชุมชน ปัจจัยภายในกล่าวคือแรงจูงใจภายใน ระบบคิด (thinking) ความเชื่อ(belief) ความเข้าใจ (cognitive) ในหลักธรรม ส่งผลต่อพฤติกรรม (behavior) การนำตนเข้าไปผูกพันตามมา ปัจจัยภายนอกคือความระบบความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับบุคคลหรือ/และกลุ่มผู้รับบริการ ระบบปัจเจกและระดับชุมชน ความไว้วางใจ (trust) เกิดจากฐานะของพระสงฆ์และพระสงฆ์ตีความหลักธรรมเพื่อใช้ในการเข้าไปผูกพันและแก้ไขปัญหาสังคม   

                  ๒.  ประเด็นเงื่อนไข ของพัฒนาการของการผูกพันและการแก้ไขปัญหาสังคมดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าไปผูกพันนั้นจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาปัจเจกบุคคล ชุมชน สังคมและเศรษฐกิจ(ในกรณีกลุ่มตัวอย่างที่เน้นการสังเคราะห์) ซึ่งการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องนี้จะสะท้อนรูปแบบและลักษณะการนำตนเข้าไปผูกพันของพระสงฆ์กับชุมชนได้อย่างดี

                  ๓.  แนวคิดทั้งสองข้อข้างต้น นำมาสร้างเครื่องมือแบบสัมภาษณ์ทั้งมีโครงสร้าง (structured interview)และไม่มีโครงสร้าง (unstructured interview) และแบบสอบถาม (questionair) ต่อมา

                  ๔.  การสังเกต (observation) สังเกตกิจกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชน ปฏิสัมพันธ์ของพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างกับผู้รับบริการ กระบวนการทำงานของพระสงฆ์และการจัดสภาพแวดล้อม การใช้ทรัพยากรที่มีส่วนในการเสริมรูปแบบการผูกพันระหว่างพระสงฆ์กับชุมชน

                  กลุ่มตัวอย่าง พระสงฆ์ ๑๐ รูป แบ่งย่อยออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้

                  กลุ่มที่ ๑ พระสงฆ์ที่ทำงานเน้นพัฒนาจิตใจเป็นหลัก จำนวน ๗ รูป

                  กลุ่มที่ ๒ พระสงฆ์ที่ทำงานเน้นกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ จำนวน ๓ รูป

                  การรวบรวมข้อมูล การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-dept interview) กลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์ การเข้าถึงกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเป็นพระสงฆ์ การเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างจึงทำได้ค่อนข้างง่าย โดยการการแนะนำตนเองและแจ้งวัตถุประสงฆ์การศึกษาต่อกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์และกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์จะแนะนำผู้วิจัยต่อกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้รับบริการ ซึ่งระยะเวลาการเก็บข้อมูลภาคสนามในการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ๑๐ รูป จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงสองเดือน

      การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นงานศึกษาเพื่อต้องการทราบรูปแบบของพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้วิธีการศึกษาบนฐานคิดปรากฏการณ์วิทยา (phenomenon approach) เน้นการตีความเป็นหลัก การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เมื่อเก็บข้อมูลกลุ่มพระสงฆ์ครบถ้วนสมบูรณ์ และตรวจสอบข้อมูลเห็นว่าไม่มีประเด็นใหม่ (ที่ยังไม่ศึกษา นอกเหนือกรอบแนวคิด)แล้ว นำข้อมูลที่ได้มาจัดระบบใหม่ ลดทอนข้อมูลที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่เกี่ยวข้องออก นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ภายใต้กรอบมโนทัศน์ การนำตนและพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม อธิบายเพื่อตอบโจทก์งานวิจัยข้างต้น

 

ผลการวิจัย

 

ระดับปรากฏการณ์บุคคล แยกหัวข้อย่อยสรุปตามวัตถุประสงค์การศึกษา ดังนี้

                 รูปแบบแรก การการนำตนเข้าไปผูกพัน คือ บริบท พบว่า บริบทมีความสำคัญต่อแรงผลักดันให้พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างนำตนเข้าไปพัวพันกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาสังคม บริบทของชุมชนของกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์อาศัยอยู่ไม่มีความแตกต่างกันนัก ส่วนใหญ่ชุมชนยังเป็นชุมชนบท ปัญหาของชุมชนมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ชุมชนหนึ่ง ๆ มีปัญหามากกว่าหนึ่ง ปัญหา เช่น ปัญหาเด็กวัยรุ่นติดยาเสพติด ปัญหาความขัดแย้งของเด็กวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพเป็นโรคบางประการซึ่งเป็นวิกฤติชีวิต เช่น โรคมะเร็ง ปัญหาความยากจน ปัญหาจริยธรรมอื่น ๆ เป็นต้น  อย่างไรก็ดี การมองเห็นปัญหาของพระสงฆ์ค่อนข้างจะแตกต่างกันก่อให้เกิดแรงจูงใจ เข้าไปแก้ปัญหาในรูปแบบและประเภทของการทำงานแตกต่างกัน เช่น พระครูประดิษฐกาญจนคุณตระหนักว่าปัญหาจำเพาะเจาะจงในชุมชนของท่านคือปัญหาของความยากจน การแก้ไขในระดับจุลภาคในชุมชนคือ การสร้างอาชีพเย็บผ้าในชุมชน พระปพนพัชร์ สร้างศูนย์เห็นว่าปัญหาของสังคมทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่เป็นปัญหาวิกฤติชีวิต คือ ปัญหาโรคมะเร็ง พระสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าพื้นฐานของทุกปัญหามาจากฐานของจิตใจ การแก้ปัญหาจึงแก้ด้วยการพัฒนาจริยธรรมในรูปแบบของโครงการอบรมด้วยหลักสูตรระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวตามลักษณ์กลุ่มผู้รับบริการ เช่น กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นเยาวชนจะอบรมจริยธรรมด้วยหลักสูตรระยะสั้น ๓ วัน ๒ คืน เชื้อเชิญบุคคลในหน่วยสังคมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาหลักสูตรเข้ามามีส่วนในการพัฒนาจริยธรรมนั้น การทำงานเพื่อสังคมทั้งกลุ่มตัวอย่างพระสงฆ์สองประเภทมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มาจากแรงจูงใจภายในตนเองที่มาจากแรงผลักการเห็นสภาพปัญหา และมีหนึ่งรูปได้เริ่มทำงานเพื่อสังคมมาจากสภาพแวดล้อมบังคับ กลุ่มผู้รับบริการคาดหวังว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่จริยวัตรที่งดงามเป็นที่น่าเลื่อมใสจึงขอรับบริการ อย่างไรก็ดี หลังจากได้ทำงานเห็นศักยภาพของตนและเห็นประโยชน์ที่ผู้อื่นได้รับ ท่านได้ทุ่มเทในการทำงานอย่างต่อเนื่อง   

