พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 17-44
ก่อนจะพูดถึงพระไตรปิฎก ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร
พระพุทธศาสนา ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา
ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า
ขอให้นึกย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา
ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า
ก็คือต้องการมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ก็จึงเป็นผู้ฟังที่เราเรียกว่าเป็นสาวก คำว่าสาวกนั้น ก็แปลว่าผู้ฟังนั่นเอง
เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นพระพุทธศาสนาอีก
พระพุทธศาสนาจึงมีความหมายทั้งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น
ถึงความหมายขยายไกล
ก็จับหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้
ต่อมาก็มีการจัดตั้งเป็นชุมชน เป็นสถาบัน เป็นองค์กร หมายความว่า
คนมารวมกันเรียน มาฟังคำสั่งสอน ขยายออกไป เรียกว่าเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วก็ปฏิบัติ ทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการจัดสรรดูแลต่างๆ
เพื่อให้คนทั้งหลายที่มาอยู่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนี้ ได้เรียนได้ฟัง
แล้วก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างได้ผล การจัดสรรดูแลให้มีการเล่าเรียน
สดับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาด้วย
ความหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยกว้างขวางออกไป
พอถึงขั้นจัดตั้ง การดูแลให้มีการเล่าเรียนและปฏิบัติ ก็เลยรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นชุมชน
เป็นองค์กร เป็นสถาบันหรืออะไรๆ ที่กว้างขวางออกไป ความหมายของพระพุทธศาสนาก็ขยายออกไป
เป็นอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็เลยลืมไปเลย
ไม่รู้ว่าตัวพระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ทบทวนกันไว้ให้ดี
ต่อไปก็จับไม่ถูก ว่าที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่จุดเริ่ม
คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น จะต้องจับตัวพระพุทธศาสนาไว้ ให้อยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้
ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีการปฏิบัติ มีการเชื่อถือกันไปมากมายใหญ่โต
แต่เสร็จแล้วไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา
ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน เป็นอันว่า คนที่มาหาพระพุทธศาสนา
ก็คือต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่เอาอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้ต้องการคำสั่งสอนของคนอื่น
เป็นต้น
เมื่อเราต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล จะทำอย่างไร
เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ในวัดเดียวกับพระองค์ ก็ไปหาไปเฝ้าพระองค์
ไปที่ธรรมสภาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรม ไปฟังพระองค์ หรือซักถามพระองค์
ทูลถามปัญหาต่าง ๆ ให้พระองค์ตรัสตอบให้ ถ้าอยู่ไกลก็เดินทางมา
บางคนมาจากต่างประเทศ ขี่ม้า หรือว่านั่งเกวียน เดินทางกันมาเป็นวัน
เป็นเดือน ก็เพียงเพื่อมาฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอน
จุดเริ่มความคิดรวบรวมรักษาพระพุทธศาสนา
ต้นแบบของการสังคายนา
ต่อมา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
พระองค์จากเราไปแล้ว ถ้าเราต้องการพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เราจะเอาจากที่ไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระองค์ไว้
พระพุทธศาสนาก็เป็นอันว่าหมดสิ้น
ฉะนั้น เรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก
คือการรวบรวมและบันทึกจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ต่อจากนั้นก็นำสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าทำอย่างไร
พวกเราเวลานี้จึงโชคดีที่มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนา
ขอย้อนไปเล่าว่า แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าเองและพระสาวกองค์สำคัญ
โดยเฉพาะพระสารีบุตร ก็ได้คำนึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
ถ้าไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น
ดังนั้น ทั้งๆที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้มีการริเริ่ม
เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์
ซึ่งเราเรียกว่าสังคายนา
สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้
แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน
ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี เป็นพระสูตรหนึ่งเลย
ตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง
สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน
ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า
ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร
ครั้งนั้น
ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง
ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน
(ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙)
เวลานั้น
พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า
ปัญหาของศาสนาเชนนั้น เกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้
เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ควรจะได้ทำการสังคายนา
คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง
โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ
มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด
๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.๑๑/๒๒๕-๓๖๓/๒๒๔-๒๘๖)
หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร
แปลง่ายๆ ว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ
นี้เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกสูงสุด คือพระสารีบุตรได้กระทำไว้
แต่ท่านพระสารีบุตรเอง ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็เป็นอันว่าพระสารีบุตรไม่ได้อยู่ที่จะทำงานนี้ต่อ
แต่ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ดำเนินงานนี้ต่อมาโดยไม่ได้ละทิ้ง
กล่าวคือพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้ใหญ่
มีอายุพรรษามากที่สุด
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน งานรักษาพระพุทธศาสนาก็เริ่มทันที
พระมหากัสสปเถระนั้นทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้
๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์จำนวนมาก
เมื่อได้ทราบข่าวนั้น ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่
ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น ก็มีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง
ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม
พระพุทธเจ้าปรินิพพานนี้ก็ดีไปอย่าง คือว่า ตอนที่พระองค์ยังอยู่นั้น
พระองค์ก็คอยดูแล คอยกวดขัน ตรัสห้ามไม่ให้ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ แนะนำให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
พวกเราก็ลำบาก ต้องคอยระมัดระวังตัว ทีนี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่
พวกเราคงจะทำอะไรได้ตามชอบใจ ชอบอะไรก็ทำ ไม่ชอบอะไรก็ไม่ทำ
พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็นึกคิดอยู่ในใจ แต่ไม่ได้กล่าวออกมา
คือท่านนึกคิดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ แค่นี้ ก็ยังมีคนคิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน
หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา
ท่านวางแผนไว้ในใจว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น
ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรงเป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า
และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
จะชวนให้มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนา
แต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปที่ปรินิพพาน และจัดการเรื่องการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระให้เสร็จเสียก่อน
ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย
เมื่องานจัดการเรื่องพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ดำเนินงานตามที่ท่านได้คิดไว้
คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่ เพื่อจะทำการสังคายนา
ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของงานใหญ่แห่งการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง
๓ เดือน ซึ่งได้ที่ประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ
เมืองราชคฤห์ พระเจ้าแผ่นดินตอนนั้นทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ซึ่งได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนา
ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่
เมื่อจะทำสังคายนา ก็มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมประชุม
จึงคัดเลือกได้พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ที่เห็นร่วมกันว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ
มีความรู้ความสามารถ เช่น เป็นหัวหน้าหมู่คณะ เป็นผู้ได้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้มากและชัดเจน
ในการประชุมนี้ พระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน
เรียกว่าธรรมส่วนหนึ่ง และวินัยส่วนหนึ่ง
ธรรม คือหลักคำสอนว่าด้วยความจริงของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งข้อประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำตรัสแสดงไว้โดยสอดคล้องกับความจริงนั้น
ส่วนวินัย คือประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ
ในการเป็นอยู่ หรือกฎระเบียบต่างๆ ของสงฆ์ ที่จะดำรงไว้ซึ่งภาวะอันเกื้อหนุนให้ภิกษุและภิกษุณีประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นอย่างได้ผลดี
และรักษาพระศาสนาไว้ได้
ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพระพุทธศาสนา ด้วยคำสั้นๆ ว่า ธรรมวินัย
ฝ่ายธรรมนั้น ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
เพราะติดตามพระองค์ไป อยู่ใกล้ชิด เป็นผู้อุปัฏฐากของพระองค์ ก็คือพระอานนท์
ที่ประชุมก็ให้พระอานนท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงแก่ที่ประชุม หรือเป็นหลักของที่ประชุมในด้านธรรม
ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ
ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย
ทั้งหมดนี้เราก็เรียกกันง่ายๆ ว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มประชุมกัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า
ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยมีพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เริ่มการประชุมเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้
๓ เดือน การประชุมดำเนินอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จสิ้น แสดงว่าเป็นงานที่ใหญ่มาก
เรื่องการทำสังคายนาครั้งแรกนี้ ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ผู้ต้องการความละเอียดสามารถไปอ่านได้เอง
(วินย.๗/๖๑๔-๖๒๘/๓๗๙-๓๙๔)
เมื่อสังคายนาพระธรรมวินัย
ก็ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นมา
วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย
หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม
แล้วก็มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน
เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดพร้อมกัน
การสวดพร้อมกันนั้น แสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วย และเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วยหมายความว่า
ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง
อย่างนี้เรื่อยไป ใช้เวลาถึง ๗ เดือน
การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า สังคายนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สังคีติ แปลว่า สวดพร้อมกันคายนา หรือคีติ (เทียบกับคีต
ในคำว่าสังคีต) แปลว่าการสวด
สํ แปลว่าพร้อมกันก็คือสวดพร้อมกัน สังคายนา ถ้าเป็นชาวบ้านก็ร้องเพลงพร้อมกัน
เป็นอันว่า
ผ่านเวลาไป ๗ เดือน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้ทำสังคายนา ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมติร่วมกันได้เรียบร้อย
คำสอนที่รวบรวมประมวลไว้นี้ เป็นที่มั่นใจ เพราะทำโดยท่านที่ได้ทันรู้ทันเห็นทันเฝ้าทันฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
คำสอนที่ลงมติกันไว้อย่างนี้ซึ่งเรานับถือกันมา เรียกว่า เถรวาท
แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการของพระเถระ คำว่า เถระ ในที่นี้
หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ว่าไปแล้วนี้
พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าวมานี้
เรียกว่าเถรวาท หมายความว่า
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมวินัย ทั้งถ้อยคำและเนื้อความอย่างไรที่ท่านสังคายนากันไว้
ก็ทรงจำกันมาอย่างนั้น ถือตามนั้นโดยเคร่งครัด เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาแม้แต่ตัวภาษาเดิมด้วย
หมายความว่ารักษาของแท้ของจริง ภาษาที่ใช้รักษาพระธรรมวินัยไว้นี้
เรียกว่าภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คำสอนของเถรวาทก็รักษาไว้ในภาษาบาลีตามเดิมคงไว้อย่างที่ท่านสังคายนา
พระธรรมวินัยสำคัญเพียงใด
จึงทำให้ต้องมีการสังคายนา
ธรรมวินัย หรือหลักคำสอนที่สังคายนาไว้นี่แหละ
เป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะได้บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนา ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนนั้น พร้อมทั้งดูแลจัดสรรทำการต่างๆ
เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เรียนรู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น
การปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสไว้ คือเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาแทนพระองค์
แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลีว่า
โย โว อานนฺท
มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. (ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)
แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว
แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป
หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์นี้
เป็นศาสดาแทนพระองค์
เพราะฉะนั้น การสังคายนาจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพุทธพจน์ ที่เหมือนกับได้ทรงฝากฝังสั่งเสียไว้ว่า
