พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์หลักที่มีความสำคัญที่สุดต่อพระพุทธศาสนา
เพราะได้ประมวลพระพุทธพจน์อันเป็นสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้อย่างครบถ้วน
และสมบูรณ์ที่สุด ยิ่งกว่าคัมภีร์อื่นใด นอกจากนี้ พระไตรปิฎก ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงวัสสายุกาลของพระพุทธศาสนาว่าได้อุบัติขึ้น
และดำรงอยู่สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานเพียงใด ดังนั้น พระไตรปิฎก จึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่าที่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งที่เป็น
บรรพชิต และคฤหัสถ์ควรจะได้ช่วยกันเชิดชู ทะนุบำรุง และหมั่นศึกษาพระปริยัติสัทธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
แล้วเพิ่มพูนพระปฏิบัติสัทธรรมให้เกิดมีขึ้นในจิตใจของตน ๆ เพื่อจะได้เป็นปัจจัยให้ได้ดื่มอมตรสแห่งพระปฏิเวธสัทธรรมชั้นสูงยิ่ง
ๆ ขึ้นไป
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
โดยชั้นเดิมพระราชทานนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย และได้เปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่
๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ครั้นถึงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙
ได้โปรดพระราชทานเปลี่ยนนาม มหาธาตุวิทยาลัย เป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป*(* ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ แผ่นที่
๒๔ วันที่ ๒๐ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕. น. ๒๖๓-๒๖๘)
ต่อมาวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระมหาเถรานุเถระฝ่ายมหานิกายทั่วราชอาณาจักรจำนวนทั้งหมด
๕๗ รูป ได้ประชุมร่วมกัน ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ โดยมีพระพิมลธรรม
(ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุองค์ที่ ๑๕ เจ้าคณะตรวจการภาค
๑ และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ เป็นประธาน เพื่อปรึกษาหารือในอันที่จะเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่
๕ ผลการประชุมปรึกษาหารือปรากฏว่า ทุกท่านต่างมีความเห็นร่วมกันเป็นสมานฉันท์ให้เปิดสถาบันการศึกษาแห่งนี้
ให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยต่อไป และได้เปิดการศึกษาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ตราบเท่าปัจจุบัน ซึ่งการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
สามารถเอื้ออำนวยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติจนสุดที่จะคณานับได้
ดังเป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาจุฬาเตปิฏก หรือที่เรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า
พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกิดขึ้นจากความดำริ และความปรารถนาอันแรงกล้าของ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ในอันที่จะสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎก
และวิชาชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย กล่าวคือในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๖)
ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จ ฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม และดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
สภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
ได้รับมอบหมายจากคณะสังฆมนตรีให้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยเดินทางไปประเทศสหภาพพม่า
เพื่อร่วมกับพระมหาเถระจากประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพิจารณาโครงร่างงานฉัฏฐสังคายนา
โดยรัฐบาลและคณะสงฆ์ของประเทศสหภาพพม่าได้เตรียมงานส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า
ก่อนจะถึงกำหนดการประกอบพิธีฉัฏฐสังคายนา ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง พ.ศ.
๒๔๙๗ -๒๕๐๐
การพิจารณาโครงร่าง ฯ ดังกล่าว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ
ฯ และพระมหาเถระจาก ประเทศต่าง ๆ มีความเห็นร่วมกันว่า ขอให้รัฐบาลของประเทศสหภาพพม่าแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกชื่อว่า
คณะกรรมการฉัฏฐสังคายนาโอวาทาจริยสังฆนายก โดยขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลและคณะสงฆ์
จากประเทศอินเดีย
ปากีสถาน ศรีลังกา ไทย ลาว และเขมร เพื่อให้ส่งผู้แทนไปร่วมเป็นกรรมการพิจารณาเตรียมการ
ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น* (* กรมการศาสนา : ประวัติพระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๒๐๐ ปี ภาค ๒, โรงพิมพ์การศาสนา,พ.ศ. ๒๕๒๕, น. ๒๘๔-๒๘๗) คือ
๑. ขั้นเตรียมงาน คือ
การรวบรวมพระคัมภีร์จากประเทศของตน ๆ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจชำระพระคัมภีร์นั้น
ๆ ให้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
๒. ขั้นปฏิบัติการ
