หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. » คฤหัสถ์กับการบรรลุอรหัตตผล
 
เข้าชม : ๖๑๑๓๐ ครั้ง

''คฤหัสถ์กับการบรรลุอรหัตตผล''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (2548)

คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล:

ทำไม? ต้องบวช ถ้าไม่บวช ทำไม? ต้องตาย

  

. เกริ่นนำ: ประเด็นที่มาของปัญหา

 

                คำกล่าวที่ว่า  “คฤหัสถ์[๑] ที่บรรลุความเป็นพระอรหัตผล คฤหัสถ์ผู้นั้น  ย่อมมีคติเป็น ๒  เท่านั้น ไม่เป็นอื่น คือ ต้องบวช[๒] หรือไม่ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น[๓]นั่นแหละ  ไม่ล่วงวันนั้นไปได้เลย”[๔]ตามที่ปรากฏในมิลินทปัญหานั้น ได้ทำให้เกิดคำถามว่า “ทำไม? ต้องบวชในวันนั้นเท่านั้น” และ “ถ้าไม่บวช  ทำไม?คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจึงต้องตายในวันนั้นเช่นกัน”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเหตุผลขึ้นมารองรับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า “เพศคฤหัสถ์ไม่สงบ  มีภูมิหยาบ  ต่ำช้า และมีกำลังทราม” ฉะนั้น  “เพศคฤหัสถ์จึงไม่อาจจะรองรับสภาวะของพระอรหัตผล”  ก็ทำให้ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า “เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้”  และ “สมเหตุสมผล” หรือไม่?

กลุ่มพระเถระที่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวนั้น ประกอบไปด้วยพระพุทธโฆษาจารย์[๕] พระธัมมปาลเถระ[๖]  พระอภิธรรมาจารย์[๗] และพระพรหมโมลี (วิลาส ญาณวีโร)[๘]  แต่ในขณะที่พุทธทาสภิกขุได้ออกมาชี้ให้เห็นว่า การอ้างเหตุผลในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นประดุจ “การอนุมาน”  เท่านั้น[๙]  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้  ซึ่งสอดรับกับปราณี สำเริงราชย์ที่มองว่าเป็น “อนุมานปัญหา”[๑๐]  แต่ในขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านพุทธศาสนาบางท่านก็มองว่า การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวดูประหนึ่งว่า “ไม่สมเหตุสมผล”[๑๑]  ซึ่งงานวิจัยบางชิ้นก็ระบุเอาไว้ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวเช่นกันว่า “คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์แล้วต้องบวช แต่ไม่น่าจะตายทันที”[๑๒] 

การให้เหตุผลดังกล่าว ค่อนข้างจะสวนทางกับหลักการเดิม และดูประหนึ่งว่าจะไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลของพระนาคเสน และกลุ่มพระเถระที่เห็นด้วย  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลของพระนาคเสนดังกล่าวนั้น “ไม่ถูกต้อง ปราศจากข้อเท็จจริง  และไม่สมเหตุสมผล”  หรือว่า “ข้อมูลดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยข้อเท็จจริง”  ซึ่งพระนาคเสนได้พยายามอย่างยิ่งที่จะให้เหตุผล ซึ่งการให้เหตุผล อาจจะสอดรับกับบริบทสังคมสมัยนั้น จึงทำให้พระยามิลินท์ยอมรับได้  แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย จึงทำให้บางท่านยอมรับไม่ได้เกี่ยวกับการให้เหตุผลเช่นนั้น  หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว เราควรตีความ หรือให้เหตุผลในลักษณะใด จึงจะทำให้เกิดการยอมรับได้มากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม  ผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยการนำเสนอประเด็นที่ว่าด้วยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคัมภีร์มิลินทปัญหาก่อน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและสารัตถะโดยละเอียด หลังจากนั้นจึงจะนำข้อมูลนี้ไปเป็นฐานในการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ต่อไป

 

. ขีณาสวภาวปัญหา  หรือคิหิอรหัตตปัญหา: ความเป็นมา และสารัตถะ

                เมื่อวิเคราะห์ถึงที่มาของประโยคคำพูดที่ว่า “คฤหัสถ์ที่บรรลุความเป็นพระอรหัตผลคฤหัสถ์ผู้นั้น  ย่อมมีคติเป็น ๒  เท่านั้น ไม่เป็นอื่น คือ ต้องบวช หรือไม่ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ  ไม่ล่วงวันนั้นไปได้เลย” มีปัญหาในแง่ของที่มาเป็น ๒ นัยด้วยกัน กล่าวคือ  เอกสารบางเล่มอ้างว่าพระนาคเสนเป็นผู้กล่าวประโยคนั้น[๑๓]  แต่บางเล่มก็อ้างว่า ลูกศิษย์ หรือประชาชนที่เกี่ยวข้องกับท่านเป็นผู้กล่าว[๑๔]

อย่างไรก็ตาม  เมื่อผู้เขียนได้พิจารณาจากเนื้อความในลักษณะดังกล่าวนี้ กลับพบว่า มีการกล่าวถึงใน “เสฏฐธัมมปัญหา”[๑๕] ปณามิตวรรค  อันเป็นประเด็นปัญหา หรือวรรคที่ถูกนำเสนอก่อน “ขีณาสวภาวปัญหา”[๑๖] หรือ “คิหิอรหัตตปัญหา” [๑๗]   ซึ่งในเสฏฐธัมมปัญหา[๑๘]นั้น ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของพระภิกษุและสามเณรทั้งในเชิง “สารัตถะ” และ “รูปแบบ” ด้วยเหตุนี้ อุบาสกที่เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้  ลุกรับ พระภิกษุซึ่งมีฐานะเป็นเพียง “ปุถุชน” เหตุผลที่อุบาสกคฤหัสถ์ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะ “ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่  ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์  ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้น ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหันต์ คติทั้งหลาย ๒ อย่างเท่านั้น คือ ต้องปรินิพพานในวันนั้น  หรือ ต้องเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานี้เป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์  เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูง คือ ภูมิของภิกษุ” 

ฉะนั้น  จากการศึกษาเกี่ยวกับประโยคข้างต้น จะพบว่า มีที่มาใน ๒ จุด กล่าวคือใน “เสฏฐธัมมปัญหา” และ “ขีณาสวภาวปัญหา”  ซึ่งที่มานั้น พระนาคเสนเป็นผู้กล่าว มิใช่สานุศิษย์ดังที่ตำราบางเล่มอ้าง  แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ปัญหาทั้งสองข้อนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

จากการศึกษาพบว่า ใน “เสฏฐธัมมปัญหา” พระยามิลินท์ยอมรับเหตุผล และแสดงความชื่นชมที่พระนาคเสนสามารถแก้ปัญหาโดยการพยายามจะชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของพระภิกษุทั้งในเชิง “สารัตถะ” และ “รูปแบบ” และก็ยอมรับว่า “ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่  ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์  ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้น ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผล คติทั้งหลาย ๒ อย่างเท่านั้น คือ ต้องปรินิพพานในวันนั้น  หรือ ต้องเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานี้เป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์  เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูง คือ ภูมิของภิกษุ”

ใน “ขีณาสวภาวปัญหา” หรือ “คิหิอรหัตตปัญหา” พระยามิลินท์กลับได้นำประเด็นตามที่ปรากฏใน “เสฏฐธัมมปัญหา” ในประเด็นที่ว่า “ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผล คติทั้งหลาย ๒ อย่างเท่านั้น คือ ต้องนิพพานในวันนั้น  หรือ ต้องเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้” มาตั้งประเด็นใหม่ว่า “คฤหัสถ์ที่บรรลุความเป็นพระอรหัตผล คฤหัสถ์ผู้นั้น  ย่อมมีคติเป็น ๒  เท่านั้น ไม่เป็นอื่น  คือ ต้องบวช หรือไม่ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ  ไม่ล่วงวันนั้นไปได้เลย” หลังจากนั้น จึงได้ถามพระนาคเสนว่า “ถ้าหากว่า ในวันนั้น ไม่อาจได้อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตร และจีวร  ท่านผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจะบวชเอง หรือล่วงเลยวันนั้นไป พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์รูปใดรูปหนึ่งพึงมาบวชให้ จะได้หรือไม่?  หรือล่วงเลยวันนั้นไปแล้วจึงจะปรินิพพาน จะได้หรือไม่

พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร พระอรหันต์นั้นไม่อาจบวชเองได้  เมื่อบวชเองแล้วก็ย่อมถึงความเป็นไถยสังวาสน์ (ปลอมบวช) ทั้งไม่อาจล่วงเลยวันนั้นไปได้ จะมีพระอรหันต์รูปอื่นมาก็ตาม ไม่มีก็ตาม ท่านจะต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ”

พระยามิลินท์ได้แย้งว่า “พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ความเป็นพระอรหัตผลย่อมเป็นเหตุคร่าชีวิต คือเป็นเหตุให้บุคคลผู้บรรลุต้องเป็นผู้สิ้นชีวิต”

พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร เพศคฤหัสถ์ไม่สงบ  เพราะความที่เมื่อเป็นเพศไม่สงบ  เป็นเพศที่ทรามกำลัง คฤหัสถ์ที่บรรลุความเป็นพระอรหัตผลจึงต้องบวชในวันนั้นนั่นเทียว หรือไม่ก็ต้องนิพพานในวันนั้น  ข้อนี้ หาใช่โทษของความเป็นพระอรหัตผลไม่ ความเป็นเพศทรามกำลังนี้ เป็นโทษของเพศคฤหัสถ์นั่นเทียว”  หลังจากนั้น พระนาคเสนจึงได้ยกอุปมา[๑๙]มาหลายประเด็นเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า “เพศคฤหัสถ์นั้นมีกำลังทราม จึงไม่สามารถรองรับพระอรหัตผลได้”

                จากข้อเท็จจริงที่พระนาคเสนได้สนทนากับพระยามิลินท์  พร้อมทั้งการอ้างเหตุผลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงนั้น ได้ทำให้เกิดการตั้งถามในประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นปัญหาที่ว่า “คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล: บวช… ทำไม?  ทำไม? ต้องบวช”   ประเด็นปัญหาที่ว่า“ถ้าคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้วไม่บวชจะต้องนิพพานหรือตาย”  และ วิเคราะห์แรงจูงใจ เกี่ยวกับการให้เหตุผล (โดยอ้อม) ในประเด็นที่ว่า เพราะสาเหตุใด? พระนาคเสน จึงต้องกล่าวว่า “คฤหัสถ์บรรลุ พระอรหัตผล ต้องบวชในวันนั้น  ถ้าไม่บวช จะต้องตายภายในวันนั้น”

ประเด็นทั้ง ๓ นั้น  ผู้เขียนจะนำเสนอโดยลำดับดังต่อไปนี้

 

.  ประเด็นปัญหาว่า คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล: บวช… ทำไม?  ทำไม? ต้องบวช

                จากการนำเสนอภาพรวมที่เกี่ยวกับเนื้อหาในเบื้องต้น  ทำให้เกิดคำถามว่า  เมื่อคฤหัสถ์ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว  มีเหตุผลใด? ที่จะต้องบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ สามเณร ภิกษุณี และสามเณรี  ซึ่งเหตุผลที่พระนาคเสนพยายามที่จะชี้นำในคราวตอบคำถามก็คือ “เพราะเพศคฤหัสถ์นั้นกำลังต่ำ และอ่อน อีกทั้งเต็มไปด้วยความไม่สงบ  แต่เพศแห่งสมณะนั้นเป็นเพศที่ยิ่งใหญ่ สูงส่ง จัดได้ว่าเป็นอุดมเพศ และเหมาะแก่การรองรับคุณธรรมขั้นสูงสุด ซึ่งได้แก่ พระอรหัตผล”