รูปแบบที่สอง การทำงานเพื่อสังคมพบว่า การทำงานเริ่มต้นด้วยการเห็นปัญหา และนำตนเข้าไปพัวพันกับชุมชน เสนอแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหา และการวางแผนการทำงาน การวางแผนการทำงานมีความสัมพันธ์กับระดับความเข้มข้นของการนำตนเข้าพัวพันเพื่อจะดำเนินงานให้บรรลุตามที่วางไว้ งานที่ต้องการสัมฤทธิผลเชิงประจักษ์จะปรากฏระดับการวางแผนและการวางขั้นตอนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ การวางแผนและจัดขั้นตอนการทำงานจะเป็นตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของงาน งานที่พระสงฆ์ให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์มักจะเป็นประเภทงานที่มีระดับปัญหาชีวิตอันวิกฤติของผู้รับบริการ และต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง กลุ่มที่เข้ารับบริการเป็นกลุ่มบุคคลเดียวเกือบตลอดชีวิตหรือจนกว่าปัญหาของผู้รับบริการได้ถูกแก้ไข งานที่เน้นแก้ไขปัญหาวิกฤติชีวิตเชิงประจักษ์จะมีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีขั้นตอนและมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ประเภทงานพัฒนาจิตใจจะมีการวางแผนและกำหนดขั้นตอนการทำงานก่อนจะทำดำเนินงาน ขณะดำเนินเช่นกัน อย่างไรก็ดี งานแก้ไขปัญหาวิกฤติชีวิต เช่น การสงเคราะห์ด้านอาชีพ และงานรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแตกต่างกับงานพัฒนาจิตใจ งานแก้ไขวิกฤติชีวิตจะมีการวางแผน กำหนดขั้น ประเมินผล (อย่างไม่เป็นทางการ การประเมินผลงานของตนด้วยการสัมผัส พูดคุย รับฟังปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง) อย่างสม่ำเสมอทุกวันเพราะการทำงานอย่างเป็นระบบจะสัมพันธ์กับสัมฤทธิผลของงาน ส่วนงานพัฒนาจิตใจจะกำหนดแผนการทำงาน ขั้นตอนการทำงานเมื่อมีกิจกรรมการพัฒนาจิตใจเกิดขึ้น     

                 งานศึกษานี้ สามารถสรุปได้ว่า รูปแบบการนำตนเข้าไปพัวกับสังคม คือ กระบวนการของการตระหนักเห็นปัญหาของชุมชนแล้วปัญหากระตุ้นให้เกิดการคิดจะที่แก้ไขปัญหานั้น แสวงหาแนวทาง วิธีการด้วยหลักพุทธธรรมในการแก้ไขและดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง

              ระดับแนวคิด จากงานศึกษาพบว่า พระสงฆ์ที่กล่อมเกลาตนเองและทำงานเพื่อสังคม ตามประเภทของงานที่คล้ายและแตกต่างกัน ประเภทงานที่คล้ายกันคืองานพัฒนาจิตใจซึ่งรูปแบบได้รับการสืบทอดกันมา ส่วนเนื้อหาที่เป็นหลักสูตรถูกนำไปปรับ ประยุกต์ตามสภาพเงื่อนไขของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง ประเภทงานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่พระสงฆ์ที่ดำเนินการออกแบบขึ้นสอดคล้องกับปัญหาของผู้รับบริการ งานนั้นสัมฤทธิผลได้จริง การดำเนินงานของพระสงฆ์ทั้งสองประเภทสะท้อนฐานแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมได้ว่า พระพุทธศาสนามีรากฐานเพื่อสังคมโดยแท้จริง ซึ่งรายละเอียดจะอภิปรายในหัวข้ออภิปรายผลต่อไป 

 

อภิปรายผล

 

การอภิปรายโดยนำผลงานการศึกษามาวิเคราะห์แนวคิด และนำแนวคิดมาอภิรายผลการของการศึกษา จึงจัดหัวข้อด้วยการสรุปย่อองค์ประกอบแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในบทที่สองเพื่อเป็นกรอบในการอภิปรายผลของการศึกษาต่อไป

