หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มรดกทางวัฒนธรรม
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๕๖ - ๕๙


ศิลปกรรม คือ ผลงานศิลปะที่เกิดจากพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกในรูปลักษณ์ต่างๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือ ความสะเทือนอารมณ์ ตามอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี หรือความเชื่อทางศาสนา
สถาปัตยกรรม คือ ศิลปะและวิทยาการแห่งการก่อสร้าง ซึ่งอาจอธิบายได้อีกอย่างหนึ่งว่า หมายถึงการจัดที่ว่างสามมิติเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ เพื่อให้เกิดคุณค่า ๓ ประการได้แก่ (๑) ความสะดวกและเหมาะสมในการใช้สอย (๒) ความมั่นคงแข็งแรง (๓) ความชื่นชม
ประติมากรรม คืองานศิลปะที่สร้างเป็นรูปทรงสามมิติโดยวิธีการแกะสลัก การปั้น หรือการผสมผเส๗
จากโครงสร้างทางกายภาพของมหาวิทยาลัยนาลันทาดังกล่าวข้างต้น พอมองเห็นได้ว่า ซากโบราณวัตถุที่ปรากฏอยู่นั้นแสดงออกให้เห็นร่องรอยแห่งศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และประติมากรรมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประติมากรรมที่เป็นพระพุทธรูปมีทั้งแบบปูนปั้น สลักหิน หล่อทองสัมฤทธิ์ และภาพพิมพ์ ดังตัวอย่างที่นำมาแสดงไว้ใน ประมวลภาพซากมหาวิทยาลัยนาลันทา
 
     



ศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นบูรพาจารย์อีกท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่างถึงประติมากรรมของสกุลศิลปะสมัยคุปตะ ซึ่งมีศูนย์กลางที่หมาวิทยาลัยนาลันทา ความตอนหนึ่งว่า
"ในสมัยคุปตะนี้ ศิลปวิทยาการต่างๆ รุ่งเรืองมาก แม้พวกพราหมณ์ ก็เริ่มพยายามแก้ไขศาสนาของตนแข่งกับพระพุทธศาสนา ความนับถือพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นประธานอยู่ทั่วไปในอินเดีย ข้อนี้พึ่ง เห็นได้ด้วยโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปก็ดี ลวดลายและรูปภาพที่จำหลักหรือเขียนไว้ตามถ้ำที่แต่งเป็นวัตถุก็ดี ที่เป็นฝีมือชาวมัชฌิมประเทศทำ อย่างงามวิจิตรเป็นของเกิดขึ้นในสมัยคุปตะเป็นพื้น แต่พระพุทธรูปที่พวกโยนกชาวคันธารราษฎร์คิดประดิษฐ์ขึ้นก่อนแล้วนั้น เมื่อชาวอินเดียในมัชฌิมประเทศรับคติมาทำพระพุทธรูปบ้างไม่เห็นชอบตามแบบของพวกโยนกหมดทุกอย่าง เพราะฝรั่งกับแขกนิยมความงามต่างกัน พวกชาวมัชฌิมประเทศจึงมาคิดแก้ไขลักษณะพระพุทธรูปให้ผิดกับแบบของพวกโยนกหลายอย่าง เป็นต้นว่าดวงพระพักตร์ซึ่งทำเป็นอย่างหน้าเทวรูปฝรั่งนั้น ก็แก้ไขมาให้งามตามลักษณะชาวมัชฌิมประเทศ พระเกสาซึ่งชาวโยนกทำเช่นเส้นผมคนสามัญ ก็คิดแก้ไขทำให้เส้นพระเกสาวงเป็นทักษิณาวรรต ตามคัมภีร์มหา ปุริสลักขณะ ข้อว่า อุทฺธคฺคโลโม และเพิ่มมหาปุริสลักขณะตามข้ออื่นๆ เข้าอีก
"อีกประการหนึ่งมาถึงสมัยเมื่อสร้างพระพุทธรูปกันแพร่หลายในมัชฌิมประเทศนั้น พวกที่ถือศาสนาพราหมณ์ก็คิดสร้างเทวรูปขึ้น ตามเยี่ยงอย่างการสร้างพระพุทธรูปบ้าง ก็ลักษณะรูปภาพในมัชฌิมประเทศนั้น ถ้าเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์ ย่อมทำแต่งอาภรณ์กับตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ช่างจึงคิดทำรูปทรงส่วนตัวให้งดงาม อาศัยเหตุนี้ พวกช่างชาวมัชฌิมประเทศคงเห็นว่า แบบพระพุทธรูปที่ทำครองผ้าเป็นกลีบให้เหมือนห่มจริงๆ เช่นชาวโยนกชอบทำนั้นเสียทรวดทรงพระพุทธรูปไป จึงคิดแก้ไขข้อนี้ ชั้นแรกทำกลีบจีวรให้เล็กลงแล้วแก้ไข ต่อมาทำแต่พอให้เห็นเหมือนอย่างว่าครองผ้าบางๆ และมักทำแต่ห่มดอง (ที่ห่มคลุมก็มี) ด้วยประสงค์จะเอาความงามไปไว้ที่ทรวดทรงองค์พระพุทธรูป เป็นแบบอย่างเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศอีกอย่างหนึ่ง อนึ่งพระรัศมีซึ่งช่างชาวโยนกชอบทำเป็นประภามณฑลไว้ข้างหลังพระพุทธรูปนั้น พวกช่างชาวมัชฌิมประเทศก็คิดแก้ไขเปลี่ยนทำพระรัศมีเป็นรูปเปลวไว้บนพระเกตุมาลา บางทีจะเกิดขึ้นเมื่อคิดทำพระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธาน เพราะจะทำรัศมีอย่างประภามณฑลขัดข้อง จึ่งได้คิดแก้ไขเป็นอย่างอื่น ส่วนกิริยาท่าทาง พระพุทธรูปนั้น พวกช่างโยนกได้ตั้งแบบไว้แล้ว ๙ ปาง คือ
๑. ปางมารวิชัย
๒. ปางปฐมเทศนา
๓. ปางอุ้มบาตร
๔. ปางประทานอภัย
๕. ปางประทานพร
๖. ปางมหาปาฏิหาริย์
๗. ปางลีลา
๘. ปางปรินิพพาน
"ช่างชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้ มาคิดทำพระพุทธรูปขึ้นอีกปางหนึ่ง คือ ปางนาคปรก เดิมทำพญานาคเป็นมนุษย์ มีรูปงู ๗ หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกศีรษะ กิริยาพญานาคนั้นนมัสการพระพุทธเจ้า ชั้นหลังมาทำพญานาคเป็นรูปงูขดตัวเป็นฐานตั้งพระพุทธรูปสมาธิบนนั้น ส่วนตอนหัวพญานาคชะเง้อขึ้นทางข้างหลังพระพุทธรูปไปแผ่พังพานปรกอยู่ข้างบนพระพุทธรูป รูปอย่างนี้ดูเหมือนพวกชาวกลิงคราษฎร์ข้างฝ่ายใต้จะได้คิดทำขึ้น หาแพร่หลายในมัชฌิมประเทศไม่ (พระนาคปรกมีตั้งแต่สมัยอมรวดี แต่เขาทำองค์พระเป็นปางมารวิชัย)
"มีพระพุทธรูปปางอีกชนิดหนึ่งทำปลีกก็มี ทำเป็นชุดก็มี กล่าวกันว่า เดิม เกิดขึ้นที่พระบริโภคเจดีย์ คือที่สังเวชนียสถานที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้ ๔ แห่ง กับที่ซึ่งนิยมกันว่าพระพุทธองค์ได้ทรงทำปาฏิหาริย์อีก ๔ แห่ง เพราะเจดีย-สถานทั้ง ๘ แห่งนี้ มีสัตบุรุษพากันไปบูชาปีละมากๆ (ทำนองเดียวกับที่ขึ้นไปบูชาพระพุทธบาทตามฤดูกาลในบัดนี้) พวก สัตบุรุษปรารถนาจะใคร่ได้สิ่งอันใดอัน หนึ่งมาเป็นสำคัญหรือเป็นคะแนนเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกว่า ตนได้ศรัทธาอุตส่าห์ไปถึงที่นั้นๆ เมื่อมีประเพณีสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้น พวกที่อยู่ในท้องถิ่นแห่งพระบริโภคเจดีย์ ก็คิดทำพระพุทธรูปปางซึ่งเนื่องด้วยพระบริโภคเจดีย์นั้นๆ แกะพิมพ์ตีขึ้นไว้ตั้งร้อยตั้งพันสำหรับจำหน่ายจ่ายแจกแก่สัตบุรุษให้ซื้อหาได้ทั่วหน้ากันโดยราคาถูก จึงเกิดมีพระพิมพ์ขึ้นด้วยประการฉะนี้ พระพิมพ์ที่ทำจำหน่าย ณ พระบริโภคเจดีย์ทั้ง ๘ แห่งนั้น เป็นพระ ๘ ปางต่างกัน คือ
๑. ปางประสูต ิ ทำเป็นรูปพระราช กุมารโพธิสัตว์มีรูปพระพุทธมารดาและรูปเทวดาเป็นเครื่องประกอบ
๒. ปางตรัสรู้ ทำพระมารวิชัยเหมือน ของคันธาระ
๓. ปางปฐมเทศนา ทำเหมือนของคันธาระหรือประทานพร
๔. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ มักทำเป็นพระลีลา แต่ทำเป็นพระยืนก็มี มีรูป พระพรหมกับพระอินทร์อยู่ ๒ ข้าง เป็นเครื่องประกอบ
๕. ปางมหาปาฏิหาริย์ ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอกบัวรองหลายองค์ด้วยกัน มักมีรูปเทวดาและรูปมนุษย์เดียรถีย์เป็นเครื่องประกอบ
๖. ปางทรงทรมานช้างนาฬาคิรี ทำเป็นพระพุทธรูปลีลา มีรูปพระอานนท์และรูปช้าง บางทีมีแต่รูปช้างเป็นเครื่องประกอบ
๗. ปางทรงทรมานพระยาวานร ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งอุ้มบาตร มีรูปวานรเป็นเครื่องประกอบ
๘. ปางมหาปรินิพพาน ทำเป็นพระพุทธรูปบรรทมเหมือนอย่างคันธารราษฎร์ มักมีรูปพระสถูป รูปพระสาวก และรูปเทวดาเป็นเครื่องประกอบ
"พระ ๘ ปางนี้ เลยถือกันเป็นพระชุด ชอบสร้างรวมในศิลาแห่งเดียวกัน ให้ปรากฏทั้ง ๘ ปาง สันนิษฐานว่าจะเกิดแต่สัตบุรุษผู้ที่ได้พยายามไปบูชาพระบริโภคเจีย์ครบทั้ง ๘ แห่ง แล้วสร้างขึ้นฉลองความ ศรัทธาอุตสาหะ จึงเกิดประเพณีสร้างพระ ๘ ปางขึ้นในมัชฌิมประเทศ ครั้งราชวงศ์ คุปต"๘
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