                นอกจากนี้  พระพุทธโฆษาจารย์[๒๐] พระธัมมปาลเถระ[๒๑] พระคัมภีร์สายอภิธรรม[๒๒] และพระพรหมโมลี (วิลาส ญาณวีโร)[๒๓]  ได้สนับสนุนแนวคิด และการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าว  ซึ่งสิ่งที่สามารถจะยืนยันสมมติฐานของพระเถระรุ่นหลังๆ ได้นั้นก็คือ การมองว่า สมณเพศนั้นเป็นเพศสูงสุด และพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอนุพุทธเจ้า และพระอริยสาวก  ล้วนดำรงตนอยู่บนสถานะของความเป็นพระภิกษุทั้งสิ้น  ฉะนั้น  จึงมีความชอบธรรมที่จะอนุมาน (Inference) ด้วย “เหตุผลเชิงประจักษ์” ว่า คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจึงมีความ “จำเป็น” อย่างยิ่งที่จะต้องดำรงตนให้สอดคล้องกับบุคคลเหล่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นความสอดคล้องในแง่ของ “รูปแบบ” และ “สารัตถะ” ของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “พระอรหัตผล” ดังที่จะเห็นได้จากการที่นักคิดกลุ่มนี้พยายามจะนำกรณีของส่วนนางเขมาเถรี[๒๔]  พระยสะ และอุคคเสนเสฏฐีบุตร[๒๕] ซึ่งเลือกบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี และพระภิกษุตามลำดับ ภายหลังที่ได้บรรลุพระอรหัตผลมาเป็นการกล่าวอ้างยัน (Claims)   

การกล่าวอ้างยืนยันในลักษณะดังกล่าว ก็อาจจะเกิดการถูกตั้งคำถามแย้งว่า  จำเป็นหรือไม่? ที่คฤหัสถ์จะต้องมีความสอดคล้องกับพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทั้งในแง่ของ “รูปแบบ” และ “สารัตถะ”  จะเป็นไปหรือไม่? ที่คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจะมีความสอดคล้องในแง่ของ “สารัตถะ” (Substance) [๒๖] เท่านั้น   แต่อาจจะไม่สอดคล้องกันในแง่ของ “รูปแบบ” (Form) ภายนอก เช่น ไม่ต้องโกนผม หรือมีศรีษะโล้น (มุณฑกภาโว) และ ไม่ต้องนุ่งเหลือห่มเหลือง (ภัณฑกภาโว)

อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมของการให้เหตุผลของพระนาคเสน และพระเถระที่เห็นด้วยกับท่าน ทำให้พบว่า พระอรหัตผล “ไม่จำเป็น” และ “ไม่ผูกขาด” สำหรับ “เพศ”  ทุกเพศสามารถบรรลุได้ไม่ว่าจะเป็นหีนเพศ ซึ่งได้แก่ผู้หญิง และผู้ชาย หรืออุดมเพศซึ่งได้แก่พระภิกษุ สามเณร ภิกษุณี และสามเณรี   แต่ภายหลังที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว   คุณค่าภายในซึ่งได้แก่ “พระอรหัตผล” นั้น จะเป็นสิ่ง “จำเป็น” หรือ “ผูกขาด” หรือ “สิ่งสงวน” สำหรับบุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ สามเณร ภิกษุณี สามเณรีเท่านั้น  แต่ไม่สามารถที่จะรองรับ หรือสนองตอบต่อเพศคฤหัสถ์ ปัญหาที่จะตามมาก็คือการนำประเด็นเรื่อง “เพศคฤหัสถ์”  มายืนยันข้ออ้างข้างต้นนั้น  อาจทำให้เกิดการถามแย้งเพิ่มเติมว่า มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนหรือไม่? หรือว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการสรุปเกินความเป็นจริงหรือไม่?

                อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้เขียนได้วิเคราะห์หลักฐานตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฏกจะพบคำว่า “คฤหัสถ์นั้นมีกำลังต่ำ และเป็นเพศที่คับแคบ” หลายจุดด้วยกัน เช่น “ฆราวาสนั้นคับแคบ เป็นที่มาของธุลี…”[๒๗] แต่ถึงกระนั้น  เราไม่สามารถแสวงหาที่มาของถ้อยคำเพื่อนำมายืนยัน “ข้อสรุป” ของพระนาคเสนและพระเถระเหล่านั้นในประเด็นที่ว่า “สมณเพศเท่านั้น เป็นเพศที่เหมาะแก่การรองรับคุณธรรมชั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา”  แต่เรากลับพบชุดของถ้อยคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา  คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์รุ่นหลัง

นอกจากนั้น  คัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฏีกา และอนุฎีกาไม่ได้กล่าวอ้างว่า มีคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้วยังดำรงตนเป็นคฤหัสถ์ได้เกิน ๑ วัน และไม่ตาย  หากแต่มีการกล่าวถึงบ้างก็จะมุ่งประเด็นไปที่การพยายามที่จะบวช  หากแต่ไม่ได้บวช  นั่นก็คือกรณีของนาย   พาหิยะทารุจิยะ  ซึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในช่วงเช้า และก็พยายามที่จะเสาะหาอัฏฐบริขารเพื่อให้พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบท แต่ในขณะที่กำลังเสาะหาจีวรในช่วงสาย[๒๘]  นางยักษ์ซึ่งผูกเวรกับนายพาหิยะในภพก่อนได้แปลงกายเป็นแม่โคขวิดนายพาหิยะทารุจิยะตาย[๒๙] และสาเหตุที่ทำให้นายพาหิยะทารุจิยะตายนั้น ก็มิได้เกิดจากสาเหตุที่เขาไม่สามารถหาจีวรได้ภายในหนึ่งวัน หากเกิดขึ้นมาจากกรรมเก่าที่เขาได้กระทำต่อนางยักษ์ในภพก่อน และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เขาตายในช่วงสายซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับมาจากการบิณฑบาต  

ฉะนั้น ประเด็นนี้จึงตอบได้ว่าเขาไม่ได้ดำรงตนเป็นคฤหัสถ์เกิน ๑  วัน  อันเป็นข้อกำหนดดังที่ปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหา  ถึงกระนั้นก็มีการกล่าวถึงคฤหัสถ์อีกสองท่าน กล่าวคือ อุตติยคฤหบดี และเสตุมาณพเอาไว้ว่าได้บรรลุธรรมในขณะที่เป็นคฤหัสถ์เช่นเดียวกัน[๓๐]  แต่หลักฐานที่ ปรากฏนั้นมิได้กล่าวว่าหลังบรรลุอรหัตผลแล้วได้บวชหรือไม่?  ส่วนคฤหัสถ์ท่านอื่นๆ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ว่าได้บรรลุพระอรหัตผล คือ สันตติมหาอำมาตย์[๓๑] และพระเจ้าสุทโธทนะ[๓๒]  ได้เลือกที่จะนิพพานหรือตายในทันทีที่บรรลุอรหัตผลแล้ว  ส่วนนางเขมาเถรี  พระยสะ และอุคคเสฏฐีบุตร ก็เลือกที่จะบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี และพระภิกษุตามลำดับ ภายหลังที่ได้บรรลุพระอรหัตผล

                ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จากการศึกษาคัมภีร์ต่างๆ เกี่ยวกับที่มาของประเด็นที่ว่าคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้วต้องบวชภายในวันนั้น และคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้วยังสามารถดำรงตนเป็นคฤหัสถ์ได้เกิน ๑ วัน และไม่ตาย  พบว่า ไม่มีกรณีใด หรือหลักฐานใดที่กล่าวถึง  หรือกล่าวพาดพิงถึงประเด็นนี้จนสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตีความได้  แต่ถ้าถามว่า เมื่อไม่มีคัมภีร์ชั้นต้นที่สามารถจะยืนยันสิ่งที่พระนาคเสน และพระเถระรุ่นหลังได้นำเสนอประเด็นเหล่านั้นเอาไว้ และประเด็นที่พระเถระรุ่นหลังๆ ได้พยายามที่จะนำกรณีศึกษามายืนยันข้ออ้างตามที่ตนเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลนั้น ได้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การอนุมานของท่านเหล่านั้น เป็นการอนุมานเกินเลยข้อเท็จจริงจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่?  เพราะว่าเหตุผลที่พระเถระเหล่านั้นนำมาอ้าง  นอกจากจะนำข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มาอ้างว่า พระพุทธเจ้า และเหล่าอริยสาวกดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะเป็นสมณเพศแล้ว  ผู้เขียนมองว่ายังไม่มีเหตุผลอื่นซึ่งมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์และยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า “เพราะเหตุใด? คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจึงต้องบวช”

                อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไม่สามารถแสวงหาเครื่องมือที่สามารถยืนยันในประเด็นที่ว่า “คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจะต้องบรรพชาอุปสมบทในวันนั้นเท่านั้น” ได้ สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือว่า มีชุดความคิดใด หรือการอ้างเหตุผลใดที่สามารถเป็นข้อมูลเชิงเอกสารชั้นต้น ซึ่งมีน้ำหนักเพียงพอในการนำมาเป็นพยานแวดล้อมเพื่อชี้ให้เราได้ประจักษ์ชัดว่า “เป็นไปได้” (Probability) ที่ “คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ‘น่าจะ’  ทำให้เขาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ” 

จากการศึกษาวิเคราะห์หลักคำสอน หรือพุทธพจน์ที่สามารถทำให้ตอบคำถามประเด็นดังกล่าวนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า ชุดของการให้เหตุผลที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักเพียงพอต่อการตอบปัญหาดังกล่าวก็คือ ประเด็นที่ว่าด้วย “หลักอภัพพฐานะ” และ ประเด็นที่ว่าด้วย “หลักฐานะ และอฐานะ”

 

                ) ประเด็นที่ว่าด้วยอภัพพฐานะ

                คำว่า “อภัพพฐานะ” หมายถึง “ฐานะที่เป็นไปไม่ได้ หรือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” หรือ “ฐานะที่ไม่สมควร”  ซึ่งหากจะวิเคราะห์จากนัยตามที่ปรากฏในคัมภีร์อภิธรรมปิฏกก็คือ[๓๓]

                () ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต

                () ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะลักทรัพย์ อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย

() ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะเสพเมถุนธรรม

() ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะพูดเท็จทั้งที่รู้

() ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะกระทำการสั่งสมบริโภคกามเหมือนเมื่อครั้งยังเป็น

       คฤหัสถ์อยู่

จากหลักฐานตามที่ปรากฏข้างบนนี้  ได้ชี้ให้เห็นความจริงที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ เมื่อบุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุขีณาสพ หรือคฤหัสถ์ขีณาสพ ซึ่งมีแง่มุม “เชิงสารัตถะ”  ที่สอดรับกัน กล่าวคือ ปราศจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานทั้งมวล จึง “เป็นไปไม่ได้” ที่กลุ่มบุคคลทั้งสอง จะหวนกลับไปเสพเมถุนธรรม หรือดำเนินชีวิตโดยการบริโภคกามเช่นเดียวกับพฤติกรรมที่เคยกระทำ หรือแสดงออกในคราวเป็นคฤหัสถ์  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสภาพจิตได้หลุดพ้นจากการครอบงำ หรือความปรารถนาความสุขในเชิงโลกิยะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “กามสุข”  และสภาพจิตได้เข้าไปลิ้มรสสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “วิมุตติสุข” แทน  ซึ่งความสุขประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง (ปรมัง สุขัง) อันเป็นความสุขแท้จริงโดยไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งทางจิต  ฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลต์จะย้อนกลับไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคฤหัสถ์เช่นเดิมอีก

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า หากเรายอมรับได้ว่า คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลไม่สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้อย่างแน่นอน กล่าวคือ ไม่แกล้งปลงสัตว์จากชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่เสพเมถุน ไม่พูดเท็จ และไม่บริโภคกาม ดังที่ได้กล่าวข้างต้น   แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เขาสามารถทำสิ่งอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นได้นอกจากที่ได้กล่าวแล้ว   คัมภีร์กถาวัตถุได้พยายามที่จะอุดช่องโหว่ในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า[๓๔] “ไม่พึงกล่าวว่า  พระอรหันต์ทรงเสพเมถุนธรรม  พึงยังเมถุนธรรมให้เกิดขึ้น  พึงนอนที่นอนอันคับแคบด้วยบุตร  พึงใช้ผ้ากาสิกและจุรณจันทร์  พึงทัดทรงดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ พึงยินดีเงินทอง  พึงรับแพะ แกะ ไก่ สุกร พึงรับช้าง วัว ม้า ลา พึงรับนกกระทา นกคุ่ม และหางนกยูง พึงทรงเกี้ยว (เครื่องประดับมวยผม) มีขั้วอันเหลือง พึงทรงผ้าขาว มีชายยาว  เป็นผู้ครองเรือนตลอดชีวิต”

