ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก l ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก l พระไตรปิฎกวิจารณ์ l บทความพระไตรปิฎก  

ดูบทความอื่นๆ หน้าหลัก

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในมุมมองของนักวิชาการ


สมภาร พรมทา เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 45-55

ผมได้รับมอบหมายจากท่านเจ้าคุณสุธีวรญาณให้เขียนบทความหรืออะไรก็ได้ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตามหัวข้อที่ท่านกำหนดให้มาข้างต้น ผมค่อนข้างเกรงใจใครต่อใครที่จะบอกว่าตัวเองเป็นนักวิชาการ แม้ว่าจะทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ตาม ยิ่งเป็นนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาด้วยแล้ว ผมคิดว่าตัวเองยังห่างไกลจากคุณสมบัตินั้น เอาเป็นว่าข้อเขียนต่อไปนี้ เป็นการแสดงความเห็นและความรู้สึกที่ผมมีต่อพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราที่เพิ่งจัดทำเสร็จออกมาเผยแพร่ แก่สาธารณชนก็แล้วกัน
เมื่อต้นปี ๒๕๔๒ ผมขอทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำวิจัยเรื่อง ทุกข์ในพุทธปรัชญามุมมองจากลัทธิดาร์วิน (Suffering in Buddhist : A Darwinian Perspective) ทุนที่ได้มานี้ส่วนหนึ่งผมได้เอามาซื้อพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตอนที่มาสั่งจองนั้น ผมคิดว่าอยากมีพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยดี ๆ สักสำนวนวางไว้ใกล้ ๆ มือเพื่อใช้เทียบเคียงกับฉบับบาลีสยามรัฐที่ผมมีอยู่แล้ว ที่จริงพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยมีอยู่แล้วอย่างน้อยก็สามสำนวน คือฉบับหลวง ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และฉบับของสำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี ซึ่งผมเองก็น่าจะใช้ประโยชน์จากฉบับเหล่านี้ได้เพราะมีอยู่ในห้องสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสามสำนวน แต่ผมได้รับรู้มาว่าฉบับ ป.ธ. ๘ พธ.บ. Ph.D อาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษในบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการตรวจสำนวนการแปลพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแปลใหม่ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีอะไรหลายอย่างที่ไม่น่าจะมีอยู่ในฉบับเหล่านี้ ผมจึงตัดสินใจสั่งจอง เมื่อได้หนังสือมาแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองคิดไม่ผิดจริง ๆ
ก่อนจะเล่าความในใจว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราดีอย่างไร ผมใคร่ขอเล่าความรู้สึกบางอย่างก่อนสักเล็กน้อย การศึกษาศาสนานั้นต้องเริ่มต้นที่คัมภีร์ ผมยังจำคำพูดตอนหนึ่งของศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช (Richard Gombrich) นายกสมาคมบาลีปกรณ์คนปัจจุบันที่มาร่วมสัมมนาที่จัดโดยศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านกล่าวว่าเมื่อเราไม่สบาย เราไปหาหมอ เมื่อเราไม่รู้เรื่องการเมือง เราไปปรึกษาอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ เมื่อเราไม่รู้เรื่องศาสนา เราต้องไปปรึกษาผู้รู้ในมหาวิทยาลัย สิ่งที่ผู้รู้ท่านเอามาแนะนำเรา ก็คือสิ่งที่บันทึกเอาไว้ในคัมภีร์ บทบาทอันดับแรกของอาจารย์สอนศาสนาในมหาวิทยาลัยก็คือต้องเรียนรู้คัมภีร์ให้แตกฉาน ต้องอ่านภาษาที่ใช้บันทึกต้นฉบับคัมภีร์ทางศาสนานั้น ๆ ได้ พระไตรปิฎกคือคัมภีร์ที่บอกเราว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าอย่างไร เราไม่มีโอกาสได้พบพระองค์และไม่มีวันจะได้พบ ดังนั้น คัมภีร์จึงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้เราทราบว่าท่านทรงสอนว่าอย่างไร ตราบใดที่มีคนอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เขียนเป็นภาษาบาลีได้ ตราบนั้นพุทธศาสนาจะยังอยู่ เมื่อใดที่ไม่มีคนอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เขียนเป็นภาษาบาลีได้เลยแม้แต่คนเดียวในโลก วันนั้นเราอาจพูดได้ว่าพุทธศาสนาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกอีกแล้ว
