ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

หน้าหลัก
ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก
   
 พระพรหมคุณากรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)*
หน้า 1l 2

     ก่อนจะพูดถึงพระไตรปิฎก ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระพุทธศาสนาคือ อะไร
     พระพุทธศาสนา ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า
     ขอให้นึกย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็คือ ต้องการมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จึงเป็นผู้ฟังที่เราเรียกว่าเป็นสาวก คำว่าสาวกนั้น ก็แปลว่าผู้ฟังนั่นเอง
เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาจึงมีความหมายทั้งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น

ถึงความหมายขยายไกล ก็จับหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้

ต่อมาก็มีการจัดตั้งเป็นชุมชน เป็นสถาบัน เป็นองค์กร หมายความว่า คนมารวมกันเรียน มาฟังคำสั่งสอน ขยายออกไป เรียกว่าเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติ ทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการจัดสรรดูแลต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายที่มาอยู่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนี้ ได้เรียนได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างได้ผล การจัดสรรดูแลให้มีการเล่าเรียน สดับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาด้วย ความหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยกว้างขวางออกไป
     พอถึงขั้นจัดตั้ง การดูแลให้มีการเล่าเรียนและปฏิบัติ ก็เลยรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นชุมชน เป็นองค์กร เป็นสถาบันหรืออะไรๆ ที่กว้างขวางออกไป ความหมายของพระพุทธศาสนาก็ขยายออกไป เป็นอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็เลยลืมไปเลย ไม่รู้ว่าตัวพระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ทบทวนกันไว้ให้ดี ต่อไปก็จับไม่ถูก ว่าที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่จุดเริ่ม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง
     เพราะฉะนั้น จะต้องจับตัวพระพุทธศาสนาไว้ ให้อยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีการปฏิบัติ มีการเชื่อถือกันไปมากมายใหญ่โต แต่เสร็จแล้วไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา
     ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน เป็นอันว่า คนที่มาหาพระพุทธศาสนา ก็คือต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่เอาอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้ต้องการคำสั่งสอนของคนอื่น เป็นต้น
     เมื่อเราต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล จะทำอย่างไร เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ในวัดเดียวกับพระองค์ ก็ไปหาไปเฝ้าพระองค์ ไปที่ธรรมสภาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรม ไปฟังพระองค์ หรือซักถามพระองค์ ทูลถามปัญหาต่าง ๆ ให้พระองค์ตรัสตอบให้ ถ้าอยู่ไกลก็เดินทางมา บางคนมาจากต่างประเทศ ขี่ม้า หรือว่านั่งเกวียน เดินทางกันมาเป็นวัน เป็นเดือน ก็เพียงเพื่อมาฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอน

จุดเริ่มความคิดรวบรวมรักษาพระพุทธศาสนา ต้นแบบของการสังคายนา

ต่อมา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์จากเราไปแล้ว ถ้าเราต้องการพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเอาจากที่ไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็เป็นอันว่าหมดสิ้น
     ฉะนั้น เรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก คือการรวบรวมและบันทึกจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ต่อจากนั้นก็นำสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าทำอย่างไร พวกเราเวลานี้จึงโชคดีที่มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนา
     ขอย้อนไปเล่าว่า แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าเองและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ก็ได้คำนึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น ทั้งๆที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้มีการริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ ซึ่งเราเรียกว่าสังคายนา
สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี เป็นพระสูตรหนึ่งเลย
     ตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร
     ครั้งนั้น ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙)
     เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนนั้น เกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน
     เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.๑๑/๒๒๕-๓๖๓/๒๒๔-๒๘๖)
     หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร แปลง่ายๆ ว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ
     นี้เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกสูงสุด คือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเอง ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็เป็นอันว่าพระสารีบุตรไม่ได้อยู่ที่จะทำงานนี้ต่อ แต่ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ดำเนินงานนี้ต่อมาโดยไม่ได้ละทิ้ง กล่าวคือพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้ใหญ่ มีอายุพรรษามากที่สุด

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน งานรักษาพระพุทธศาสนาก็เริ่มทันที

