หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มรดกทางวัฒนธรรม
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๕๒ - ๕๕




ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียร พันธรังษี นักศาสนา นักหนังสือพิมพ์ และบูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้บันทึกการจาริกแสวงบุญ ณ มหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๙๖ ตามคำอธิบายของท่านกัสสปเถระ (กัศยปะ) ผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลแห่งรัฐพิหารให้ควบคุมการขุดค้นซากโบราณสถานที่นาลันทาของกรมโบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ มีสาระสำคัญดังนี้
"ท่านกัสสปเถระพาเราผ่านเข้าสู่ทางกว้างที่จะไปสู่บริเวณมหาวิทยาลัย มีสำนักสงฆ์(สังฆาราม)หมายเลข ๑ อยู่ทางซ้าย และสำนักสงฆ์หมายเลข ๔ เลข ๕ อยู่ ทางขวา ผ่านตรงนี้ไปแล้วเราเดินตรงไปจนกระทั้งถึงพื้นกว้าง เป็นที่ตั้งพระสถูปใหญ่องค์หนึ่ง เขาเขียนเลข ๑ เป็นเครื่องหมาย สถูปนี้เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดในบริเวณมีส่วนทั้งใหญ่ทั้งสูงกว่าซากอื่นที่ขุดค้นได้ มีบันไดอิฐเดินขึ้นไปได้จนถึงยอด เมื่อขึ้นถึงยอดสามารถมองเห็นบริเวณมหาวิทยาลัย และหมู่บ้านสารีบุตร โมคคัลลาน์อันตั้งอยู่ใกล้เคียงได้หมด มีความ รู้สึกใหม่เมื่อขึ้นไปถึงยอดสถูปองค์นี้ คล้ายกับได้ขึ้นไปอยู่บนยอดภูเขาทอง มองเห็นที่ตั้งกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด.
ลักษณะการก่อสร้างของมหาสถูป แสดงว่าสร้างต่อเติมกันมาหลายครั้งเพราะแผ่นอิฐที่วางเป็นรากตั้งแต่พื้นจนถึงยอดมีลักษณะเล็กใหญ่และสีสันไม่เหมือนกัน แต่มีความแข็งแรงเท่ากัน ผู้นำบอกว่าเป็นศิลปะสมัยราชวงศ์คุปตะ.
     



"ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสถูปใหญ่ สลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม (อวโลกิเตศวร) เทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นรูปใหญ่ที่สุดกว่ารูปใดๆ ในบริเวณมหาวิทยาลัย ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปพระมหาเถระนาคารชุน อาจารย์ใหญ่ฝ่ายลัทธิมหายาน และอธิการบดีองค์แรกของมหาวิทยาลัยนี้มีอักษรเทวนาครี หรือปรากฤต สลักไว้ที่รูปสลักแต่อ่านไม่ออก
ขอให้สังเกตในด้านตะวันออกของ สถูป จะเห็นซากสังฆารามหลายต่อหลายแห่ง แต่ดูเหมือนจะเป็นห้องเล็กๆ สำหรับนักศึกษาแต่ละรูปอาศัย มีอยู่แห่งหนึ่งเขาเขียนเลข ๑ ไว้เป็นเครื่องหมาย สังฆารามหลังนั้นกว้างขวางมากกว่าแห่งอื่น มีประตูเข้าเป็นพิเศษอยู่ทางเหนือ มีอิฐแข็งซ้อนกันอยู่ประมาณ ๒ หรือ ๓ ชั้น ภายในบริเวณกว้างขวาง มีแท่นหินขนาดใหญ่ ๓ แท่น แสดงให้เห็นการลงแรงในการสลัก และยกเข้ามาตั้งด้วยกำลังแห่งบุรุษผู้กำยำ มีหลักหินขนาดใหญ่อีกหลายหลัก บนหลักหินนั้น มีระเบียงหินติดต่อกันระหว่างหลักต่อหลักวงไปโดยรอบ พอเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าถูกไฟเผาเพราะมีรอยร้าวและความหักพังอันเกิดจากแรงร้อนของกองเพลิง.
"สังฆารามหมายเลข ๑ นี้ เดิม เป็นตัวตึก ๒ ชั้น มีจารึกไว้ว่า พระเจ้า เทวปาละกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของราชวงศ์ ปาละ (ระหว่าง พ.ศ. ๑๔๕๘-๑๘๙๑)๔ เป็นผู้สร้าง สังเกตแผ่นอิฐตามกำแพงแสดงว่าสร้าง ๒ คราวด้วยกัน ทรุดโทรมเต็มทีแล้วแต่อิฐข้างบนยังดีอยู่ มีแท่นบูชา มีรูปพระพุทธเจ้า ซึ่งยังเห็นเพียงรอยอยู่ตรงส่วนที่สร้างครั้งแรก.
