ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  
หน้าหลัก
ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก
   
 พระพรหมคุณากรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)*
หน้า 1l 2

พระไตรปิฎกยุคท่องจำ แม่นยำแค่ไหน

ทีนี้การรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกนั้นท่านทำกันมาอย่างไร เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น ๒ ยุค คือ
               ๑. ยุคที่สืบต่อมาด้วยการทรงจำด้วยปากเปล่า เรียกว่ามุขปาฐะหรือมุขปาฐ และ
               ๒. ยุคที่ได้จารึกเป็นตัวอักษร เช่นในใบลาน เป็นต้น
          ช่วงแรก เป็นยุคของการรักษาไว้ด้วยการทรงจำ โดยสวด หรือสาธยาย แต่ก่อนนี้อาตมาเองก็เคยสงสัย เหมือนหลายคนสงสัยว่า เมื่อรักษาด้วยการทรงจำ ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป แต่เมื่อเวลาผ่านมา ได้พิจารณาไตร่ตรอง และได้เห็นหลักฐานและหลักการต่างๆ ก็กลายเป็นว่า การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดแล้วทรงจำไว้นั่นแหละ เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร
          ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่าการท่อง ที่จะทรงจำพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ธรรมวินัยนั้น ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน เช่นสวดกัน ๑๐ คน ๒๐ คน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนั้น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำจะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล้มไปเลย
          เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปด้วยดี ให้สอด คล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้ คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมากๆ
          พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นท่านเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่า นี้แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย
          พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็ต้องถึงกับพูดกันว่า อักษรจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านี้ อักษรเดียวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือว่าต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อยก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก นี่แหละ ท่านให้ความสำคัญถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน รวมความว่า
               ๑. มีความระมัดระวังเห็นเป็นสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนา
               ๒. ถือเป็นงานของส่วนรวม โดยเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะ และพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จะต้องเอาธุระในการดูแลรักษาอย่างยิ่ง
          เป็นอันว่า การรักษาด้วยวิธีเดิม คือการทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน แต่พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการซักซ้อม และทบทวนกันอยู่เสมอ ซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้ ในพม่าก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ กล่าวคือในยุคนี้ ทั้งๆ ที่มีคัมภีร์จารึกและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้ว เขาก็ยังพยายามสนับสนุนพระภิกษุให้ทรงจำพระไตรปิฎก
          ในพม่าปัจจุบันยังมีประเพณีเป็นทางการของบ้านเมือง คือ มีการสอบพระภิกษุที่มาสมัครเพื่อจะแสดงความสามารถในการทรงจำพระไตรปิฎก พระภิกษุองค์ใดสอบผ่านแสดงว่าทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด ซึ่งถ้านับเป็นตัวหนังสือพิมพ์เป็นอักษรไทย ก็ได้ ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ถ้าท่านจำได้หมด ทางการจะตั้งให้เป็น พระติปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ได้เป็นพระเป็นที่เคารพนับถือองค์หนึ่ง และทางรัฐบาลจะเลี้ยงดูโยมพ่อแม่ของพระภิกษุนั้น และอุปถัมภ์บำรุงด้วยประการต่างๆ
          เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพระติปิฏกธร คือพระภิกษุรูปเดียวที่สามารถจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย นี่คือองค์เดียวเท่านั้น ก็ยังจำไหว
          ในสมัยโบราณต้องใช้วิธีทรงจำโดยท่องปากเปล่าอย่างนี้ เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำกันไว้ องค์ไหนทรงจำไว้ได้มากที่สุด ก็จะได้รับความเชื่อถือ และเคารพนับถือ