พระมหากัสสปเถระนั้นทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์จำนวนมาก
     เมื่อได้ทราบข่าวนั้น ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น ก็มีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม พระพุทธเจ้าปรินิพพานนี้ก็ดีไปอย่าง คือว่า ตอนที่พระองค์ยังอยู่นั้น พระองค์ก็คอยดูแล คอยกวดขัน ตรัสห้ามไม่ให้ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ แนะนำให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ พวกเราก็ลำบาก ต้องคอยระมัดระวังตัว ทีนี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่ พวกเราคงจะทำอะไรได้ตามชอบใจ ชอบอะไรก็ทำ ไม่ชอบอะไรก็ไม่ทำ
     พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็นึกคิดอยู่ในใจ แต่ไม่ได้กล่าวออกมา คือท่านนึกคิดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ แค่นี้ ก็ยังมีคนคิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา
     ท่านวางแผนไว้ในใจว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรงเป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า จะชวนให้มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนา
     แต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปที่ปรินิพพาน และจัดการเรื่องการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระให้เสร็จเสียก่อน ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย
     เมื่องานจัดการเรื่องพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ดำเนินงานตามที่ท่านได้คิดไว้ คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่ เพื่อจะทำการสังคายนา
     ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของงานใหญ่แห่งการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง ๓ เดือน ซึ่งได้ที่ประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ เมืองราชคฤห์ พระเจ้าแผ่นดินตอนนั้นทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ซึ่งได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนา ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่
     เมื่อจะทำสังคายนา ก็มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมประชุม จึงคัดเลือกได้พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ที่เห็นร่วมกันว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถ เช่น เป็นหัวหน้าหมู่คณะ เป็นผู้ได้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้มากและชัดเจน ในการประชุมนี้ พระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถาม
     คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน เรียกว่าธรรมส่วนหนึ่ง และวินัยส่วนหนึ่ง
     ธรรม คือหลักคำสอนว่าด้วยความจริงของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งข้อประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำตรัสแสดงไว้โดยสอดคล้องกับความจริงนั้น
     ส่วนวินัย คือประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเป็นอยู่ หรือกฎระเบียบต่างๆ ของสงฆ์ ที่จะดำรงไว้ซึ่งภาวะอันเกื้อหนุนให้ภิกษุและภิกษุณีประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้น

อย่างได้ผลดี และรักษาพระศาสนาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพระพุทธศาสนา ด้วยคำสั้นๆ ว่า ธรรมวินัย

ฝ่ายธรรมนั้น ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะติดตามพระองค์ไป อยู่ใกล้ชิด เป็นผู้อุปัฏฐากของพระองค์ ก็คือพระอานนท์ ที่ประชุมก็ให้พระอานนท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงแก่ที่ประชุม หรือเป็นหลักของที่ประชุมในด้านธรรม
     ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย
     ทั้งหมดนี้เราก็เรียกกันง่ายๆ ว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
     เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มประชุมกัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยมีพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เริ่มการประชุมเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน การประชุมดำเนินอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จสิ้น แสดงว่าเป็นงานที่ใหญ่มาก
     เรื่องการทำสังคายนาครั้งแรกนี้ ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ผู้ต้องการความละเอียดสามารถไปอ่านได้เอง (วินย.๗/๖๑๔-๖๒๘/๓๗๙-๓๙๔)

เมื่อสังคายนาพระธรรมวินัย ก็ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นมา

วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดพร้อมกัน
     การสวดพร้อมกันนั้น แสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วย และเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วยหมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ใช้เวลาถึง ๗ เดือน
     การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า “สังคายนา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกันคายนา หรือคีติ (เทียบกับคีต ในคำว่าสังคีต) แปลว่าการสวด สํ แปลว่าพร้อมกันก็คือสวดพร้อมกัน สังคายนา ถ้าเป็นชาวบ้านก็ร้องเพลงพร้อมกัน
     เป็นอันว่า ผ่านเวลาไป ๗ เดือน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้ทำสังคายนา ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมติร่วมกันได้เรียบร้อย คำสอนที่รวบรวมประมวลไว้นี้ เป็นที่มั่นใจ เพราะทำโดยท่านที่ได้ทันรู้ทันเห็นทันเฝ้าทันฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
     คำสอนที่ลงมติกันไว้อย่างนี้ซึ่งเรานับถือกันมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการของพระเถระ คำว่า เถระ ในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ว่าไปแล้วนี้
     พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าวมานี้ เรียกว่าเถรวาท หมายความว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมวินัย ทั้งถ้อยคำและเนื้อความอย่างไรที่ท่านสังคายนากันไว้ ก็ทรงจำกันมาอย่างนั้น ถือตามนั้นโดยเคร่งครัด เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาแม้แต่ตัวภาษาเดิมด้วย หมายความว่ารักษาของแท้ของจริง ภาษาที่ใช้รักษาพระธรรมวินัยไว้นี้ เรียกว่าภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คำสอนของเถรวาทก็รักษาไว้ในภาษาบาลีตามเดิมคงไว้อย่างที่ท่านสังคายนา