ผู้นำเที่ยวอธิบายว่า ตรงข้ามกับแท่นบูชาเป็นที่นั่งของอาจารย์เวลาสอนหนังสือ พวกนักศึกษานั่งบนพื้นโดยรอบ จากทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีซากบ่อน้ำสำหรับใช้ในมหาวิทยาลัยและข้างๆ มีห้องพักของนักศึกษาเรียงกันอยู่หลายห้อง มีหลังคาทำเป็นคุ้ม เขาอธิบายว่าเป็นศิลปะการทำหลังคาแบบโบราณของอินเดีย ตอนหนึ่งเราไปชมพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยไปพบแผ่นหินใหญ่แผ่นหนึ่งมีอักษรจารึกอยู่เต็ม ผู้นำพาบอกว่า ยกเอามาจากห้องเรียนหนังสือนั้น จารึกประวัติเหตุการณ์สำคัญ ๘ อย่างในชีวิตของพระพุทธเจ้า.
ที่สังฆารามหมายเลข ๔ ตั้งอยู่ทาง ขวามือเวลาเข้าไปได้พบสิ่งที่น่าพอใจในศิลปะการก่อสร้างสมัยโน้น ๒ อย่างด้วยกัน อย่างหนึ่งเป็นประตูมีช่องเล็กๆ เปิดขึ้นไปข้างบน ผู้นำอธิบายให้ฟังว่าช่องนี้ที่จริงไม่ใช่ประตู แต่เป็นช่องสำหรับเปิดรับแสงสว่างจากข้างนอก เพื่อให้ส่องเข้ามาข้างใน นับเป็นวิธีก่อสร้างให้มีความสะดวกแทนที่จะไปเจาะหน้าต่างซึ่งต้องเสียเวลามากและแรงมาก อีกอย่างหนึ่งในสังฆารามหลังนี้มีผู้ค้นพบเหรียญเงินและเหรียญทองแดงสมัยพระเจ้ากุมารคุปตะที่ ๑ เป็นอันมาก วินิจฉัยไม่ออกว่า เหรียญกษาปณ์เหล่านั้นเข้ามาอยู่ได้อย่างไรในสำนักสงฆ์ แต่มีผู้วินิจฉัยว่า กษัตริย์ผู้สร้างสังฆารามนี้คงสละพระราชทรัพย์ฝังไว้เป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมของกษัตริย์อินเดียโบราณ.
สังฆารามหลังที่ ๕ และที่ ๖ ตามหมายเลขอยู่ถัดกันไปเป็นตัวตึก ๒ ชั้น เราขึ้นไปดูเห็นยังมีรูปเตาไฟก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เหลืออยู่ ๒๑ เตา เหตุใดจึงมีรูปเตาไฟอยู่ในบริเวณกุฏิสงฆ์นี้ มีอธิบายกันไว้ หลายอย่าง ในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Guide to Nalanda ของนายโฆษ เขาวินิจฉัยว่าอาจเป็นที่หุงหาอาหารของนักศึกษา แต่หลักอันเคร่งครัดของมหาวิทยาลัยในสมัยโน้น คาดว่าภายในสังฆารามใกล้กับบริเวณศึกษาจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดถือเอา สถานที่เหล่านี้เป็นที่หุงหาได้ จึงวินิจฉัยไปอีกทางหนึ่งว่า เตาไฟเหล่านั้น อาจก่อติดตั้งไว้ที่ต้มย้อมสบงจีวรของพระภิกษุสงฆ์ ด้วยว่ากิจอันนี้ ภิกษุในสมัยโน้นต้องทำด้วยตนเอง.
เราเดินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บริเวณสังฆารามหมายเลข ๗ มีบริเวณหนึ่งทำด้วยศิลาแท่งทึบ มีเสาหินสลักรูปรอยต่างๆ ส่วนมากเป็นกิริยาท่าทางของมนุษย์และสัตว์ เป็นแบบสถาปัตยกรรมโบราณของอินเดีย ประมาณร้อยปีที่ ๖-๗ ติดต่อกัน มีหินสลักเป็นแผ่นกว่า ๒๐๐ แผ่น รูปสลักบางรูปเป็นกินนรกำลังดีดพิณ, รูปกังกร, รูปพระอัคนี, รูปท้าวกุเวร, รูป เทวะทรงนกยูง, เทวรูปและรูปสัตว์อื่นๆ อีกมาก อย่างบางตอนแสดงรูปชาดกในพระพุทธศาสนา รูปสลักเหล่านี้เห็นได้ตามเสาหิน และเคราะห์ดีที่เป็นหินแข็งพวกมุสลิมที่บุกเข้ามาไม่สามารถเอาไฟเผาผลาญได้.
