ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จากวิริยะ สู่ปัญญา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาคู่ชาติไทย

เบญจวรรณ มนัสไพบูลย์ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 2-16

ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของปัญหาสังคม อันนำมาสู่ปัญหาชีวิต หรือจากปัญหาชีวิตนำไปสู่ปัญหาสังคมก็ตาม พระพุทธศาสนายังคงเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ช่วยนำพาชีวิตผู้ทุกข์ ผู้เหนื่อย ผู้ร้อน อ่อนล้า ท้อถอย ไปสู่ความสว่างไสว สงบร่มเย็น จนกระทั่งมีความหลุดพ้นเป็นเป้าหมาย
หลังจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่ทรงตั้งผู้ใดเป็นศาสดา แต่ทรงให้ยึดพระธรรมคำสอนเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ พระอรหันต์สาวกได้รวบรวมพระธรรมคำสอน เรียกขานว่า พระไตรปิฎก สืบทอดกันมาด้วยวิธีบอกเล่าแบบมุขปาฐะ จนต่อมามีการจดจารจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และได้แพร่กระจายสู่ดินแดนที่มีพุทธศาสนิกชนเรื่อยมาจนปัจจุบัน พระไตรปิฎกถือเป็นตัวองค์ความรู้สำคัญที่เป็นรูปธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นที่รวมพุทธวจนะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ให้เหมาะแก่การศึกษาตามพื้นฐานและสถานภาพของแต่ละบุคคล
ปัจจุบันความเจริญทางด้านเทคโนโลยีได้ช่วยอำนวยประโยชน์ให้ผู้สนใจศึกษา มีวิธีการเข้าถึงตัวองค์ความรู้ได้หลายทาง ไม่ใช่เฉพาะสื่อการเขียนด้วยการจดจารจารึกบนใบลาน ซึ่งต่อมาขยายสู่สื่อการพิมพ์เป็นรูปเล่ม ยังรวมถึงพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์อีกด้วย อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสื่อออกมาในรูปแบบใด และหน่วยงาน องค์กรไหนจะจัดพิมพ์ในวาระใด ๆ ก็ตาม ในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจำแนกพระไตรปิฎกภาษาบาลีขณะนี้ออกเป็น ๓ ฉบับสำคัญคือ
๑.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่มในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระไตรปิฎกฉบับนี้แปลเป็นภาษาไทยสำเร็จบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
๒.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสังคายนา ตรวจชำระและจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีมีชื่อว่าพระไตรปิฎกฉบับไทยรัฐ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีชื่อว่าพระไตรปิฎกฉบับสังคายนา
๓.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ : ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์) ในฐานะสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดให้มีการดำเนินการตรวจชำระพระไตรปิฎกในมหามงคลสมัยที่พระพุทธศาสนายั่งยืนสืบมาถึง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ จัดพิมพ์เป็นเล่มมาอย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ๔๕ เล่ม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนสนับสนุนในเบื้องต้นเป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อพระไตรปิฎกภาษาบาลีสำเร็จเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๖และโดยเฉพาะในศักราชอันเป็นมงคลแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๗๒ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี ๒๕๔๒ นี้ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประชาชนชาวไทยจะได้แน่วแน่ตั้งใจในการศึกษา และปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลต่อไป
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และด้วยความสำคัญของพระไตรปิฎก อันเป็นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เมื่อมีการจัดทำพระไตรปิฎกภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงปรารภโอกาสพิเศษ ๒ ประการ คือ