๑ แนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

แนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมตามทัศนะของท่านติช นัท ฮันท์เป็นท่านแรกที่ใช้คำนี้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ว่ารากฐานสำคัญของคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนเน้นมิติทางสังคม แสดงให้เห็นชัดเจนจากการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ไขปัญหามนุษย์ในระดับปัญหาปัจเจกบุคคลและปัญหาสังคม แนวคิดนี้มีทัศนะว่าสรรพปัญหามาจากพื้นฐานการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ผ่านกฎเกณฑ์บางประการในเชิงบั่นทอนขยายไปสู่การจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก และปัญหาสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นจะย้อนกลับมาสู่ปัญหาการจัดความสัมพันธ์มนุษย์ต่อมนุษย์ต่อมา การแก้ไขปัญหาสังคมที่มาจากผลของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สู่การจัดความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลนั้นเริ่มต้นด้วยการกล่อมเกลาตนเองด้วยการเจริญสติภายในแล้วโยงกรุณาที่เป็นผลจากการเจริญสตินั้นแผ่ขยายออกสู่สังคมภายนอก “การเจริญสติทำให้ตระหนักถึงสิ่งที่การกำลังดำเนินอยู่ภายในร่างกาย ความรู้สึก จิตใจสงบสุขและขยายความสงบสุขไปสู่บุคคลอื่นและโลกภายนอก”[1] การกล่อมตนเองด้วยการหลอมตนเองเข้ากับสรรพสิ่งจะปรากฏญาณทัศนะเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งนั้นในฐานะปรากฏการณ์ของ กระบวนการ (process) หรือ กริยา (verb) เป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นเพ่งมองบุคคลผู้กระทำ (subject) หรือผู้รับผลของการกระทำ[2] (object) ที่ดำรงอยู่อย่างคงตัว (static) แต่การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งอย่างมีสายใยถักทอของหน่วยต่าง ๆ ทำปฏิกิริยาระหว่างกันเช่นเป็นเครือข่ายเป็นพลวัต (dynamic) อย่างไม่หยุดนิ่งคล้ายกับใยแมลงมุม[3] สาระหลักของแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมตามทัศนะและตามการดำเนินกิจกรรมของนักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมสองท่านที่ได้รับยอมรับในระดับสากล คือ ท่านติช นัท ฮันท์และท่านพุทธทาสภิกขุมาเป็นกรอบในการอธิบายจะปรากฏขอบเขตแนวคิดแตกต่างจากพระพุทธศาสนาแบบจารีตโดยนัยสำคัญ ดังนี้

                       .๑ แนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมมีทัศนะว่าสรรพสิ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นกระแสไหลเวียนของความสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่างความเป็นเหตุและความเป็นผลและความเป็นผลอาจจะย้อนกลับมาเป็นเหตุอีกครั้งได้ ทัศนะการมองความเป็นเหตุและผลเชิงการปฏิสัมพันธ์ของหน่วยต่าง ๆ จะทำให้ความเป็นทวิภาวะ (dualism) ของขั้วตรงข้ามหายไป เพราะความเป็นทวิภาวะขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นจากฐานคิดเชิงวัตถุวิสัยดำรงอยู่อย่างอิสระแยกออกจากการเชื่อมต่อของกริยาที่แสดงความสัมพันธ์ของเหตุและผล “เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิด ไม่เอียงซ้าย ไม่เอียงขวา ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยคและไม่เป็นกามสุขัลลิกานโยค”[4] การไหลเวียนของเหตุและผลดำเนินไปตามกฎอิทัปปัจจยตาและกฎของอิทัจปัจยตา[5] (ความเชื่อมโยงของเหตุและผลแผ่ขยายไปได้ทุกทิศทาง ถ้าเรามองกระดาษอย่างลึกซึ้งเราจะเห็นแสงอาทิตย์ ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์ ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต เราจึงรู้ว่าต้นไม้และแสงอาทิตย์ กระดาษและแสงอาทิตย์ดำรงอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน (inter-are) ถ้าเรามองย้อนผ่านระยะเวลาเราจะเห็นคนตัดต้นไม้ นำต้นโม้เข้าสู่โรงงานเพื่อทำกระดาษ เห็นขนมปังที่คนตัดไม้รับประทานเพื่อยังชีพ เห็นครอบครัวคนตัดต้นไม้ สิ่งทั้งมวลเหล่าเกี่ยวข้องกับกระดาษแผ่นเดียว[6]

                       .๒. สรรพสิ่งดำรงอยู่ในภาวะกระแสตามกฎอิทัปปัจจยตาอย่างไม่หยุดนิ่งปรากฏให้เห็นคุณสมบัติบางประการคือความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ความขัดแย้งภายในของสรรพสิ่งนั้น (ทุกขัง) เพราะสภาวะที่รวมตัวขององค์ประกอบ (อนัตตา) อย่างลงตัวตามกฎไตรลักษณ์[7] ตามหลักไตรลักษณ์แสดงคุณสมบัติของธรรม ซึ่งคำว่า ธรรม หมายถึง สรรพสิ่งครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดจนกระทั่งความไม่มีที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งที่อย่างที่กล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึง ทั้งวัตถุและจิตใจ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญ รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น[8] สรรพสิ่งนั้นมาจากองค์ประกอบประชุมที่ลงตัวนั้นรวมทั้งกฎความจริง (truth) เบื้องหลังเหตุการณ์ธรรมชาติและข้อเท็จจริง (fact) แสดงปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น (เลขหก เป็นปรากฏการณ์ของความจริง) ซึ่งเป็นความจริงนามธรรมมาจากผลรวมจากองค์ประกอบ (อนัตตา) ของ +, .+., -+...(อนันตะ) องค์ประกอบเป็นคุณสมบัติที่แฝงเบื้องหลังสรรพสิ่งแม้กฎแห่งไตรลักษณ์และอิทัปปัจจยตามีความเป็นไตรลักษณ์และอิทัปปัจจตาในตัวเองจะดำรงอยู่เมื่อมีสิ่งที่รูปธรรมปรากฏสะท้อนให้เห็นเท่านั้น กฎไตรลักษณ์จะดำรงอยู่อย่างอิสระไม่ได้ถ้าไม่อาศัยวัตถุบางอย่างแสดงคุณสมบัติตน เช่น การเกิด ผันแปรและดับปรากฏเมื่อมี “สิ่ง” ที่เกิด ผันแปรและดับ