พระไตรปิฎกยุคจารึกเป็นลายลักษณ์ ถือเป็นหลักของชาติ จึงคงอยู่ได้ด้วยดี

ต่อมาถึง พ.ศ.ใกล้ ๕๐๐ จึงได้เริ่มมีการใช้วิธีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน พอถึงยุคจารึกลงในใบลานนี้แหละ กลายเป็นยุคที่จะมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย เพราะคนเริ่มประมาทว่า เออ เรามีใบลาน มีหนังสือที่จารึกไว้แล้ว อยากรู้ก็ไปเปิดดูและตรวจสอบได้ง่าย เราไม่ต้องจำให้มาก ไปๆ มาๆ การสวดสาธยายพระไตรปิฎกก็เหลืออยู่แค่สวดมนต์ อย่างทำวัตรสวดมนต์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ คนก็จำพุทธพจน์ได้น้อยลงๆ เหลือน้อยลงไปทุกที
     นอกจากนั้น ในการคัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า จาร เวลาคัดลอกกันทีหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะมีการตกหล่นหรือผิดเพี้ยน เช่นตัว จ เป็น ว หรือตัว ว เป็น จ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการคัดลอกในระดับที่เป็นทางการใหญ่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด หรือเป็นระดับของประเทศชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ จะถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ จะต้องมีพระไตรปิฎกฉบับหลวงเป็นของราชการ เป็นของแผ่นดิน เป็นของประเทศชาติ รักษาไว้เป็นหลักของกลาง แล้วมาคัดลอกต่อๆ กันไป
     นานๆ จึงต้องมีการมาประชุมกันระดับชาติ แล้วก็เอามาตรวจสอบกัน เอามาทานกัน ตรงไหนตกหล่น ผิดพลาดไป ก็ทำเชิงอรรถไว้ คือถือเรื่องความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะนี้คือองค์แทนที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา
     จะเห็นว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นหลักสำคัญยิ่ง เวลานำพระพุทธศาสนาไปประเทศต่างๆ ก็คือจะต้องนำพระไตรปิฎกไป อย่างพระเจ้าอโนรธามังช่อ ที่เป็นมหาราชของพุกาม ผู้เป็นต้นความยิ่งใหญ่ของพม่า ที่ปราบมอญลงได้ ตอนนั้นมอญนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรือพระเจ้าอโนรธามังช่อไปปราบมอญได้แล้ว หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็นำเอาพระไตรปิฎกจากมอญไปยังพุกาม
     พระภิกษุทั้งหลายเดินทางไปมาระหว่างประเทศในสมัยโบราณ ก็เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก คัดลอกพระไตรปิฎก และอรรถกถา
     พระเจ้าแผ่นดินไทยแต่ละยุค เวลาสร้างบ้านเมืองใหม่ ก็ทรงถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นการสำคัญ เช่นเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ถูกพม่าเผา พระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมประเทศชาติได้ ทรงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี พอตั้งเมืองหลวงเสร็จ ก็จัดการเรื่องคณะสงฆ์ หาพระภิกษุที่น่าเคารพนับถือมาสถาปนาเป็นองค์สมเด็จพระสังฆราช เสร็จแล้วภาระใหญ่อันสำคัญที่พระองค์ทำ ก็คือให้รวบรวมพระไตรปิฎก เพราะว่าอยุธยาถูกเผา พระคัมภีร์ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ก็โปรดให้ไปรวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมือง ทั้งเมืองเหนือ เมืองใต้ เอามาเลือกคัดจัดตั้งเป็นสมบัติกลางไว้ที่เมืองหลวง เพื่อเป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป
     พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ สมัยกรุงเทพฯก็เหมือนกัน พอเริ่มตั้งกรุง เมื่อจัดบ้านเมืองพอเข้าที่ สิ่งที่พระองค์ทรงรีบทำ คือเรื่องของพระไตรปิฎก ถึงกับมีการสังคายนาของกรุงเทพฯ ขึ้นมา ครั้นสังคายนาเสร็จเรียบร้อย สอบทานได้พระไตรปิฎกมาเป็นหลัก ก็จัดตั้งเป็นฉบับหลวงของแผ่นดิน จึงเป็นที่รู้กันว่า การรักษาพระไตรปิฎกเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
     ในยุคทรงจำด้วยปาก การรักษาพระไตรปิฎกก็คือ ท่องพร้อมกัน สวดพร้อมกัน มาสอบทานกันด้วยวาจาอยู่เสมอ ต่อมาในยุคที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือเอาคัมภีร์ที่จารึกไว้ทั้งหลาย มาเทียบเคียงสอบทานกันอยู่เสมอ
     การสอบทานกันนี้ เป็นความหมายของการสังคายนาในยุคหลัง ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พระไตรปิฎกของเราที่เป็นบาลี จะไปอยู่ในพม่า ไปเป็นของสิงหลอยู่ในลังกา ไปอยู่ในประเทศไทย หรือไปอยู่ในประเทศไหน แม้แต่ฝรั่งเอาไปคัดลอกเป็นฉบับอักษรโรมัน ก็เหมือนกันหมด เนื้อหาอย่างเดียวกัน จะมีแปลกไปก็เพราะพิมพ์ผิดนิดๆ หน่อยๆ อย่างของเรามีอยู่แห่งหนึ่ง ตกหล่นไป ยาวหน่อย สักครึ่งค่อนหน้า ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว
     หมายความว่า พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทเรานี้ ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลกันไปแสนนาน ก็ยังเหมือนกัน เนื้อหาอย่างเดียวกัน แสดงถึงการที่ท่านให้ความสำคัญกับการรักษา
     ในเวลาที่เรามีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีข้อความถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ เพียงว่า อักษร จ เป็น ว เราก็จะทำเชิงอรรถไว้ว่า ตรงนี้ฉบับของเราเป็นอย่างนี้ ฉบับพม่าหรือฉบับไหนเป็นอย่างนั้น อย่างชื่อพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็มีการผิดเพี้ยนกันไปนิดหน่อย ฉบับของเราเป็นอัญญาโกณฑัญญะ ฉบับอักษรโรมันของ Pali Text Society เป็นอัญญาตโกณฑัญญะ เป็นต้น ความแตกต่างแม้แต่นิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ

ต้องเข้าใจให้ชัด แค่ไหนใช่ แค่ไหนไม่ใช่สังคายนา

การสังคายนานั้นต้องให้รู้ว่าเป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์เอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป การสังคายนา ก็คือ การมาทบทวนซักซ้อมตรวจสอบคัมภีร์ให้ตรงตามของเดิม และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาทบทวนตัวเอง ให้มาซักซ้อมกับที่ประชุม ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติของตน ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้
     บางคนเข้าใจผิดว่า ในการสังคายนานี้ ผู้ที่เข้าร่วมสังคายนา จะไปปรับไปแต่งไปทำอะไรกับพระไตรปิฎก ดีไม่ดีอาจจะถึงกับเข้าใจว่ามาแต่งพระไตรปิฎกกันใหม่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปไกล ซึ่งแสดงว่าไม่รู้จักการสังคายนา และไม่รู้เรื่องอะไรเลย
     เพราะฉะนั้น จะต้องย้ำกันว่า การสังคายนาพระไตรปิฎก ก็คือ การมาทบทวนตรวจสอบซักซ้อมกันในการที่จะรักษาพระไตรปิฎกของเดิมที่ท่านสังคายนาไว้ ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓ เดือน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ว่าเป็นอย่างไร ก็ให้คงอยู่อย่างนั้น อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อะไรที่คลาดเคลื่อน ใครทรงจำผิดไป ก็ให้มาปรับเข้ากับของเดิมของแท้นี้เสีย เพราะว่าเมื่อเรารักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือเราจะต้องเอาคำตรัสของพระองค์ของเดิมไว้ให้ได้ ถ้าคำสอนคำตรัสเดิมหมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว
     แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มี เช่น คำของพระสารีบุตรที่ได้แสดงวิธีสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้นั้น ก็เป็นพระสูตรอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อ สังคีติสูตร แต่ธรรมะที่พระสารีบุตรนำมาสังคายนาไว้ในสังคีติสูตรนั้น ก็คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั่นเอง นอกจากนั้นก็มีคำสนทนากับผู้อื่น ซึ่งมีคำของผู้อื่นอยู่ด้วยในนั้น
     หลักคำสอนอะไรเก่าๆ ก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ทรงนำมาเล่าให้นับถือปฏิบัติกันต่อไป ก็มาอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย อย่างเรื่องชาดก เฉพาะส่วนที่เป็นตัวคำสอนแท้ๆ
     คัมภีร์ที่นิพนธ์แม้หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่า พระในสมัยนั้นบางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อวินิจฉัยความเชื่อถือ หรือการสั่งสอนที่ผิดพลาดเหล่านั้นแต่การวินิจฉัยนั้นก็เป็นเพียงว่าท่านมาเชื่อมโยง โดยยกเอาคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่โน้น ที่นี่ ในเรื่องเดียวกันนั้น มารวมกันไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เพื่อจะวินิจฉัยความเชื่อหรือคำสอนของผู้ที่เชื่อผิดพลาดไปนั้น อย่างนี้ก็กลายเป็นคัมภีร์ใหม่ แต่แท้จริง ก็เป็นการนำเอาพุทธพจน์ในเรื่องนั้นๆ มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน
     แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนี้เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน เป็นของส่วนรวมที่พระสงฆ์ทั้งหมดโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูอาจารย์และพระเถระที่รับผิดชอบการพระศาสนาต่างก็คอยจับตา คอยระแวดระวัง ถือเป็นสำคัญ ฉะนั้นใครจะไปเที่ยวใส่เติมอะไรลงไปไม่ได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับกันอย่างแน่นอน และไม่ใช่ประเทศเดียวรักษาไว้ หลายๆ ประเทศต่างก็มี แล้วก็ต้องคอยทานเทียบกัน หมั่นตรวจสอบไม่ให้คลาดเคลื่อนกันไป
     รวมความก็คือให้จำไว้เลยว่า ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมด มีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด แม้จะต่างกันในตัวอักษร จ ว บ้าง บางแห่ง หรือตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที ความสำนึกตระหนักมั่นนี้ อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย แม้แต่ประเทศไทยเรา ต่อไป ถ้าไม่เห็นความสำคัญ เราเองก็อาจจะทำให้เลือนลางคลาดเคลื่อน
     เวลาแปลคำว่า “สังคายนา” เป็นภาษาอังกฤษ เรามักไปเทียบกับภาษาฝรั่ง เช่น Council อย่างของศาสนาคริสต์ เขามี Vatican Council เป็นต้น เราก็แปลว่าเป็นการสังคายนา อันนั้นเป็นการแปลเพียงเทียบในบางแง่ความหมาย ซึ่งที่จริงไม่เหมือนกันเลย
     การประชุม Council ของศาสนาคริสต์นั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการมาตกลงกันกำหนดหลักความเชื่อ และแม้แต่การวางนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาของเขา แต่การสังคายนาในพระพุทธศาสนาเป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้ ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงมาตรวจเช็ค มาซักซ้อม ทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของเดิม
     เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่เป็นอาจริยวาท/อาจารยวาท เดี๋ยวนี้ก็รู้กันหมดแล้วว่าเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง ไม่รักษาคำสอนเดิมแท้ๆไว้ ก็เลยคลาดเคลื่อนหรือหาย คัมภีร์ส่วนมากก็สาบสูญไป เขาก็เลยมายอมรับกันว่า คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่จะหาได้ครบสมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องมาดูในพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานี้ เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล คือนักปราชญ์ วงวิชาการทั่วโลก จะเป็นมหายาน หรือเถรวาท หรือเป็นวัชรยาน ก็รู้กันทั้งนั้น