จากหลักฐานข้างบนที่ได้ยกมานำเสนอนั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่พยายามจะตอกย้ำมากยิ่งขึ้นว่า  เมื่อคฤหัสถ์ที่ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว  ย่อมเป็นประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ที่เขาไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตที่เคยแสดงออก หรือแนวทางที่คฤหัสถ์ทั่วไปในสังคมโลกพากันดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติกันในแต่ละวัน  ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้บิดาของพระยสะเมื่อครั้งที่บรรลุธรรมในขณะเป็นคฤหัสถ์ได้ทราบว่า “ดูก่อนคหบดี  ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมด้วยญาณทัสสนะ ได้รู้แจ้งแล้ว  จิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย  ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์ที่บริโภคกาม ประดุจดังที่เคยประพฤติในเมื่อครั้งที่ยังเป็นคฤหัสถ์”

) ประเด็นที่ว่าด้วยฐานะ และอฐานะ

คำว่า “ฐานะ และอฐานะ” นี้ ปรากฏชัดอยู่ใน “ทสพลญาณข้อที่ ๑๐” ซึ่งมีเนื้อหาที่ว่า     “ฐานาฐานญาณ”  ซึ่งหมายความว่า “พระปรีชากำหนดฐานะ คือสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น และอฐานะ คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เป็นต้น”[๓๕]

คำว่า “ฐานะ” และ “อฐานะ” ซึ่งหมายถึง “ความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้” นี้  ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ใช้พิสูจน์ความจริง  ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงใช้แนวคิดนี้พิสูจน์ว่า “อะไรที่เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้” โดยพระองค์ได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความจริงบางประการที่เกี่ยวกับแง่มุมดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ (ปัญญา) จะพึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นภาพเที่ยง… เป็นสุข…เป็นตัวตนนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นภาพเที่ยง… เป็นสุข…เป็นตัวตนนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

                ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ  จะพึงฆ่ามารดา… บิดา…พระอรหันต์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้  แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงฆ่ามารดา…บิดา…พระอรหันต์นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้…

                ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายทุจริต… วจีทุจริต… มโนทุจริต… จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ  มิใช่โอกาสที่จะมีได้  แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายทุจริต… วจีทุจริต… มโนทุจริต  จะพึงเกิดขึ้นได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้…

                ข้อที่บุคคลผู้มีความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริต…วจีทุจริต…มโนทุจริต… เมื่อกายแตกตายไป พึงเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์นั้น  มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้  แต่ข้อที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายทุจริต… วจีทุจริต… มโนทุจริต  เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้…”[๓๖]

จากพุทธพจน์ที่อ้างถึงความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ข้างต้นนั้น เราน่าจะสามารถสร้างตรรกะที่สามารถยืนยันความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ของแง่มุมที่เกี่ยวกับประเด็น “คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล” ได้ดังนี้ว่า

                “ข้อที่คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลจะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  แต่ข้อที่คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล จะไม่ยอมบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ   ภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผลนั้น หากแต่ยังใช้ชีวิตประดุจปุถุชนทั่วไปที่บริโภคกาม และครองเรือนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ฐานะ และมิใช่โอกาสที่คฤหัสถ์ผู้บรรลุพระอรหัตผลจะทำได้”

ประเด็นเกี่ยวกับแง่มุมที่แสดงถึง “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” สิ่งที่น่าสนใจอีกมิติหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นก็คือ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พระราชา  มหาอำมาตย์ของพระราชา  มิตร สหาย หรือญาติสาโลหิต  จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญ  ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ด้วยโภคะทั้งหลาย  เพื่อนำไปตามใจว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ  เชิญท่านมาเถิด ท่านจะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ทำไม  ท่านจะเป็นคนโล้นถือกระเบื้องเที่ยวไปทำไม ท่านจงสึกมาบริโภค และกระทำบุญเถิด  ภิกษุผู้เจริญ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นั้น  จักลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์  ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะว่าจิตที่น้อมไปในวิเวก  โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก ตลอดกาลนานนั้น  จักสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์  ข้อนี้มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้”[๓๗]

การพิจารณาประเด็นที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสินความจริงของ “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้  หรือมิใช่โอกาสที่จะเป็นไปได้ และความเป็นไปได้” ดังกล่าวข้างต้นที่พระพุทธเจ้าได้ใช้ตัดสิน อ้างอิง และยืนยันข้อมูลบางอย่างนั้น  น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้เราได้ใช้เป็น “มาตรวัด” ว่า  เพราะเหตุใด? คฤหัสถ์จึงต้องบวชเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาเมื่อได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว

อย่างไรก็ตาม บางท่านได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลต้องบวชก็เพราะว่า เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย  ความเหมาะสม ความสมควรแก่การดำรงอยู่  ทั้งนี้ก็เพราะว่ารูปแบบชีวิตของบรรพชิตเป็นรูปแบบที่เหมาะสม[๓๘]  ซึ่งเหตุผลที่ท่านนำมายืนยันสมมติฐานของท่านก็คือ ประเด็นว่าด้วยชีวิตความเป็นสมณะนั้นเอื้อต่อการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิเลส  มีความสัปปายะแก่การได้รับปัจจัย ๔ และ บุคคลที่เป็นพระอรหันต์นั้น ควรค่าแก่การได้รับการสักการะบูชา[๓๙]   การให้เหตุผลในลักษณะนี้ อาจจะทำให้เกิดคำถามได้ว่า   ในเมื่อท่านหมดกิเลสแล้ว ทำไมจะต้องมีการดำรงอยู่ในสถานที่ที่เอื้อต่อการไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส  ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหัตผลนั้น เป็นผู้อยู่เหนือกุศล และอกุศลแล้วมิใช่หรือ  เพราะเหตุใดจึงต้องไปเกรงกลัวต่ออำนาจของกิเลสก็ในเมื่อท่านใช้ชีวิตเป็นประดุจลิ้นงูในปากงูพิษ  ไยต้องไปกริ่งเกรงต่อกิเลสอันใด  

นอกจากนั้นแล้ว  การดำเนินชีวิตของสมณะนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัย ๔  แต่นั่นก็มิได้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ท่านจะต้องให้ความสนใจมากนัก  หรือเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ท่านต้องเลือกบวชเป็นสมณะ  ในขณะเดียวกัน การมองว่า พระอรหันต์นั้นควรค่าแก่การได้รับการบูชา  ก็ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ต้องทำให้ท่านตัดสินใจบวช  เพราะโดยปรกติแล้ว  สภาวะของความเป็นพระอรหันต์นั้นก็ข้ามพ้นสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว  ฉะนั้น การมองในลักษณะดังกล่าว  เป็นการตัดสิน หรือมองบนฐานคิดของบุคคลทั่วไปที่อยู่ในสังคม  หากแต่มิใช่มโนทัศน์และชีวทัศน์ของคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผล  

ในขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ  งามจิตรเจริญพยายามที่จะมองว่า[๔๐] การที่คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลจะต้องบวชนั้น เป็น “การหวังผลในเชิงกุศโลบาย” เพราะว่าการบวชนั้นจะเป็น “รูปแบบ” ที่ใช้เป็น “เกราะ” สำหรับป้องกันไม่ให้ “บุคคลอื่น” ต้องได้รับผลแห่งอกุศลกรรม อันเนื่องมาจากการแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม  โดยท่านได้ยกตัวอย่างกรณีของพระลกุณฑก-     ภัททิยเถระ แม้จะบรรลุพระอรหัตผลแล้ว แต่มีรูปร่างประดุจสามเณรจึงถูกพระภิกษุรูปอื่นใช้มือเคาะศีรษะ  ฉะนั้น ท่านจึงสรุปว่า  “รูปแบบ” ของนักบวชอาจจะทำให้การดำรงชีวิตในสังคมของท่านนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดีต่อตัวท่านเองและผู้อื่นในสังคมด้วย  ผู้เขียนเห็นว่า การให้เหตุผลของอาจารย์วัชระนั้น อาจจะพอรับได้ในอีกระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ก็ทำให้เกิดคำถามเช่นเดียวกัน  การที่คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลต้องบวชนั้น  มีความสำคัญเพียงแค่ “รูปแบบ” เท่านั้นหรือ?

อย่างไรก็ตาม  หากมีการเลือกที่จะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  นอกเหนือจากการที่จะให้เหตุผลหรืออ้างว่า “เพราะเพศคฤหัสถ์มีกำลังอ่อนจึงต้องบวช” หรือ “อรหัตผลเป็นสิ่งประเสริฐ ไม่คู่ควรแก้เพศฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ตั้งอยู่ในฐานะแค่ศีล ๕ เท่านั้น”[๔๑]  ผู้เขียนเห็นว่า จุดสำคัญของการบวชอีกนัยหนึ่งนั้น น่าจะมุ่งไปที่การทำประโยชน์ให้ครบทั้งสามด้านมากกว่า  กล่าวคือ ประโยชน์ตน  ประโยชน์ผู้อื่น  และประโยชน์ตนและผู้อื่น เพราะเมื่อวิเคราะห์ถึงประโยชน์ตนนั้น ก็ถือได้ว่าคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลได้ทำสำเร็จแล้ว นั่นก็คือการที่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงในทางพระพุทธศาสนา เป็นอเสขบุคคลที่จบกระบวนการของการปฏิบัติตนตามกรอบของมรรค ๘ แล้ว  ฉะนั้น  สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ หากจะต้องบรรพชาอุปสมบทนั้น สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ การเดินตามมรรควิถีที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศในเหตุการณ์ที่พระองค์ได้ส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนาว่า

“ภิกษุทั้งหลาย  เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์  แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์   เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก  เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  อย่าได้ไปในทางเดียวกัน  ๒ รูป จงแสดงธรรม  งามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง งามในที่สุด  จงประกาศพรหมจรรย์  พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ  บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง  สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุน้อย มีอยู่  เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมรอบ ผู้รู้ทั่วถึงซึ่งธรรมจักมี  แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม…”[๔๒]

จากพุทธพจน์ข้างบนนั้น ทำให้เราได้เห็นว่า คฤหัสถ์ได้ทำกิจ หรือภาระหน้าที่ของตัวเองจบบริบูรณ์ หรือสิ้นสุดภารกิจในการเอาชนะความทุกข์ได้อย่างยั่งยืนแล้ว หากว่าตัวเองมีความพร้อมในแง่ของ “สังขาร” และความพร้อมในแง่ของ “กรรมเก่า” ที่สามารถทำให้ตัวเองดำรงชีวิตอยู่ได้[๔๓]  หน้าที่ควรจะทำต่อไปก็คือ การได้ใช้เวลา และโอกาสที่ยังคงมีอยู่นั้น ทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นในสังคมด้วยการชี้ให้ประชาชนทั่วไปได้มองเห็นถึงคุณค่าแห่งความสะอาด สงบ และสว่าง เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้เสาะแสวงหาความสุขที่แท้จริงด้วยตัวเองต่อไป

                สรุปแล้ว  “ทฤษฎีความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้” น่าจะเป็นชุดของการให้เหตุผลที่ผู้เขียนมองว่าเป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง” ที่พอจะนำมาอธิบายประเด็น “คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลน่าจะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มากกว่าการเลือกที่ดำรงตนอยู่ในเพศคฤหัสถ์”  ในขณะที่การมุ่งประเด็นไปที่ “เพศคฤหัสถ์เป็นเพศทราม มีกำลังอ่อน จึงไม่สามารถรองรับพระอรหัตผล”  นั้น เป็นการให้เหตุผลที่ขาดคัมภีร์ชั้นปฐมภูมิมารองรับ  และดูประหนึ่งว่าจะเป็นการให้เหตุผลมุ่งเน้นไปที่ “ปัญหาเรื่องเพศ”  มากกว่าที่จะประเด็นเรื่อง “จิตภาพ” หรือ “คุณค่าภายในควบคู่กันไปด้วย”

 

. ประเด็นปัญหาที่ว่า  “ถ้าคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้วไม่บวช  จะต้องนิพพานหรือตาย”

               