คือ การเปรียบเทียบ พระคัมภีร์ฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับของไทย ฉบับของพม่า
ฉบับจารึกหินอ่อนที่มันดะเล ฉบับของสิงหล และฉบับของอังกฤษ คือฉบับ Pali
Text Society
๓. ขั้นรับรอง คือการประกอบพิธีรับรอง
งานที่ได้จัดทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้คณะสังฆมนตรีทราบ พร้อมทั้งเสนอขออนุมัติจากคณะสังฆมนตรีเพื่อให้ส่ง
พระธรรมธีรราชมหามุนี (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ปุณฺณกมหาเถร)
วัดจักรวรรดิราชาวาส เดินทางไปร่วมเป็นกรรมการฉัฏฐสังคายนาโอวาทาจริยสังฆนายก
ตามที่รัฐบาลของประเทศสหภาพพม่ามีหนังสือขออาราธนามา คณะสังฆมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
และมีมติให้ส่งพระสงฆ์ไทยจำนวน ๕ รูป เข้าร่วมเป็นกรรมการดังกล่าว โดยมอบหมายให้พระธรรมธีรราชมหามุนี
เป็น หัวหน้าคณะ ซึ่งพระธรรมธีรราชมหามุนีพร้อม ด้วยพระอนุจรอีก ๑ รูป
ได้ออกเดินทางจาก ประเทศไทยไปประเทศสหภาพพม่า เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม
พ.ศ. ๒๔๙๖ ส่วนพระสงฆ์ไทย อีก ๔ รูปนั้น คณะสังฆมนตรีจะพิจารณาคัดเลือกส่งตามไปในภายหลัง
จากนั้นเป็นต้นมา คณะสงฆ์ไทยหลาย
คณะก็ได้เดินทางไปร่วมงานฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น
นอกจากจะเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวมากที่สุดถึง ๑๖ ครั้งแล้ว ท่านยังเป็นกำลังสำคัญที่สุดรูปหนึ่งในการประสานงานให้การประกอบพิธีฉัฏฐสังคายนาครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ
จนท่านกลายเป็นพระมหาเถระชาวไทยรูปแรกที่รัฐบาลและคณะสงฆ์ตลอดจนพุทธศาสนิกชน
ชาวพม่าพากันถวายความเคารพนับถือด้วยความสนิทใจ และพลอยทำให้รัฐบาลและคณะ
สงฆ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความคลางแคลงใจกันมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ได้หันกลับมามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันสืบต่อมาตราบเท่าปัจจุบันอีกด้วย
การมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าตั้งแต่เบื้องต้นติดต่อกันมานั้น
ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เริ่มประจักษ์แก่ใจมากขึ้นว่าพระราชสมภารเจ้า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
๕ ที่ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นมา ก็เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง
แต่พระไตรปิฎกของไทยเรายังขาดความสมบูรณ์และมีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายแห่ง
น่าจะได้มีการตรวจชำระ และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ให้เป็นฉบับของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อให้มีความสมบูรณ์และอำนวยความสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าของพระนิสิตและนักเรียนมหาจุฬา
ฯ ต่อไป แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้ศาสนบัณฑิต ผู้มีความรู้
และเงินเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควร ปล่อยวางหรือเพิกเฉยโดยไม่คิดทำอะไรเลย
ถ้าจะค่อยทำค่อยไปก็น่าจะทำให้การตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับนี้สำเร็จลงได้เหมือนกัน
ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะพระเปรียญที่อยู่จำพรรษา ณ วัดต่าง ๆ ทั้งใน
พระนครและธนบุรีได้รวมตัวกันก่อตั้ง สภาเปรียญแห่งประเทศไทย ขึ้นมา เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติในวงกว้างออกไป
โดยพระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ป.ธ. ๙ (ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปิฎกโกศล
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ต่อมาลาสิกขา คือนายพิทูร มลิวัลย์ ถึงแก่กรรมแล้ว)
วัดมหาธาตุ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเปรียญแห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
เพื่อบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ๔ ประการ* (*ระเบียบข้อบังคับสภาเปรียญแห่งประเทศไทย,
โรงพิมพ์การพิมพ์พาณิชย์,พ.ศ. ๒๕๐๑, น. ข-ค) คือ
๑. เพื่อเป็นศูนย์สัมพันธ์และส่งเสริมสามัคคีธรรมของเปรียญทั่วประเทศ
๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการศึกษาและเกียรติฐานะของเปรียญ
๓. เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมสังคหธรรม
๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแผ่ศาสนธรรมทั้งในและนอกประเทศ
ภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้ระเบียบข้อบังคับสภาเปรียญแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว พระเถระผู้ใหญ่หลายรูปต่างมีความปริวิตกเป็นอย่างมากด้วยเกรงว่า
สภาเปรียญแห่ง ประเทศไทยจะเป็นชนวนก่อปัญหาให้การปกครอง คณะสงฆ์เกิดความยุ่งยากมากขึ้น
จึงได้ขอร้องเป็นการส่วนตัวให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองอยู่ในขณะนั้น
ได้ช่วยติดตามและควบคุมการดำเนินกิจกรรมของสภาเปรียญแห่งประเทศไทย อย่างใกล้ชิดด้วย