ควรเห็นคุณค่าของอรรถกถา ที่ค้ำชูอยู่เคียงข้างพระไตรปิฎก

เมื่อถือพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานชั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้น ก็จะมีการปิดรายการว่า เอาละ พระไตรปิฎกมีแค่นี้ ต่อจากนี้พระเถระ พระอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่เป็นนักปราชญ์ ก็ทำหน้าที่ช่วยกันรักษาพระไตรปิฎกนี้ไว้
     นอกจากรักษา ท่านก็มีหน้าที่อธิบายด้วย เพราะต้องสั่งสอนลูกศิษย์จำนวนมากมาย ซึ่งเมื่อศึกษาพระไตรปิฎกนั้น ก็อาจไปติดขัด ไม่เข้าใจบางส่วนบางตอนที่ยาก พระอาจารย์ผู้ใหญ่เหล่านี้ที่ท่านสืบต่อคำสอนกันมา และถ่ายทอดคำอธิบายกันมาเรื่อย ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระเถระจนถึงพระมหาเถระผู้เป็นครูอาจารย์เหล่านี้ ก็อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน หรือผู้ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วคำอธิบายเหล่านี้ก็มารวบรวมกันเป็นคัมภีร์ระดับ

รองจากพระไตรปิฎก เรียกชื่อว่า “อรรถกถา” คือไม่จัดรวมเข้าในพระไตรปิฎก
ตอนนี้เท่ากับมีคัมภีร์ ๒ ระดับ

ระดับที่ ๑ คัมภีร์ที่จารึกพุทธพจน์ พร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวข้องที่เป็นหลักฐานดั้งเดิม เป็นมาตรฐานใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎกและ
          ระดับที่ ๒ คัมภีร์เคียงข้างพระไตรปิฎก ซึ่งมีมาแต่เดิมเหมือนกัน โดยถ่ายทอดกันมา เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา
     น่าสังเกตว่า การรักษาพระไตรปิฎก กับการรักษาอรรถกถานี้ต่างกัน คือ พระไตรปิฎกนั้นจะต้องรักษาไว้อย่างเดิม ตัวภาษาก็ต้องของเดิม คือภาษาบาลี แต่อรรถกถา ซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก มุ่งให้ผู้ศึกษาใช้ประกอบการศึกษาให้เข้าใจพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นอย่างในลังกาสมัยก่อน เดิมนั้นก็รักษากันมาด้วยภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาของชาวลังกา หมายความว่า ผู้ศึกษาเรียนพระไตรปิฎกโดยอาศัยคำอธิบายของอรรถกถา จึงเรียนพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี ด้วยอรรกถาคือ คำอธิบายที่เป็นภาษาสิงหลของชาวลังกาเอง
     เป็นเช่นนี้จนกระทั่งต่อมา พ.ศ. ๙๐๐ เศษ พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย จึงได้เดินทางมายังลังกา และแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี
     ตอนนั้น ในอินเดีย พระพุทธศาสนาเสื่อมมากแล้ว กลายเป็นว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทได้มาอยู่ในลังกา พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย ต้องการจะให้คนอินเดียได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากหน่อย จึงต้องการอรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกที่อยู่ในลังกา ท่านจึงเดินทางจากอินเดียมาลังกา แล้วมาขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี เพื่อนำไปศึกษาในอินเดีย ตอนนี้เราก็เลยได้อรรถกถาที่เป็นภาษาบาลีอีก ก็เลยมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เป็นภาษาบาลี

