ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต

พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ

บทนำ
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามานาม แต่การศึกษาพระพุทธศาสนานิกายอื่นก็เหมือนจะผิวเผินไม่ลุ่มลึกพอควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทัศนะแบบเถรวาท ที่มองอะไรแบบเคร่งครัดและตามกรอบ หรือเพราะระบบการศึกษาของเรายังคับแคบก็อาจเป็นได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต ท่านผู้อ่านอาจสับสนงงงวยว่ามีอยู่หรือ เพราะว่าเราทราบแต่ว่า พรไตรปิฎก ท่านเขียนด้วยภาษาบาลี ข้อเขียนนี้เป็นความพยายาม ที่จะปิดโลกทัศน์เรื่องนี้ให้กว้างขวางออกไป โดยนำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาสันสกฤตของ นิกายสรวาสติวาทมาศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับภาษาบาลี เท่าที่สติปัญญาและเวลาของผู้เขียนจะพึงมี ด้วยความหวังว่า จะทำให้เราได้แง่คิดเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนและพระไตรปิฎกใหม่ ๆ น่าจะเกื้อกูลต่อวงการศึกษาพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเราอยู่บ้าง

ภาษาคัมภีร์
ความจริงภาษาที่บันทึกพระธรรมวินัยยุคแรก ๆ มิใช่มีแต่ภาษาบาลี แต่โดยทั่ว ๆ ไปเราทราบกันเพียงว่า นิกายเถรวาทหรือหินยาน ได้ใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาคัมภีร์ แล้วเชื่อมต่อไปว่าภาษานี้เก่าแก่เป็นภาษาของชาวมคธ เรียกว่า มคธภาสาบ้าง มาคธีภาสาบ้าง มูลภาษาบ้าง1 ตันติภาสาบ้าง เชื่อว่าพระพุทธเจ้า เป็นคนอินเดียเหนือ ตรัสรู้และเสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนาในบริเวณแคว้นมคธ คือ รัฐพิหารปัจจุบัน และแคว้น อื่น ๆ ราวเจ็ดชนบท สรุปรวมก็อยู่ในอินเดียตอนเหนือคือรัฐพิหารและอุตตรประเทศในปัจจุบัน
ปัญหาว่า ภาษาบาลี คือภาษาอะไร? และเป็นภาษาของคนพื้นเมืองในแคว้นใดแน่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่พอใจของทุกคนได้ เช่นบางท่านบอกว่า บาลีก็คือภาษาปรากฤต ชื่อไปศาจี ซึ่งผู้คนแถบเทือกเขาวินธัย พูดกัน บางท่านว่าคงพัฒนามาจากภาษาของชาวบ้านแคว้นอุชเชนี (หรือ อุชเชน) ในรัฐมัธยมประเท
บางท่านว่า ภาษาบาลีคือภาษาของชาวบ้านแคว้นกาลิงคะ (แคว้นโอริสสาและอานธระปัจจุบัน) เป็นสถานที่ ๆ คณะพระมหินทเถระ เมื่อจะเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น หรือคณะชาวพุทธอื่น ๆ ได้พากันมาลงเรือกันที่นั่น แต่มีอีกมติหนึ่งแย้งว่า ภาษาบาลีคือ ภาษาเศารเสนี ตระกูลหนึ่งของภาษาปรากฤตเพราะมีเกณฑ์การออกเสียงและสกดคำเหมือนกัน เป็นต้น1
ถ้าสรุปแบบกำปั้นทุบดิน ภาษาบาลีก็คือภาษาบาลีหรือภาษามคธ แต่รูปแบบปัจจุบันกับภาษาดั้งเดิมน่าจะไม่เหมือนกันทั้งหมด คงต้องมีการพัฒนากันอยู่บ้างเมื่อนำมาบันทึกคำสอน หรือมาใช้เป็นภาษาคัมภีร์
มีหลักฐานยืนยันว่า นอกจากภาษาบาลีที่นิกายเถรวาทใช้เป็นเป็นภาษาคัมภีร์บันทึกการสอนแล้วนิกายสรวาสติวาท ซึ่งมีความความเก่าแก่ไล่เลี่ยกับเถรวาท ได้บันทึกคำสอนไว้ด้วยภาษาสันสกฤต นิกายสัมมีติยะ ใช้ภาษา อปพรหมศา ขณะที่นิกายมหาสังฆิกะใช้ภาษาปรากฤต
เมื่อพูดถึงภาษาสันสกฤต มีปัญหาอีกเหมือนกัน เช่น ทำไมพระพุทธศาสนานิกายนี้จึงใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกคำสอน ในเมื่อพระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระสงฆ์เรียนภาษาพระพุทธพจน์ด้วยภาษของตนไม่ยกกล่าวโดยฉันท์2 ดูเหมือนพระพุทธเจ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งประชาชนทุกชั้นวรรณะมีสิทธิเท่าเทียมกันให้การแสวงหาความรู้ ไม่เหมือนกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาคัมภีร์ ศึกษากันอยู่เฉพาะชั้นสูง ปิดกั้นมิให้คนในวรรณะต่ำ เช่น ศูทรและจัณฑาลได้ศึกษาเล่าเรียน
ข้อนี้อาจเนื่องด้วยความจำเป็นในการปรับตัวของพระพุทธศาสนา ให้โดดเด่นจนสามารถครองใจคนชั้นสูงของสังคมได้
ภาษาสันสกฤตที่พระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทใช้นี้ ก็เป็นภาษาสันสกฤตแบบพุทธ คือ สันสกฤตพันทาง (Hybrid Sanskrit) หรือสันสกฤตผสมกับภาษาบาลี (Mixed Sanskrit) มิใช่สันสกฤตมาตรฐาน (Classical Sanskrist) ถ้าเราศึกษาเปรียบเทียบดุดี ๆ กับภาษาบาลีก็คงพอจะเข้าใจได้