พระธรรมวินัยสำคัญเพียงใด จึงทำให้ต้องมีการสังคายนา

ธรรมวินัย หรือหลักคำสอนที่สังคายนาไว้นี่แหละ เป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะได้บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนา ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนนั้น พร้อมทั้งดูแลจัดสรรทำการต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เรียนรู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น
     การปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสไว้ คือเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลีว่า
     โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. (ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)
     แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป
     หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์นี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์
     เพราะฉะนั้น การสังคายนาจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพุทธพจน์ ที่เหมือนกับได้ทรงฝากฝังสั่งเสียไว้ว่า ให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์เป็นศาสดาแทนพระองค์ด้วย
     เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ไว้ให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่สังคายนาไว้ ก็คือรักษาพระศาสดาของเราไว้ คือรักษาพระพุทธเจ้าไว้นั่นเอง

พระธรรมวินัย มาอย่างไรจึงเป็นพระไตรปิฎก

ขอกล่าวต่อไปว่า การสังคายนาที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ หรือประมวลพระธรรมวินัยไว้นั้น นอกจากประมวลคือรวมมาแล้ว ก็มีการจัดหมวดหมู่ไป ด้วย การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา กับทั้งเกื้อกูลต่อการศึกษาค้นคว้าด้วย

นอกจากแบ่งโดยส่วนใหญ่เป็นธรรมกับวินัยแล้ว ก็ยังมีการจัดแยกซอยย่อยออกไปอีก

ธรรมนั้น แยกย่อยออกไปเป็น ๒ ส่วน เพราะธรรมนั้นมากมายเหลือเกิน ต่างจากวินัยซึ่งมีขอบเขตแคบกว่า เพราะวินัยเป็นเรื่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสังฆะ คือคณะสงฆ์ไว้ เพื่อให้ชุมชนแห่งพระภิกษุ และพระภิกษุณี ดำรงอยู่ด้วยดี แต่ธรรมเป็นคำสอนที่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด สำหรับพุทธบริษัททั้ง ๔