คัมภีร์พุทธศาสนามีหลายชั้น ทรงความสำคัญลดหลั่นลงมา

ต่อจากนั้นก็ยังมีคัมภีร์รุ่นสืบมาหลังจากอรรถกถา กล่าวคือ เนื้อหาในพระไตรปิฎก ส่วนใดที่อรรถกถาอธิบายไว้ อาจารย์ใหญ่รุ่นต่อมาเห็นว่าอธิบายยังไม่พอ ควรจะให้ชัดกว่านั้น คือพุทธพจน์บางแห่งในพระไตรปิฎก พระอรรถกถาจารย์เห็นว่าง่าย รู้กันดีอยู่แล้ว เพราะรุ่นของท่านยังใกล้พุทธกาล ท่านก็ไม่อธิบาย พระอาจารย์รุ่นต่อมาเห็นว่าคนรุ่นหลังนี้ไม่เข้าใจ ก็อธิบายเสียด้วย หรือแม้แต่คำของพระอรรถกถาจารย์นั้นเอง คนรุ่นหลังก็อาจเข้าใจไม่ชัด ก็มีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญมาอธิบายขยายความไปอีก คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถานี้เรียกว่า ฎีกา ต่อจากฎีกาก็มีอนุฎีกาลดหลั่นกันลงมา
     คัมภีร์เหล่านี้ใช้เป็นหลักที่จะตัดสินวินิจฉัยคำสอนในพระพุทธศาสนาลดหลั่นกันลงมา โดยถือว่าพระไตรปิฎกเป็นอันดับหนึ่ง เป็นมาตรฐานใหญ่ และเป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งตัดสินเด็ดขาดว่าเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ต่อจากนั้นมาก็มีอรรถกถามาช่วยเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อ คือถ้าในพระไตรปิฎกนั้นเรามีข้อสงสัยอะไร ก็มาดูคำวินิจฉัยในอรรถกถา
     ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า อรรถกถามาตัดสินพระไตรปิฎก แต่หมายความว่า เราคนรุ่นหลังอ่านพระไตรปิฎกกัน อาจจะเข้าใจไม่ชัดเจน พระอรรถกถาจารย์ก็มาอธิบายไว้ให้ชัด เราจึงใช้อรรถกถาเป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยในส่วนที่เรายังไม่ชัดเจน ต่อจากนั้นก็มีฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับต่อกันไป
     คัมภีร์เหล่านี้ท่านถือเป็นสำคัญสืบกันมา เพราะผู้ที่จะเรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาได้ ก็ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เชี่ยวชาญจัดเจนตลอดพระไตรปิฎก และช่ำชองทั่วตลอดในคัมภีร์ทั้งหลายในชั้นที่เหนือตนขึ้นไป และเมื่อนิพนธ์ขึ้นมาแล้วก็ต้องเป็นที่ยอมรับของปราชญ์ด้วยกันในยุคนั้นแล้วจึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักของพระศาสนา
     ส่วนพระอาจารย์รุ่นหลังต่อจากที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในยุคนั้นๆ ที่มาแสดงคำสอนหรือคำอธิบายต่างๆ ก็เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ หมด ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม แต่ละองค์ๆ ก็เรียก อัตตโนมติ คือมติของบุคคล หรือเป็นมติส่วนตัวของท่านผู้นั้นๆ ซึ่งถือเป็นสำคัญน้อยลงมา
     เป็นอันว่า ถือพระไตรปิฎกเป็นหนึ่ง อรรถกถาเป็นสอง รองลงมา แล้วก็เป็นฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น จนมาถึงอัตตโนมติของอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้ก่อนนั้น ที่แต่งตำรับตำราไว้หลังจากรุ่นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา จัดเป็นอัตตโนมติทั้งหมด