ภาษาคัมภีร์
คำว่า “สรวาสติวาท” แปลว่า นิกาย (=วาท) ที่เชื่อว่าทุกสิ่ง (สฺรว) มีอยู่ (อสฺติ) จริง ตรงกับคำว่า “สพฺพตฺถีกวาท” ในคัมภีร์ กถาวตฺถุ พระอภิธัมมปิฎก ฝ่ายบาลี นิกายนี้มีทัศนะว่า “ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ มีอยู่จริงทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะอำนาจแห่งสันตติ คือ การสืบต่อกัน” แต่เถรวาทปฏิเสธทัศนะนี้.
คัมภีร์ทีปวังสะ ว่าสัพพัตถีกวาท (หรือสรวาสติวาท) แตกย่อยมาจากมหิสสาสกะ และมหิสสาเสกะ ก็สืบมาจากเถรวาท ซึ่งนับเป็นนิกายดั้งเดิมอีกทอดหนึ่ง
ส่วนปกรณ์สันสกฤต (คือเภทธรรมมติจักรศาสตร์) ของท่านอาจารย์วสุมิตร ให้ความสำคัญสรวาสติวาท เท่ากับเถรวาท ถือว่าเป็นนิกายเก่าแก่ ซึ่งถือกำเนิดในพุทธศตวรรษที่ ๓ 1
สรวาสติวาทนี้ เดิมทีน่าจะเจริญคู่เคียงกับเถรวาทในแคว้นมคธนั่นเอง เพราะได้อ้างพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นโยมอุปัฏฐากของตนด้วย แต่ต่อมาอาจจะเพลี่ยงพล้ำแก่เถรวาทจึงได้ไปยึดอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ คือ คันธาระ และมถุรา2 เป็นศูนย์กลาง โดยท่านมัธยานติกเถร ศิษย์ของพระอานนทเถร เป็นสังฆปาโมกษ์อยู่มถุรา ท่านอุปคุปตเถรองคืที่ถวายวิสัชชนาปัญหาใจให้พระเจ้าอโศกจนหันมาสมาทานพระพุทธศาสนา ศิษย์ของท่านศาณวาสิกะ เป็นประมุขอยุ่ในเขตคันธาระ
ท่านมัธยานติกะ และท่านอุปคุปตะ ถูกอ้างว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายนี้ หรือเป็นประมุขสงฆ์นิกายนี้
แต่ท่านบูสตัน (Bu’ston) ผู้รจนาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียและทิเบตว่าผู้ก่อตั้งนิกายนี้คือ พระราหุลภัทร ผู้ออกผนวชจากขัตติยตระกูล