                        .๓. การกล่อมเกลาตัวเอง ลักษณะพิเศษของหลักคำสอนพระพุทธศาสนาเน้นขอบเขตการให้ความสำคัญเรื่องคุณค่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่นี้ก็ดี บัดนี้ก็ดี ตถาคตสอนเฉพาะความทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น”[9] สอดคล้องกับหลักอริยสัจ ที่ทรงสอนเรื่อง ทุกข์หรือปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) ผลของการแก้ปัญหา (นิโรธ) และวิธีการแก้ปัญหานั้น[10] การกล่อมเกลาตนเองของนักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมเน้นกระบวนพัฒนาทั้งสี่ด้าน (four quadrants) พร้อมกัน ได้แก่ ความรู้สึกภายในตนเองของตัวละบุคคล (inner-individual-i) วัตถุกายภาพของปัจเจกบุคคล (outer-individual-it) วัฒนธรรมความสัมพันธ์ของคนในสังคม(inner-collective-they) ปรับโครงกฎเกณฑ์สังคม (outer-collective-its) ที่หลากหลายซับซ้อนให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาคน[11] การกล่อมเกลาเริ่มพิจารณาตามหลักภาวนาสี่ประการ พัฒนาตนเองทั้งกายภาพให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก (ภายภาวนา) การจัดความสัมพันธ์ของตนเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางสังคม (ศีล) การเจริญจิตให้ผ่องใส (สมาธิ) และการพิจารณาสรรพสิ่งตามหลักไตรลักษณ์[12] ผลของการกล่อมเกลาตนเองได้ ๑) อิสรภาพทางกายหรือวัตถุ (physical freedom) อิสระจากการยึดเกาะกับวัตถุ การบริโภควัตถุเพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ) อิสรภาพทางสังคม (social freedom) สังคมมีภารดรภาพ มีคุณคุณธรรมเป็นแกนจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันตามหลักนิติธรรม ๓) อิสรภาพทางอารมณ์ (emotional freedom) ปัจเจกบุคคลมีความสงบภายใน และ ๔) อิสรภาพทางปัญญา (intellectual freedom) เห็นตรงกับความเป็นจริง[13]

                 กระบวนการกล่อมเกลาเพื่อบรรลุอิสรภาพนั้นเน้นคุณค่าภายในมากกว่าข้อเท็จจริงภายนอกเพราะอยู่ในขอบเขตอำนาจของบุคคลหนึ่งจะควบคุมและก่อให้เกิดคุณค่าทางจริยธรรมได้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านตนเองทั้งด้านความรู้สึกด้านจิตใจ ญาณทัศนะ พฤติกรรมจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งโดยไม่ย้อนกลับมาสู่สภาวะเดิม การให้ความสำคัญต่อคุณค่าภายในนำมาสู่ฐานการอธิบายปรากฏการณ์ภายนอก “คนมักทำปาณาติบาต ตายแล้วจะเข้าถึงอบาย ทุคติ คนเบียดเบียนสัตว์ มักจะเป็นคนขี้โรค”[14] ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ด้วยข้อเท็จจริงนี้ได้ก็ตาม แต่หลักการทางพุทธศาสนาเน้นขอบเขตด้านจิตใจซึ่งเป็นฐานการพัฒนาและสามารถควบคุมให้เกิดพัฒนาจริยธรรมนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการอธิบายโลกเชิงประจักษ์เกือบทุกรณี นักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมจึงให้ความสำคัญอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมภายใต้ขอบเขตด้านศีลธรรม

                        ๑.๔. นักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมมีจุดเริ่มประการหนึ่งแตกต่างจากแนวคิดอื่นทั่วไปอย่างสำคัญอีกประการหนึ่งคือการไม่แยกหลักธรรมระดับโลกิยะ (ระดับศีลธรรม) และระดับโลกุตระ (เป้าหมายสูงสุดทางศาสนา) ออกจากกัน ไม่แยกหลักการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงจุดสูงสุดกับการดำเนินชิวิตประจำวันซึ่งเป็นหลักศีลธรรมในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้มีความสงบสุขออกจากกันและไม่แยกหลักธรรมสำหรับบุคคลทางศาสนาและบุคคลทั่วไปออกจากกัน “ตัวพระพุทธศาสนาได้แก่วิชาความรู้เท่าที่จำเป็นที่มนุษย์ต้องรู้ เพื่อความดับทุกข์ได้โดยเฉพาะก็ของคนทุกคนทั่วไป”[15] หลักธรรมขั้นสูงสุดนั้นสามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันและสามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน ไม่มีอะไรถือว่ามีสาระแก่นสารที่ถือเป็นตัวตนได้ ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ก้อนกรวด เมฆหมอก แม่น้ำ สังคม หรือมนุษย์ การเจริญสติปัฏฐานเป็นไปเพื่อละอัตตาสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทานอาหาร เดิน นอน ทำงาน [16]

                 องค์ประกอบใน ๔ ข้อถือว่าเป็นคุณสมบัติของแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม มีความเกี่ยวข้องกัน ข้อที่ ๑ ปรากฏในฐานะเป็นพื้นฐาน “หลักคำสอน” ทางพระพุทธศาสนาแสดง “โลกทัศน์” การมองสรรพสิ่งอย่างเชื่อมโยงผ่านตัวตัวมนุษย์ในฐานะเป็นมองหรือผู้รู้ (ผู้รู้และถูกรู้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือรู้ว่าตนเองกำลังรู้ กำลังคิด) ข้อที่ ๓ ปรากฏเป็น “จุดสูงสุด” ในฐานะเป็น “เป้าหมายชีวิต”ของบุคคลจะพึงถึง ข้อที่ ๒ และ ๔ เป็น “มรรควิธี” หรือวิธีการที่จะเข้าถึงภายใต้ขอบเขต “คุณค่าภายใน” ด้วยการดึงหลักคำสอนมาสู่การปฏิบัติเพื่อจะไปสู่เป้าหมายในที่สุด