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ “ถ้าคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้วไม่บวชจะต้องตายในวันนั้น” คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า “ทำไม?คฤหัสถ์คนนั้นจะต้องนิพพานหรือตายในวันนั้น”   ในกรณีนี้  พระนาคเสนได้พยายามที่จะให้เหตุผลว่า “เพศคฤหัสถ์ไม่สงบ  เพราะความที่เป็นเพศไม่สงบ  ก็เป็นเพศที่ทรามกำลัง หรืออ่อนกำลัง  คฤหัสถ์ที่บรรลุความเป็นพระอรหันต์จึงต้องบวชในวันนั้นนั่นเทียว หรือไม่ก็ต้องนิพพานในวันนั้น” และให้ได้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “ข้อนี้ (สาเหตุที่เป็นเช่นนี้)  หาใช่โทษของความเป็นพระอรหัตผลไม่ ความเป็นเพศมีกำลังทรามนี้  เป็นโทษของเพศคฤหัสถ์นั่นเทียว”

ฉะนั้น เพื่อที่จะทำให้การให้เหตุผลของท่านมีความชอบธรรม หรือมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นจึงได้เสริมด้วยอุปมาอุปมัย ดังตัวอย่างที่ว่า  “เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้อ่อนแอ ทรามกำลัง  มีชาติกำเนิดต่ำทราม  มีบุญน้อย  ได้รับราชสมบัติที่แสนยิ่งใหญ่ ก็ย่อมตกไป  พลาดไป  ถอยกลับไป มิอาจจะรองรับอิสสริยฐานะได้ ฉันใด คฤหัสถ์ผู้บรรลุความเป็นพระอรหัตผล ก็ย่อมไม่อาจรองรับความเป็นพระอรหัตผลโดยเพศนั้น เพราะเหตุนั้น จึงต้องบวชในวันนั้น หรือไม่ก็นิพพานในวันนั้น  ฉันนั้นเหมือนกัน”

                ประเด็นที่น่าศึกษาก็คือ ในการให้เหตุผลของท่านนั้น มักมุ่งเน้นไปที่จุดใหญ่จุดเดียวเท่านั้น  นั่นก็คือ ประเด็นของคำว่า “เพศ”  จะเห็นว่าท่านพยายามจะย้ำว่า “เพศคฤหัสถ์ไม่สงบ”  และ “เพศคฤหัสถ์ทรามกำลัง” ฉะนั้น  “เพศคฤหัสถ์จึงไม่อาจจะรองรับสภาวะของพระอรหัตผล” ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่า  การให้เหตุผลที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่อง “เพศ” เป็นด้านหลักนั้น  “สมเหตุสมผลหรือไม่

                จากกรณีดังกล่าวนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญได้วิพากษ์ในประเด็นนี้ว่า[๔๔] “ไม่ความสมเหตุสมผล” (Invalidity) เนื่องจากเป็นการให้เหตุผลที่มุ่งเน้น และให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง “เพศ” มากจนเกินไป  ซึ่งท่านมองว่าหากจะตีความตาม “ตัวอักษร” อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้  เพราะตัวที่บรรลุธรรมนั้น คือ “สภาพจิต”  โดยท่านมองว่า จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะมีการตีความของคำว่า “ตาย” นั้นเสียใหม่  ซึ่งอาจจะหมายถึง “กิเลสตาย” หรือ “ตายจากความเป็นเพศของคฤหัสถ์”  ซึ่งการให้เหตุผลของอาจารย์วัชระนั้น น่าสนใจว่า เป็นการอธิบายโดยยืนอยู่บนฐานของมิติของ “กาย” และ “จิต” ซึ่งอาจจะครอบคลุมมากกว่าการให้เหตุผลในมิติของ “กาย” อันมุ่งเน้นประเด็นเรื่องเพศมากจนเกินไป  

พระมหานรินทร์ สุธรรม มีทัศนะค่อนข้างจะสอดรับอาจารย์วัชระว่า “คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์แล้วต้องบวช แต่ไม่น่าจะตายทันที  หากไม่ได้บวชในวันนั้น  เพราะการเป็นพระอรหัตผลเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจิต  หากกรรมเก่ายังไม่มาตัดรอนทันทีทันใดเหมือนพระพาหิยะ และหากกายยังสมบูรณ์อยู่ ก็น่าจะดำรงอยู่ได้จนกว่าจะเตรียมการณ์บวช และออกไปบวชได้สำเร็จ”[๔๕] 

                น่าสังเกตว่าทั้งสองท่านดังกล่าวนั้น มีทัศนะโดยการให้น้ำหนักไปที่ “การเปลี่ยนแปลงทางจิต” หรือ “คุณค่าทางจิต” มากกว่าประเด็นเรื่องกาย หรือประเด็นเรื่องเพศ ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ค่อนข้างจะสอดรับการกับประเด็นที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกสันตติมหาอำมาตย์ว่า “สมณะ” “พราหมณ์” และ “ภิกษุ”[๔๖] และตรัสเรียกพาหิยะทารุจิยะว่า “เพื่อนสพรหมจารีของพระภิกษุทั้งหลาย”[๔๗]  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าท่านทั้งสองจะยังไม่ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ชี้ให้เห็นพระภิกษุทั้งหลายได้เรียกเช่นนั้น ซึ่งการแสดงออกในลักษณะนี้ ย่อมทำให้เราได้เห็นว่า พระองค์นั้นก็ทรงให้ความสำคัญแก่คุณค่าภายในเช่นเดียวกัน

                อย่างไรก็ตาม  พระพุทธโฆษาจารย์ แม้จะเห็นด้วยกับการนำเสนอเหตุผลของพระนาคเสน แต่อาจจะมองว่าลำพังเพียงการการนำเสนอเหตุผลและอุปมาอุปมัยของพระนาคเสนอาจจะไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนัก เพราะขาดกรณีศึกษา  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้นำเสนอ “กรณีเขมาศึกษา” เพื่อนำมาตอกย้ำและอ้างอิงว่า  “หลังจากที่นางได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าจึงได้บรรลุเป็นพระอรหัตผล” พระศาสดาจึงได้ตรัสกะพระราชาว่า “มหาบพิตร พระนางเขมาจะบวชหรือปรินิพพาน จึงควรพระราชาจึงตรัสตอบว่า “โปรดให้พระนางบวชเถิด อย่าเลยด้วยการปรินิพพาน”[๔๘]               

จากการนำเสนอของพระพุทธโฆษาจารย์นั้น มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตใน ๔ ประเด็นหลักๆ ต่อไปนี้ คือ

                ) ข้อมูลที่พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวอ้างถึงนั้น  เมื่อวิเคราะห์จากคัมภีร์ชั้นบาลี หรือคัมภีร์ชั้นต้นแล้ว ปรากฏว่า “มิได้มี”  พระพุทธดำรัสในลักษณะนั้น  และไม่ปรากฏคำกล่าวเหล่านั้นเลยในพระพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มที่เป็นคัมภีร์ชั้นบาลี   คำกล่าวทั้งหมดที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้นก็มิได้มีปรากฎในคัมภีร์มิลินทปัญหาที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้รับอิทธิพลมาแต่ประการใด

                ) หากเหตุผลข้อที่ ๑) เป็นไปได้ กล่าวคือ ประโยคที่มีการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารรวมไปถึงพระนางเขมานั้นไม่ได้มีเค้าลางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส นั่นก็หมายความว่า พระพุทธโฆษาจารย์ได้พยายามที่จะนำพระพุทธเจ้ามาเป็นฐานในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่งานเขียนของตัวท่านเองโดยการแต่งคัมภีร์ขึ้นมาว่าพระองค์ได้ตรัสประโยคดังกล่าว

                ) ข้อมูลในการนำเสนอของพระพุทธโฆษาจารย์ที่ว่า “นางเขมาบรรลุพระอรหันต์ในวันนั้น และก็ได้บวชในวันนั้น”  มิได้มีความสอดคล้องกับนัยที่ปรากฏในคัมภีร์อปทานที่ชี้ให้เห็นว่า “เมื่อนางได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว  ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค   สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค   จึงได้ขอให้พระราชาอนุญาตการบรรพชาอุปสมบท หลังจากที่ได้บวชเป็นระยะเวลา ๗ เดือน จึงบรรลุพระอรหัตผล”[๔๙]  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า “กรณีเขมาศึกษา” ของท่านยังจะสามารถอ้างอิงได้หรือไม่?

                ) การอ้างว่า ถ้านางเขมาไม่บวชจะต้องนิพพานนั้น  เมื่อกล่าวโดยสรุปพระนางก็มิได้ตาย และไม่ได้มีตัวอย่างจากแหล่งข้อมูลแห่งใดเลยที่คฤหัสถ์ซึ่งบรรลุพระอรหัตผลแล้วไม่บวชจะต้องตาย  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เกิดจากการ “อนุมาน หรือการ “คาดคะเน” ของพระพุทธโฆษาจารย์เองว่า  “ถ้าไม่บวชแล้วจะต้องตาย”

                ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาถกเถียงกันก็คือคำว่า “อนุมาน” หรือ “คาดคะเน” (Inference) ซึ่งในความจริงแล้วมัน “เป็นไปไม่ได้ และไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเป็นไปได้” ที่คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้วจะต้องตาย  ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนั้น เกิดจากการที่พระนาคเสน และพระพุทธโฆษาจารย์อนุมาน หรือคาดเดาเองหรือไม่? 

                ในประเด็นนี้  พุทธทาสภิกขุได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “มันเป็นเพียงแค่การอนุมานเท่านั้น”[๕๐]  โดยได้ชี้ให้เห็นว่า “ควรพิจารณาโดยมุ่งเน้นไปที่ความหมายของเพศฆราวาส และเพศบรรพชิตว่า เพศฆราวาสต้องหมายถึงการหนาแน่น หมักหมมอยู่กับโลกีย์เช่นคนที่เป็นฆราวาสจริงๆ ทำกัน และเพศบรรพชิตต้องหมายถึงเพศที่สละเรื่องโลกีย์ออกไปจริงๆ มิใช่ถือเอาเพียงโกนผม ห่มผ้าเหลือง”  ท่านย้ำในประเด็นนี้ “ถ้าพระอรหันต์จะต้องอยู่ในเพศที่เป็นอย่างฆราวาสในความหมายที่เป็นฆราวาสจริงๆ  ก็ต้องตายจริงๆ”  

                ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การใช้อุปมาอุปมัยเพื่อยืนยันการให้เหตุผลของท่านพุทธทาสในประเด็นเดียวกันนี้ ค่อนข้างจะมีความแตกกันอย่างชัดเจนกับพระนาคเสน “อุปมาเหมือนปลาน้ำจืดต้องตาย เมื่อไปอยู่ในน้ำเค็ม  เพศฆราวาสเหมือนน้ำเค็ม  เพศบรรพชิตเหมือนน้ำจืด  พระอรหันต์ที่เคยเป็นฆราวาสเหมือนปลาที่เคยอยู่ในน้ำเค็ม  แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นตรงกันข้ามกัน  กายก็ต้องมาอยู่ในภาวะใหม่  เหมือนปลาต้องมาอยู่ในน้ำจืด  หากยังอยู่ในภาวะเก่า หรือยังอยู่ในน้ำเค็มก็ต้องตายไป”  และได้ย้ำเพิ่มเติมอีกว่า “พระอรหันต์ไม่เคยอยู่ และอยู่ไม่ได้ในเพศฆราวาส  ส่วนใจของพระอรหันต์แม้จะให้อยู่ก็เท่ากับไม่อยู่  เพราะความที่ใจไม่ยืดถือสิ่งใด  ไม่มีใครจะเปลี่ยนใจท่านให้เป็นฆราวาสได้ หากจะมีการบังคับให้ท่านอยู่อย่างฆราวาส จึงเท่ากับจับท่านมาขังคุก หนักเข้าก็ต้องตายไปโดยส่วนกาย หรือสังขารธรรม”

                จากนัยดังกล่าวนั้น ทำให้ท่านสรุปว่า “เป็นเพียงการอนุมาน  ไม่มีการตาย เพราะเหตุนี้  เพราะพระอรหันต์ไม่เคยอยู่ในเพศฆราวาส และไม่เคยมีใครมาบังคับ หรือจับพระอรหันต์ให้อยู่ในเพศฆราวาสได้  สมมติว่า หากจะมีใครบังคับให้ท่านอยู่ในเพศฆราวาส ก็ต้องอนุมานแบบเป็นการสมมติว่า ท่านก็ต้องตายจริงๆ”  ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ของพุทธทาสภิกขุนั้น ค่อนข้างจะสอดรับกับทฤษฏีการยืนยันความจริงของพระพุทธเจ้าในประเด็นที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ “เป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้”

                แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การนำอุปมาอุปมัยมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการให้เหตุผลของพุทธทาสภิกขุค่อนข้างจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง “เพศ”ว่ามีส่วนสำคัญต่อการนิพพานหรือตายหรือดำรงอยู่ของคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผผลมากนัก แต่พยายามที่จะเน้นหนักไปที่ “ความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้” เกี่ยวกับเมื่อฆราวาส และบรรพชิตจะต้องดำรงอยู่ในอีกสภาพหนึ่ง

                จะอย่างไรก็ตาม  มีคัมภีร์สายอภิธรรมก็พยายามที่จะตีความสนับสนุนหลักการตามที่    ปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหา และพระพุทธโฆษาจารย์ โดยได้ยกประเด็นเรื่อง “ทฤษฎี              กุศลอุปฆาตกกรรม”  มาเป็นฐานในการสนับสนุนข้อมูลของพระเถระทั้งสอง โดยชี้ให้เห็นว่า “ผู้ที่เป็นฆราวาสแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล  แต่ไม่ได้บวชในวันนั้น[๕๑]  อำนาจแห่งอรหัตตมรรคนั้น จะเป็นกุศลอุปฆาตกกรรม  ตัดนามรูปที่เป็นกุศลวิบาก  คือทำให้ผู้นั้นสิ้นชีวิตลงภายในวันนั้นนั่นเอง  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  คุณของอรหัตตมรรค  อรหัตตผลนั้นเป็นสิ่งอันประเสริฐ ไม่คู่ควรกับเพศฆราวาส  ซึ่งเป็นเพศที่ตั้งอยู่ในฐานะแค่ศีล ๕  เท่านั้น”[๕๒]

                น่าสังเกตว่าอุปมาอุปมัยที่อภิธรรมาจารย์ได้นำมาสนับสนุนแนวความคิดค่อนข้างจะแตกต่างจากคัมภีร์มิลินทปัญหา โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า “เปรียบเหมือน น้ำมันของราชสีห์ที่จะต้องรองรับด้วยภาชนะที่เป็นทองอย่างเดียวเท่านั้น  จึงจะสามารถตั้งอยู่ได้  ถ้ารองรับด้วยภาชนะอื่นๆ แล้ว น้ำมันราชสีห์นั้นจะแห่งหายไปหมด ฉันใด  คุณอันพิเศษของอรหัตตมรรค อรหัตตผลก็เช่นเดียวกัน  ผู้ที่สำเร็จอรหัตตมรรค อรหัตตผลในเพศที่เป็นฆราวาสก็ไม่สามารถจะรองรับอรหัตตมรรค อรหัตตผลนั้นไว้ได้  จะต้องสิ้นสุดภายในวันนั้นเอง  ต่อมาเมื่อผู้นั้นบวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุแล้ว จึงจะดำรงชีวิตต่อไปได้ ฉันนั้น”

                ประเด็นที่พระอภิธรรมาจารย์นำ “ทฤษฎีกุศลอุปฆาตกกรรม” มาเป็นฐานในการสนับสนุนข้อมูลดังกล่าวนั้น ผู้เขียนจะไม่พยายามตั้งข้อสังเกตประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่อง “กรรม” เพราะเป็นประเด็นที่ว่าด้วยเรื่อง “อจินไตย” แต่ประเด็นที่ควรค่าแก่การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคัมภีร์สายอภิธรรมที่พระอภิธรรมาจารย์ได้ยกเหตุผลมาอ้างว่า “คุณของอรหัตตมรรค  อรหัตตผลนั้นเป็นสิ่งอันประเสริฐ ไม่คู่ควรกับเพศฆราวาส  ซึ่งเป็นเพศที่ตั้งอยู่ในฐานะแค่ศีล ๕  เท่านั้น”  ซึ่งประเด็นที่ว่าไม่คู่ควรนี้ก็ได้รับการตอกย้ำจากพระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวีโร) ซึ่งกล่าวว่า “พระอรหัตคุณ เป็นคุณวิเศษสูงส่งยิ่ง  มีอานุภาพใหญ่หลวงหนักหนา  ฆราวาสวิสัยคือเพศคฤหัสถ์นั้น เป็นภูมิอันหยาบและต่ำช้านัก  ไม่สามารถที่จักทรงอรหัตคุณอันประเสริฐสูงสุดไว้ได้  ถ้าไม่บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านผู้มีจิตผ่องแผ้วบริสุทธิ์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันตอริยบุคคลนั้น ท่านก็จำต้องรีบดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานบรมสุขอันเป็นการล่วงพ้นจากมุขมณฑลแห่งพญามัจจุราชเป็นแน่แท้”[๕๓]

                จากเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เหตุผลข้างต้นของพระอภิธรรมาจารย์ และพระพรหมโมลีนั้นได้สะท้อนให้เราได้มองเห็นถึงความ “ไม่คู่ควร” ในสองประเด็น คือ

)  แนวคิดหนึ่งมุ่งประเด็นเรื่อง “เพศ” ว่ามีจุดด้อยในแง่ของ “กำลังทางกายภาพ”  ซึ่งเหตุผลที่ให้ก็คือ การมองว่า “เพศคฤหัสถ์” มี “ภูมิหยาบ” และ “ต่ำช้า” จึงทำให้ “เพศคฤหัสถ์” ไม่สามารถรองรับพระอรหัตผลซึ่งเป็นคุณอันประเสริฐ และยิ่งใหญ่เอาไว้ได้ จึงทำให้ต้องตาย 

ประเด็นนี้อาจจะถูกตั้งคำถามได้ว่า  การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นการให้ค่าต่อเพศคฤหัสถ์ใน “เชิงลบ” มาจนเกินไปหรือไม่?  เพราะในความเป็นจริงแล้วพระพุทธศาสนามุ่งเน้นที่จะให้ความสำคัญต่อ “คุณค่าภายใน”  มากกว่าที่จะวัดกันที่ “คุณค่าภายนอก”  หรือชีวิตจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ได้นั้น “คุณค่าภายนอก” จะเป็นเกณฑ์ตัดสิน

                ) แนวคิดหนึ่งมุ่งประเด็นเรื่อง “เพศ” ว่ามีจุดด้อยในแง่ของ “กำลังของข้อปฏิบัติทางสิกขาบท” หรือ “ศีล ๕” จึงทำให้ “เพศคฤหัสถ์” ไม่สามารถรองรับพระอรหัตผลซึ่งเป็นคุณอันประเสริฐ และยิ่งใหญ่เอาไว้ได้ และทำให้ต้องตาย

ประเด็นนี้ อาจจะถูกตั้งคำถามได้ว่า  คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลนั้น  เขาได้ก้าวข้ามบันไดสามขั้น กล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไตรสิกขานั้นเป็นประดุจแพข้ามฟาก และแพก็ได้ทำหน้าที่ของตนเองสมบูรณ์โดยการส่งผู้โดยสารให้ถึงฝั่งเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์หากจะแบกหรือใช้แพนั้นต่อไป คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลก็เช่นกัน  เมื่อเขาไม่ได้ใช้แพแล้ว ไยต้องพูดถึงแพอีก  ดังที่พระอภิธรรมาจารย์ซึ่งพยายามจะให้เหตุผลว่า พระอรหันต์ไม่คู่ควรกับเพศคฤหัสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแค่ “ศีล ๕“ เท่านั้น  ซึ่งการให้เหตุผลในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า มีเหตุผลอะไร? ที่จะต้องย้อนกลับไปพูดถึงศีล ๕ อีกครั้ง  ก็ในเมื่อเขาได้ก้าวพ้นศีล ๕ แล้ว นอกจากนี้แล้ว  สภาพจิตของเขาในขณะนั้นมิได้ตั้งอยู่ในสถานะของศีล ๕ อีกต่อไป สรุปก็คือ พระอภิธรรมาจารย์พยายามอย่างยิ่งที่จะนำเอาประเด็นเรื่อง “เพศคฤหัสถ์” ไปผูกติดอยู่กับ “ศีล ๕“  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในขณะนั้น สภาพจิตของคฤหัสถ์คนนั้นได้ข้ามพ้นประเด็นที่ว่าด้วย “ศีล ๕“ ไปแล้ว

                อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การให้เหตุผลว่า “ถ้าคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลต้องบวช ถ้าไม่บวชต้องตายในวันนั้น”  ของพระนาคเสนและพระเถระทั้งหลายที่เห็นสอดคล้องกับท่านนั้น  ก็ไม่สามารถที่จะหลีกหนีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาในยุคหลังๆ ว่า  เป็นการให้เหตุผลที่ “ไม่สมเหตุสมผล” (Invalidity) และนอกจากนั้นแล้ว พุทธทาสภิกขุก็ยังมองว่าเป็น “การคาดเดา หรือการอนุมาน” ที่ “สรุปเกินข้อเท็จจริง” (Inductive Inference)  เพราะในความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ  ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ก็สอดรับกับการตั้งข้อสังเกตที่ผู้เขียนได้นำเอาไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า ตราบใดที่เรายังยืนยัน และยึดติดกับ “การให้เหตุผลชุดเดิม” อันเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของการให้เหตุผลแบบเก่า  ก็จะทำให้นักคิดรุ่นหลังๆ ยอมรับไม่ได้ และนอกจากนั้นแล้ว ยังแสวงหา “การให้เหตุผลชุดใหม่” เพื่อตอบอธิบายและตอบคำถามดังกล่าวต่อไป

                อย่างไรก็ตาม  ถ้าหากจะมีการอ้างว่า พระนาคเสนเป็นพระอรหันต์ที่มี “อัชฌัตติกญาณ” (Intuition) ซึ่งข้อเท็จจริงที่ท่านทราบ หรือเหตุผลที่ท่านนำเสนอนั้นเป็นการนำเสนอเหตุผลบนฐานของการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ฉะนั้น ท่านย่อมประจักษ์ชัดว่า เมื่อคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลต้องมีคติเป็นสองอย่างแน่นอน และเป็นคติที่จะต้องเกิดขึ้นในวันนั้นเท่านั้น  ผู้เขียนมองว่า การอ้างเหตุผลในลักษณะนี้  อาจจะทำให้บางกลุ่มยอมรับได้  และกลุ่มนี้อาจจะมองว่าการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นการให้เหตุผลที่สมเหตุผลสม  และไม่ควรที่จะไปโต้แย้งด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

                แต่ผู้เขียนเห็นว่า ข้ออ้างที่ว่า “พระนาคเสนเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น ท่านย่อมรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างตลอดสาย ทุกคนไม่ควรแย้ง หรือตั้งข้อสังเกต” ไม่ใช่เป็นการ “ให้เหตุผล”  หากแต่เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงในส่วนของผู้ที่เชื่อมั่นในการบรรลุพระอรหัตผลของพระนาคเสน  ซึ่งไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะต้องมาถกเถียงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าสมเหตุสมผลหรือไม่? เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่? แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านได้ก้าวล่วงไปสู่การกระบวนการของการให้เหตุผล หรือยกอุปมาต่างๆ  ขึ้นมาเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ในสิ่งที่ท่านนำเสนอ เมื่อนั้น ทุกคนก็มีสิทธิโดยชอบธรรมในการที่จะตั้งข้อสังเกต (ตามหลักกาลามสูตร)  ว่า ข้ออ้างของท่าน สมเหตุสมผลหรือไม่? สรุปเกินข้อเท็จจริงหรือไม่? มีแง่มุมที่น่าเชื่อถือเพียงใด?  และหลังจากนั้น ทุกคนก็สามารถที่จะแสวงหา หรือสร้างการให้เหตุผลชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาดังกล่าว ดังที่นักคิดหลายๆ ท่าน รวมถึงผู้เขียนได้นำเสนอแล้วในเบื้องต้น

 

. เพราะสาเหตุใด? พระนาคเสน จึงต้องกล่าวว่า “คฤหัสถ์บรรลุ พระอรหัตผล  ต้องบวชในวันนั้น