ถ้านับถือพระบรมศาสดา ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎก

ที่กล่าวมานี้ ก็ด้วยมุ่งจะให้รู้จักว่า พระไตรปิฎกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร การสังคายนาคืออะไร และการรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกทำกันมาอย่างไร
     เวลานี้น่าเสียดายว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นแก่น และเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักการสังคายนา ไม่รู้จักวิธีรักษาสืบทอดพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาส หรือเป็นช่องทางให้เกิดความสับสน ตลอดจนความเสื่อมโทรมและความคลาดเคลื่อนต่างๆ พร้อมทั้งคำสอนที่ผิดเพี้ยนแปลกปลอมจะแทรกซ้อนหรือแอบแฝงเข้ามา
     เรื่องนี้ต่างจากชาวพุทธในสมัยโบราณมาก แม้เขาจะไม่มีการศึกษารู้อะไรมากมายในความหมายของคนปัจจุบัน แต่เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยรู้จักว่าพระไตรปิฎกคืออะไร เป็นหลักของพระศาสนาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ต่อความเป็นความตายของพระพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ก็คือพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน หรือกำลังเลือนลางไป ถ้าพระไตรปิฎกหายไป หมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาสูญสิ้น เพราะจะไม่มีแหล่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลืออยู่
     อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะไปรู้เอาเองได้อย่างไร ก็ต้องไปฟังจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ ก็ต้องไปดูคำสอนที่จารึกไว้ ซึ่งก็ได้จารึกไว้และรักษากันมาในพระไตรปิฎกนี้
ถ้าหมดพระไตรปิฎก ก็คือหมดพระพุทธศาสนา หมดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หมดพระธรรมวินัย หมดพระศาสดาของชาวพุทธ
     จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ ด้วยการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แล้วก็รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้อยู่มั่นคงด้วยดี ดังที่ชาวพุทธโบราณทุกประเทศได้พยายามรักษากันมาเป็นงานสำคัญของชาติ
     ถ้าเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก ก็คือเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเรานับถือคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าเรารักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่อย่างดีที่สุด แล้วก็จะมีหลักที่เป็นแกนกลาง ที่เรานับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธทั้งปวงในประเทศเถรวาททุกประเทศ ก็จะมีเอกภาพดังที่เคยมีเอกภาพกันมาแล้ว
     อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกของประเทศไทย พม่า ลังกา หรือในประเทศไหนๆ แม้แต่ที่เอาไปในยุโรป เช่นที่อังกฤษ ก็เป็นเนื้อหาอันเดียวกันหมด เป็นคำสอนเดียวกัน เช่น ทาน ศีล ภาวนา อันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเดียวกัน ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท อันเดียวกัน ไม่ว่าพระสูตรใดๆ ไปดูเนื้อหาก็เหมือนกันหมด ไปที่ไหนก็ใช้กันได้เหมือนกัน
     เพราะฉะนั้น ถ้าพระไตรปิฎกที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนายังคงอยู่ ชาวพุทธก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเราเสียหลักเรื่องนี้เมื่อไร ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มมีปัญหา ชาวพุทธเองก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน นั่นก็คือความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา และความเสื่อมโทรมแห่งประโยชน์สุขของประชาชน ที่จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงและไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น จะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และชวนกันรักษาด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจัง

เสรีภาพแห่งความคิดเห็นของบุคคล ต้องไม่สับสนกับความซื่อตรงต่อพระศาสดา

อนึ่ง ขอให้แง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าเราติดตำรา หรือติดพระไตรปิฎก อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่เรารู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือเป็นมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และสอนว่าอย่างไร ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้แต่ว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ต้องแยกให้ถูก
     เวลานี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความสับสนของคนในยุคที่เรียกกันว่ามีการศึกษา แต่การศึกษานี้กำลังพร่ามัวลงไปมาก จนแยกไม่ถูกแม้แต่ระหว่างตัวหลักการกับความคิดเห็นส่วนบุคคล เพียงแค่นี้ก็แยกไม่ถูก จึงแน่นอนว่าความสับสนจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย
     ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราจะดูที่ไหน เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎก เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราจะว่าเอาเอง หรือไปตอบแทนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ว่าพระองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้
     ต่อจากนั้น เมื่อรู้ว่า หรือได้หลักฐานเท่าที่มีว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรแล้ว เราจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่ หรือเรามีความเห็นต่อคำสอนนั้นว่าอย่างไร อันนั้นก็เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องหลักการ แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็น
     ฉะนั้นจะต้องแยกส่วนนี้ให้ได้ เวลาจะพูดกันก็ต้องแยกให้ถูกว่าเรากำลังพูดกันเรื่องว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ว่าอย่างไร หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องว่า เรามีทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนั้นว่าอย่างไร ต้องแยกให้ถูก แล้วก็พูดให้เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ ก็จะไม่เป็นปัญหา
     เวลานี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดปัญหาทั่วไปหมด ตั้งแต่ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักความสำคัญของพระไตรปิฎก ไม่รู้ว่าการรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกเป็นมาอย่างไร แล้วก็มีความสับสนระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์สอนอย่างไร กับความคิดเห็นของบุคคลหรือเราแต่ละคนต่อคำสอนนั้นว่าเราคิดอย่างไร ทั้งหมดนี้มองกันไม่ชัดเจน คลุมเครือ และว่ากันเลอะเทอะสับสนไปหมด เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหา
     ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรเลย ก็เพียงแต่แยกให้ถูก ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะว่าเอาเองก็ไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็ไปเอาหลักฐานมาแสดงให้ดู แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว หรือธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนี้ คุณจะว่าอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องของเราจะว่าเอา เราคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา เป็นเสรีภาพของเราที่จะพูด ว่าธรรมะข้อนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นแล้ว เราจะว่าอย่างไร เราก็ว่าตามความเข้าใจของเราได้
     แต่ที่จริงก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านให้ชัดแจ้งก่อนแล้วจึงมาสรุปเอา ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็แยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่ท่านสอน แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่เราเห็น เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด
     เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่รู้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นโอกาสที่จะต้องมาซักซ้อมในหมู่ชาวพุทธ เพื่อจะสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและปฏิบัติกันให้ถูกต้อง ถ้าชาวพุทธจับหลักในเรื่องนี้ได้ มีความเข้าใจถูกต้อง และมีความตรงไปตรงมา ปฏิบัติด้วยความซื่อตรง พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่เป็นหลักเป็นศูนย์รวมชาวพุทธ และมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งหลายสืบต่อไป

มีพระไตรปิฎกที่สังคายนาไว้ดี ก็ใช้สังคายนาคนได้ด้วย

ได้พูดมายาวมาก จึงควรสรุปไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การสังคายนานั้น เป็นการรักษาพระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้คงอยู่อย่างดีที่สุด คือให้แม่นยำตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่าที่เป็นไปได้
     ระยะเริ่มแรก ก็มีการประมวลรวบรวมและรักษาไว้ แต่ระยะหลังต่อๆ มา มีแต่การรักษาอย่างเดียว ให้คงอยู่อย่างเดิม ให้บริสุทธิ์ แม่นยำที่สุด จะตัด จะต่อ จะแต่ง จะเติม อย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปตัดต่อ หรือแต่งเติม ก็จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือของปลอมหรือของเทียม
     เพราะฉะนั้น ในยุคที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เวลาสังคายนาก็คือการที่เอาพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่เป็นหลักในประเทศต่างๆ มาตรวจสอบทานกัน เช่น ฉบับของไทย ของพม่า ของลังกา เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในประเทศเถรวาทเป็นภาษาบาลี รวมทั้งฉบับอักษรโรมัน ซึ่งก็มาจากแหล่งเดิมอันเดียวกัน ตรงกันอยู่แล้ว แต่เกรงว่าห่างกันนานมาจะคลาดเคลื่อนกันไป สังคายนาในสมัยนี้ก็เป็นการเอาพระไตรปิฎกฉบับของประเทศต่างๆ เหล่านั้น มาตรวจสอบกัน ถ้ามีผิดแผกอะไร ก็ต้องทำเชิงอรรถลงไป และจดหมายเหตุไว้ ผู้ที่ทำสังคายนาไม่มีสิทธิไปแก้ไขดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น
มีแต่ว่าเราจะต้องสังคายนาคน กล่าวคือ คนบางคนบางกลุ่มอาจจะนับถือ เชื่อถือ สั่งสอนผิดแผกไป ก็เอาคนเหล่านั้นมาตรวจสอบกับคำสอนดั้งเดิมในพระไตรปิฎก แล้วก็ปรับให้คนเหล่านั้นสอนให้ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก อย่างนี้ก็เป็นความหมายที่ขยายออกไปของคำว่า สังคายนาด้วยเหมือนกัน
     เวลานี้จึงเหมือนกับว่า เรามีความหมายของสังคายนา ๒ อย่าง คือ
          ๑. สังคายนาพระคัมภีร์ หรือสังคายนาพระไตรปิฎก ได้แก่ตรวจสอบให้คัมภีร์พระไตรปิฎกคงอยู่อย่างเดิม บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่มีอะไรแปลกปลอม
          ๒. สังคายนาคน เป็นการปรับตัวคนให้สอนให้ตรงตามพระไตรปิฎก ถ้าเราจะไม่ต้องมีการสังคายาคนก็ทำได้โดยที่ว่า พระจะต้องสั่งสอนตรวจสอบตัวเองให้ตรงตามพระไตรปิฎกอยู่เสมอ
     ถ้าพุทธบริษัทไม่เสื่อมโทรม ก็ไม่ต้องมีการสังคายนาคน การที่พุทธบริษัทจะเสื่อมโทรมก็เพราะพากันห่างเหินจากพระธรรมวินัย
     เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง ก็จะต้องมีการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ก็คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้วว่าจะต้องสั่งสอนพระธรรมวินัย
     ในยามปกติ พระสงฆ์ก็ต้องสั่งสอนอยู่แล้วเป็นประจำ ยิ่งถ้าเกิดเหตุที่แสดงว่าผู้คนไม่รู้ไม่เข้าใจพระธรรมวินัย พระสงฆ์ก็จะยิ่งต้องเอาใจใส่สั่งสอนชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้องและให้รู้ อย่างน้อยให้รู้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง เป็นพระธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็คือจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก ซึ่งสมัยก่อนคนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
     มื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า เราจะต้องหันมารักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ และรู้จักพระไตรปิฎกที่เป็นตัวหลักเดิมที่รักษาพระธรรมวินัยนั้นไว้ แล้วหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
     เรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก และการรักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระธรรมวินัยด้วยการสังคายนาเป็นต้น ก็จบเพียงเท่านี้