                 อย่างไรก็ดี องค์ประกอบทั้ง ๔ ข้อ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในบุคคล ผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอนโดยทั่วไป (ศาสนิกส่วนหนึ่ง) อาจจะตีความหลักคำสอนแยกโลกิยะออกจากโลกุตระ แยกการดำเนินชีวิตปกติออกจากวิถีชีวิตขณะปฏิบัติธรรม แยกปัจเจกบุคคลออกจากสังคม และนำมาสู่การแยกตนเองออกจากสังคมด้วยการมุ่งเข้าสู่เป้าหมายเฉพาะตนนั้นไม่อยู่ในขอบเขตความหมายแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม  หลักการสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมตามทัศนะของนักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมคือหลักการทั้ง ๔ ข้อ ขณะดำเนินตามมรรควิถีเพื่อจะถึงเป้าหมายสูงสุดนั้นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นในนักปฏิบัติการทางสังคมจะสะท้อนสิ่งที่มีในตนออกสู่บุคคลอื่นและโลกภายนอกด้วยรูปแบบการนำตนเข้าไปผูกพันกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหานั้น

๑.๕. นำตนเองเข้าไปผูกพันกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมนั้น ปัญหาสังคม สมัยใหม่จะเป็นปัจเจกและปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเป็นไปของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิได้เกิดจากการกระทำของตนหรือบุคคลอื่นเท่านั้น หากยังเป็นผลจากปัจจัยทางสังคม เช่น ระบบ สถาบัน นโยบายหรือโครงสร้างทางสังคมซึ่งไม่สามารถระบุใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหรือกระทำได้ อาทิ ความยากจนของประชาชนอันเกิดจากนโยบายของรัฐ นโยบายหรือโครงสร้างเหล่านี้เป็นผลผลิตของสังคม ดำรงอยู่ได้เพราะความสนับสนุนเห็นชอบของผู้คนในสังคม[17] ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลและปัญหาเชิงโครงสร้างปรากฏในฐานะเป็นปัจจัยสาเหตุ แต่ทั้งสองปัญหาปัจเจกบุคคลเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเน้นสอนแก้ไขปัญหาตรงที่จิตใจมนุษย์ในฐานะตัวบุคคล เพราะระบบโครงสร้างสังคมบางสังคมเรียบง่าย บางสังคมอาจจะสลับซับซ้อน ในสังคมเดียวกันอาจจะมีวิวัฒนาการกลับขึ้นและลงได้ แต่ตัวปัจเจกบุคคลในฐานะเป็นต้นตอจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันก่อให้เกิดระบบโครงการบางอย่างนอกเหนือการควบคุมตนเอง กลับมาบังคับตนเอง และปัจเจกบุคคลในอยู่ในฐานะผู้รับผลทั้งบวกและลบจากระบบที่ตนสร้างขึ้น สังคมจะวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทิศทางหนึ่ง ๆ นั้นปัจเจกบุคคลยังคงดำรงอยู่  หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคลโดยการสอนมุ่งตรงการพัฒนาจิตใจของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของบุคคลอันเป็นฐานให้ก่อระบบโครงสร้างบางประการด้วย หลักคำสอนมุ่งจัดความสัมพันธ์ของบุคลต่อบุคคล บุคคลต่อหน่วยสังคมและหน่วยสังคมต่อหน่วยสังคม กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับพระสงฆ์ ระหว่างพระสงฆ์กับสังคมและระหว่างสมาชิกของคนในสังคมบนพื้นฐานของหลักธรรมเพื่อจะเกื้อกูลสมดุลอันจะเป็นฐานไปสู่ระดับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง หลักความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับพระสงฆ์วางบนเงื่อนไขของพระวินัยเป็นตัวร้อยรัดให้สังคมสงฆ์เข้มแข็ง อาทิ การปวารณา พระสงฆ์เต็มใจที่จะให้สมาชิกรูปอื่นกล่าวโทษได้ถือว่าเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้[18] ปาฏิโมกข์การประชุมสงฆ์ในทุกกึ่งเดือนเพื่อพิจารณาทบทวนสิ่งที่ได้กระทำก่อนหน้า[19] เจตนารมณ์ของพระวินัยเป็นเจตนารมณ์ของสังคมกับอยู่เบื้องหลังระหว่างพระสงฆ์ต่อพระสงฆ์และพระสงฆ์กับสังคม หลักการนี้แยกย่อยสู่การบัญญัติสิกขาบท (ข้อห้าม) หลักพุทธธรรมไม่เพียงแต่เน้นคุณค่าภายใน แต่ยังหลักจริยธรรมที่จัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมโดยตรงปรากฏมีหลักธรรมจำนวนมาก เช่น ศีล๕ ทิศ ๖  กุศลกรรมบถ[20] กัลยาณมิตร ๗ ประการ[21] คิหิปฏิบัติ อริยทรัพย์ สังคหวัตถุ ๔ ประการ มงคล ๓๘ ประการ เป็นต้น หลักธรรมเหล่านี้ยังสามารถใช้ได้ดีในทุกสังคมทุกสมัยทั้งในสังคมที่เรียบง่ายและสังคมสลับซับซ้อนขึ้น ความหมายของทิศ ๖ และหลักศีลธรรมยังถูกอธิบายครอบคลุมมีความหมายระดับชาติ นานาชาติด้วย[22]