บางท่านฟังความเห็นของท่านอาจารย์กอมบริชแล้วอาจไม่เห็นด้วย เพราะท่านเหล่านั้นอาจคิดว่าศาสนาอยู่ที่การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่คัมภีร์ ถูกทีเดียวครับที่ว่าหัวใจของพุทธศาสนาอยู่ที่การปฏิบัติ ท่านอาจารย์กอมบริชก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่วันนั้นท่านถามว่า สมมติว่ามีคำถามว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ คำตอบก็จะมาลงที่คัมภีร์อีกนั่นเอง ท่านเจ้าคุณธรรมปิฎกของเรานั้นเป็นปราชญ์ที่เน้นการศึกษาคัมภีร์ มีบางคนติว่าท่านติดคัมภีร์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ถ้าการพูดอย่างนั้นส่อความหมายไปในทางไม่ดี ท่านเจ้าคุณธรรมปิฎกนั้น ผมเข้าใจว่าท่านคงมองไปในทิศทางเดียวกันกับท่าน อาจารย์กอมบริช คนที่ติว่าท่านติดคัมภีร์นั้นผมเองก็อยากถามกลับเหมือนกันว่าถ้าไม่ติดคัมภีร์จะให้ติดอะไร เพราะคัมภีร์ คือสิ่งเดียวที่จะบอกเราได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่าอย่างไร
ผู้ที่เรียนปรัชญาคงพอจำคำสองคำที่คนในวงการปรัชญามักจะพูดกันเวลาที่สนทนากันเรื่องเงื่อนไขของการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดมีขึ้นมาได้ เงื่อนไขมีอยู่สองอย่าง คือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ (Necessary condition) กับเงื่อนไขสนับสนุน (Sufficient condition) เรามักยกตัวอย่างการจุดไฟ สมมติว่าเรานั่งก่อกองไฟผิงกันในฤดูหนาวบนภูกระดึง กองไฟที่ลุกโพลงอยู่ข้างหน้าเรานั้นประกอบด้วยเงื่อนไขสองอย่างเป็นตัวหล่อเลี้ยง อย่างแรกคือก๊าชออกชิเจน อย่างที่สองก็คือเชื้อเพลิง เช่นฟืนหรือใบไม้แห้ง ก๊าซออกชิเจนนั้นเราท่านทราบดีว่าช่วยให้ไฟติด ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีทางที่เราจะก่อกองไฟขึ้นมาได้ บนดวงดาวที่ปราศจากก๊าซชนิดนี้ไม่มีทางที่จะจุดไฟขึ้นมาได้ พิจารณาจากแง่นี้ ออกชิเจนก็คือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ ส่วนเชื้อเพลิงนั้นเป็นเงื่อนไขสนับสนุน เงื่อนไขสนับสนุนนี้เปลี่ยนแปลงได้ แทนที่กันได้ เช่นถ้าไม่มีฟืน เราก็อาจใช้ใบไม้แห้งหรือฟางแทนก็ได้ แต่เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้นั้นไม่สามารถหาอย่างอื่นมาทดแทนได้ ท่านอาจารย์กอมบริชและท่านเจ้าคุณธรรมปิฎกนั้นคงมองพระไตรปิฎกว่าเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อการดับทุกข์ ซึ่งข้อนี้ผมคิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะเป็นความจริงที่กระจ่างชัดในตัวเองเหลือเกิน แต่เราก็ต้องยอมรับต่อมาเหมือนกันนะครับว่า แม้พระไตรปิฎกจะเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ แต่ลำพังเพียงการเล่าเรียนพระไตรปิฎกนั้นไม่พอที่จะก่อให้เกิดการดับทุกข์ เราต้องปฏิบัติด้วย การปฏิบัติเป็นเงื่อนไขสนับสนุน เหมือนการที่เชื้อเพลิงช่วยให้เรามีกองไฟสำหรับผิง ลำพังแต่ออกชิเจนอย่างเดียวไม่พอที่จะให้เกิดกองไฟขึ้นมาได้
ที่กล่าวมานี้ผมต้องการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังว่าเมื่อกล่าวถึงคัมภีร์อย่างเช่นคัมภีร์พระไตรปิฎก เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า อะไรคือสถานภาพของสิ่งที่เรียกว่าคัมภีร์ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็คงไม่ติว่าใครติดคัมภีร์กันอีก ผมมีเรื่องอยากกราบเรียนว่า การมีผู้รู้คัมภีร์อย่างถูกต้องเพียงอย่างเดียวนี้ก็ถือเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนาของเราแล้ว พวกเราที่เป็นนักเรียนบาลีแปลอรรถกถาธรรมบทคงนึกถึงพระรูปหนึ่งที่ได้รับฉายาจากพระพุทธเจ้าว่าท่านใบลานเปล่า ขอให้สังเกตนะครับว่าท่านผู้นี้เป็นผู้รู้คัมภีร์อย่างยอดเยี่ยม แม้ท่านจะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ตาม