เนื่องจากธรรมมีมากมาย จึงมีการแบ่งหมวดหมู่ออกไปอีก โดยแยกเป็นว่า

๑. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น คือเสด็จไปพบคนโน้น เขาทูลถามเรื่องนี้ พระองค์ก็ตรัสตอบไป เสด็จไปพบชาวนา ทรงสนทนาโต้ตอบกับเขา จนจบไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เสด็จไปเจอกับพราหมณ์ ได้สนทนากับเขา หรือตอบคำถามของเขา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไปเจอกษัตริย์หรือเจ้าชาย ก็สนทนากันอีกเรื่องหนึ่ง ธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคลต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ละเรื่องๆ จบไปเรื่องหนึ่งๆ นี่ เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ
     ธรรมมาในรูปนี้มากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่ว่าพระองค์ได้ตรัสแก่บุคคลประเภทใด เพื่อทรงชี้แจงอธิบายหรือตอบปัญหา เรื่องไหนตรงกับพื้นเพภูมิหลังความสนใจ และระดับความรู้ความเข้าใจหรือระดับสติปัญญาของเขา ฉะนั้นธรรมแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเนื้อหาแตกต่างกันมาก พอจบเรื่องนี้ที่ตรัสแก่ชาวนา ซึ่งเป็นธรรมระดับหนึ่ง เพียงเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นธรรมคนละด้านคนละระดับกันเลย
     ตัวอย่างเช่นตรัสกับชาวนา เป็นเรื่องการทำมาหากิน หรือเรื่องการหว่านพืช ก็อาจจะตรัสเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร หรืออาจจะเทียบกับการปฏิบัติของพระภิกษุก็สุดแต่ แต่พอไปอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์สนทนากับพราหมณ์ ก็อาจจะตรัสเรื่องวรรณะ หรือเรื่องไตรเพทของพราหมณ์ หรือเรื่องการบูชายัญ ดังนี้เป็นต้น
     ธรรมที่ตรัสแบบนี้ พอเปลี่ยนเรื่องไป เนื้อหาก็เปลี่ยนไป ห่างกันมาก ฉะนั้นเนื้อหาสาระจึงไม่ไปตามลำดับ แต่ละเรื่องๆ นั้นก็เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ
     ธรรมที่ตรัสแสดงแบบนี้ คือตรัสแสดงแก่บุคคล โดยปรารภเรื่องราว เหตุการณ์ สถานการณ์คนละอย่างๆ นี้ รวมไว้ด้วยกัน จัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า พระสูตร
          ๒. ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นวิชาการล้วนๆ คือยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายให้ชัดเจนไปเลย เช่นยกเรื่องขันธ์ ๕ มา ก็อธิบายไปว่าขันธ์ ๕ นั้น คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรๆ อธิบายไปจนจบเรื่องขันธ์ ๕ หรือว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็อธิบายไปในแง่ด้านต่างๆ      จนกระทั่งจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า พระอภิธรรม ส่วนวินัยก็ยังคงเป็นวินัยอยู่เท่านั้น เรียกกันว่า พระวินัย
     ตอนนี้จะเห็นว่า เมื่อแยกธรรมเป็น ๒ ส่วน คือเป็นพระสูตรกับอภิธรรม แล้วมีวินัยเดิมอีกหนึ่ง ธรรมเป็น ๒ วินัย ๑ รวมกันก็เป็น ๓ ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยอีกแบบหนึ่ง เป็นปิฎก ๓ ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก
     ปิฎก แปลว่าตะกร้า หรือกระจาด โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นที่รวบรวม เพราะกระจาด ตะกร้า กระบุง บุ้งกี๋นั้น เป็นที่รวบรวมทัพสัมภาระ ในที่นี้ก็คือรวบรวมจัดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นประเภทๆ เป็นหมวดๆ จึงเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า ไตรปิฎก คือ
          ๑. พระวินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมพระวินัย ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์กติกา สำหรับรักษาภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ไว้
          ๒. พระสุตตันปิฎก เป็นที่รวบรวมพระสูตรทั้งหลาย คือธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง เป็นแต่ละเรื่องๆ ไป
          ๓. พระอภิธรรมปิฎก เป็นที่รวบรวมคำอธิบายหลักคำสอน ที่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นหลักการแท้ๆ หรือเป็นวิชาการล้วนๆ

พระไตรปิฎกสำคัญเพียงใด

เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็รวมความได้ว่า พระไตรปิฎก ก็คือที่รวบรวมพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า นี่แหละคือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา แล้วก็เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้
     พร้อมกันนั้นก็ใช้คำสั่งสอน คือพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้แหละ เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้รวบรวมประมวลสังคายนาและรักษาสืบต่อไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนจากนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา
     สิ่งที่เราเล่าเรียนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวินัยของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การบวช การมีโบสถ์ การสร้างกุฏิ การกรานกฐิน และสังฆกรรมต่างๆ การใช้ไตรจีวรของพระภิกษุ การที่พระภิกษุทำอะไรได้หรือไม่ได้ การที่จะต้องอาบัติต่างๆ มีปาราชิกเป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านจะทำบุญทำทาน คำว่าทานก็ดี คำว่าบุญก็ดี เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาไตรสิกขา ภาวนาต่างๆ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ อริยสัจจ์ ตลอดถึงพระนิพพาน ก็ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้น ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราก็ไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านี้เลย และพระภิกษุก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่าตัวประพฤติปฏิบัติอย่างไรถูก

อย่างไรผิด อะไรเป็นอาบัติปาราชิก อะไรเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์
ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้น คือหมดสิ้นพระพุทธศาสนานั่นเอง

เป็นอันว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราก็ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จากพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราต้องการพระพุทธศาสนา คือ ต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปเอาจากที่ไหน ก็ต้องไปเอาจากที่ท่านรวบรวมประมวลไว้ ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ หรือรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้

หน้า 1l 2
top