สรวาสติวาท - ไวภาษิกะ
ในคัมภีร์ว่าด้วยปรัชญาอินเดียนั้น เวลาพูดถึงนิกายพระพุทธศาสนา จะจำแนกออกเป็น ๔ นิกายคือ เสาตรานติกะ ไวภาษิกะ มาธยมิกะ (หรือสุญญวาท) และวิชญาณวาท (หรือโยคาจาร) ในจำนวนนี้ นิกายไวภาษิกะ ซึ่งถือคัมภีร์ภาษยะ (หรืออรรถกถา) พระอภิธรรมซึ่งเรียกว่า (มหา) วิภาษาศาสตร์ ท่านกล่าวว่า คอ นิกายเดียวกันกับ สรวาสติวาท
เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า การจัดสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่หลักฐานฝ่ายบาลีทั้งมหาวังสะ และสมันตปาสาทิกา มิได้เอ่ยถึงเลยนั้น เป็นสังคายนาของสรวาสติวาท โดยการอุปถัมภ์ของพระภิกษุผุ้แตกฉานในพระไตรปิฎก และพหิรวิทยาต่างๆ เข้าร่วมพิธีจำนวน ๕๐๐ รูป ท่านบุสตันว่า เวลานั้น ตกปี พ.ศ. ๓๐๐ พระเจ้ากนิษกมหาราช อุปถัมภ์สังคายนาขึ้นในวัดกุวาน เมืองชลันธร มีพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระโพธิสัตว์ และศาสนบัณฑิตอีกจำนวนมาก ได้รับนิมนต์ / เชิญ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ท่านสมณะจีนเฮี่ยนจัง เล่าว่า การสังคายนาครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อร่วมกันร้อยกรองคัมภีร์ แก้ – อธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า ภาษยะ ปรากฎว่าบรรลุเป้าหมาย คือที่ประชุมได้รจนา คัมภีร์ภาษยะไว้ดังนี้.
- คัมภีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระสุตตันตปิฎก ชื่อ อุปเทสศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมถีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระวินัยปิฎก ชื่อ วินยภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมภีร์แต่งแก้ – อธิบาย พระอภิธรรมปิฎก ชื่อ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
รวมคัมภีร์ภาษยะทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน ก็เป็นคาถาถึง ๓ แสนโศลก พระเจ้ากณิษกมหาราชโปรดให้จารึกลงบนแผ่นทองแดง แล้วบรรจุหีบศิลา และโปรดให้ก่อพระสถูปบรรจุหีบศิลาอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้จัดเวรยาม รักษาความปลอดภัยไว้ด้วย
ด้วยอิทธิพลของคัมภีร์ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ หรือคัมภีร์มหาวิภาษาศาสตร์นี้เอง นิกายสรวาสติวาทจึงได้นามใหม่ว่า “ไวภาษิกะ” ในกาลต่อมา

สรวาสติวาทเป็นมหายานหรือเถรวาท
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแบ่งนิกายเป็นเถรวาทและมหายานมานานแล้ว เพราะเราไปถือปทัฏฐานที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกตั้งให้ว่า มหายานมีลักษณะดังนี้คือ
๑. เจริญอยู่ทางอินเดียตอนเหนือ จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายเหนือ (Northern School)
๒. ใช้ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาคัมภีร์
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจว่า สรวาสติวาท เป็นนิกายสังกัดฝ่ายมหายาน ความจริง สรวาสติวาทเป็นหีนยานหรือเถรวาท แม้จะใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ก็มิได้ทำให้ความเป็นเถรวาทลดน้อยลงไป ทั้งนี้ เพราะลักษณะคำสอนของสรวาสติวาท มีความเป็นคำสอนยุคแรก (Early Buddhism) มากเหลือเกิน เทียบได้กับคำสอนที่เราพบในพระสูตรใน ๓-๔ นิกายแรกของพระสุตตันตปิฎกผ่ายบาลี ข้อนี้ศึกษาได้จากคัมภีร์อภิธรรมโกศะและคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragments) อื่นๆ อีกประการหนึ่ง เมื่อตรวจดูประวัติการพัฒนาของนิกายนี้จะเห็นว่า สังกัดอยู่ฝ่ายเถรวาทแน่ แม้นักปราชญ์ฝ่ายฮินดู ก็ยังบอกว่า นิกายเสาตรานติกะ และไวภาษิกะ เป็นหีนยาน ส่วนนิกายมาธยมิกะและวิชญาวาทเป็นมหายาน