๑.เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
๒.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ กล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกิดขึ้นในแผ่นดินไทยด้วยพระเกียรติคุณอันไพศาลของพระเจ้าแผ่นดิน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทำหน้าที่ดำเนินการตามธรรมเนียมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกแต่ครั้งโบราณกาล ที่สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์มักจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ด้วยความอุปถัมภ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาล
หากนับย้อนเวลาจากวันนี้กลับไป ๕-๖ ปี หลังจากที่มีการสมโภชพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (จัดทำ ๒๕๐๐ - ๒๕๓๕) ท่ามกลางความเบิกบานในธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการต่อเนื่องในงานพระศาสนา จัดให้มีการจัดทำพระไตรปิฎกภาษาไทยปรารภวโรกาสพิเศษดังกล่าว โดยมีจุดประสงค์สำคัญ ๕ ประการคือ
๑.เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา
๒.เพื่อให้เป็นคู่มือการศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๓.เพื่อให้เป็นคัมภีร์พุทธศาสตร์ที่จะได้ทำการวิเคราะห์ศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาอันเป็นบริวาร ได้แก่อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา และสัททาวิเสส
๔.เพื่อเป็นแหล่งวิชาการทางพระพุทธศาสนา ที่พระภิกษุสามเณรจะค้นคว้าและนำไปประกาศศาสนธรรมให้ถูกต้องทั้งอรรถและพยัญชนะ เพื่อให้เป็นหลักในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาและการค้นคว้าของพุทธศาสนิกชนผู้สนใจทั่วไป และเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๕๓๙ เวียนมาถึงในระหว่างที่มีการจัดทำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงปรารภวาระสำคัญของแผ่นดินนี้เข้าในโครงการฯ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ได้กำหนดหลักการในการแปลไว้ดังต่อไปนี้ คือ
๑.แปลโดยอรรถ ด้วยสำนวนภาษาไทยที่เห็นว่าจะเป็นที่เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ หรือสามารถใช้ศึกษาพุทธธรรมด้วยตนเองได้ ให้ได้ความตรงกับความหมายและสาระสำคัญตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ให้ผิดเพี้ยนทั้งอรรถและพยัญชนะ
๒.เพื่อให้การแปลได้เป็นไปตามหลักการข้อ ๑ เมื่อจะแปลเรื่องใดหรือสูตรใดให้อ่านและศึกษาเรื่องนั้นให้ทั่วถึง ให้เข้าใจแจ่มแจ้งทั้งอรรถและพยัญชนะโดยตีความคำศัพท์ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะตลอดถึงวิเคราะห์ดูความมุ่งหมาย ในการแสดงเรื่องหรือสูตรนั้น ๆ โดยทั่วถึงแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย
๓.ในการตีความดังกล่าวในข้อ ๒ ให้ตรวจสอบกับคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ของพระไตรปิฎกเล่มและตอนนั้น ๆ ตลอดถึงคัมภีร์ศัพทศาสตร์และปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทั่วถึงและให้เทียบเคียงกับสำนวนพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาอังกฤษด้วย
๔.คำศัพท์ที่เป็นหัวข้อธรรม เช่น อิทธิบาท ๔ หรือข้อธรรมย่อยอันเป็นรายละเอียดของหัวข้อธรรม เช่น ฉันทะ วิริยะ ให้แปลทับศัพท์ไว้แล้วเขียนคำแปลถอดความควบคู่กันไปไว้ภายในเครื่องหมายวงเล็บเล็ก เช่น อิทธิบาท (คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย)