สังเกตเห็นแบบของการก่อสร้าง อีกอย่างหนึ่งซึ่งทำแปลกจากตึกอื่นในสังฆารามทั้งหมด คือสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมบ้าง เป็นรูปตัดทะแยงบ้าง มีห้องพักนักศึกษาอยู่ตอนริมเป็นแถว ส่วนตรงกลางสร้างไว้เป็นบริเวณใช้เป็นที่นั่งของพวกนักศึกษา และมีฐานตั้งพระพุทธรูป อาจารย์ผู้บรรยายนั่งตรงหน้าฐานพระพุทธรูปนั้นๆ
ในสังฆารามมียกพื้นมีหลักหินรองรับ มีที่นั่งศึกษาอยู่ตรงกลาง แท่นพระพุทธรูปอยู่ตรงทางเข้า บางแห่งคงเป็นสำนักศึกษามหายาน เพราะตั้งรูปพระโพธิสัตว์แทนรูปพระพุทธเจ้า กำแพงสังฆารามส่วนมากก่อด้วยศิลาแลง ส่วนพื้นปูด้วยแผ่นหินขาวดำเหมือนกันตลอดมหาวิทยาลัย เห็นความแน่นหนาของมหาวิทยาลัยนี้ ทำให้คิดว่ามุสลิมผู้มามีอำนาจถ้าไม่มีความโหดร้ายอย่างสูงสุดและถ้าไม่ใช้ความพยายามในการทำลายอย่างเหี้ยมโหด ตัวตึกในมหาวิทยาลัยไม่มีทางจะพังทลายได้ ดูความพินาศของมหาวิทยาลัยคราวนี้ ก็เห็นว่าผลแห่งความพยายามนั้นเป็นเรื่องช่วยให้สำเร็จทั้งหมดไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย.
เจดีย์ในบริเวณมหาวิทยาลัย มีขนาดต่างๆ กัน บางองค์สูงขนาดเกือบ ๒๐๐ ฟุต บางองค์ขุดค้นกันได้ขึ้นมาใหม่เมื่อเร็วๆ นี ้ได้พบแผ่นโลหะทนไฟมีรอยถูกไฟเผายังเห็นเป็นรอยพระพุทธรูปสลักอยู่ในแผ่นโลหะนั้นก็มี ท่านผู้นำเล่าว่าการขุดค้นอีกคราวหนึ่งได้พบเตาหลอมโลหะ วินิจฉัยว่าเป็นเตาหลอมของมหาวิทยาลัย มีไว้สำหรับหล่อหลอมพระพุทธรูป แต่มีหลายคนออกความเห็นว่า เตาเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของพวกนอกศาสนา เมื่อบุกเข้ามาได้แล้วก็ตั้งเตา นำเอาพระพุทธรูปและปูชนียวัตถุที่ทำด้วยโลหะมาหลอมทำลายในเตานี้.
ที่เจดีย์อีกองค์หนึ่ง เขาเขียนหมาย เลข ๑๔ องค์นี้ก็มีแต่ซาก มีรอยแกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าโดยรอบ และยังเห็นรอยวาดเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อยู่หลายตอน ผู้นำบอกว่า ตามแบบของศิลปะ เป็นของหายากและหาดูที่ไหนไม่ได้ในอินเดียภาคเหนือนอกจากที่นี่ แต่มาดูแล้วยังไม่เห็นด้วยกับคำที่เขาบอกŽ๕
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปรากฏอยู่มากมาย ส่วนรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างมากคือ อวโลกิเตศวร หรือปัทมปาณีคู่บารมีของพระอมิตาภพุทธะ, วัชรปาณี คู่บารมีของพระอักโษภยพุทธะ, มัญชุศรี, เทพชัมภละ ซึ่งเป็นเทพแห่งความมั่งคั่ง, เทพีศักติของพระธยานีพุทธะ เช่น ตารา ศักติของพระอโมฆสิทธิพุทธะ, เทพีมาริจีใน ตระกูลโมหะ ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงอาทิตย์, เทพปรัชญาปารมิตา, หาริตี ศักติของเทพชัมภละ, เทพและเทพีพราหมณ์หรือฮินดู เช่น วิษณุ, เทพีทุรคา, เทพีสรัสวดี, เทพีอปราชิตา* (ดูภาพในภาคผนวกประกอบ)
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