แหล่งข้อมูล (Sources)
พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย และแพร่ขยายอย่างมากในช่วง ๕๐๐ ปีแรก โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รับยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ (State Religion) พลเมืองอินเดียเกือบร้อยทั้งร้อย จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก ล้วนแต่เป็นชาวพุทธ ประชาชนอ่านออกเขียนได้กว่าร้อยละ ๖๐
อีก ๕๐๐ ปีต่อมา พระพุทธศาสนานิกายมหายานเกิด และเจริญรุ่งเรืองไม่น้อย จะเห็นจากสถาปัตยกรรม – จิตรกรรมวัดถ้ำอชันตะ เอโรลล่า และซากวัดในเขตนาครชุนโกณฑะ รัฐอานธรประเทศ พระอาจารย์สำคัญของฝ่ายมหายาน เช่นท่านอาจารย์นาคารชุน และท่านวสุพันธุ ก็มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้
หลัง พ.ศ. ๑,๐๐๐ ปีต่อมา พุทธศาสนาได้ปฏิรูปตัวเองมากขึ้น เพราะอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้น มหาวิทยาลัยพุทธสำคัญ ๆ เช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา ฯลฯ ก็เกิดในช่วงเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนายุคนี้ ได้รับการศึกษาในแง่ของปรัชญามาก ส่วนการปฏิบัติล้วนเป็นเรื่องพิธีกรรม เข้าฝ่ายตันตระไปมาก
พระพุทธศาสนาได้ปิดฉากสุดท้ายลง ก็เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทา ถูกกองทัพมุสลิมบุกเข้าทำลาย เข่นฆ่าพระภิกษุไปเป็นจำนวนพัน ส่วนที่เหลือหนีเตลิดเข้าเนปาล ทิเบต จีน เป็นต้น มีบันทึกประวัติศาสตร์เล่าว่า หอสมุดของมหาวิทยาลัยนาลันทา ๓ แห่ง ซึ่งบรรจุคัมภีร์สำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนาและลัทธิอื่น ๆ ไว้มากมาย ต้องใช้เวลาเผาอยู่เป็นเดือน จึงไหม้หมด
เป็นอันว่า คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายสันสฤตในอินเดียได้สูญหาย และพินาศไปพร้อมกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผา หลังจากนั้นอินเดียได้เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งหนึ่ง อย่างว่าแต่เรื่องคัมภีร์เลย ที่คนอินเดียไม่รู้จัก แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา คนอินเดีย (หลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ มาจนถึงราว พ.ศ. ๒๔๐๐ ) ก็ยังสับสนเอามาก ๆ ด้วย
ท่านศาสตราจารย์ พี.วี. บาพัด ปราชญ์ผู้เป็นบรรณาธิการพิมพ์หนังสือ “๒๕๐๐ ปีของพุทธศาสนา” กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาสาปสูญไปจากอินเดียหมด มีอยู่ ๓ ประการคือ
๑. การศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์เหล่านี้ จำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ของพระภิกษุ – สามเณร ภายในวัดเท่านั้น
๒. คัมภีร์พระพุทธศาสนาเหล่านี้ จะถูกเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของวัดหรือในกุฏิ ของพระภิกษุ – สามเณร ไม่ยอมแบ่งให้ชาวบ้านได้ช่วยเก็บรักษาไว้บ้าง
๓. เพราะวัดหรือสถาบันการศึกษาถูกทำลาย ด้วยเงื้อมมือของผู้คลั่งศาสนา หรือพวกป่าเถื่อน หรือทรุดโทรมไปเอง ตามกาลเวลา พระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา จึงพลอยถูกทำลายไปด้วย
โชคดีที่บาลีพระไตรปิฏก ข้ามไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่เกาะลังกา พม่า ไทย ฯลฯ เสียก่อน จึงรอดพ้นจากการถูกทำลาย ส่วนคัมภีร์สันสกฤต ก็พบในประเทศอื่น ๆ เช่น เนปาล เอเชียกลาง เมืองกิลกิต (Gilgit) ทิเบต จีน ฯลฯ นอกเหนือจากฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาจีนและทิเบต
ในส่วนข้อมูลของพระไตรปิฎก ภาษาสันสกฤตของสรวาสติวาทนี้ ได้มีการค้นพบต้นฉบับคัมภีร์พระวินัย และพระสูตรหลายฉบับในที่หลายแห่ง เช่นมีการพบพระปราติโมกษสูตร เขียนด้วยอักษรราชวงศ์คุปตะ บนใบเบิช (Birch) ในเขตเอเชียกลาง , นาย วี.เอ. สมิธ (V.A. Smit) และนาย ดับบลิว.ฮวย (W.Hoey) ได้พบพระไตรปิฎก (บางส่วน) เขียนแผ่นอิฐ อายุระหว่าง ๒๕๐ - ๔๐๐ AD ที่เมืองโคปาลปุระ
นอกจากนี้ ท่านศาสตราจารย์ เอน. ดุทท์ ( N. Dutt) ได้ค้นพบคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragmrnts) ของพระวินัย ที่ในเขตเมืองกิลลิต (Gillit) ในเขตปากีสถาน (บางท่านว่าแคสเมียร์ก็มี)

top