ชวนกันตื่นขึ้นมา ช่วยกันเรียนและรักษาพระไตรปิฎกกันให้ดี

ขอแถมสักนิดว่า ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากอะไร เหมือนอย่างว่า เรามีคุณพ่อคุณแม่ มีครูอาจารย์ หรือคนที่เราเคารพนับถือ เราอยากจะจดจำคำพูดของท่านไว้ ว่าท่านพูดอะไร สอนอะไร เรามีเทปเราก็บันทึกเสียงท่านไว้ ถ้าไม่มี เราก็เอาสมุดจดบันทึกไว้
     เมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่มีโอกาสถามท่านอีก เราก็มีเทปนั้น หรือสมุดที่จดบันทึกไว้นั้น เราก็เอามาเปิดดู ถ้าเราต้องการรักษาคำพูดของท่านไว้ เราก็ต้องรักษาเทปหรือสมุดบันทึกนั้นไว้ให้ดี เพราะถ้าหายไป ก็เป็นอันว่าเราจะไม่มีคำพูดของท่านหรือคำสอนของท่าน
     ยิ่งคนที่ไม่เคยฟังท่าน ไม่เคยอ่านบันทึกนั้น ไม่มีอะไรอยู่ในความทรงจำ ไม่เคยรู้จักเลย ก็เป็นอันหมดทางที่จะรู้ว่า คุณพ่อ คุณแม่ ครูอาจารย์ ได้พูดได้สอนอะไรไว้
     นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราต้องการจะฟัง จะรู้ จะอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสาวกที่ทันเห็น ทันฟัง ทันเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็รวบรวมคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าไว้ให้เราแล้วเมื่อสามเดือนหลังพุทธปรินิพพาน แล้วก็เก็บรักษาสืบต่อกันมาให้เราจนถึงปัจจุบันนี้ด้วยความลำบากยากเย็น ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไปอ่าน ไปศึกษาและเก็บรักษาไว้ต่อไป
     ทำไมเราจะไม่รักษาพระไตรปิฎกไว้ ในเมื่อถ้าพระไตรปิฎกหายไปก็คือว่าบันทึกคำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้าก็หมดไป หายไป เราก็ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปนั่งฌานเอา เราจะไปพูดแทนท่าน หรือว่ารู้ขึ้นมาเอง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาเลย สมัยก่อนก็ไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้
     นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ว่าคนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็จะกลายเป็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงควรตื่นขึ้นมาช่วยรักษาพระธรรมวินับไว้ให้ดี


หน้า 1l 2
top