ให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์เป็นศาสดาแทนพระองค์ด้วย
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย
ไว้ให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่สังคายนาไว้ ก็คือรักษาพระศาสดาของเราไว้
คือรักษาพระพุทธเจ้าไว้นั่นเอง
พระธรรมวินัย มาอย่างไรจึงเป็นพระไตรปิฎก
ขอกล่าวต่อไปว่า การสังคายนาที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้
หรือประมวลพระธรรมวินัยไว้นั้น นอกจากประมวลคือรวมมาแล้ว ก็มีการจัดหมวดหมู่ไป
ด้วย
การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา
กับทั้งเกื้อกูลต่อการศึกษาค้นคว้าด้วย
นอกจากแบ่งโดยส่วนใหญ่เป็นธรรมกับวินัยแล้ว ก็ยังมีการจัดแยกซอยย่อยออกไปอีก
ธรรมนั้น
แยกย่อยออกไปเป็น ๒ ส่วน เพราะธรรมนั้นมากมายเหลือเกิน ต่างจากวินัยซึ่งมีขอบเขตแคบกว่า
เพราะวินัยเป็นเรื่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสังฆะ คือคณะสงฆ์ไว้
เพื่อให้ชุมชนแห่งพระภิกษุ และพระภิกษุณี ดำรงอยู่ด้วยดี แต่ธรรมเป็นคำสอนที่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด
สำหรับพุทธบริษัททั้ง ๔
เนื่องจากธรรมมีมากมาย จึงมีการแบ่งหมวดหมู่ออกไปอีก โดยแยกเป็นว่า
๑. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ
ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น คือเสด็จไปพบคนโน้น เขาทูลถามเรื่องนี้
พระองค์ก็ตรัสตอบไป เสด็จไปพบชาวนา ทรงสนทนาโต้ตอบกับเขา จนจบไป
ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เสด็จไปเจอกับพราหมณ์ ได้สนทนากับเขา หรือตอบคำถามของเขา
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไปเจอกษัตริย์หรือเจ้าชาย ก็สนทนากันอีกเรื่องหนึ่ง
ธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคลต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ละเรื่องๆ จบไปเรื่องหนึ่งๆ
นี่ เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ
ธรรมมาในรูปนี้มากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่ว่าพระองค์ได้ตรัสแก่บุคคลประเภทใด
เพื่อทรงชี้แจงอธิบายหรือตอบปัญหา เรื่องไหนตรงกับพื้นเพภูมิหลังความสนใจ
และระดับความรู้ความเข้าใจหรือระดับสติปัญญาของเขา ฉะนั้นธรรมแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเนื้อหาแตกต่างกันมาก
พอจบเรื่องนี้ที่ตรัสแก่ชาวนา ซึ่งเป็นธรรมระดับหนึ่ง เพียงเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น
ก็เป็นธรรมคนละด้านคนละระดับกันเลย
ตัวอย่างเช่นตรัสกับชาวนา เป็นเรื่องการทำมาหากิน หรือเรื่องการหว่านพืช
ก็อาจจะตรัสเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร หรืออาจจะเทียบกับการปฏิบัติของพระภิกษุก็สุดแต่
แต่พอไปอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์สนทนากับพราหมณ์ ก็อาจจะตรัสเรื่องวรรณะ
หรือเรื่องไตรเพทของพราหมณ์ หรือเรื่องการบูชายัญ ดังนี้เป็นต้น
ธรรมที่ตรัสแบบนี้ พอเปลี่ยนเรื่องไป เนื้อหาก็เปลี่ยนไป ห่างกันมาก
ฉะนั้นเนื้อหาสาระจึงไม่ไปตามลำดับ แต่ละเรื่องๆ นั้นก็เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ
ธรรมที่ตรัสแสดงแบบนี้ คือตรัสแสดงแก่บุคคล โดยปรารภเรื่องราว เหตุการณ์
สถานการณ์คนละอย่างๆ นี้ รวมไว้ด้วยกัน จัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า
พระสูตร
๒. ธรรมอีกประเภทหนึ่ง
คือธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์
ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นวิชาการล้วนๆ
คือยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายให้ชัดเจนไปเลย เช่นยกเรื่องขันธ์
๕ มา ก็อธิบายไปว่าขันธ์ ๕ นั้น คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรๆ
อธิบายไปจนจบเรื่องขันธ์ ๕ หรือว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็อธิบายไปในแง่ด้านต่างๆ
จนกระทั่งจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้
ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า พระอภิธรรม ส่วนวินัยก็ยังคงเป็นวินัยอยู่เท่านั้น
เรียกกันว่า พระวินัย
ตอนนี้จะเห็นว่า เมื่อแยกธรรมเป็น ๒ ส่วน คือเป็นพระสูตรกับอภิธรรม
แล้วมีวินัยเดิมอีกหนึ่ง ธรรมเป็น ๒ วินัย ๑ รวมกันก็เป็น ๓ ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยอีกแบบหนึ่ง
เป็นปิฎก ๓ ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก
ปิฎก แปลว่าตะกร้า
หรือกระจาด โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นที่รวบรวม เพราะกระจาด
ตะกร้า กระบุง บุ้งกี๋นั้น เป็นที่รวบรวมทัพสัมภาระ ในที่นี้ก็คือรวบรวมจัดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นประเภทๆ
เป็นหมวดๆ จึงเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า ไตรปิฎก
คือ
๑. พระวินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมพระวินัย ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์กติกา
สำหรับรักษาภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ไว้
๒. พระสุตตันปิฎก เป็นที่รวบรวมพระสูตรทั้งหลาย คือธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคล
หรือปรารภเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง เป็นแต่ละเรื่องๆ
ไป
๓. พระอภิธรรมปิฎก เป็นที่รวบรวมคำอธิบายหลักคำสอน
ที่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นหลักการแท้ๆ หรือเป็นวิชาการล้วนๆ
พระไตรปิฎกสำคัญเพียงใด
เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็รวมความได้ว่า พระไตรปิฎก ก็คือที่รวบรวมพระธรรมวินัย
คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
นี่แหละคือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า
จะต้องรักษา แล้วก็เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้
พร้อมกันนั้นก็ใช้คำสั่งสอน คือพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้แหละ
เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้รวบรวมประมวลสังคายนาและรักษาสืบต่อไว้ในพระไตรปิฎก
หรือคลาดเคลื่อนจากนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา
สิ่งที่เราเล่าเรียนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวินัยของพระภิกษุสงฆ์
เช่น การบวช การมีโบสถ์ การสร้างกุฏิ การกรานกฐิน และสังฆกรรมต่างๆ
การใช้ไตรจีวรของพระภิกษุ การที่พระภิกษุทำอะไรได้หรือไม่ได้ การที่จะต้องอาบัติต่างๆ
มีปาราชิกเป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านจะทำบุญทำทาน คำว่าทานก็ดี
คำว่าบุญก็ดี เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาไตรสิกขา ภาวนาต่างๆ
ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ อริยสัจจ์ ตลอดถึงพระนิพพาน ก็ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้น
ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราก็ไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านี้เลย และพระภิกษุก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่าตัวประพฤติปฏิบัติอย่างไรถูก
อย่างไรผิด อะไรเป็นอาบัติปาราชิก อะไรเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย
ปาจิตตีย์
ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้น คือหมดสิ้นพระพุทธศาสนานั่นเอง
เป็นอันว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราก็ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จากพระพุทธเจ้าโดยตรง
แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราต้องการพระพุทธศาสนา คือ
ต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปเอาจากที่ไหน ก็ต้องไปเอาจากที่ท่านรวบรวมประมวลไว้
ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้
หรือรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้
พระไตรปิฎกยุคท่องจำ แม่นยำแค่ไหน
ทีนี้การรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกนั้นท่านทำกันมาอย่างไร เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น
๒ ยุค คือ
๑. ยุคที่สืบต่อมาด้วยการทรงจำด้วยปากเปล่า
เรียกว่ามุขปาฐะหรือมุขปาฐ และ
๒. ยุคที่ได้จารึกเป็นตัวอักษร
เช่นในใบลาน เป็นต้น
ช่วงแรก
เป็นยุคของการรักษาไว้ด้วยการทรงจำ โดยสวด หรือสาธยาย แต่ก่อนนี้อาตมาเองก็เคยสงสัย
เหมือนหลายคนสงสัยว่า เมื่อรักษาด้วยการทรงจำ ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป
แต่เมื่อเวลาผ่านมา ได้พิจารณาไตร่ตรอง และได้เห็นหลักฐานและหลักการต่างๆ
ก็กลายเป็นว่า การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดแล้วทรงจำไว้นั่นแหละ
เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร
ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่าการท่อง ที่จะทรงจำพระไตรปิฎก
หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า ธรรมวินัยนั้น ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน
คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน
เช่นสวดกัน ๑๐ คน ๒๐ คน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนั้น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำจะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้
จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล้มไปเลย
เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปด้วยดี ให้สอด
คล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้
คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมากๆ
พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นท่านเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่า
นี้แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น
ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย
พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
ก็ต้องถึงกับพูดกันว่า อักษรจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านี้ อักษรเดียวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือว่าต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี
แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อยก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก
แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
เป็นบาปมาก นี่แหละ ท่านให้ความสำคัญถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน
ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน
รวมความว่า
๑. มีความระมัดระวังเห็นเป็นสำคัญมาก
เพราะถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนา
๒. ถือเป็นงานของส่วนรวม โดยเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะ และพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา
จะต้องเอาธุระในการดูแลรักษาอย่างยิ่ง
เป็นอันว่า
การรักษาด้วยวิธีเดิม คือการทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด
เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน แต่พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว
โดยจะต้องมีการซักซ้อม และทบทวนกันอยู่เสมอ ซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้
ในพม่าก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ กล่าวคือในยุคนี้ ทั้งๆ ที่มีคัมภีร์จารึกและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้ว
เขาก็ยังพยายามสนับสนุนพระภิกษุให้ทรงจำพระไตรปิฎก
ในพม่าปัจจุบันยังมีประเพณีเป็นทางการของบ้านเมือง คือ มีการสอบพระภิกษุที่มาสมัครเพื่อจะแสดงความสามารถในการทรงจำพระไตรปิฎก
พระภิกษุองค์ใดสอบผ่านแสดงว่าทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด ซึ่งถ้านับเป็นตัวหนังสือพิมพ์เป็นอักษรไทย
ก็ได้ ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ถ้าท่านจำได้หมด ทางการจะตั้งให้เป็น
พระติปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ได้เป็นพระเป็นที่เคารพนับถือองค์หนึ่ง
และทางรัฐบาลจะเลี้ยงดูโยมพ่อแม่ของพระภิกษุนั้น และอุปถัมภ์บำรุงด้วยประการต่างๆ
เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพระติปิฏกธร คือพระภิกษุรูปเดียวที่สามารถจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด๒๒,๐๐๐
กว่าหน้า ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย
นี่คือองค์เดียวเท่านั้น ก็ยังจำไหว
ในสมัยโบราณต้องใช้วิธีทรงจำโดยท่องปากเปล่าอย่างนี้ เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร
เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำกันไว้ องค์ไหนทรงจำไว้ได้มากที่สุด
ก็จะได้รับความเชื่อถือ และเคารพนับถือ
พระไตรปิฎกยุคจารึกเป็นลายลักษณ์
ถือเป็นหลักของชาติ จึงคงอยู่ได้ด้วยดี
ต่อมาถึง
พ.ศ.ใกล้ ๕๐๐ จึงได้เริ่มมีการใช้วิธีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน
พอถึงยุคจารึกลงในใบลานนี้แหละ กลายเป็นยุคที่จะมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย
เพราะคนเริ่มประมาทว่า เออ เรามีใบลาน มีหนังสือที่จารึกไว้แล้ว
อยากรู้ก็ไปเปิดดูและตรวจสอบได้ง่าย เราไม่ต้องจำให้มาก ไปๆ มาๆ
การสวดสาธยายพระไตรปิฎกก็เหลืออยู่แค่สวดมนต์ อย่างทำวัตรสวดมนต์ที่เราเห็นๆ
กันอยู่ คนก็จำพุทธพจน์ได้น้อยลงๆ เหลือน้อยลงไปทุกที
นอกจากนั้น
ในการคัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า จาร เวลาคัดลอกกันทีหนึ่ง
ก็อดไม่ได้ที่จะมีการตกหล่นหรือผิดเพี้ยน เช่นตัว จ เป็น ว หรือตัว
ว เป็น จ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการคัดลอกในระดับที่เป็นทางการใหญ่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด
หรือเป็นระดับของประเทศชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ
จะถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ จะต้องมีพระไตรปิฎกฉบับหลวงเป็นของราชการ
เป็นของแผ่นดิน เป็นของประเทศชาติ รักษาไว้เป็นหลักของกลาง แล้วมาคัดลอกต่อๆ
กันไป
นานๆ จึงต้องมีการมาประชุมกันระดับชาติ
แล้วก็เอามาตรวจสอบกัน เอามาทานกัน ตรงไหนตกหล่น ผิดพลาดไป ก็ทำเชิงอรรถไว้
คือถือเรื่องความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา
เพราะนี้คือองค์แทนที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา
จะเห็นว่า
ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นหลักสำคัญยิ่ง
เวลานำพระพุทธศาสนาไปประเทศต่างๆ ก็คือจะต้องนำพระไตรปิฎกไป อย่างพระเจ้าอโนรธามังช่อ
ที่เป็นมหาราชของพุกาม ผู้เป็นต้นความยิ่งใหญ่ของพม่า ที่ปราบมอญลงได้
ตอนนั้นมอญนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรือพระเจ้าอโนรธามังช่อไปปราบมอญได้แล้ว
หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็นำเอาพระไตรปิฎกจากมอญไปยังพุกาม
พระภิกษุทั้งหลายเดินทางไปมาระหว่างประเทศในสมัยโบราณ ก็เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก
คัดลอกพระไตรปิฎก และอรรถกถา