     ถ้าไม่บวช  จะต้องตายภายในวันนั้น”

เมื่อวิเคราะห์เหตุผล  และแรงจูงใจ (ทางอ้อม) ในการให้เหตุผลต่อประเด็นที่ว่า “คฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผล  ต้องบวชในวันนั้น ถ้าไม่บวช  จะต้องตายภายในวันนั้น”  จะพบว่า การให้เหตุผลของพระนาคเสนที่มุ่งเน้นเรื่อง “เพศ” เป็นสำคัญ ผู้เขียนไม่คิดว่าเป็นการให้เหตุผลที่  “ไร้เหตุผล” หรือ “ฟังไม่ขึ้น” หรือ “ยอมรับไม่ได้”  แต่ผู้เขียนกำลังจะวิเคราะห์ในลำดับต่อไปว่า เพราะสาเหตุอันใด? ที่ทำให้ท่านให้เหตุผลในลักษณะนี้  ทั้งๆ ที่สามารถตีความ และให้เหตุผลได้หลายแนวทางมากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่อง “ความอ่อนด้อยทางกายภาพ” ฉะนั้น เมื่อวิเคราะห์เหตุผลและแรงจูงใจ “ทางอ้อม”นั้น น่าจะประกอบไปด้วยประเด็นหลักต่อไปนี้

 

 

                ) เหตุผลในเชิงยกย่องรูปแบบ และสารัตถะของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

                เมื่อวิเคราะห์จากบริบทของการนำเสนอใน “เสฏฐธัมมปัญหา” จะพบว่าท่านได้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของพระภิกษุว่า “ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่  ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์  ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้น ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหันต์ คติทั้งหลาย ๒ อย่างเท่านั้น คือ ต้องนิพพานในวันนั้น  หรือ ต้องเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานี้เป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์  เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูง คือ ภูมิของภิกษุ” 

                การนำเสนอแง่มุมในลักษณะนี้ พระนาคเสนต้องการที่จะชี้ให้พระยามิลินท์ได้เห็นว่า พระพุทธศาสนามิได้ยกย่องธรรมอันประเสริญที่ดำรงอยู่ภายในจิตของพระภิกษุ เช่น ความประพฤติที่ดีงาม ความอดทน ความสำรวมในอินทรีย์ ๖  ความอยู่ในที่อันสงัด เป็นต้น อันจัดได้ว่าเป็นการยกย่องเชิง “สารัตถะ” เท่านั้น   หากแต่ยกย่องเชิดชูในเชิง “รูปแบบ” ของพระภิกษุด้วย  เช่น รูปแบบของความเป็นผู้มีศีรษะโล้น และนุ่งห่มผ้าเหลือง  เพราะรูปแบบเหล่านี้ จะทำให้พระภิกษุสามารถที่จะให้การบวชแก่บุคคลอื่นได้  สามารถปฏิบัติตามสิกขาบทที่มากมาย อีกทั้งเป็นเพศสมณะที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์    การที่พระภิกษุอุดมไปด้วย “สารัตถะ” และ “รูปแบบ” ดังกล่าวนั้น  อุบาสกที่เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้  ลุกรับ พระภิกษุซึ่งมีฐานะเป็นเพียง “ปุถุชน”

                การให้เหตุผลในลักษณะนี้ของพระนาคเสนนั้น  ไม่สามารถที่จะตีความเป็นนัยอื่นได้เลย นอกจากการพยายามที่จะยกย่อง และให้คุณค่าแก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ของ “สารัตถะ” และ “รูปแบบ”  เพราะหากจะศึกษาบริบทในสมัยนั้นจะพบว่า มีนักบวชหลายศาสนา และหลากหลายลัทธิด้วยกัน  จนทำให้พระยามิลินท์อาจจะไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างพระภิกษุในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น  ฉะนั้น ก่อนที่จะจบบทสรุปอันถือได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของการนำเสนอ  พระนาคเสนจึงได้ชี้ให้เห็นว่า  “สมณเพศ” นั้นมีคุณค่ามากเพียงใด  เพราะหากคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตผลแล้วยังต้องอุปสมบท เพราะหากไม่อุปสมบทแล้วสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การปรินิพพาน หรือตาย

                ) เหตุผลในเชิงจิตวิทยา

                การให้เหตุผลของพระนาคเสนดังที่ได้กล่าวในข้อที่ ๑) นั้น   ถือได้ว่าเป็นการสร้าง “สงครามทางจิตวิทยามวลชน”   แก่พระยามิลินท์  เสนาธิการ และเหล่าอำมาตย์ พร้อมทั้งทหารผู้ติดตาม และประชาชนในสมัยนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่ว่าด้วยความเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา  การนำเสนอเช่นนั้น นอกจากจะเป็นการสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” ให้แก่สมณเพศ หรือการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว  ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ทุกคนที่ได้ฟังการสนทนาธรรมว่า การบวชเป็นสมณเพศนั้น มีคุณค่าเพียงใด  ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในเชิง “รูปแบบ” และ “สารัตถะ”  อันจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา และบรรพชาอุปสมบทเพื่อที่จะศึกษาหลักธรรมคำสอนกันมากยิ่งขึ้น 

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความสนใจของประชาชนที่ไม่สนใจพระพุทธศาสนา หรือลังเลในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ได้หันมาสนใจมากยิ่งขึ้น  ซึ่งเป็นการให้เหตุผลที่ค่อนข้างจะสอดรับกับพุทธพจน์ที่ว่า “ฆราวาสนั้นคับแคบ เป็นที่มาของธุลี บรรพชาเป็นทางโปร่ง  การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย”

                ) เหตุผลในเชิงสังคมวิทยา

วิเคราะห์จากบริบทของสังคมอินเดียในสมัยนั้นจะพบว่า มีการให้คุณค่าต่อการจัดการชีวิตแบบอาศรม ๔  อย่างสูง กล่าวคือ[๕๔] เริ่มต้นชีวิตด้วยการศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยา ศึกษากิริยามารยาทต่างๆ  และทำตนให้บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ (พรหมจารี) หลังจากนั้น จึงเป็นช่วงของการนำเอาวิชาความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปสู่ภาคของการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณ อันเป็นการสร้างครอบครัวเพื่อทำให้ชีวิตคู่แบบฆราวาสให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น (คฤหัสถ์) หลังจากนั้น จึงปลีกวิเวกเพื่อศึกษาตัวเอง ศึกษาธรรมะ (วนปรัสถ์)  โดยขั้นสุดท้ายของชีวิตนั้นก็คือการปลีกหนีออกจากชีวิตฆราวาส ออกบวชเป็นนักบวชอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต(สันยาสี)

                ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การที่ชาวอินเดียมองว่า การที่มนุษย์จะสามารถบรรลุโมกษะได้นั้นต้องอาศัยรูปแบบ หรือวิถีชีวิตแบบ “สันยาสี” เท่านั้น กล่าวคือต้องออกจากเรือนเพื่อไปบวชเป็นนักบวชอย่างเต็มรูปแบบ  โดยมองว่าวิถีชีวิตเช่นนี้จะทำให้เอื้อต่อการบรรลุโมกษะได้ง่าย  ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้รูปแบบ และแนวคิดเช่นนี้มาจากศาสนาพราหมณ์  ซึ่งทำให้นักคิดบางท่านยืนยันว่า[๕๕] “พระภิกษุในพระพุทธศาสนา หรือพระพุทธเจ้าได้รับอิทธิพลมาจากพวกสันยาสีซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการใช้ชีวิตตามแนวคิดเรื่องอาศรม ๔ ของพราหมณ์”

                การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะสอดรับกับการที่พระนาคเสนได้พยายามชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาว่า “ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่  ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์  ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้น”  และยังชี้ให้เห็นคนในสังคมได้หันมาเห็นคุณค่าของภิกษุมากขึ้นทั้งในประเด็นที่ว่าด้วย “รูปแบบ” และ “สารัตถะ” ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น

ในขณะเดียวกัน  ก็ได้พยายามตอกย้ำให้เห็นว่า  “เพศคฤหัสถ์ไม่สงบ  เพราะความที่เป็นเพศไม่สงบ  ก็เป็นเพศที่ทรามกำลัง หรืออ่อนกำลัง”  แต่ในขณะเดียวกัน “สมณเพศ” นั้นเป็นเพศที่สูงส่งจนทำให้อุบาสก หรือคฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบันยังต้องกราบไหว้ ลุกรับแม้กระทั่งพระภิกษุและสามเณรที่เป็นปุถุชน

 

 

. สรุปและวิเคราะห์

จุดประสงค์หลักของการเขียนงานชิ้นนี้ ก็เพื่อที่จะแสวงหาคำตอบจากข้อเท็จจริงที่พระ นาคเสนได้นำเสนอว่า “คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลนั้น มีคติเป็น ๒ กล่าวคือ  ต้องบวชในวันนั้น หรือถ้าไม่บวชก็ต้องตายในวันนั้น”  ซึ่งท่านได้พยายามที่จะยกประเด็นเรื่อง “เพศคฤหัสถ์มีความไม่สงบ มีกำลังทราม จึงไม่สามารถที่จะรองรับพระอรหัตผลซึ่งคุณวิเศษที่สูงกว่า” มาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนข้อเท็จจริงของท่าน  โดยผู้เขียนได้ตั้งสังเกตต่อข้อเท็จจริง และการยกเหตุผลมาสนับสนุนว่า “เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้” และ “สมเหตุสมผล” หรือไม่? 

ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า มีนักคิดทางศาสนา ๒ กลุ่มออกมาแสดงความเห็นด้วย และค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวของพระนาคเสน ซึ่งกลุ่มที่เห็นด้วยนั้นประกอบด้วยพระพุทธโฆษาจารย์  พระธัมมปาลเถระ พระอภิธรรมาจารย์ และพระพรหมโมลี (วิลาส ญาณวีโร) ซึ่งประเด็นหลักที่นักคิดกลุ่มนี้ยกเหตุผลมาสนับสนุนก็คือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับพระนาคเสน โดยมองประเด็นเรื่อง “เพศคฤหัสถ์” ไม่คู่ควร หรือไม่เหมาะในการที่จะรองรับ “ความเป็นพระอรหัตผล”  เพราะพระอรหันต์มีภูมิที่สูงกว่า ส่วนคฤหัสถ์มีภูมิที่ต่ำช้า  ฉะนั้น เมื่อไม่สามารถบวชได้ จึงต้องตายในวันนั้นเท่านั้น

ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ และพระมหานรินทร์ สุธรรมค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าว  โดยบอกว่า “ไม่สมเหตุสมผล” เพราะเห็นว่า พระพุทธศาสนาให้น้ำหนักกับ “การเปลี่ยนแปลงทางจิต” หรือ “คุณค่าทางจิต” มากกว่าประเด็นเรื่องกาย หรือประเด็นเรื่องเพศ  ฉะนั้น คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลอาจจะไม่ตายในวันนั้น อาจจะมีชีวิตอยู่จนกว่าตัวเองพร้อมที่จะบวช  ซึ่งให้เหตุผลในลักษณะนี้ค่อนข้างจะยืดหยุ่นมากกว่า

ในขณะที่พุทธทาสภิกขุกับปราณี สำเริงราชย์ไม่ได้วิพากษ์ว่าการให้เหตุผลของพระ      นาคเสนอย่างเด่นชัดว่า สมเหตุสมผลหรือไม่? แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การอ้างเหตุผลในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นประดุจ “การอนุมาน” หรือ “คาดคะเน” เท่านั้น  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ในทางปฏิบัติ

จากประเด็นข้อถกเถียงถึงความ “สมเหตุสมผล” และ “ความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้” ของนักคิดดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้น สิ่งที่ผู้เขียนต้องการที่จะ “ประดิษฐ์วาทกรรม”  ขึ้นมาเพื่ออธิบายเหตุผลในงานชิ้นนี้ก็คือ “ทฤษฎีทางเลือกที่เป็นไปได้”  ฉะนั้น ประเด็นข้อถกเถียงที่ว่า “เพศคฤหัสถ์มีกำลังทราม หรือต่ำจึงต้องบวช ในวันนั้น  ถ้าไม่บวชในวันนั้นจะต้องตายในวันนั้น” และ “ทำไม? ต้องบวช  ถ้าไม่บวช ทำไม? จะต้องตาย” จะกลายเป็นประเด็นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าเราได้นำ “ทฤษฎีทางเลือกที่เป็นไปได้” มาอธิบาย