หลักธรรมและวินัยที่พระพุทธทรงวางไว้กับศาสนิกเป็น “หลักการ” ที่ใช้ได้กับพื้นฐานสังคมทุกสังคม ไม่ได้วาง “นโยบาย” เชิงโครงสร้างหรือ “วิธีการแก้” เพราะโครงสร้างสังคมมีความเปลี่ยนแปลงตามหลักไตรลักษณ์ วิธีการในเดียวกันย่อมไม่สอดคล้องกับสังคมบริบทต่างกัน แต่การวางหลักการคือหลักคำสอนเชิงโลกทัศน์ ผ่านการกล่อมเกลาตนเองเพื่อจะนำตนเข้าไปผูกพันกับสังคมและหลักการเอื้อตีความปัญหาเชิงนโยบายสอดคล้องกับบริบทสังคมหนึ่ง ๆ ได้ การกล่อมเกลาตนเองจนปัญหาด้านจิตใจลดลงหรือหายไปเพื่อเป็นหลักประกันการนำตนเข้าไปผูกพันโดยการวางตัวในระยะห่างต่อบุคคล หน่วยสังคมและรัฐอย่างเหมาะสมในการเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยมิได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือเพิ่มปัญหาใหม่ ท่านพุทธทาสเป็นตัวอย่างในการจัดความสัมพันธ์กับรัฐอย่างเหมาะสมและการตีความหลักคำสอนอันเป็นหลักการทางพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมสังคมสมัยใหม่และนำเสนอเชิงนโยบาย “ธรรมนิกสังคม” เป็นพื้นฐานในการไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองบนพื้นฐานของคุณค่าจริยธรรม ท่านติช นัท ฮันท์ เจริญสติในชีวิตประจำวันสู่การเคลื่อนไหวธรรมยตราและเสนอแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมโดยการตีความหลักธรรมวินัยให้เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาของสังคมใหม่ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขในระดับรากฐานภายในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความโกรธ ความเกลียด เป็นต้นและมองปัญหาเชิงระบบมากกว่าจะพิจารณาปัญหาจำเพาะตัวบุคคล แนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมจึงไม่มองแยกปัจเจกบุคคลกับโครงสร้างสังคมออกจากกัน   

เพราะฉะนั้น องค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อข้างต้นย่อยลดทอนเพื่อนำไปเป็นกรอบวิเคราะห์งานภาคสนามลงเหลือ ๓ ประการ ดังนี้  ๑) การกล่อมเกลาตนเองตน ๒) เห็นสรรพสิ่งมีความเชื่อมโยง และ ๓) นำตนเข้าไปผูกพันกับสังคม ซึ่งสอดคล้องกับคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คือ           ๑) พระวิสุทธิคุณ ๒) พระปัญญาคุณ และ ๓) พระมหากรุณธิคุณ

๒ พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างกับแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

สาระหลักขององค์ประกอบของแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมมาเพื่อนำมาเป็น กรอบในการวิเคราะห์การทำงานของพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่าง ดังนี้

๒.๑ การกล่อมเกลาตนเองและเปลี่ยนผ่านตนเอง พระนักปฏิบัติการทางสังคมเริ่มต้นด้วยการกล่อมเกลาตนเองอย่างจริงจัง ผลจากการปฏิบัติธรรมก่อให้เข้าใจสรรพสิ่งมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน การกล่อมเกลาตนเองของนักปฏิบัติการทางสังคมเริ่มจากฐานการใช้ปัญญาโดยการใช้สติพิจารณาธรรม (สติปัฏฐาน) มากกว่าการปฏิบัติเน้นสมาธิและศีล การปฏิบัติดำเนินไปอย่างยิ่งยวดและตลอดชีวิตโดยมีเป้าหมายที่จุดสูงสุดทางพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่าง ๘ รูป จาก ๑๐ รูปมีคุณสมบัตินี้อย่างเข้มข้น พระสงฆ์ ๘ รูปผ่านการเดินธุดงค์มาก่อน เป็นพระสายวิปัสสนา ปัจจุบันเป็นพระสงฆ์สอนกรรมฐาน ใน ๘ รูป มี ๑ รูปได้สอนกรรมฐานแก่ผู้สนใจอย่างเข้มเข้นเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา ส่วนอีก ๒ รูปที่เหลือแม้จะไม่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ แต่มีประสบการณ์การปฏิบัติวิปัสสนาและเป็นพระสงฆ์อบรมจริยธรรมแก่คนทั่วไปและเยาวชนด้วย คุณสมบัติในการกล่อมตนเองให้บริสุทธิ์จึงเป็นคุณสมบัติที่พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างมีความสมบูรณ์

๒.๒ จากคุณสมบัติข้อแรก การกล่อมเกลาตนเองทำให้ศีล สมาธิและปัญญามีความสมบูรณ์เกิดทัศนะการมองเห็นสรรพสิ่งมีความเชื่อมโยงซึ่งกันกับหลักอิทัปปัจจยตา ผลของการกล่อมเกลาพระนักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมรับรู้สรรพสิ่งประกอบด้วยคุณสมบัติบางประการร่วมกัน คือคุณสมบัติตามกฎไตรลักษณ์ ในฐานะที่นักพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมขัดเกลาตนเองจนปัญหาได้น้อยลงและเข้าใจสรรพสิ่งอื่นเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับตนก่อนที่จะกล่อมเกลาตนเอง จึงเข้าใจสภาพปัญหาและเสนอทางออกแก่สังคม

พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างที่เกิดทัศนะดังกล่าวชัดเจน ได้แก่ พระสงฆ์ที่รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เห็นว่าตนเคยป่วยโรคมะเร็งมาก่อน เกิดทุกขเวลทนา เมื่อตนหายจากโรคก็มีความเข้าใจทุกขเวทยาของผู้ป่วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกับที่ตนเองเคยประสบมาก่อน เกิดแรงผลักภายในจนก่อตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในวัดเพื่อรักษาทั้งรายกายและจิตใจผู้ป่วยนั้น พระสงฆ์ที่สงเคราะห์ชาวบ้านเพราะเห็นความยากจนของชาวบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ ความยากจนเป็นแรงผลักให้คนย้ายถิ่นออกจากชุมชนและก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมตามมา ตนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ปัญหาของคนในชุมชนส่งผลต่อพระสงฆ์ที่อยู่ในชุมชนนั้นด้วยเช่นกัน จึงได้ออกแบบการสังเคราะห์ชาวบ้านขึ้น ปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ไข ส่วนพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่อบรมจริยธรรมส่วนใหญ่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นธรรมชาติ กล่าวคือ กิจกรรมการพัฒนาจริยธรรมคนในชุมชนและเยาวชนมาจากการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ผลของการปฏิบัติธรรมที่ตนเองได้รับจึงส่งต่อผลนี้ด้วยการอบรมจริยธรรมและสอนวิปัสสนาตามแนวทางที่ตนเคยได้ปฏิบัติมาก่อน กล่าวได้การกล่อมตนเองก่อให้ญาณทัศนะการจัดความสัมพันธ์กับตนอื่นอย่างมีความเชื่อมโยงในเชิงบวก และนำไปสู่กิจกรรมการทำงานเพื่อชุมชนต่อมา