ต่อมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้เรียก พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป มาพบ และสอบถามว่าพวกเธอมีความคิดอย่างไรจึงพากันตั้งสภาฯ
นี้ขึ้นมา จะพากันทำอะไร จะเอาสำนักงานไปตั้งอยู่ที่ไหน พระผู้ใหญ่ไม่สบายใจต่อการกระทำของพวกเธอมาก
และคงไม่มีใครอนุญาตให้สำนักงานของพวกเธอไปตั้ง อยู่ในวัดของเขาหรอก
แต่ภายหลังจากที่ พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ได้กราบเรียนถึง แนวความคิด
วัตถุประสงค์และข้อเท็จจริงทุกอย่างให้ทราบโดยละเอียดแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
จึงกล่าวว่า เอาอย่างนี้ ให้เธอไปรวบรวมเพื่อนๆ ที่เป็นเปรียญสูงๆ มา
จะยังเป็นพระอยู่หรือลาสิกขาไปแล้วก็ได้ หลวงพ่อจะมอบหมายให้พวกเธอช่วยกันตรวจชำระพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้เป็นฉบับของมหาจุฬาฯ
ขอให้ช่วยกันตรวจชำระให้มีความสมบูรณ์และสะดวกต่อการศึกษาค้นคว้าเช่นเดียวกับพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐ
สังคายนาให้ได้ ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในการตรวจชำระและจัดพิมพ์นั้นหลวงพ่อจะรับผิดชอบเอง
หลวงพ่อเชื่อมั่นว่างานที่มอบหมายให้พวกเธอทำนี้ จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
และคงไม่มีพระผู้ใหญ่รูปใดตั้งข้อรังเกียจอย่างแน่นอน เมื่อผู้มีศรัทธาทราบเรื่องนี้แล้วก็มีแต่จะพากันนำเงินมาถวาย
ข้อสำคัญขอให้พวกเธอเสียสละเวลามาช่วยกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ ก็แล้วกัน
พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป
ได้ติดต่อรวบรวมเพื่อนๆ และผู้ที่เคารพนับถือทั้งที่ เป็น บรรพชิตและคฤหัสถ์หลายท่าน
เช่น พระครูสุวิมลธรรมาจารย์ วัดมหาธาตุ (พระสุวิมลธรรมาจารย์ : ผ่อง
สุวิมุตฺโต ป.ธ.๖ มรณภาพแล้ว) พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙ วัดสระเกศ
(ปัจจุบัน คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อุปเสณมหาเถร) พระมหาพลอย
ญาณสํวโรป.ธ. ๙ วัดเทพธิดาราม (ปัจจุบันคือ พระสุทธิวงศาจารย์ ญาณสํวรเถร)
พระมหาบุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ. ๙ (ปัจจุบันคือ พระธรรมวโรดม คุณสมฺปนฺนเถร)นายทอง
หงส์ลดารมย์ ป.ธ. ๖ นายเกษม บุญศรี ป.ธ. ๗ นายทินกร ทองเศวต ป.ธ. ๙ และนายสิริ
เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ เป็นต้น จากนั้นจึงได้นำรายชื่อกราบเรียนเสนอแด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ
ฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งท่านก็ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการได้ โดยให้ใช้หอปริยัติ
คณะ ๑ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่ตรวจชำระต่อไป
วัตถุประสงค์
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
และผู้มีรายชื่อดังกล่าว ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเป็นเบื้องต้น และต่างมีความคิดเห็นร่วมกันว่า
พระไตรปิฎก ที่จะตรวจชำระและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่นี้ให้ชื่อว่า
มหาจุฬาเตปิฏก หรือเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์ไว้ ๓ ประการ*
(* นิทานพจน์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, น. ค-ฆ) คือ
๑. เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชา
ชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
๒. เพื่อให้มีพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์และ
มีปริมาณเพียงพอต่อการศึกษาและค้นคว้าของ พระนิสิตและนักเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๓. เพื่อให้เป็นอนุสรณ์มหามงคลสมัย
๒๕ พุทธศตวรรษ
หลักเกณฑ์การตรวจชำระ
การตรวจชำระ มหาจุฬาเตปิฏก
หรือ ที่เรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจชำระไว้ว่าให้ทำการตรวจสอบเทียบเคียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ
ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เช่น พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา
พระไตรปิฎกฉบับอักษรสิงหล และพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันของ Pali
Text Society เป็นต้น เพื่อให้พระไตรปิฎกฉบับที่ตรวจชำระขึ้นใหม่นี้มีความสมบูรณ์และถูกต้องที่สุด
ทั้งอรรถและพยัญชนะ พร้อมทั้งพิจารณาตั้งย่อหน้าให้มากขึ้น และตั้งชื่อวรรค
ชื่อสูตรไว้ให้ปรากฏชัดเจน เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าของพระนิสิตนักเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าได้ง่ายขึ้นส่วนกรณีที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้าน
เนื้อความและการใช้ศัพท์ของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ เมื่อตรวจสอบแน่นอนแล้ว
ก็ให้ทำเชิงอรรถบอกที่มาของพระไตรปิฎกฉบับนั้นๆ กำกับไว้ให้ชัดเจน โดยกำหนดให้ใช้อักษรย่อในการทำเชิงอรรถของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ
ไว้ดังต่อไปนี้ |