๕.ถ้าศัพท์ใดที่เป็นชื่อข้อธรรม หรือชื่อหัวข้อธรรมย่อยดังกล่าวแล้วในข้อ ๔ ปรากฏซ้ำซ้อนกันในเรื่องเดียวกันหรือสูตรเดียวกัน ให้แปลทับศัพท์ควบคู่กับแปลถอดความในวงเล็บเล็ก เฉพาะคำที่ปรากฏครั้งแรกเท่านั้น คำต่อมาให้แปลทับศัพท์อย่างเดียว
๖.ให้รักษาเอกภาพการแปลไว้ อย่าให้มีความลักลั่นในการแปล กล่าวคือ เมื่อคำศัพท์อย่างเดียวกันมีปรากฏในที่หลายแห่งหรือหลายสูตร ถ้ามีความหมายอย่างเดียวกันให้แปลตรงกัน หรือเมื่อข้อธรรมอย่างเดียวกันมีปรากฏในหลายที่หลายแห่งถ้ามีนัยอย่างเดียวกัน ให้แปลให้ตรงกัน เช่น ข้อความจากพระวินัยปิฎกบ้าง หรือพระสุตตันตปิฎกบ้าง ที่นำมากล่าวอ้างอิงไว้ในพระอภิธรรม ให้แปลตรงกันทั้งสองปิฎก พร้อมทั้งทำเชิงอรรถบอกที่มาของข้อความหรือของสูตรนั้น ๆ ด้วย
๗.ที่ใดมีข้อควรรู้เป็นพิเศษ หรือเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยให้ทำเชิงอรรถแสดงความเห็นหรือเหตุผลในการวินิจฉัยไว้ด้วย เช่น พระบาลีที่กล่าวถึงพุทธธรรม โดยบอกเพียงจำนวนไม่ให้รายละเอียดไว้ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ หรือมิได้บอกจำนวนและรายละเอียดไว้ให้ทำเชิงอรรถที่บอกที่มาของรายละเอียดนั้นด้วย เมื่อพบว่ามีจำนวนและรายละเอียด อนึ่ง ที่ใดมีคำศัพท์ที่แปลยาก อาจแปลได้หลายนัยหรือพบว่ามีมติในการตีความไว้หลายอย่าง เมื่อตัดสินแปลคำนั้นอย่างใดแล้ว ให้ทำเชิงอรรถแสดงมติและเหตุผลในการแปลนั้นไว้ด้วย
๘.ในการแปล ให้ลงเลขวรรค เลขสูตร เลขข้อ และเลขเรื่องให้ตรงกับพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๙.ให้มีคำนำ หรือคำปรารภ สารบัญเรื่อง และคัมภีร์ต่าง ๆ ทำนองเดียวกับพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีคณะบรรณาธิการคณะหนึ่งทำหน้าที่เขียนคำนำหรือคำปรารภ บทนำ อภิธานศัพท์และเชิงอรรถ
นี้คือกรอบหรือตัวกำหนดมาตรฐานในการทำงาน ให้ดำเนินไปตามแนวนี้ ซึ่งนอกจากการคำนึงถึงเรื่องความถูกต้องแล้ว เรื่องภาษาที่จะให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ง่าย แต่การคงอรรถคงธรรมไว้ก็เป็นเกณฑ์สำคัญมากในการทำงาน ทั้งนี้เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้คำง่าย ๆ สำหรับคนทั้งหลายเข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้รักษาตัวอรรถตัวธรรมไว้ คืออย่าให้ความง่ายมาทำให้คุณค่าของพระไตรปิฎกหมดไป ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ก็ได้ยึดพระราชกระแสนั้นมาเป็นกรอบในการแปล
พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รูปปัจจุบัน ย้อนรำลึกถึงกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งนำเสด็จ ทอดพระเนตรนิทรรศการในงานสมโภชพระไตรปิฎกและอรรถกถาภาษาบาลี บ่ายวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อเริ่มดำเนินการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มีลิขิตขอเจริญพระราชศรัทธาอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานโครงการ ซึ่งก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์โครงการ ทำให้โครงการนี้แม้เพียงเริ่มต้นก็เป็นไปอย่างแข็งขัน มีการประชุมเตรียมงาน และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสรุปหลักการและแนวการแปลพระไตรปิฎก เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุด ต่อจากนั้นมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการที่ปรึกษา กรรมการตรวจสำนวน และกรรมการแปล โดยมีพระเถระผู้ใหญ่เป็นประธานในแต่ละคณะ ซึ่งจะประกอบด้วยพระเถรานุเถระและศาสนบัณฑิตอีกจำนวนหนึ่งจนกระทั่งทุกอย่างพร้อม หน้าแรกของตำนานการจัดทำพระไตรปิฎกภาษาไทย ก็เปิดฉากขึ้นอย่างงดงาม
บ่ายวันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และมีความสำคัญคู่แผ่นดินมาโดยตลอด