ผู้เขียนเห็นว่า “คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผล จะบวช หรือจะตายในวันนั้น หรือวันไหนๆ” ขึ้นอยู่กับ “การเลือก”  ซึ่งเป็นการเลือกที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความพร้อมของเหตุปัจจัย”  อันเป็นความพร้อมที่ยืนอยู่บนฐานของตัวแปรในหลายๆ ด้าน เช่น คุณค่าภายในพร้อมหรือไม่? สังขารพร้อมหรือไม่?  กรรมที่สร้างมาพร้อมที่จะให้ดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่? การที่เขาเลือกจะอยู่ หรือตายนั้น จะยืนอยู่บนฐานของความเป็นได้ของเหตุปัจจัยชุดดังกล่าวเป็นตัวกำหนด  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวกำหนดแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการเลือกของนางเขมา พระยสะ และอุคคเสนเสฏฐีบุตร ทำไม? การเลือกของท่านจึงเป็นไปได้  เหตุผลก็เพราะว่า ทั้งสองท่านมีความพร้อมทั้งในแง่ของกายภาพ จิตภาพ และอดีตกรรม  แต่การเลือกของนายทารุจิยะกลับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหตุผลก็เพราะว่าขาดองค์ประกอบของอดีตกรรม แม้ว่าความพร้อมในแง่ของกายภาพ และจิตภาพจะพร้อมก็ตาม   ในขณะที่สันตติมหาอำมาตย์ และพระเจ้าสุทโธทนะมีความพร้อมในแง่ของจิตภาพ แต่สังขารไม่เอื้อที่จะเลือกเส้นทางของการบวชได้  ฉะนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะสรุปว่า เกณฑ์ที่จะชี้วัดว่า “จะบวช หรือจะตาย” นั้น ขึ้นอยู่กับ “การเลือก” แต่การเลือกนั้น ต้องเป็นการเลือกที่ “เป็นไปได้”  และการเลือกที่เป็นไปได้นั้น จะต้องสอดรับกับ “ตัวแปรแห่งเหตุปัจจัย”   ซึ่งตัวแปรแห่งเหตุปัจจัยนี่เองจะเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของ “การเลือกที่เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผล หรือการใช้อุปมามายืนยันข้อมูลชั้นต้นไม่ว่าจะเป็นการให้เหตุผลว่า คฤหัสถ์มีกำลังทราม หรือเป็นหีนเพศ  ซึ่งมีความอ่อนทั้งในแง่ของเพศ และองค์ธรรมกล่าวคือ ศีล ๕   ผู้เขียนเห็นว่า การให้เหตุผลในลักษณะนี้  อาจจะ “สมเหตุสมผล” และ “ยอมรับได้”  ในสมัยนั้น  แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย  การให้เหตุผลในลักษณะเช่นนี้  อาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “เพียงพอหรือไม่? ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ”  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำ  “ทฤษฎีความไม่สมบูรณ์”[๕๖]  ของรองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทามาอธิบายประเด็นนี้  จะพบว่า ข้อเท็จจริง (Fact) ที่พระนาคเสนนำมากล่าวอ้างอาจจะสมบูรณ์ และในขณะเดียวกัน การให้เหตุผลเพื่อรองรับข้อเท็จจริงดังกล่าวของพระาคเสนอาจจะ “สมบูรณ์” ในยุคนั้น เพราะการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อตอบคำถามของคนในยุคนั้น ซึ่งการตอบ หรือการให้เหตุผลเพียงเท่านั้นอาจจะทำให้คนในยุคนั้นยอมรับได้  และที่บอกว่า อาจจะไม่สมบูรณ์ในยุคนี้  ก็เพราะว่าการให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบคำถามของคนยุคนี้ จึงทำให้คนในยุคนี้มองว่าการให้เหตุผลดังกล่าว “ไม่สมบูรณ์” เพียงพอที่จะตอบคำถามของคนในยุคนี้ได้ ดังที่เราจะเห็นได้จากการตั้งข้อสังเกตของพุทธทาสภิกขุ อาจารย์วัชระและพระมหานรินทร์ เป็นต้น  ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลบางประการนั้น อาจจะ “มีขีดจำกัด” ในแง่ของ “เงื่อนเวลา”  แต่  “ไม่มีขีดจำกัด” ในแง่ของ “ข้อเท็จจริง”

 

. เอกสารอ้างอิง

 

ปราณี  สำเริงราชย์.  มิลินทปัญหา เล่มที่ ๓ . กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๔๑.

ปุ้ย  แสงฉาย. มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา.  กรุงเทพฯ: .ธรรมภักดี, ๒๕๒๘.

พระธัมมปาลเถระ. มัชฌิมปัณณาสฏีกา. กรุงเทพ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐.

พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป..). วิมุตติรัตนมาลี เล่ม ๑. กรุเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕๗.

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์  ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๘.

พระมหานรินทร์  สุธรรม. “สมณเพศกับเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท”.  วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕.

พุทธทาสภิกขุ. จดหมายจากสวนโมกข์.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ....

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาเตปิฏกํ เล่มที่ ๔,,๑๒,๑๖,๑๙,๒๐,๒๕,๓๓,๓๗.  กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2500.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มิลินฺทปญฺหปกรณํ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิญญาณ,

มหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา (อฏฺฐโม ภาโค).  กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒. รุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี  อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ชาตัฎฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย เถรีคาถา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ. ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา  ปริเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ-มรณุปัตติจตุกกะ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ไทยรายวัน กราฟิค เพลท, ๒๕๔๖.

มหามกุฎราชวิทยาลัย (แปล) มลินทปัญหา.  กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๕.

สมภาร  พรมทา, หนังสือพิมพ์มติชน:  ๑๔ กันยายน .. ๒๕๔๕.

สัมภาษณ์ ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗.

เสถียร  พันธรังษี. ศาสนาเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

สัมภาษณ์  อาจารย์เสรี  อาจสาคร. อาจารย์ประจำกองงานพระไตรปิฏก, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗.

Bhikkhu Bodhi. The Questions of King Milinda Past. Candy: Buddhist Publication Society, ๒๐๐๑.

Tambain, S.J.. Buddhism and the spirit cults in North East Thailand. New York: Cambridge University Press, ๑๙๗๐.

Rhys Davids. T.W.. The Questions of King Milinda Past II. Delhi: Indological Publishers & Booksellers, ๑๘๙๔.

http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-11.htm#

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

. ภาคผนวก ก.

เสฏฐธัมมปัญหา[๕๗]

 

                " ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า พระธรรมเป็นของประเสริฐสุด ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น แต่ตรัสไว้อีกว่า คฤหัสถ์ถึงความเป็นพระโสดาบัน ละอบายภูมิทั้ง ๔ แล้ว ถึงความเห็นแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ก็ยังกราบไหว้ลุกรับ ซึ่งพระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนอยู่

ถ้าถือว่าพระธรรมประเสริฐสุดจริง คำที่กล่าวถึงการที่คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้นก็ผิดไป   ถ้าคำว่า คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนนั้นถูก คำว่าพระธรรมประเสริฐสุดในโลกนั้นก็ผิดไป  ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยาก ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิดพระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไว้ว่า  "ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกต้องทั้งนั้น แต่ว่าเหตุที่ให้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้น มีอยู่ต่างหาก

เหตุนั้นคืออะไร ? คือ สมณกรณธรรม ๒๐ อย่าง และ เพศ ๒ อย่าง  สมณกรณธรรม ๒๐ นั้นคือ

. มีภูมิอันประเสริ

. มีความนิยมอันเลิศ

. ความประพฤติอันดีงาม

. ธรรมเป็นเครื่องอยู่

. ความสำรวมอินทรีย์

. ความระวังปาฏิโมกข์

. ความอดทน

. ความยินดีในธรรมอันดี

. ความยินดียิ่งในธรรมอันแท้

๑๐. ความประพฤติในธรรมเที่ยงแท้

๑๑. ความอยู่ในที่สงัด

๑๒. ความละอาย

๑๓. ความสะดุ้งกลัว

๑๔. ความเพียร

๑๕. ความไม่ประมาท

๑๖. บำเพ็ญสิกขา

๑๗. ตั้งใจเล่าเรียนสอบถาม

๑๘. ยินดียิ่งในศีลเป็นต้น

๑๙. ไม่มีความอาลัย

๒๐. ทำสิกขาบทให้เต็ม

 

เพศ ๒ นั้นได้แก่ นุ่งห่มผ้าเหลือง ๑ มีศีรษะโล้น ๑   ภิกษุย่อมถือสรณกรณธรรม ๒๐ กับเพศ ๒ ไว้อย่างนี้ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิของพระเสขะ ชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ สมควรเรียกว่าผู้ถึงซึ่งระหว่างแห่งภูมิอันประเสริฐ ผู้ถึงซึ่งที่ตั้งแห่งเหตุอันจะให้เป็นพระอรหันต์  เพราะฉะนั้นอุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้ ลุกรับ พระภิกษุปุถุชนด้วยคิดว่า  ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสมณะ คุณวิเศษอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ๑  คิดว่าท่านเข้าถึงความเป็นบริษัทอันเลิศ และได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกข์อุทเทส เราไม่ได้ฟัง ๑   ท่านให้บรรพชาอุปสมบทได้ อาจให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ เราให้บรรพชาอุปสมบทไม่ได้ ๑   ท่านเป็นผู้ปฏิบัติในสิกขาบาท อันไม่มีประมาณ เราไม่ได้ปฏิบัติ ๑  ท่านประกอบด้วยเพศสมณะ ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ เราห่างไกลจากเพศนั้น ๑   ท่านไม่ปล่อยขนรักแร้ เล็บมือเล็บเท้า หนวดเคราให้รกรุกรัง ทั้งไม่หวั่นไหวในกามารมณ์ ไม่ได้ประดับประดาร่างกาย ไม่ได้ลูบไล้เครื่องหอม ส่วนเรายังยินดีอยู่ในการตกแต่งร่างกาย ๑   

ขอถวายพระพร สมณกรณธรรม ๒๐ กับ เพศ ๒ นั้นย่อมมีแก่ภิกษุ พระภิกษุนั้นย่อมทรงธรรมเหล่านั้นไว้ และให้ผู้อื่นศึกษาในธรรมเหล่านั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบัน ควรกราบไหว้ลุกรับภิกษุปุถุชน ด้วยคิดว่า ความรู้ความดีเหล่านั้น ไม่ได้มีอยู่แก่เรา "

" ขอถวายพระพร เนื้อความข้อนี้ควรกำหนดทราบด้วยอุปมาอย่างเช่นว่า พระราชโอรสย่อมศึกษาวิชาในสำนักปุโรหิต เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นก็ได้อภิเษกเป็นพระราชา พระราชกุมารนั้นย่อมกราบไหว้ลุกรับอาจารย์ด้วยคิดว่า เป็นผู้สอนวิชาให้ฉันใดพระภิกษุก็เป็นผู้ให้ศึกษา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความสำรวม เพราะฉะนั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบัน จึงควรกราบไหว้ ลุก รับ ภิกษุปุถุชน

อีกประการหนึ่ง ขอจงทราบว่า ภูมิของภิกษุเป็นภูมิใหญ่ ไม่มีภูมิอื่นเสมอ เป็นภูมิไพบูลย์ด้วยปริยายอันนี้ ถ้าอุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันได้สำเร็จพระอรหันต์ มีคติอยู่ ๒ คือต้องปรินิพพานในวันนั้น หรือเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานั้นเป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูง คือภูมิของภิกษุ ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหานี้พระผู้เป็นเจ้าผู้มีญาณ ผู้มีกำลัง ผู้มีวุฒิยิ่ง ได้ชี้แจงไว้แล้ว ผู้อื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครสามารถให้รู้แจ้งได้ "

 

 

 

 

 

 

 

 

. ภาคผนวก ข.