พระเจ้าแผ่นดินไทยแต่ละยุค เวลาสร้างบ้านเมืองใหม่ ก็ทรงถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นการสำคัญ
เช่นเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ถูกพม่าเผา พระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมประเทศชาติได้
ทรงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี พอตั้งเมืองหลวงเสร็จ ก็จัดการเรื่องคณะสงฆ์
หาพระภิกษุที่น่าเคารพนับถือมาสถาปนาเป็นองค์สมเด็จพระสังฆราช
เสร็จแล้วภาระใหญ่อันสำคัญที่พระองค์ทำ ก็คือให้รวบรวมพระไตรปิฎก
เพราะว่าอยุธยาถูกเผา พระคัมภีร์ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ก็โปรดให้ไปรวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมือง
ทั้งเมืองเหนือ เมืองใต้ เอามาเลือกคัดจัดตั้งเป็นสมบัติกลางไว้ที่เมืองหลวง
เพื่อเป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป
พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ สมัยกรุงเทพฯก็เหมือนกัน พอเริ่มตั้งกรุง
เมื่อจัดบ้านเมืองพอเข้าที่ สิ่งที่พระองค์ทรงรีบทำ คือเรื่องของพระไตรปิฎก
ถึงกับมีการสังคายนาของกรุงเทพฯ ขึ้นมา ครั้นสังคายนาเสร็จเรียบร้อย
สอบทานได้พระไตรปิฎกมาเป็นหลัก ก็จัดตั้งเป็นฉบับหลวงของแผ่นดิน
จึงเป็นที่รู้กันว่า การรักษาพระไตรปิฎกเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ในยุคทรงจำด้วยปาก การรักษาพระไตรปิฎกก็คือ ท่องพร้อมกัน สวดพร้อมกัน
มาสอบทานกันด้วยวาจาอยู่เสมอ ต่อมาในยุคที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือเอาคัมภีร์ที่จารึกไว้ทั้งหลาย
มาเทียบเคียงสอบทานกันอยู่เสมอ
การสอบทานกันนี้
เป็นความหมายของการสังคายนาในยุคหลัง ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า
พระไตรปิฎกของเราที่เป็นบาลี จะไปอยู่ในพม่า ไปเป็นของสิงหลอยู่ในลังกา
ไปอยู่ในประเทศไทย หรือไปอยู่ในประเทศไหน แม้แต่ฝรั่งเอาไปคัดลอกเป็นฉบับอักษรโรมัน
ก็เหมือนกันหมด เนื้อหาอย่างเดียวกัน จะมีแปลกไปก็เพราะพิมพ์ผิดนิดๆ
หน่อยๆ อย่างของเรามีอยู่แห่งหนึ่ง ตกหล่นไป ยาวหน่อย สักครึ่งค่อนหน้า
ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว
หมายความว่า พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทเรานี้ ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน
ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลกันไปแสนนาน ก็ยังเหมือนกัน เนื้อหาอย่างเดียวกัน
แสดงถึงการที่ท่านให้ความสำคัญกับการรักษา
ในเวลาที่เรามีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน
เพื่อดูว่ามีข้อความถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม แม้แต่เล็กๆ
น้อยๆ เพียงว่า อักษร จ เป็น ว เราก็จะทำเชิงอรรถไว้ว่า ตรงนี้ฉบับของเราเป็นอย่างนี้
ฉบับพม่าหรือฉบับไหนเป็นอย่างนั้น อย่างชื่อพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็มีการผิดเพี้ยนกันไปนิดหน่อย
ฉบับของเราเป็นอัญญาโกณฑัญญะ ฉบับอักษรโรมันของ
Pali Text Society เป็นอัญญาตโกณฑัญญะ เป็นต้น ความแตกต่างแม้แต่นิดเดียว
เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ
ต้องเข้าใจให้ชัด
แค่ไหนใช่ แค่ไหนไม่ใช่สังคายนา
การสังคายนานั้นต้องให้รู้ว่าเป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด
ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์เอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป
การสังคายนา ก็คือ การมาทบทวนซักซ้อมตรวจสอบคัมภีร์ให้ตรงตามของเดิม
และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป
ให้มาทบทวนตัวเอง ให้มาซักซ้อมกับที่ประชุม ให้มาปรับความเห็น
ความเชื่อ การปฏิบัติของตน ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ
ที่เป็นหลักกลางนี้
บางคนเข้าใจผิดว่า ในการสังคายนานี้ ผู้ที่เข้าร่วมสังคายนา จะไปปรับไปแต่งไปทำอะไรกับพระไตรปิฎก
ดีไม่ดีอาจจะถึงกับเข้าใจว่ามาแต่งพระไตรปิฎกกันใหม่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปไกล
ซึ่งแสดงว่าไม่รู้จักการสังคายนา และไม่รู้เรื่องอะไรเลย
เพราะฉะนั้น จะต้องย้ำกันว่า การสังคายนาพระไตรปิฎก ก็คือ การมาทบทวนตรวจสอบซักซ้อมกันในการที่จะรักษาพระไตรปิฎกของเดิมที่ท่านสังคายนาไว้
ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓ เดือน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
ว่าเป็นอย่างไร ก็ให้คงอยู่อย่างนั้น อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อะไรที่คลาดเคลื่อน ใครทรงจำผิดไป ก็ให้มาปรับเข้ากับของเดิมของแท้นี้เสีย
เพราะว่าเมื่อเรารักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือเราจะต้องเอาคำตรัสของพระองค์ของเดิมไว้ให้ได้
ถ้าคำสอนคำตรัสเดิมหมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว
แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว
คำของพระสาวกก็มี เช่น คำของพระสารีบุตรที่ได้แสดงวิธีสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้นั้น
ก็เป็นพระสูตรอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อ สังคีติสูตร
แต่ธรรมะที่พระสารีบุตรนำมาสังคายนาไว้ในสังคีติสูตรนั้น
ก็คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั่นเอง
นอกจากนั้นก็มีคำสนทนากับผู้อื่น ซึ่งมีคำของผู้อื่นอยู่ด้วยในนั้น
หลักคำสอนอะไรเก่าๆ ก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ทรงนำมาเล่าให้นับถือปฏิบัติกันต่อไป
ก็มาอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย อย่างเรื่องชาดก เฉพาะส่วนที่เป็นตัวคำสอนแท้ๆ
คัมภีร์ที่นิพนธ์แม้หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในสมัยสังคายนาครั้งที่
๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา
ท่านได้เห็นว่า พระในสมัยนั้นบางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป
ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อวินิจฉัยความเชื่อถือ
หรือการสั่งสอนที่ผิดพลาดเหล่านั้นแต่การวินิจฉัยนั้นก็เป็นเพียงว่าท่านมาเชื่อมโยง
โดยยกเอาคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่โน้น ที่นี่ ในเรื่องเดียวกันนั้น
มารวมกันไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร
เพื่อจะวินิจฉัยความเชื่อหรือคำสอนของผู้ที่เชื่อผิดพลาดไปนั้น
อย่างนี้ก็กลายเป็นคัมภีร์ใหม่ แต่แท้จริง ก็เป็นการนำเอาพุทธพจน์ในเรื่องนั้นๆ
มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน
แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนี้เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน เป็นของส่วนรวมที่พระสงฆ์ทั้งหมดโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูอาจารย์และพระเถระที่รับผิดชอบการพระศาสนาต่างก็คอยจับตา
คอยระแวดระวัง ถือเป็นสำคัญ ฉะนั้นใครจะไปเที่ยวใส่เติมอะไรลงไปไม่ได้
จะต้องเป็นที่ยอมรับกันอย่างแน่นอน และไม่ใช่ประเทศเดียวรักษาไว้
หลายๆ ประเทศต่างก็มี แล้วก็ต้องคอยทานเทียบกัน หมั่นตรวจสอบไม่ให้คลาดเคลื่อนกันไป
รวมความก็คือให้จำไว้เลยว่า ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมด มีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน
ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด แม้จะต่างกันในตัวอักษร จ ว บ้าง
บางแห่ง หรือตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที ความสำนึกตระหนักมั่นนี้
อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย แม้แต่ประเทศไทยเรา ต่อไป ถ้าไม่เห็นความสำคัญ
เราเองก็อาจจะทำให้เลือนลางคลาดเคลื่อน
เวลาแปลคำว่า สังคายนา เป็นภาษาอังกฤษ เรามักไปเทียบกับภาษาฝรั่ง
เช่น Council อย่างของศาสนาคริสต์ เขามี Vatican Council เป็นต้น
เราก็แปลว่าเป็นการสังคายนา อันนั้นเป็นการแปลเพียงเทียบในบางแง่ความหมาย
ซึ่งที่จริงไม่
เหมือนกันเลย
การประชุม
Council ของศาสนาคริสต์นั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการมาตกลงกันกำหนดหลักความเชื่อ
และแม้แต่การวางนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาของเขา แต่การสังคายนาในพระพุทธศาสนาเป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด
ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้
ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงมาตรวจเช็ค
มาซักซ้อม ทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป
ก็มาปรับให้ตรงตามของเดิม
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้
ส่วนพระสูตรต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่เป็นอาจริยวาท/อาจารยวาท
เดี๋ยวนี้ก็รู้กันหมดแล้วว่าเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง ไม่รักษาคำสอนเดิมแท้ๆไว้
ก็เลยคลาดเคลื่อนหรือหาย คัมภีร์ส่วนมากก็สาบสูญไป เขาก็เลยมายอมรับกันว่า
คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่จะหาได้ครบสมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องมาดูในพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานี้
เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล คือนักปราชญ์ วงวิชาการทั่วโลก
จะเป็นมหายาน หรือเถรวาท หรือเป็นวัชรยาน ก็รู้กันทั้งนั้น
ควรเห็นคุณค่าของอรรถกถา
ที่ค้ำชูอยู่เคียงข้างพระไตรปิฎก
เมื่อถือพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานชั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้น ก็จะมีการปิดรายการว่า
เอาละ พระไตรปิฎกมีแค่นี้ ต่อจากนี้พระเถระ พระอาจารย์ผู้ใหญ่
ที่เป็นนักปราชญ์ ก็ทำหน้าที่ช่วยกันรักษาพระไตรปิฎกนี้ไว้
นอกจากรักษา ท่านก็มีหน้าที่อธิบายด้วย เพราะต้องสั่งสอนลูกศิษย์จำนวนมากมาย
ซึ่งเมื่อศึกษาพระไตรปิฎกนั้น ก็อาจไปติดขัด ไม่เข้าใจบางส่วนบางตอนที่ยาก
พระอาจารย์ผู้ใหญ่เหล่านี้ที่ท่านสืบต่อคำสอนกันมา และถ่ายทอดคำอธิบายกันมาเรื่อย
ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระเถระจนถึงพระมหาเถระผู้เป็นครูอาจารย์เหล่านี้
ก็อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน
หรือผู้ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วคำอธิบายเหล่านี้ก็มารวบรวมกันเป็นคัมภีร์ระดับรองจากพระไตรปิฎก
เรียกชื่อว่า อรรถกถา คือไม่จัดรวมเข้าในพระไตรปิฎก
ตอนนี้เท่ากับมีคัมภีร์ ๒ ระดับ
ระดับที่ ๑ คัมภีร์ที่จารึกพุทธพจน์ พร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวข้องที่เป็นหลักฐานดั้งเดิม
เป็นมาตรฐานใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎกและ
ระดับที่ ๒ คัมภีร์เคียงข้างพระไตรปิฎก ซึ่งมีมาแต่เดิมเหมือนกัน
โดยถ่ายทอดกันมา เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า
อรรถกถา
น่าสังเกตว่า การรักษาพระไตรปิฎก กับการรักษาอรรถกถานี้ต่างกัน
คือ พระไตรปิฎกนั้นจะต้องรักษาไว้อย่างเดิม ตัวภาษาก็ต้องของเดิม
คือภาษาบาลี แต่อรรถกถา ซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก มุ่งให้ผู้ศึกษาใช้ประกอบการศึกษาให้เข้าใจพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้นอย่างในลังกาสมัยก่อน เดิมนั้นก็รักษากันมาด้วยภาษาสิงหล
ซึ่งเป็นภาษาของชาวลังกา หมายความว่า ผู้ศึกษาเรียนพระไตรปิฎกโดยอาศัยคำอธิบายของอรรถกถา
จึงเรียนพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี ด้วยอรรกถาคือ คำอธิบายที่เป็นภาษาสิงหลของชาวลังกาเอง
เป็นเช่นนี้จนกระทั่งต่อมา พ.ศ. ๙๐๐ เศษ พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย
จึงได้เดินทางมายังลังกา และแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี
ตอนนั้น
ในอินเดีย พระพุทธศาสนาเสื่อมมากแล้ว กลายเป็นว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทได้มาอยู่ในลังกา
พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย ต้องการจะให้คนอินเดียได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากหน่อย
จึงต้องการอรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกที่อยู่ในลังกา ท่านจึงเดินทางจากอินเดียมาลังกา
แล้วมาขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี เพื่อนำไปศึกษาในอินเดีย
ตอนนี้เราก็เลยได้อรรถกถาที่เป็นภาษาบาลีอีก ก็เลยมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เป็นภาษาบาลี
คัมภีร์พุทธศาสนามีหลายชั้น
ทรงความสำคัญลดหลั่นลงมา
ต่อจากนั้นก็ยังมีคัมภีร์รุ่นสืบมาหลังจากอรรถกถา กล่าวคือ เนื้อหาในพระไตรปิฎก
ส่วนใดที่อรรถกถาอธิบายไว้ อาจารย์ใหญ่รุ่นต่อมาเห็นว่าอธิบายยังไม่พอ
ควรจะให้ชัดกว่านั้น คือพุทธพจน์บางแห่งในพระไตรปิฎก พระอรรถกถาจารย์เห็นว่าง่าย
รู้กันดีอยู่แล้ว เพราะรุ่นของท่านยังใกล้พุทธกาล ท่านก็ไม่อธิบาย
พระอาจารย์รุ่นต่อมาเห็นว่าคนรุ่นหลังนี้ไม่เข้าใจ ก็อธิบายเสียด้วย
หรือแม้แต่คำของพระอรรถกถาจารย์นั้นเอง คนรุ่นหลังก็อาจเข้าใจไม่ชัด
ก็มีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญมาอธิบายขยายความไปอีก คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถานี้เรียกว่า
ฎีกา ต่อจากฎีกาก็มีอนุฎีกาลดหลั่นกันลงมา
คัมภีร์เหล่านี้ใช้เป็นหลักที่จะตัดสินวินิจฉัยคำสอนในพระพุทธศาสนาลดหลั่นกันลงมา
โดยถือว่าพระไตรปิฎกเป็นอันดับหนึ่ง เป็นมาตรฐานใหญ่ และเป็นมาตรฐานกลาง
ซึ่งตัดสินเด็ดขาดว่าเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ต่อจากนั้นมาก็มีอรรถกถามาช่วยเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อ
คือถ้าในพระไตรปิฎกนั้นเรามีข้อสงสัยอะไร ก็มาดูคำวินิจฉัยในอรรถกถา
ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า อรรถกถามาตัดสินพระไตรปิฎก แต่หมายความว่า
เราคนรุ่นหลังอ่านพระไตรปิฎกกัน อาจจะเข้าใจไม่ชัดเจน พระอรรถกถาจารย์ก็มาอธิบายไว้ให้ชัด
เราจึงใช้อรรถกถาเป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยในส่วนที่เรายังไม่ชัดเจน
ต่อจากนั้นก็มีฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับต่อกันไป
คัมภีร์เหล่านี้ท่านถือเป็นสำคัญสืบกันมา เพราะผู้ที่จะเรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาได้
ก็ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
เชี่ยวชาญจัดเจนตลอดพระไตรปิฎก และช่ำชองทั่วตลอดในคัมภีร์ทั้งหลายในชั้นที่เหนือตนขึ้นไป
และเมื่อนิพนธ์ขึ้นมาแล้วก็ต้องเป็นที่ยอมรับของปราชญ์ด้วยกันในยุคนั้นแล้วจึงอยู่ได้
เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักของพระศาสนา
ส่วนพระอาจารย์รุ่นหลังต่อจากที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในยุคนั้นๆ
ที่มาแสดงคำสอนหรือคำอธิบายต่างๆ ก็เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ
หมด ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม แต่ละองค์ๆ ก็เรียก อัตตโนมติ
คือมติของบุคคล หรือเป็นมติส่วนตัวของท่านผู้นั้นๆ ซึ่งถือเป็นสำคัญน้อยลงมา
เป็นอันว่า ถือพระไตรปิฎกเป็นหนึ่ง อรรถกถาเป็นสอง รองลงมา แล้วก็เป็นฎีกา