ท่ามกลางพระมหาเถรานุเถระจากหลากหลายสำนัก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนา ที่ล้วนมีกุศลจิตที่จะทำงานสืบสานพระพุทธศาสนา ท่ามกลางความศักดิ์สิทธิ์ของพระอารามเก่าแก่แห่งนี้ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ได้กล่าววาจาสุภาษิตท่ามกลางสมาคมบัณฑิตว่า
เป็นมหากุศลอย่างล้ำเลิศที่ผู้ใดผู้หนึ่งได้มีส่วนร่วมในการกระทำ ด้วยการเป็นผู้ดำเนินการแปลพระพุทธวจนะให้เป็นที่ถูกต้องเข้าใจ สามารถที่จะนำมาประพฤติ ปฏิบัติได้ หรือเป็นผู้อุปถัมภ์ด้วยการบริจาคทรัพย์ช่วยดำเนินงาน..งานแปลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หากบรรลุเป้าหมาย ย่อมคาดได้ว่าจะเกิดประโยชน์ในการให้เกิดความเข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วอย่างถูกต้อง และจะส่งเสริมความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ ให้ดำรงอยู่ในทำนองคลองธรรมด้วย เพราะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำสอนตั้งแต่ชั้นสูงสุด นวโลกุตรธรรมจนถึงหลักการปกครองบ้านเมือง มีทศพิธราชธรรม ธรรมของพระราชา ราชสวัสดิธรรม ธรรมของข้าราชการ และคิหิปฏิบัติธรรมของชาวบ้านและบุคคลทั่วไป เหมาะสมแก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ทุกเมื่อ
และยิ่งเป็นความทรงจำล้ำค่า เมื่อวันสำคัญนั้น สมเด็จพุทธชินวงศ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) พระมหาเถระแห่งวัดเบญจมบพิตร บัณฑิตผู้มีเมตตาธรรมสูง ได้มาทำหน้าที่ประธานฝ่ายสงฆ์ และกล่าวสัมโมทนียกถา อันมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยึดเป็นโอวาทมาจนถึงวันนี้ที่พระไตรปิฎกภาษาไทยสำเร็จลุล่วง แม้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้มรณภาพไปแล้วก็ตาม
จากปี ๒๕๓๖ ที่เตรียมงาน สู่ปี ๒๕๓๗ ที่ทุกอย่างเริ่มต้น ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๗ คณะกรรมการฯ ขึ้นทำงานที่ตำหนักสมเด็จ ภายในวัดมหาธาตุฯ พระเถระจากวัดต่าง ๆ เดินทางเข้าออกไม่เว้นแต่ละวัน ตำหนักสมเด็จกลับมีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ บรรยากาศทางวิชาการช่วยเสริมสร้างประวัติศาสตร์การแปลพระไตรปิฎกฉบับนี้ ให้ควรค่าแก่การจดจำ ด้วยความเป็นจริงที่ว่า ทุกชีวิต ณ ที่นั้น กำลังอุทิศสติปัญญาทำงานใหญ่ให้พระพุทธศาสนา ด้วยความวิริยะอุตสาหะมากมายนัก
พระไตรปิฎก ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจของคนทั่วไป บัดนี้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้พยายามทำเรื่องยากนั้นให้เข้าใจง่าย ด้วยการใช้ภาษาไทยของเราเอง ถ่ายทอดธรรมะอันมีค่าขององค์พระศาสดา เฉกเช่นอารยะประเทศที่กระทำกัน ดังที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้ให้คติสำคัญไว้ตอนหนึ่งว่า
เมื่อพระไตรปิฎกภาษามคธตกไปอยู่ในประเทศใด ๆ พระสงฆ์เถรานุเถระก็แปลความจากภาษามคธเป็นภาษาของชาวประเทศนั้น ๆ เพื่อให้คนในประเทศนั้น ๆ เข้าใจง่ายขึ้น
ในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศไทย พระเถรานุเถระที่รับภาระพระพุทธศาสนา ได้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยมาช้านาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีจนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำแปลนั้น ๆ ที่อยู่ในภาษานั้น ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามความเหมาะสมกับยุคสมัย กาลเวลา
เพราะฉะนั้นเมื่อมหาจุฬาฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะแปลพระไตรปิฎกให้ได้สันทัดความในภาษาไทย เพื่อให้อ่านได้เข้าใจง่าย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ ๕ รอบ จึงขออนุโม (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗)