คิหิอรหัตตปัญหา[๕๘]

 

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า  " ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่า " คฤหัสถ์ผู้สำเร็จอรหันต์แล้ว ย่อมมีคติ ๒ ประการ คือบรรพชาในวันนั้น ๑ ปรินิพพานในวันนั้น ๑ ไม่อาจเลยวันนั้นไปได้ " ดังนี้    ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าในวันนั้น ไม่ได้อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตร จีวร ผู้สำเร็จอรหันต์แล้วนั้นจะบรรพชาเอง หรือเลยวันนั้นไป หรือมีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งมาให้บรรพชา จะได้หรือไม่ หรือต้องปรินิพพานไป ? "

พระนาคเสนตอบว่า  " ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งบรรพชาเองไม่ได้ ถ้าบรรพชาเองก็ชื่อว่า " ไถยสังวาส " ( ลักเพศ คือปลอมบวช ) และเลยวันนั้นไปก็ไม่ได้ จะมีพระอรหันต์องค์อื่นมาหรือไม่มีก็ตาม ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น"

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นความเป็นพระอรหันต์ ก็ทำให้สิ้นชีวิตน่ะซิ "

" ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ถึงสำเร็จอรหันต์แล้วต้องบรรพชา หรือปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่มีกำลังพอ ข้อที่สิ้นชีวิตไปนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นเพราะโทษแห่งเพศคฤหัสถ์ ไม่มีกำลังพอต่างหาก ขอถวายพระพร

ธรรมดาโภชนาหารย่อมรักษาอายุ รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายไว้ แต่ว่าโภชนาหารนั้น ย่อมทำให้สิ้นชีวิตได้ด้วยไฟย่อยอาหารไม่พอ การสิ้นชีวิตนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งอาหารนั้น เป็นโทษแห่งไฟย่อยอาหารไม่พอฉันใด การที่คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ข้อนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นโทษแห่งเพศคฤหัสถ์มีกำลังไม่พอฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุคคลยกเอาก้อนศิลาหนัก ๆ วางลงบนฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ ฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ นั้น ก็ต้องจมลงไปเพราะกำลังไม่พอฉันใด ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนบุรุษผู้มีบุญน้อยเมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่แล้ว ก็ไม่อาจรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ฉันใด คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อาจรับรองความเป็นอรหันต์ไว้ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

 

 

๑๐. ประวัติของผู้เขียน

 

ชื่อ                           พระมหาหรรษา

ฉายา                      ธมฺมหาโส

นามสกุล               นิธิบุณยากร

วัน/เดือน/ปี เกิด  ๑๕  มิถุนายน  ๒๕๑๕

มาตุภูมิ                  บ้านท่าคอยนาง  .สวาย   .ปรางค์กู่  .ศรีสะเกษ

การศึกษา             

q       นักธรรมเอก,  เปรียญธรรม ๖ ประโยค

q       พุทธศาสตรบัณฑิต (ปรัชญา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

q       ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

q       หลักสูตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโครงการสิ่งแวดล้อมโดยสันติวิธี  สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรความรู้พื้นฐานด้านการป้องกัน และไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยสันติวิธี  กรมส่งเสริมคุณภาพ

สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และสถาบันพระปกเกล้า

q       หลักสูตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการขอโทษ: หลักการ ปฏิบัติการ และนโยบาย  สถาบันพระปกเกล้า

q       นักศึกษาประกาศนียบัตรหลักสูตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความ ขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะด้วยสันติวิธี รุ่นที่ ๒ สถาบันพระปกเกล้า

ตำแหน่ง                เลขานุการ/ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหม่

จำพรรษา              วัดใหม่ แขวงบางขุนนนท์  เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

                                -๒๘๘๒–๔๗๙๘ Email: hunsa15@hotmail.com



[๑] คำว่า “คฤหัสถ์” ในบริบทนี้ หมายถึง “ผู้ครองเรือน” ซึ่งยังต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องกามอยู่ ดังจะเห็นได้จากรูปวิเคราะห์ที่ว่า “คิหิพนฺธนานีติ  กามพนฺธนานิ. กามา หิ  คิหีนํ  พนฺธนานิ” (สุตฺตนิ.. /๔๔/๘๕,             อป../๑๐๐/๒๐๕)

[๒] คำว่า “บวช” ในที่นี้  หมายถึง  บวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ ภิกษุ สามเณร ภิกษุณี  และสามเณรี  (.ฏี. /๑๘๖/๑๐๘)

[๓] คำว่า “วัน” นั้น นับตั้งแต่อรุณรุ่งของวันหนึ่งไปจนถึงอรุณรุ่งของอีกวันหนึ่ง.

[๔] มหามกุฎราชวิทยาลัย (แปล), มลินทปัญหา (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๕), หน้า ๓๙๔–๓๙๕.

[๕] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๔, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๓๐๑.

[๖] พระธัมมปาลเถระ, มัชฌิมปัณณาสฏีกา (กรุงเทพ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐), หน้า ๑๐๘–๑๐๙.

[๗] มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา  ปริเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ-มรณุปัตติจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: ไทยรายวัน กราฟิค เพลท, ๒๕๔๖), หน้า 30.

[๘] พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป..), วิมุตติรัตนมาลี เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕,  หน้า ๔๔๗–๔๕๓.

[๙] พุทธทาสภิกขุ, จดหมายจากสวนโมกข์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ...), หน้า ๑๐๙.

[๑๐]  ขีณาสวภาวปัญหา ปรากฏอยู่ใน นิปปปัญจวรรค  ซึ่งอยู่ในกัณฑ์ที่ ๕  อันเป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วย “อนุมานปัญหา” ดูเพิ่มเติมใน ปรานี  สำเริงราชย์,  มิลินทปัญหา เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๔๑).

[๑๑] สัมภาษณ์ ผศ.ดร.วัชระ  งามจิตรเจริญ, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗.

[๑๒] พระมหานรินทร์  สุธรรม, “สมณเพศกับเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท”,  วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕,  หน้า ๑๙๐.

[๑๓] “Wenerable Nagasena, you  say…”Bhikkhu Bodhi, The Questions of King Milinda  (Candy: Buddhist Publication Society, ๒๐๐๑),  p.๑๑๙.

[๑๔] “Wenerable Nagasena, your people say…” T.W. Rhys Davids, The Questions of King Milinda Past II (Delhi: Indological Publishers & Booksellers, ๑๘๙๔), p.๙๖.

[๑๕] เรื่องเดียวกัน, อ้างแล้ว, หน้า ๒๖๙–๒๗๓.

[๑๖] ปราณี  สำเริงราชย์,  มิลินทปัญหา เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๔๑), หน้า ๔๒–๔๓.

[๑๗] เรื่องเดียวกัน, อ้างแล้ว, หน้า ๓๙๔–๓๙๖.

[๑๘] ดู “เสฏฐปัญหา” โดยละเอียดในภาคผนวก ก.  หน้า  ๒๖.

[๑๙] ดูรายละเอียดของอุปมาอุปมัย และ “ขีณาสวภาวปัญหา” โดยละเอียด  ในภาคผนวก ข. หน้า  ๒๘.

[๒๐] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๔, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐๑.

[๒๑] พระธัมมปาลเถระ, มัชฌิมปัณณาสฏีกา อ้างแล้ว, หน้า ๑๐๘–๑๐๙.

[๒๒] มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา  ปริเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ-มรณุปัตติจตุกกะ, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐.

[๒๓] พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป..), วิมุตติรัตนมาลี เล่ม ๑ (กรุเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕๗,  หน้า ๔๔๗–๔๕๓.

[๒๔] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๔, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐๑.

[๒๕] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา (อฏฺฐโม ภาโค)  (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗),หน้าที่ ๒๖.

[๒๖] สารัตถะ หมายถึง มีสภาพจิตที่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ และมีสภาพจิตหลุดพ้นไปจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน  สามารถมองเห็นถึงสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

[๒๗] ที.สี. /๕๙/๑๐๒, .มู. ๑๒/๒๓๙/๓๓๒, สํ.นิ. ๑๖/๒๔๒/๕๒๓.

[๒๘] มหามกุฎราชวิทยาลัย,  อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๔๓๑.

[๒๙] ขุ.อุ (ไทย). ๒๕/๑๐/๑๘๖.  ดูเพิ่มเติมใน  มหามกุฎราชวิทยาลัย, ปรมัตถทีปนี  อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖), หน้า ๑๕๔.

[๓๐] อภิ.. ๓๗/๘๖๗/๓๖๐.

[๓๑] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ปรมัตถทีปนี  อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๕๖.

[๓๒] มหามกุฎราชวิทยาลัย,  อรรถกถาขุททกนิกาย  ชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๑๔๖.

[๓๓] ที.ปา. (ภาษาไทย) ๑๑/๒๘๗/๒๒๖.

[๓๔] อภิ.. ๓๗/๘๗/๓๖๐.

[๓๕] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์  ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๘), หน้า ๖๔.

[๓๖] องฺ.เอก. (ภาษาไทย). ๒๐/๑๕๓/-๑๗๓/๓๔–๓๖.

[๓๗] สํ.. ๑๙/๒๙๖/๗๗.

[๓๘] พระมหานรินทร์  สุธรรม, “สมณเพศกับเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท”,  วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕, หน้า ๑๗๗.

[๓๙] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[๔๐] สัมภาษณ์ ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗.

[๔๑] มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา  ปริเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ-มรณุปัตติจตุกกะ, อ้างแล้ว, หน้า 30.

[๔๒] วิ.มหา. (ภาษาไทย) /๓๒/๔๐.

[๔๓] จากกรณีศึกษา นายพาหิยะทารุจิยะได้บรรลุอรหันต์แล้ว และปรารถนาที่จะบรรพชาอุปสมบท แต่เนื่องจากมีกรรมเก่า จึงทำให้ตัวเองไม่ได้มีโอกาสบวช  พระเจ้าสุทโธทนะ และสันตติมหาอำมาตย์ ต้องนิพพานเพราะสังขารไม่อำนวย ส่วนนางเขมา และพระยสะนั้นมีความพร้อมทั้งสองด้าน กล่าวคือ สังขาร และกรรมเก่าจึงทำให้มีโอกาสได้บวช

[๔๔] สัมภาษณ์, ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗.

[๔๕] พระมหานรินทร์  สุธรรม, “สมณเพศกับเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท”,  วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕, หน้า ๑๙๐.

[๔๖] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๓, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย,๒๕๔๓), หน้า ๑๒๐.

[๔๗] ขุ.ธมฺ. (บาลี) ๒๕/๑๐/๑๐๓.

[๔๘] มหามกุฎราชวิทยาลัย, ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถาขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๔, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐๑.

[๔๙] ขุ.. (ภาษาไทย). ๓๓/๓๗๐–๓๗๓๑๔๓๖/๔๓๗.

[๕๐] พุทธทาสภิกขุ, จดหมายจากสวนโมกข์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๐๙.

[๕๑] คัมภีร์ดั้งเดิมสายอภิธรรมนั้น  ได้ตีความในประเด็นนี้ว่า “ต้องตายภายใน ๗ วัน”  แต่เมื่อไม่สามารถที่จะหาหลักฐานจากคัมภีร์ชั้นต้นมาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวได้ จึงได้เปลี่ยนมายอมรับข้อมูลตามที่ปรากฎในคัมภีร์อรรถกถาแทน (สัมภาษณ์  อาจารย์เสรี  อาจสาคร, อาจารย์ประจำกองงานพระไตรปิฏก, ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗)

[๕๒] มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา  ปริเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ กัมมจตุกกะ-มรณุปัตติจตุกกะ, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐.

[๕๓] พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป..), อ้างแล้ว, หน้า ๔๔๙.

[๕๔] เสถียร  พันธรังษี, ศาสนาเปรียบเทียบ, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔), หน้า ๖๖.

[๕๕] Tambain, S.J., Buddhism and the spirit cults in North East Thailand (New York: Cambridge University Press, ๑๙๗๐), p. ๖๓.

[๕๖] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน หนังสือพิมพ์มติชน ( ๑๔ กันยายน .. ๒๕๔๕) : หน้า .

[๕๗] ปุ้ย  แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา (กรุงเทพฯ: .ธรรมภักดี, ๒๕๒๘), หน้า ๒๒๕–๒๒๘. ดูเพิ่มเติมใน http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-11.htm#

[๕๘] ปุ้ย  แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, อ้างแล้ว, หน้า ๓๐๒–๓๐๓. ดูเพิ่มเติมใน http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-15.htm#

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