อนุฎีกา เป็นต้น จนมาถึงอัตตโนมติของอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
หรือแม้ก่อนนั้น ที่แต่งตำรับตำราไว้หลังจากรุ่นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
จัดเป็นอัตตโนมติทั้งหมด
ถ้านับถือพระบรมศาสดา
ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎก
ที่กล่าวมานี้ ก็ด้วยมุ่งจะให้รู้จักว่า พระไตรปิฎกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
การสังคายนาคืออะไร และการรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกทำกันมาอย่างไร
เวลานี้น่าเสียดายว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ
ซึ่งเป็นแก่น และเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักพระไตรปิฎก
ไม่รู้จักการสังคายนา ไม่รู้จักวิธีรักษาสืบทอดพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น
เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาส หรือเป็นช่องทางให้เกิดความสับสน ตลอดจนความเสื่อมโทรมและความคลาดเคลื่อนต่างๆ
พร้อมทั้งคำสอนที่ผิดเพี้ยนแปลกปลอมจะแทรกซ้อนหรือแอบแฝงเข้ามา
เรื่องนี้ต่างจากชาวพุทธในสมัยโบราณมาก แม้เขาจะไม่มีการศึกษารู้อะไรมากมายในความหมายของคนปัจจุบัน
แต่เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยรู้จักว่าพระไตรปิฎกคืออะไร
เป็นหลักของพระศาสนาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ต่อความเป็นความตายของพระพุทธศาสนา
เพราะว่าถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ก็คือพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน
หรือกำลังเลือนลางไป ถ้าพระไตรปิฎกหายไป หมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาสูญสิ้น
เพราะจะไม่มีแหล่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลืออยู่
อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร
เราจะไปรู้เอาเองได้อย่างไร ก็ต้องไปฟังจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่
ก็ต้องไปดูคำสอนที่จารึกไว้ ซึ่งก็ได้จารึกไว้และรักษากันมาในพระไตรปิฎกนี้
ถ้าหมดพระไตรปิฎก ก็คือหมดพระพุทธศาสนา หมดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
หมดพระธรรมวินัย หมดพระศาสดาของชาวพุทธ
จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ ด้วยการเล่าเรียนพระไตรปิฎก
แล้วก็รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้อยู่มั่นคงด้วยดี ดังที่ชาวพุทธโบราณทุกประเทศได้พยายามรักษากันมาเป็นงานสำคัญของชาติ
ถ้าเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก ก็คือเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า
เพราะว่าเรานับถือคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าเรารักษาพระไตรปิฎกไว้ได้
พระพุทธศาสนาก็อยู่อย่างดีที่สุด แล้วก็จะมีหลักที่เป็นแกนกลาง
ที่เรานับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธทั้งปวงในประเทศเถรวาททุกประเทศ
ก็จะมีเอกภาพดังที่เคยมีเอกภาพกันมาแล้ว
อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกของประเทศไทย
พม่า ลังกา หรือในประเทศไหนๆ แม้แต่ที่เอาไปในยุโรป เช่นที่อังกฤษ
ก็เป็นเนื้อหาอันเดียวกันหมด เป็นคำสอนเดียวกัน เช่น ทาน ศีล ภาวนา
อันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเดียวกัน ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท
อันเดียวกัน ไม่ว่าพระสูตรใดๆ ไปดูเนื้อหาก็เหมือนกันหมด ไปที่ไหนก็ใช้กันได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าพระไตรปิฎกที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนายังคงอยู่
ชาวพุทธก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเราเสียหลักเรื่องนี้เมื่อไร
ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มมีปัญหา ชาวพุทธเองก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน
นั่นก็คือความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา และความเสื่อมโทรมแห่งประโยชน์สุขของประชาชน
ที่จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงและไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น จะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
และชวนกันรักษาด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจัง
เสรีภาพแห่งความคิดเห็นของบุคคล
ต้องไม่สับสนกับความซื่อตรงต่อพระศาสดา
อนึ่ง ขอให้แง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าเราติดตำรา
หรือติดพระไตรปิฎก อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่เรารู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน
หรือเป็นมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร
และสอนว่าอย่างไร ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
แม้แต่ว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้
ต้องแยกให้ถูก
เวลานี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความสับสนของคนในยุคที่เรียกกันว่ามีการศึกษา
แต่การศึกษานี้กำลังพร่ามัวลงไปมาก จนแยกไม่ถูกแม้แต่ระหว่างตัวหลักการกับความคิดเห็นส่วนบุคคล
เพียงแค่นี้ก็แยกไม่ถูก จึงแน่นอนว่าความสับสนจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ
มากมาย
ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร
เราจะดูที่ไหน เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎก เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้
เราจะว่าเอาเอง หรือไปตอบแทนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ว่าพระองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้
ต่อจากนั้น เมื่อรู้ว่า หรือได้หลักฐานเท่าที่มีว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรแล้ว
เราจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่ หรือเรามีความเห็นต่อคำสอนนั้นว่าอย่างไร
อันนั้นก็เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องหลักการ
แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็น
ฉะนั้นจะต้องแยกส่วนนี้ให้ได้ เวลาจะพูดกันก็ต้องแยกให้ถูกว่าเรากำลังพูดกันเรื่องว่า
คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ว่าอย่างไร
หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องว่า เรามีทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ต้องแยกให้ถูก แล้วก็พูดให้เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ ก็จะไม่เป็นปัญหา
เวลานี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดปัญหาทั่วไปหมด ตั้งแต่ไม่รู้จักพระไตรปิฎก
ไม่รู้จักความสำคัญของพระไตรปิฎก ไม่รู้ว่าการรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกเป็นมาอย่างไร
แล้วก็มีความสับสนระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์สอนอย่างไร
กับความคิดเห็นของบุคคลหรือเราแต่ละคนต่อคำสอนนั้นว่าเราคิดอย่างไร
ทั้งหมดนี้มองกันไม่ชัดเจน คลุมเครือ และว่ากันเลอะเทอะสับสนไปหมด
เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหา
ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรเลย ก็เพียงแต่แยกให้ถูก ถ้าใครมาถามว่า
พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะว่าเอาเองก็ไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน
ก็ไปเอาหลักฐานมาแสดงให้ดู แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว
หรือธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนี้ คุณจะว่าอย่างไร