                       ๒.๓ และนำตนเข้าไปผูกพันกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมตามแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมจะดำเนินการแก้ไขปัญหาสังคมทุกมิติ ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วยการจัดวางตนเองสัมพันธ์กับสังคมในวงกว้าง ทั้งในระดับหน่วยต่าง ๆ ของชุมชน ไปสู่หน่วยสังคมระดับชาติและนานาชาติอย่างเหมาะสมแล้วเสนอทางออกใหม่ ๆ สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงและบริบทสังคมท้องถิ่น บริบทโลกในเชิงหลักการสากลอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานหลักคำสอนพระพุทธศาสนาและประสบการณ์ทางศาสนา (religious experience) ของตน เกิดทัศนะเห็นความเชื่อมโยงตนเองกับผู้อื่นมีคุณลักษณะบางประการคล้ายกัน คือหลักสามัญลักษณะหรือหลักไตรลักษณ์

                 ตามหลักการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมพระสงฆ์นำตนเข้าไปผูกพันกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติที่คิดว่าเป็นปัญหา พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างที่ทำงานเพื่อสังคมมีกิจกรรมการทำงานความแตกต่างจากแนวคิดในคุณสมบัติข้อที่ ๓ อยู่บ้าง กล่าวคือ พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างทำงานในระดับจุลภาค เน้นบางมิติ มิติที่เน้นคือมิติทางด้านจิตใจและสังคมสงเคราะห์ที่สัมพันธ์กับบริบทชุมชน วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมของชาติและขอบเขตการการเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเชิงวิธีการมากกว่าหลักการในการเข้าไปเน้นทุกมิติ

                 สรุป พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติการทางสังคมในกรอบความหมายพระพุทธศาสนาสังคมเป็นตัวชี้วัดพบว่าการปฏิบัติการทางสังคมเชิงปริมาณทั้งสามมีข้อมีความสมบูรณ์ แตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยในข้อที่สาม คือ มิติในการเข้าไปเกี่ยวโยง พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างดำเนินชีวิตในชุมชนขนาดเล็ก มองเห็นปัญหาของสังคมบางประเด็นที่ตนเองประสบอยู่ จึงเน้นการทำงานด้านจิตใจ กิจกรรมการทำงานเพื่อสังคมขยายออกสู่ระดับนานาชาติ เช่น การปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นและการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง อย่างไรก็ดี ท่านเน้นมิติด้านจิตใจเป็นหลักและเห็นผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง 

 

ข้อเสนอแนะ

         

                 จากข้อค้นพบของงานศึกษานี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ๓ ประการ ดังนี้

             ๑ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

             จากการศึกษาภาคสนามพบว่า การทำงานของพระสงฆ์เพื่อสังคมทั้ง ๑๐ รูป โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ทำงานสังคมสงเคราะห์อาชีพ สงเคราะห์ในการรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดและสังเคราะห์ในรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง พระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวทำงานด้วยตนเองอิสระจากคณะสงฆ์ กล่าวคือ ทำงานด้วยการอุทิศตนและด้วยศักยภาพของตนเอง มิได้เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ที่จะได้รับการสนับสนุนกิจกรรมและการรับรู้แต่อย่างใด อาจจะแตกต่างบ้างกับงานพัฒนาจิตใจ ค่อนข้างจะทำงานเชื่อมสัมพันธ์เป็นเครือข่ายในระดับหนึ่ง ค่อนข้างจะได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ในระดับหนึ่ง งานพัฒนาจิตใจจึงค่อนข้างจะได้รับการสนับสนุน ส่วนงานพัฒนาจิตใจ ควบคู่กับงานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่ผู้ดำเนินการสงเคราะห์ออกแบบเอง จึงเป็นงานใหม่ แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะครอบคลุมกิจกรรมการทำงานช่วยเหลือสังคมของพระสงฆ์ แต่คณะสงฆ์มิได้รับเอางานใหม่ ๆ เหลานี้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานคณะสงฆ์ คณะสงฆ์สนับสนุนงานใหม่ ๆ นี้ จะก่อให้เกิดแรงบันดาลในการออกแบบสร้างงานช่วยเหลือสังคมของพระสงฆ์มากขึ้นได้  

                 ๒ ข้อเสนอแนะของกิจกรรม

             งานช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะการสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต่างคนต่างทำ แม้พระสงฆ์ที่ทำงานคล้ายคลึงกันก็มิได้สร้างเครือข่ายเกิดขึ้น นอกจากนี้ งาน มีงานช่วยเหลือสังคมของกลุ่มตัวอย่าง ๑๐ รูป มีเพียง ๔ แห่งเท่านั้นที่มีการเผยแผ่งานของตนผ่านเว็บไซต์หรือสื่ออื่น ๆ เพราะฉะนั้นน่าจะมีการเผยแผ่กิจกรรมและคำสอนผ่านเว็บไซต์ให้ทุนคนเข้าถึง ซึ่งพระสงฆ์ที่อุทิศตนเองในการทำงานเพื่อสังคมแม้ว่าท่านจะไม่ต้องการจะเปิดเผยตนเอง แต่การจะเผยแผ่ให้สังคมทราบอาจจะนำมาซึ่งการได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการ และผู้มีปัญหาที่ต้องการจะแก้ไขโดยเฉพาะคนที่อยู่ไม่ห่างไกลจากแหล่งปฏิบัติธรรมจะได้เข้ามาปฏิบัติธรรมที่ใกล้บ้านได้

