หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » นายสาคร ธระที » การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
เข้าชม : ๘๒๘๕ ครั้ง

''การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย''
 
นายสาคร ธระที (2556)

 

การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการ
ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

The Development of Academic Affairs Administration System

of Mahachulalongkornrajavidyalaya University

 

นายสาคร  ธระที: ป.ธ. ๕, พธ..(ศาสนา),

ปว.ค.(คณะครุศาสตร์), ศศม. (การบริหารองค์การ)

 

บทคัดย่อ

 

                              การศึกษาเรื่อง “พัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักการบริหาร การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบันอุดมศึกษา (สกอ.)  ปีการศึกษา 2553 แผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีของมหาวิทยาลัย          กลุ่มตัวอย่างคือผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  จำนวน  253 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ    

               ผลการวิจัย พบว่า สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 253 รูป/คน เป็นบรรพชิต จำนวน 111 รูป คิดเป็นร้อยละ 43.8 เป็นคฤหัสถ์ จำนวน 142 คน คิดเป็นร้อยละ 56.12 มีระดับความคิดเห็น การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 4 ด้านคือ ด้านการศึกษา ด้านการวิจัย ด้านนิสิต ด้านทรัพยากรมนุษย์ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยแยกให้เห็นด้านการศึกษา อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.54 ด้านการวิจัยอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 ด้านนิสิต อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.66 ด้านทรัพยากรมนุษย์ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.84 

 

Abstract

 

                    The study on "The Development of Academic Affairs Administration System of  Mahachulalongkornrajavidyalaya University" is of the objectives to study the development of academic affairs administration System of Mahachulalongkornrajavidyalaya University according to the 1997 Mahachulalongkornrajavidyalaya University Act, the 2010  Report of the resutls  of educational quality assessment in the Institutions of Higher Education and Five-year Development Plan of the University.  The samples consisted of administrators, lecturers and officials which were 253 in number.  The instrument used for data collection was a questionnaire of five-level scale.

               It was found that  111 of  them, out of 253 respondents, were Buddhist monks equalling to   43.88% and 142 of them were laypeople equalling to 56.12%.  As a whole, the opinions of the respondents about 4 aspects of the development of academic work administration system were found to be in the high level.  When considering for each aspect, it was also found that all aspects including education, research, students and human resources were in the high level with the mean values of 3.52, 3.54, 3.66 and 3.84 respectively.

 

บทนำ

 

               พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 กำหนดสาระสำคัญในมาตรา 4   “การศึกษา” กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายถอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสารทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อปกป้องและแก้ไขปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลุกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนการสอน อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนและแหล่งวิทยากรต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ประสานร่วมมือ ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ[1]

               การจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นต้องอาศัยการบริหารงานวิชาการ  และการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการเพราะการบริหารงานวิชาการ คือกระบวนการจัดกิจกรรมในงานวิชาการ ซึ่งเป็นภารกิจหลักให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนหรือผู้บริหาร กระบวนการดังกล่าวได้แก่ การวางแผน การจัดระบบ โครงสร้าง และการกำหนดบทบาทหน้าที่ การจัดดำเนินงานวิชาการ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ และการนิเทศภายในเพื่อให้งานวิชาการมีคุณภาพ[2]

               มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญแก่สังคมเป็นสถาบันหลักในการให้ความรู้ การศึกษาแก่นิสิต นักศึกษาที่จะเป็นอนาคตของชาติในอนาคต จึงควรให้ความสำคัญและนำเอาหลักนิติธรรมมาใช้ในการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยของรัฐมีพระราชบัญญัติกำหนดวิธีดำเนินการไว้อยู่แล้ว ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมีหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับทางราชการของมหาวิทยาลัย โดยมี "สภามหาวิทยาลัย" ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป มี "อธิการบดี" เป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย การแบ่งอำนาจออกเป็น 2 ส่วนเช่นนี้เพื่อให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจ[3] การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยแต่ละถาบันจะต้องให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 การบริหารและการจัดการศึกษา  หมวด 5 มาตรา 34 วรรคสองว่าด้วย คณะกรรมการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายแผนพัฒนา และมาตรฐานการอุดมศึกษา ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 39 ให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไปไปยังคณะกรรมการสำนักงานการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง หลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[4]

               การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะผลักดันให้เกิดสถาบันการศึกษามุ่งมั่นพัฒนาผลผลิตให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน และสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณได้ว่า ผลผลิตเหล่านั้นมีคุณภาพจริงมั่นใจได้ว่าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพย่อมทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีศักยภาพ มีคุณภาพ สังคมที่มีประชาชนที่มีความรู้คู่คุณธรรมย่อมส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ดังนั้นต้องอาศัยมาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่พึงประสงค์การประกันคุณภาพการศึกษาจึงมีความสำคัญ  (1) สถานศึกษามีแนวทางการปฏิบัติงานและพัฒนาอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน (2) ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดไว้ (3) สถานศึกษามีระบบการบริหารคุณภาพ (4) สถานศึกษาบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (5) ชุมชนหรือสาธารณชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานศึกษาของชุมชนได้[5]

               มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ได้เริ่มดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2542 โดยกองวิชาการ สำนักงานอธิการบดีร่วมกับคณะกรรมการจัดการประชุมเสวนาการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ ได้จัดสัมมนาโดยประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและชี้แจ้งถึงความจำเป็นของการประกันคุณภาพการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542[6] มาตรา 4 “มาตรฐานการศึกษา” ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผลและการประกันคุณภาพการศึกษา “การประกันคุณภาพภายใน” การประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานที่ศึกษาภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั่นเอง หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น ส่วน “การประเมินคุณภาพภายนอก” หมายความว่า การประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา[7]

               การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการซึ่งเป็นปัจจัยหลักตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งการส่งเสริมการวิจัย การพัฒนานิสิต และการพัฒนาบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาตามกรอบของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย  แผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีของมหาวิทยาลัยของแต่ละสถาบัน รวมทั้งการประเมินมาตรฐานการจัดการศึกษาภายในของสถาบัน    ผู้บริหารของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาหลายคนมุ่งหวังที่จะนำพาองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จหรือไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลางหรือระยะยาวก็ตาม และความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมักจะมีอุปสรรคหรือปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติการทำงานทั่ว ๆ ไป[8] ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลขององค์การมากอีกปัจจัยหนึ่งคือ ผู้บริหารองค์การ  ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมบังบัญชาและริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องรักษากำลังคนและบรรยากาศการทำงานที่ดีไว้ด้วย และเป็นบุคคลที่รับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จด้วยดี อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของการบริหารจัดการเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างบุคลากรในองค์การภายใต้การนำของผู้บริหารงานในองค์การนั้น ๆ[9]   

               เหตุผลดังกล่าวข้างต้น การศึกษางานวิจัยการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีการวิเคราะห์การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการ จากแนวคิดทฤษฎี เอกสารพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน (สกอ.)  ประจำปีการศึกษา 2553 และแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีของมหาวิทยาลัย  เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษางานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของมาตรฐานการจัดการศึกษา  แผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีของมหาวิทยาลัยที่จะต้องมีการวางกรอบมาตรฐาน  การพัฒนา และการปรับปรุงแก้ไขในอนาคตต่อไปได้

            วัตถุประสงค์ของการวิจัย

               1.  เพื่อศึกษาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

               2.  เพื่อศึกษาการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

            นิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

               การพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการ หมายถึง การพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาด้านการวิจัย การพัฒนาด้านนิสิต และการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์

               การพัฒนาด้านการศึกษา หมายถึง การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ตามหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

            การพัฒนาด้านการวิจัย หมายถึง การศึกษาค้นคว้าที่มีระบบแบบแผน วิเคราะห์           หาข้อเท็จจริงและความรู้ใหม่เพื่อให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีการพัฒนาผลงานวิจัยที่ชัดเจน

               การพัฒนาด้านนิสิตหมายถึง การพัฒนาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาสามารถประยุกต์เข้าศาสตร์สาขาต่าง ๆ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด             มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีโลกทัศน์กว้างไกล ตามอัตลักษณ์บัณฑิตของมหาวิทยาลัย

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในองค์การ โดยมีการพัฒนาให้ทราบลักษณ์ของมหาวิทยาและยึดถือแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

               มหาวิทยาลัย หมายถึง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

วิธีการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ

ประชากรที่ใช้ในการศึกษา

ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 253 รูป/คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบแสดงระดับความคิดเห็นการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช้แบบสอบถามเป็นลักษณะแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่าที่ได้จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยการหาค่าร้อยละ หาค่าเฉลี่ย และหาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

 

ผลการวิจัย

 

                              ผู้วิจัยได้ศึกษาระดับความคิดเห็น  โดยภาพรวม ทั้ง  4  ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านการวิจัย ด้านนิสิต และด้านทรัพยากรมนุษย์ พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.64 อาจเป็นเพราะว่า  ผู้บริหาร คณาจารย์  เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่จะมีการพัฒนามหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้านอันจะเป็นส่วนรวมอย่างหนึ่งในการพัฒนามหาวิทยาลัยไม่มากก็น้อย