อันนี้ก็เป็นเรื่องของเราจะว่าเอา เราคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา
เป็นเสรีภาพของเราที่จะพูด ว่าธรรมะข้อนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นแล้ว
เราจะว่าอย่างไร เราก็ว่าตามความเข้าใจของเราได้
แต่ที่จริงก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านให้ชัดแจ้งก่อนแล้วจึงมาสรุปเอา
ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป
แต่อย่างน้อยก็แยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร
ก็ว่าไปตามที่ท่านสอน แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่เราเห็น
เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด
เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่รู้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นโอกาสที่จะต้องมาซักซ้อมในหมู่ชาวพุทธ
เพื่อจะสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและปฏิบัติกันให้ถูกต้อง
ถ้าชาวพุทธจับหลักในเรื่องนี้ได้ มีความเข้าใจถูกต้อง และมีความตรงไปตรงมา
ปฏิบัติด้วยความซื่อตรง พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่เป็นหลักเป็นศูนย์รวมชาวพุทธ
และมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งหลายสืบต่อไป
มีพระไตรปิฎกที่สังคายนาไว้ดี
ก็ใช้สังคายนาคนได้ด้วย
ได้พูดมายาวมาก จึงควรสรุปไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การสังคายนานั้น
เป็นการรักษาพระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้คงอยู่อย่างดีที่สุด
คือให้แม่นยำตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่าที่เป็นไปได้
ระยะเริ่มแรก ก็มีการประมวลรวบรวมและรักษาไว้
แต่ระยะหลังต่อๆ มา มีแต่การรักษาอย่างเดียว ให้คงอยู่อย่างเดิม
ให้บริสุทธิ์ แม่นยำที่สุด จะตัด จะต่อ จะแต่ง จะเติม อย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น
ถ้าไปตัดต่อ หรือแต่งเติม ก็จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือของปลอมหรือของเทียม
เพราะฉะนั้น ในยุคที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เวลาสังคายนาก็คือการที่เอาพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ
เท่าที่มีอยู่เป็นหลักในประเทศต่างๆ มาตรวจสอบทานกัน เช่น ฉบับของไทย
ของพม่า ของลังกา เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในประเทศเถรวาทเป็นภาษาบาลี
รวมทั้งฉบับอักษรโรมัน ซึ่งก็มาจากแหล่งเดิมอันเดียวกัน ตรงกันอยู่แล้ว
แต่เกรงว่าห่างกันนานมาจะคลาดเคลื่อนกันไป สังคายนาในสมัยนี้ก็เป็นการเอาพระไตรปิฎกฉบับของประเทศต่างๆ
เหล่านั้น มาตรวจสอบกัน ถ้ามีผิดแผกอะไร ก็ต้องทำเชิงอรรถลงไป
และจดหมายเหตุไว้ ผู้ที่ทำสังคายนาไม่มีสิทธิไปแก้ไขดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น
มีแต่ว่าเราจะต้องสังคายนาคน กล่าวคือ คนบางคนบางกลุ่มอาจจะนับถือ
เชื่อถือ สั่งสอนผิดแผกไป ก็เอาคนเหล่านั้นมาตรวจสอบกับคำสอนดั้งเดิมในพระไตรปิฎก
แล้วก็ปรับให้คนเหล่านั้นสอนให้ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก อย่างนี้ก็เป็นความหมายที่ขยายออกไปของคำว่า
สังคายนาด้วยเหมือนกัน
เวลานี้จึงเหมือนกับว่า เรามีความหมายของสังคายนา ๒ อย่าง คือ
๑. สังคายนาพระคัมภีร์ หรือสังคายนาพระไตรปิฎก ได้แก่ตรวจสอบให้คัมภีร์พระไตรปิฎกคงอยู่อย่างเดิม
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่มีอะไรแปลกปลอม
๒. สังคายนาคน เป็นการปรับตัวคนให้สอนให้ตรงตามพระไตรปิฎก
ถ้าเราจะไม่ต้องมีการสังคายาคนก็ทำได้โดยที่ว่า พระจะต้องสั่งสอนตรวจสอบตัวเองให้ตรงตามพระไตรปิฎกอยู่เสมอ
ถ้าพุทธบริษัทไม่เสื่อมโทรม ก็ไม่ต้องมีการสังคายนาคน การที่พุทธบริษัทจะเสื่อมโทรมก็เพราะพากันห่างเหินจากพระธรรมวินัย
เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง ก็จะต้องมีการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ
ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ก็คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้วว่าจะต้องสั่งสอนพระธรรมวินัย
ในยามปกติ พระสงฆ์ก็ต้องสั่งสอนอยู่แล้วเป็นประจำ
ยิ่งถ้าเกิดเหตุที่แสดงว่าผู้คนไม่รู้ไม่เข้าใจพระธรรมวินัย พระสงฆ์ก็จะยิ่งต้องเอาใจใส่สั่งสอนชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้องและให้รู้
อย่างน้อยให้รู้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน
ว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง เป็นพระธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็คือจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก
ซึ่งสมัยก่อนคนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า เราจะต้องหันมารักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์
และรู้จักพระไตรปิฎกที่เป็นตัวหลักเดิมที่รักษาพระธรรมวินัยนั้นไว้
แล้วหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก และการรักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระธรรมวินัยด้วยการสังคายนาเป็นต้น
ก็จบเพียงเท่านี้
ชวนกันตื่นขึ้นมา
ช่วยกันเรียนและรักษาพระไตรปิฎกกันให้ดี
ขอแถมสักนิดว่า ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากอะไร เหมือนอย่างว่า
เรามีคุณพ่อคุณแม่ มีครูอาจารย์ หรือคนที่เราเคารพนับถือ เราอยากจะจดจำคำพูดของท่านไว้
ว่าท่านพูดอะไร สอนอะไร เรามีเทปเราก็บันทึกเสียงท่านไว้ ถ้าไม่มี
เราก็เอาสมุดจดบันทึกไว้
เมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่มีโอกาสถามท่านอีก เราก็มีเทปนั้น
หรือสมุดที่จดบันทึกไว้นั้น เราก็เอามาเปิดดู ถ้าเราต้องการรักษาคำพูดของท่านไว้
เราก็ต้องรักษาเทปหรือสมุดบันทึกนั้นไว้ให้ดี เพราะถ้าหายไป ก็เป็นอันว่าเราจะไม่มีคำพูดของท่านหรือคำสอนของท่าน
ยิ่งคนที่ไม่เคยฟังท่าน ไม่เคยอ่านบันทึกนั้น ไม่มีอะไรอยู่ในความทรงจำ
ไม่เคยรู้จักเลย ก็เป็นอันหมดทางที่จะรู้ว่า คุณพ่อ คุณแม่ ครูอาจารย์
ได้พูดได้สอนอะไรไว้
นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราต้องการจะฟัง จะรู้ จะอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระสาวกที่ทันเห็น ทันฟัง ทันเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็รวบรวมคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าไว้ให้เราแล้วเมื่อสามเดือนหลังพุทธปรินิพพาน
แล้วก็เก็บรักษาสืบต่อกันมาให้เราจนถึงปัจจุบันนี้ด้วยความลำบากยากเย็น
ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไปอ่าน ไปศึกษาและเก็บรักษาไว้ต่อไป
ทำไมเราจะไม่รักษาพระไตรปิฎกไว้ ในเมื่อถ้าพระไตรปิฎกหายไปก็คือว่าบันทึกคำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้าก็หมดไป
หายไป เราก็ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปนั่งฌานเอา เราจะไปพูดแทนท่าน
หรือว่ารู้ขึ้นมาเอง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ
ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาเลย สมัยก่อนก็ไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้
นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ว่าคนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร
ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
เดี๋ยวก็จะกลายเป็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้
เพราะฉะนั้น จึงควรตื่นขึ้นมาช่วยรักษาพระธรรมวินับไว้ให้ดี
|