                 ๓ ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

ผู้วิจัยเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป โดยแบ่งเป็น ๒ หัวข้อ ดังนี้

                       ๓.๑ ข้อเสนอแนะในเชิงปรากฏการณ์จากข้อมูลที่ได้ค้นพบจากการศึกษา งานวิจัยครั้งต่อไปอาจจะศึกษา งานศึกษาพระสงฆ์ทำงานเพื่อสังคมค่อนข้างจะครอบคลุมในทุกกลุ่มตัวอย่างและแระเภทของกิจกรรม อย่างไรก็ดี ประเด็นน่าศึกษาต่อไปจากงานชิ้นนี้ คือ แรงจูงใจของพระสงฆ์ที่เข้าช่วยเหลือสังคม เพราะพระสงฆ์หลายรูปทำงานประเภทเดียวกันอาจจะมีแรงจูใจต่างกัน เปรียบเทียบการทำงานของพระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์กับพระสงฆ์ที่จบการศึกษาแผนเดิม (นักธรรม บาลี) และพระสงฆ์ที่มิได้จบการศึกษาทางธรรมขั้นสูงนัก

                       ๓.๒ ข้อเสนอแนะเชิงแนวคิด งานศึกษาพระสงฆ์ชิ้นนี้ใช้แนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมเป็นกรอบในการศึกษา งานศึกษาต่อไปอาจจะใช้แนวคิด “ปฏิบัติการทางสังคม” (Buddhist activism) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในการศึกษากลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกันหรือกลุ่มที่คล้ายคลึงกันนี้ หรืออาจจะใช้แนวคิดอื่นในการศึกษาซึ่งผลของการศึกษาอาจจะแตกต่างกัน

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑. ภาษาไทย

๑.๑ ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. กรุงเทพฯ:           มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

 

๑.๒ ข้อมูลทุติยภูมิ

หนังสือ

พระธรรมปิฎก.  พุทธธรรม.  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

พระไพศาล.  พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๖.

พุทธทาสภิกขุ.  คู่มือมนุษย์.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๔.

พุทธทาสภิกขุ.  คู่มือปฏิบัติธรรม.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๕๐.

พุทธทาสภิกขุ.  เศรษฐศาสตร์พระพุทธศาสนา.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๖.

พุทธทาสภิกขุ.  อิทัปปัจจยตา.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๖.

 

. ภาษาอังกฤษ

Capra, F.  The Web of Life.  New York: Anchor Book, 1996.

Sivaraksa, S.  A Socially Engaged Buddhism.  Bangkok: Thai Inter-Religious Commission for Development, 1988.

Thich Nhat Hanh.  Diamond that Cuts Through Illusion.  California: Parallax Press, 2010.

Thich Nhat Hanh.  Interbeing: Fourteen Guidelines for Engaged Buddhism. California: Parallax Press, 1993.

Thich Nhat Hanh.  The Heart of Understanding: Commentaries on the Prajnaparamita Heart Sutra.  Press California: Parallax Press, 1988.

Wilber.  A Theory of Everything.  Boston: Shambhala, 2001.



[1]  Thich Nhat Hanh. Interbeing: Fourteen Guidelines for Engaged Buddhism.  (California: Parallax Press.1993)

[2] พุทธทาสภิกขุ. อิทัปปัจจยตา. (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๖)

[3]  Capra, F. The Web of Life. (New York: Anchor Book, 1996)

[4] พุทธทาสภิกขุ. คู่มือมนุษย์. (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๔)

[5] วินย. (ไทย)  ๔/๑/๒; ที.ม. (ไทย) ๑๐/๕๘/๓๓; สํ.น. (ไทย) ๑๖/๑๐/๑๕; องฺ.ติก. (ไทย) ๒๐/๕๗๖/๓๖๘

[6] Thich Nhat Hanh. The Heart of Understanding: Commentaries on the Prajnaparamita Heart Sutra. (Press California: Parallax Press, 1988) p. 1.

[7] องฺ.ติก. (ไทย). ๒๐/๕๗๖/๓๖๘

[8] พระธรรมปิฎก. พุทธธรรม. (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖) หน้า ๗๐/๑

[9] ม.มู. (ไทย). ๑๒/๒๖๘/๑๙๓

[10] วินย. (ไทย). ๔/๑๖/๒๑

[11] Wilber. A Theory of Everything. (Boston: Shambhala, 2001)

[12]  องฺ.ปญฺจก. (ไทย). ๒๒/๗๙/๑๒๑)

[13] Sivaraksa, S. A Socially Engaged Buddhism, (Bangkok: Thai Inter-Religious Commission for Development, 1988).

[14] ขุ.ธ. (ไทย)  ๒๕/๓๘๑/๔๕๘

[15] พุทธทาสภิกขุ, เศรษฐศาสตร์พระพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๖), หน้า ๕.

[16] Thich Nhat Hanh, Diamond that Cuts Through Illusion, (California: Parallax Press, 2010), p. 144.

[17] พระไพศาล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๖).

[18] วินย. (ไทย) ๒/๒๒๖/๒๖๐

[19] วินย. (ไทย) ๔/๑๔๙/๑๖๘

[20] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๗๒-๒๐๖/๑๙๔-๒๐๗

[21] องฺ.สตฺตก. (ไทย)  ๒๓/๓๔/๕๕

[22] พุทธทาสภิกขุ, คู่มือปฏิบัติธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๕๐)

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