                    ด้านการศึกษา อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.54 การจัดการศึกษาจะต้องมีการพัฒนาที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาจะได้นำผลการศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์และตรงกับสาขาวิชาที่ตนเองต้องการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยต้องมีการจัดการศึกษาให้มีความทันสมัย ต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับงานวิจัยของ (เฉลิมชาติ  อิทธวงศ์, 2551) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบ และเป้าหมายการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย และแนวทางการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย สรุปได้ว่า จำเป็นต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหา4  ด้าน คือ (1) ด้านการพัฒนาระบบ โดยต้องเริ่มจากการรื้อระบบเก่าและสร้างระบบใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน 2)) ด้านการพัฒนาบุคลากร เน้นการนำบุคลากรที่มากด้วยประสบการณ์และได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นแม่แบบทางการศึกษา 3)) ด้านการพัฒนาสถานที่ มุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์กลางการศึกษาซึ่งเป็นที่เรียนรวมประจำเขตหรือจังหวัด และ 4)) ด้านการพัฒนาตัวผู้เรียนซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องสร้างแรงจูงใจ ความภาคภูมิใจและความหวังในการพัฒนาตนเองให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยสรุป การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเป็นหัวใจหลักของการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาการสานต่ออดีตสู่อนาคตจะมีได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้และการปฏิบัติ การจะพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ให้เกิดมรรคผล จะต้องเกิดขึ้นบนความร่วมมือของพุทธศาสนิกชนทุกฝ่ายและจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมทั้งต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

               ด้านการวิจัย อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 การเขียนงานวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอขอผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่การเป็นนักวิชาการ นักวิชาการที่ดีจะต้องมีการพัฒนาการเขียนบทความทางวิชาการออกมาสู่ผู้บริโภคให้มาก  มีการเขียนบทความทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอย่างหลากหลายสอดคล้องกับงานวิจัยของ (พระราชปริยัติ (สฤษดิ์           ประธาตุ), 2549) ได้ศึกษางานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากผลการวิเคราะห์ทุกขั้นตอน พบว่า สภาพดำเนินงานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีโครงสร้างการบริหารงานวิชาการเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่มีจุดเด่นคือวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมุ่งให้การศึกษาวิชาส่งเสริมการให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีผลต่อการบริหารงานด้านอื่น ๆ คือด้านการบริหารบุคลากรทางวิชาการ ที่ต้องกระจายกำลังคนไปตามวิทยาเขตทั่วประเทศทำให้แต่ละวิทยาเขตต้องเร่งสร้างบุคลากรทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ สำหรับด้านหลักสูตรและการวัดผลประเมินผลของมหาวิทยาลัยที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ พบว่า มีการจำกัดหลักสูตรเฉพาะทางจึงไม่สามารถดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป จึงมีจุดอ่อนอยู่ที่การจัดการเรียนการสอนยังอยู่ในระดับปริญญาตรีแทนการพัฒนาหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในด้านพระพุทธศาสนาและการวัดผลประเมินผลที่กระจายไปตามวิทยาเขต ไม่มีการจัดการให้เป็นระบบมาตรฐานของมหาวิทยาลัยได้  สำหรับการบริหารงานวิชาการที่ได้รับผลจากมาตราต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานบุคลากร ทำให้มีจุดอ่อนที่จะต้องพัฒนาอย่างรีบด่วนคือ การเพิ่มพูนองค์ความรู้ในระดับปริญญาตรีที่สูงขึ้น และตำแหน่งทางวิชาการเนื่องจากมาตราในหมวด 2 ของพระราชบัญญัติได้ล้อเนื้อความของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานการอุดมศึกษา

               ด้านนิสิต อยู่ในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  3.66 มหาวิทยาลัยมีปรัชญาปณิธานอันแน่วแน่ที่จะพัฒนานิสิตให้เป็นผู้มีคุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยนั้น           ซึ่งจะต้องศึกษาความคาดหวังผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะนิสิตทั้งมวลต่างก็มีความคาดหวังต่อการเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ สอดคล้องกันงานวิจัยของ (สาคร ธระที และ คณะ: 2553) ได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับความคิดเห็นของนิสิตชาวต่างประเทศที่มีต่อการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการศึกษา การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 5 ด้านคือ ด้านการจัดการศึกษา ด้านการเรียนการสอน ด้านหลักสูตร ด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านอาคารเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การศึกษาระดับความคิดเห็นของนิสิตชาวต่างประเทศที่มีต่อการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้านการจัดการศึกษา ด้านการเรียนการสอน ด้านหลักสูตร ด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านอาคารเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวก ต่าง ๆ พบว่า นิสิตต่างประเทศมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง

               ด้านทรัพยากรมนุษย์ อยู่ในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.84 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนางาน โดยมองเห็นความสำเร็จขององค์การสอดคล้องกับงานวิชาการของ            (ณัฐหทัย ชลายนวัฒน์, 2546) ได้ศึกษางานวิจัยเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพุทธธรรม: กรณีศึกษาบริษัท 505 โภคภัณฑ์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน การประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลการศึกษา พบว่า กรณีศึกษาโดยพิจารณาจากชีวิตส่วนตัวและครอบครัว การทำงานและความสัมพันธ์ทางสังคม พบว่า พนักงานรู้จักการออมเพื่ออนาคต มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม การเพิ่มวุฒิภาวะทั้งโดยตนเอง และผ่านระบบทางการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงาน และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ในงานและงานที่ต่างจากงานประจำเพื่อสร้างเสริมทักษะให้ตนเอง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การประยุกต์หลักพุทธธรรมดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลต่อการพัฒนาองค์การธุรกิจ และทรัพยากรมนุษย์ ในองค์การเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมตลอดจน ทรัพยากรมนุษย์โดยทั่วไป การประยุกต์หลักพุทธธรรมไตรสิกขาในการบริหารองค์การธุรกิจ จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ของสังคม และองค์การ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสมควรได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้สถานประกอบกิจการ นำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ และการเผยแพร่ความรู้ทางศาสนาแบบบูรณาการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม

 

วิจารณ์

 

            จากการศึกษาถึงระดับความคิดเห็นการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  โดยภาพรวมทั้ง 4 ด้าน พบว่า ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย มีระดับความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการศึกษา อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.54 ด้านการวิจัย อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 ด้านนิสิต อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.66 ด้านทรัพยากรมนุษย์ อยู่ในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.84

 

ข้อเสนอแนะ

 

               1.  การจัดการศึกษาต้องให้มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อัตลักษณ์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนให้นิสิต คณาจารย์ บุคคลทั่วไปได้ทราบเพื่อจะได้ถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน พัฒนาแผนกลยุทธ์ด้านการศึกษาเป็นการเฉพาะถอดเป็นแผนปฏิบัติการที่ทุกส่วนงานเข้าใจและปฏิบัติ  กำหนดคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยพัฒนาการเรียนการสอนให้นิสิตเกิดการเรียนรู้บนพื้นฐานของการศึกษาอย่างมีคุณภาพมีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง         

               2.  สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ควรสร้างมาตรการและแรงจูงใจในการทำงานการวิจัยให้แก่บุคลากรไม่ควรปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความต้องการเสนองานวิชาการ พร้อมกับมีการกำหนดกรอบการทำงานวิจัยเป็นภาระงานที่ชัดเจน อาจารย์ควรทำการวิจัยโดยบูรณาการกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้เป็นไปตามแผนพัฒนา ระยะฯ 5 ปี การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

               3.  มหาวิทยาลัยการควรกำหนดจุดมุ่งหมายการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรมให้มีความสอดคล้องกับแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรได้รับทราบอย่างทั่วถึงเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นแบบเดียวกันทุกส่วนงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

 

กิตติกรรมประกาศ

 

               ผู้วิจัยขอขอบคุณสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ และผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ไม่ได้กล่าวนามมาที่ได้สนับสนุน และแนะนำเป็นอย่างดียิ่งตลอดจนการศึกษางานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, 2543.

ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์.  การบริหารงานวิชาการ.  ปัตตานี: ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2546.

ธ.ธรรมรักษ์ ทศ การบริหารคณาพร และจิตตวชิระ.   บริหารงาน บริหารคนด้วย “บุญนิยม”.  กรุงเทพมหานคร: บริษัท แซทโปร์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2553.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  กรุงเทพมหานคร:                โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2554.

รอฮีม  ปรามาส.  วิกฤต วิสัยทัศน์ และวงชีวิตสู่โลกอนาคต.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์        มติชน, 2549.

สราวุธ  เบญจกุล, (http://www.ryt9.com/s/nnd/1130302, สืบค้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555.



                    [1] กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ,  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, 2543), หน้า 2, 13.

                    [2]ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์, การบริหารงานวิชาการ, (ปัตตานี: ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2546), หน้า 22.

                    [3] สราวุธ เบญจกุล, (http://www.ryt9.com/s/nnd/1130302, สืบค้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555.

                    [4] อ้างแล้ว, กระทรวงศึกษาธิการ, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542, หน้า 18-21.

                    [5]อ้างแล้ว, ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์, การบริหารงานวิชาการ, หน้า 185-186.

                    [6] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดม ศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2554), หน้า 17.

                    [7] อ้างแล้ว, กระทรวงศึกษาธิการ, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542, หน้า 3.

                    [8] ธ.ธรรมรักษ์ ทศ การบริหารคณาพร และจิตตวชิระ, บริหารงาน บริหารคนด้วย “บุญนิยม”, (กรุงเทพมหานคร: บริษัท แซทโปร์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2553), หน้า 37.

                    [9] รอฮีม ปรามาส, วิกฤต วิสัยทัศน์ และวงชีวิตสู่โลกอนาคต, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2549), หน้า 13.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