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ที่ครั้งหนึ่งเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๒๖-๒๕๒๙) ได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ (พ.ศ.๒๕๓๐) เมื่อได้ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงต่อมา ก็ยังเห็นความสำคัญของงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับพระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ พระเมธีธรรมาภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ขณะเดินไปส่งที่รถว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานพระศาสนาครั้งนี้
เมื่อนำความกราบเรียนพระสุเมธาธิบดี องค์สภานายก และประกาศให้พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ พุทธศาสนิกชนที่ร่วมประชุมอยู่ภายในพระอุโบสถทราบก็มีเสียงอนุโมทนาสาธุการโดยถ้วนหน้า ยังความปีติแก่วงการพระพุทธศาสนาเป็นล้นพ้น
หลังจากนั้นพระอมรเมธาจารย์ (นคร เขมปาลี) หรือขณะนี้เป็นที่ พระราช-รัตนโมลี ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี พร้อมด้วยพระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยในขณะนั้น ได้รับโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗ ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ได้ให้ความสำคัญแก่งานพระศาสนาครั้งนี้อย่างจริงจัง จนที่สุดแล้วสำนักงบประมาณได้อนุมัติให้กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการใช้จ่ายเงินงบกลาง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๓๗ รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน ๒,๑๒๗,๒๕๐ บาท ในการสนับสนุนการจัดทำพระไตรปิฎกภาษาไทยของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เบิกจ่ายในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นเบื้องต้น และได้มีการตั้งงบและอนุมัติเงินเพื่อการนี้ต่อเนื่องมา จนพระไตรปิฎกสำเร็จเรียบร้อยในปี ๒๕๔๒ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ อีกวาระหนึ่ง รวมเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนต่อเนื่องทั้งสิ้น ๓๕,๕๒๗,๐๒๐ บาท (สามสิบห้าล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดพันยี่สิบบาท)
นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พระไตรปิฎกได้เกิดขึ้นท่ามกลางความวิริยะอุตสาหะและร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระ[๒ ]มหากษัตริย์ และการอุปถัมภ์จากรัฐบาล เฉกเช่นธรรมเนียมแต่ครั้งบูรพกาล
ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ เป็นเรือนหลังใหญ่ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ใช้เป็นที่ทรงงานของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ ด้วยสมัยนั้นพระเถระรูปใดที่ได้ดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์ ไม่ว่าจะอยู่วัดใด ก็จะต้องมาทรงงานที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ แห่งนี้ ติดต่อกันมาถึง ๕ พระองค์ ตำหนักสมเด็จเป็นที่ประชุมสังฆสภา เป็นที่ตรวจนักธรรม ตรวจบาลีสนามหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสังคายนาและชำระพระไตรปิฎกครั้งใด ก็จะใช้วัดมหาธาตุฯ เป็นที่ทำการตรวจชำระและแปลการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาและพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นฉบับภาษาบาลีหรือฉบับภาษาไทย ก็ได้ใช้ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ แห่งนี้เป็นที่ดำเนินการเช่นกัน
ตำหนักสมเด็จ จึงถือเป็นสถานที่ที่มีความหมายในประวัติศาสตร์สงฆ์ไทย และประวัติการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง
ยามบ่ายถึงเย็นค่ำ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยพระเถระผู้ทรงความรู้จากวัดต่าง ๆ หมุนเวียนกันมาทำงานตามหน้าที่ของตน อาจารย์แสวง อุดมศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการกองวิชาการ กรรมการและผู้ประสานงานการดำเนินการจัดทำพระไตรปิฎก ย้อนภาพคุ้นตาของท่านในแต่ละวันว่า
มีคนอยู่ที่นั่นกันเยอะ ทั้งพระ ทั้งฆราวาส แต่การมาเราจะนัดเป็นคณะ สมมติวันนี้ขึ้น ๕ คณะ เราก็จะจัดที่ไว้ ๕ โต๊ะ นั่งทำงานด้วยกันในแต่ละกลุ่ม วันใดเมื่องานเสร็จถึงระดับหนึ่ง จะต้องมารวมกันวินิจวิเคราะห์ร่วมกัน ไม่ใช่คนอื่นมาแก้ของตัวเองไม่ได้ ในกลุ่มจะต้องเห็นร่วมกัน ยืนยันร่วมกัน จึงจะผ่าน
บรรยากาศเป็นวิชาการ อย่างการตรวจสำนวนก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น จนบางครั้งต้องสมมติสถานการณ์ บางครั้งเดินรอบโต๊ะก็มี ดูตามเหตุการณ์ เพื่อสันนิษฐานความเป็นไปได้ คือจะมีการแก้ไข แสดงความคิดเห็นร่วมกันพิจารณาตลอด
การทำงานดังกล่าวประกอบด้วยพระเถระและฆราวาสผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมหาวิทยาลัยจัดพระเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมีการศึกษาระดับเปรียญเอก (๗,๘,๙) ขึ้นไปร่วมทำงาน ซึ่งนอกจากจะได้ทำงานสำคัญ ยังเป็นโอกาสที่จะได้ซึมซับวิธีคิด วิธีการทำงานของพระเถระผู้มีความรู้ ความสามารถ ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย
ภาพการทำงาน บรรยากาศแห่งวิชาการที่ทุกคนมุ่งมั่นอยู่กับพระไตรปิฎกเป็น เอกัคคตา อารมณ์เดียว เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด คงจะไม่ใช่ภาพคุ้นตาอาจารย์แสวงเท่านั้น แต่ในระหว่างคณะกรรมการและคณะทำงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเอง ก็คงจะคุ้นชินกับบรรยากาศการทำงานเช่นนั้นด้วย ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันด้วยเป้าหมายและอุดมการเดียวกัน แม้บางครั้งจะมีข้อขัดแย้งก็เป็นด้วยเรื่องวิชาการ ซึ่งก็จะต้องมีข้อยุติได้เสมอด้วยการประชุม ระดมความคิด หาข้อสรุปที่ดีที่สุด เพื่อให้พระไตรปิฎกนี้ถูกต้อง น่าเชื่อถือบรรลุเป้าหมายการจัดทำ
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีคุณลักษณะพิเศษดังนี้ คือ
ประเด็นหลักก็คือภาษา จะต้องร่วมสมัย ให้คนสมัยนี้อ่านเข้าใจ อย่างไรก็ตามเราก็คำนึงถึงรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสมอที่ว่า...การแปลพระไตรปิฎก อยากจะให้เป็นเอกลักษณ์ทางภาษา ไม่อยากจะให้เป็นภาษาสมัยใหม่มากจนเกินไป ไม่ให้ตัวธรรมเปลี่ยน
ในการแปลบางแห่ง ถ้าแปลแล้วความหมายจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เราก็จำเป็นต้องทับศัพท์ไว้ โดยการทับศัพท์นั้น เราจะทำเชิงอรรถอธิบายไว้ด้วยอรรถกถา หรือฎีกาสรุปนั้น ๆ ไว้ให้ โดยระบุหน้า เล่ม ของพระไตรปิฎกที่จะไปค้นต่อได้อีก
เรื่องของเชิงอรรถก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากจะเห็นได้ว่ามีเชิงอรรถมากมาย ที่เป็นการอธิบายความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น โดยจะบอกที่มาให้ค้นต่อไปได้
และเพื่อความสะดวกและเป็นจุดสำคัญของแต่ละเล่ม ก็คือบทนำ จะมีการสรุปเนื้อหาสำคัญของเล่มนั้นๆ ไว้ให้ หากต้องการจะอ่านแค่นี้ก็รู้เรื่อง แต่ถ้าต้องการจะอ่านลึกซึ้ง ก็จะรู้ว่าควรจะอ่านเรื่องใด ตรงไหนมีความเกี่ยวข้องกัน หรือเรื่องไหนที่สนใจเป็นพิเศษ การทำบทนำเป็นขอบข่าย เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งการทำบทนำเป็นเรื่องยาก ผู้เขียนต้องอ่านทั้งเล่ม แล้วมาตั้งต้นเขียนใหม่ สรุปประเด็นแต่ละสูตรๆ
ในเรื่องของความสมนัยหรือความสอดคล้องกันของคำแปลทั้งหมด เนื่องจากพระไตรปิฎกมีหลายเรื่อง หลายเล่ม เราก็ต้องมานั่งพิจารณาร่วมกัน ใช้คำ ใช้ภาษาให้สอดคล้องกัน จะได้ไม่ลักลั่นกัน ใช้ภาษาระดับเดียวกันให้ได้ ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันระมัดระวัง และเวลามาก
เราได้พยายามสืบค้นว่า คำนี้ สูตรนี้ มีปรากฎในเล่มใดๆบ้าง เราก็จะทำตามเชิงอรรถ อ้างอิง นี่คือความสอดคล้อง ความสมนัย เราพยายามรักษา พยายามระวังกันมากที่สุด
เราจะช่วยกันดู มีการอ่าน การตรวจกันหลายหน ระหว่าทำก็อ่านกันอยู่แล้วหลายรอบ จนชั้นสุดท้ายคณะบรรณาธิการ ก็ต้องมานั่งตรวจพิจารณาปรึกษาหารือกันอีก การอ่านมากๆ ก็ยิ่งคุ้น ยิ่งเข้าใจ
ส่วนสำคัญอีกประการคือเรื่องดัชนีค้นคำ จะมีการเก็บคำให้ได้มาตรฐานตรงตามหลักวิชา พยายามเก็บรายละเอียดของแต่ละเล่มให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้า และการตามอ่านต่อๆไป”
(แสวง อุดมศรี ผู้ประสานงานโครงการฯ)
ความพิถีพิถันละเอียดละออในการจัดทำปรากฏในทุกกระบวนการ ในฐานะประธานคณะบรรณาธิการ ที่มีหน้าที่ดูแลกลั่นกรองทุกอย่างในขั้นตอนสำคัญ พระราชวรมุนี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถ่ายทอดประเด็นที่น่าสนใจ เป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือของ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
“พระไตรปิฎกภาษาไทยนี้ ควรจะเสร็จเร็วกว่านี้ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ และได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาล ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของคณะสงฆ์ไทยโดยรวม
แต่ที่เวลาเนิ่นนานออกไป เพราะมีหลานขั้นตอนในการทำงานที่จะต้องเป็นที่ยอมรับ ต้นฉบับต้องผ่านทั้งคณะทำงานกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ จนมาถึงคณะบรรณาธิการ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายต้องตรวจสอบความถูกต้องครั้งแล้วครั้งเล่า เรายึดพระราโชบายที่ว่าให้อ่านเข้าใจง่าย แต่รักษาอรรถ รักษาธรรม รักษาความถูกต้องเสมอ ดังนั้น ถ้ายังมีใครอ่านต้นฉบับแปลแล้วไม่เข้าใจ ก็ยังผ่านไม่ได้
มีคติว่า “ผู้แปลต้องเข้าใจเรื่องที่ตนเองแปล” เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ผ่านก็ต้องแก้ไขงาน จะต้องช่วยกันกวดขันความถูกต้อง ความกลมกลืน สมนัย ไม่ให้ลักลั่น
นอกจากนี้ เพื่อความถูกต้องทางวิชาการ ถ้าเกิดสงสัยอะไรขึ้นมา ก็ต้องมีการตรวจสอบกับฉบับแปลอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า ตรวจสอบกับคัมภีร์อรรถกถา ฎีกาต่างๆ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานว่าพระไตรปิฎกนั้น จะแปลตามใจไม่ได้ เพราะอรรถกถาจะกำหนดไว้เลยว่า คำนั้นประโยคนั้น หมายความว่าอย่างไร
เราให้ความเคารพสำนวนเดิม แต่ก็จะปรับเป็นภาษาที่อ่านได้เข้าใจง่ายมากขึ้น ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ก็จะต้องมีการทำเชิงอรรถกันอย่างชัดเจน”
การระดมความคิด วิพากษ์วิจารณ์ หาเหตุผลเพื่อให้ได้ความถูกต้องต่าง ๆ ทำให้ทุกท่าน ทุกฝ่ายต้องอ่าน ต้องตรวจสอบงานหลายครั้ง ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ทำงานเองก็เกิดความเข้าใจซาบซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และการศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
ต้องขออนุโมทนาต่อทุกฝ่าย พระเถรานุเถระ คณะกรรมการทุกท่านที่เสียสละแรงกาย แรงใจ สติปัญญาร่วมกันประกอบกุศลกรรมครั้งนี้ อาตมาถือเป็นงานสำคัญที่ควรค่าแก่การจดจำ เพราะเป็นภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจของวงการสงฆ์ไทย
ในเมื่อพระไตรปิฎกซึ่งเป็นดั่งหัวใจของการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ผ่านการจัดทำอย่างพิถีพิถัน ประการสำคัญเป็นการร่วมแรงร่วมใจของคณะสงฆ์ดังนี้แล้ว ก็เป็นที่มั่นใจได้ว่าจะได้ก่อให้เกิดประโยชน์สมตามวัตถุประสงค์
พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสิริ) องค์นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ อธิบดีสงฆ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุฯ ร่วมอนุโมทนากับการคณะสงฆ์ครั้งนี้ด้วยความรู้สึก ๓ ประการ คือ
อาตมาแปลกใจ ดีใจ และภาคภูมิใจ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสถาปนามหาจุฬาฯ เป็นระดับมหาวิทยาลัยของภาคพระพุทธศาสนา ทรงมีพระราชหัตถเลขาชัดเจนว่า เพื่อให้พระสงฆ์ นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง นั่นหมายถึง พระองค์ทรงซาบซึ้งในภาคคำสอนจากพระไตรปิฎก จึงทรงหวังที่จะได้หลักพระธรรมนั้นมาเป็นหลักของชาติบ้านเมือง เป็นจิตเป็นใจของชาติบ้านเมือง อาตมามีความรู้สึกอย่างนี้
แล้วพระองค์ทรงมีรับสั่งในลักษณะว่า เมื่อใครได้ศึกษาแล้ว จะได้เอาหลักธรรมนั้นมาสั่งสอนพุทธบริษัท และประชาชนในชาติสืบต่อไป
มหาจุฬาฯ เป็นสถาบันที่ต้องสนองพระบรมราโชบายนี้โดยตรง ในฐานะสถาบันการศึกษาสงฆ์
อาตมาแปลกใจ ที่ว่าทำไมพระองค์จึงทรงเจาะจงที่พระไตรปิฎก ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นบ้านเมืองก็อยู่ในลักษณะราชาธิปไตย แต่พระองค์ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลเข้าถึงพระศาสนา
แล้วอาตมาดีใจ ที่นิสิตมหาจุฬาฯ ได้เรียนรู้พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา ดีใจเป็นพิเศษที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) มอบภาควิปัสสนา และภาคอภิธรรมปิฎกให้มหาจุฬาฯ ได้สืบสานเป็นหลักเป็นฐาน
ที่นี้มาถึงความภาคภูมิใจ ที่คณะสงฆ์ และมหาจุฬาฯ ได้เจริญพระราชศรัทธาให้สมน้ำพระราชหฤทัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ประกอบกับยุคนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะทรงมีพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทในโอกาสใด ก็ล้วนเป็นหลักศาสนา หลักคำสอนจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น
จึงเป็นความรู้สึกที่ดีของอาตมา ที่มองทุกอย่างรวมเป็นภาพเดียวกันว่า แผ่นดินไทยเราร่มเย็นเป็นสุขด้วยพระพุทธศาสนาโดยแท้
เป็นที่น่าอนุโมทนา ที่วงการสงฆ์ไทยได้ร่วมแรงร่วมใจกันกระทำภารกิจสำคัญแก่พระพุทธศาสนา ทันวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ซึ่งเป็นปีสำคัญของชาวไทย เป็นการสอดคล้องกับ ๒ วาระแรกเริ่มปรารภการจัดทำ ที่มุ่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
มิใช่เรื่องง่ายนัก แต่ทุกอย่างก็ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งนี้ด้วยพระบุญญาธิการพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงครบถ้วน มีทั้งฉบับภาษาบาลี และภาษาไทย เพื่อประโยชน์แก่พระบวรพุทธศาสนาสมดังตั้งใจ
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ใจของทุกคน[๒ ]ทุกคนร่วมใจกัน มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏา มโนมยา ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ใจดีคนก็ดี ใจเลวคนก็ชั่ว ใจเป็นต้นเหตุสำคัญ นอกนั้นเป็นเครื่องประกอบ เมื่อทุกคนมีความตั้งใจ ก็มีความสำเร็จเป็นเป้าหมายได้รับความภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน
พระไตรปิฎก เป็นความสำเร็จ เป็นความภูมิใจ... พระราชรัตนโมล อดีตอธิการบดี ให้ข้อสรุปถึงการทำงานในครั้งนี้ เป็นนัยที่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ท่านประสบด้วยตนเองในฐานะผู้บริหาร และในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ภายในพระอารามนี้ ความเกี่ยวพันของพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงฆ์ และความสำคัญของสถานที่ ที่สุดแล้วได้ก่อให้เกิดความสมนัยในการงานแห่งสงฆ์ และสมนาม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความภูมิใจแห่งพุทธศาสนิกชนโดยถ้วนหน้า

top