แต่ท่านก็สามารถสอนให้ใครต่อใครบรรลุมามากต่อมาก นี่แสดงให้เห็นว่าการรู้คัมภีร์อย่างถูกต้องย่อมเอื้อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นว่าผู้สอนจะต้องทำได้อย่างที่ตัวเองสอน เรื่องท่านใบลานเปล่านี้ทำให้ผมมาหวนนึกได้ว่า พุทธศาสนาของเรานั้นเป็นศาสนาที่มีกระบวนวิธีในการเข้าถึงความจริงแบบที่วิชาปรัชญาเขาเรียกว่าวิธีการเชิงปรนัย (objective) ถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออกว่าวิธีการดังกล่าวนี้เป็นอย่างไรก็ขอให้นึกถึงวิธีการของวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน วิธีการแบบปรนัย คือวิธีสอนให้เราเข้าถึงความรู้โดยไม่เกี่ยวกับตัวผู้สอน นักวิทยาศาสตร์สองคนทดลองเรื่องเดียวกัน จะได้ผลเหมือนกัน แม้ว่าสองคนนี้จะมีคุณสมบัติต่างกันมากมาย เช่น คนแรกเห็นแก่ตัวไม่เคยเสียสละให้ใคร แต่คนที่สองเป็นคนใจบุญสุนทาน หัวใจของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ตัวความรู้อันถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่ตัวนักวิทยาศาสตร์ หัวใจของพุทธศาสนาก็เช่นกัน อยู่ที่ความรู้อันถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้สอน เพราะเหตุนี้เองครั้งที่พระใบลานเปล่าซึ่งยังมีโลภโกรธหลงอยู่เต็มไปหมด แต่ท่านก็สอนลูกศิษย์ให้เป็นพระอริยบุคคลได้ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะท่านรู้คัมภีร์อย่างถูกต้องแม่นยำนั่นเอง
ผมยกเรื่องนี้มาพูดทำไม บางท่านอาจสงสัย ก็ไม่มีอะไรมากดอกครับ ผมเพียงแต่อยากลำดับเรื่องให้ดูเท่านั้นเองว่า สถานภาพของคัมภีร์และการรู้คัมภีร์อย่างถูกต้องแม่นยำในพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นอย่างไร ผมเคยได้ยินบางท่านที่คิดเน้นหนักไปในเรื่องการปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียววิจารณ์ว่า พวกมหาเปรียญเราดีแต่บรรยายว่าคัมภีร์ตรงนั้นว่าอย่างนั้น แต่ไม่สนใจปฏิบัติธรรม แล้วท่านก็เปรียบเทียบพวกเราว่าเหมือนคนที่ปรุงแกงให้ชาวบ้านชิม แต่ตัวเองไม่เคยลิ้มรสแกงนั้นเสียเอง ผมเองถือตัวว่าเป็นมหาเปรียญ และก็ไม่ว่าอะไรที่ใครจะมาวิจารณ์ว่าผมดีแต่เที่ยวปรุงแกงให้คนอื่นชิม สังคมเราต้องมีคนปรุงแกงครับ ถ้าไม่มีคนปรุง คนชิมก็ไม่มีโอกาสได้ชิม ที่พระพุทธเจ้าท่านตั้งฉายาให้ท่านใบลานเปล่าเช่นนั้น เพราะทรงประสงค์กระตุ้นให้ท่านใบลานเปล่าลองชิมแกงที่ท่านปรุงให้คนอื่นมานานบ้าง ผมเห็นด้วยว่า คนปรุงแกงต้องพยายามหาทางลิ้มรสแกงของตัวด้วย และเมื่อใดก็ตามที่เราทำสองอย่างนี้ได้ครบ เมื่อนั้นเราจึงจะพูดได้ว่าเราได้ปฏิบัติภารกิจของความเป็นชาวพุทธได้สมบูรณ์ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นคนละเรื่องกับการที่สังคมเราจำเป็นต้องมีคนปรุงแกง ไม่ว่าคนปรุงจะได้ชิมแกงที่เขาปรุงหรือไม่ เราต้องยอมรับว่าบทบาทของเขาเป็นบทบาทสำคัญ สำคัญในฐานะเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการเดินตามทางของพระอริยะเจ้า ท่านพุทธทาสที่ใคร ๆ ซึ่งคิดดิ่งไปในทางปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียวมักอ้างว่าท่านทิ้งคัมภีร์นั้น ก่อนจะวางคัมภีร์ลงท่านได้ศึกษามาอย่างเป็นระบบและเป็นเวลายาวนาน งานแปลพระไตรปิฎกคัดสรรของท่านในชุดจากพระโอษฐ์นั้นแสดงให้เห็นความห่วงใยในเรื่องการมีคัมภีร์ที่ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องของท่านอย่างชัดเจน
นักปรุงแกงอาจล้างมือไม่ขอปรุงต่อไปสักวันหนึ่ง เราก็ไม่ว่ากัน แต่เมื่อใดก็ตามที่สังคมต้องการรู้ว่าการปรุงแกงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราก็สามารถไปปรึกษาท่านได้ เท่าที่กล่าวมานี้พอยืนยันได้กระมังครับว่า การเรียนคัมภีร์ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหนเราไม่มีทางปฏิเสธความสำคัญได้เลย ผมเป็นคนชอบหนังสือและสะสมหนังสือเอาไว้พอสมควรในห้องสมุดส่วนตัว บางเล่มซื้อมาแล้วก็ไม่ได้อ่านอยู่หลายปี แต่ก็ยังชอบซื้อมาเก็บไว้เผื่อว่าวันหนึ่งจะได้อ่าน ในบรรดาหนังสือที่ผมชอบสะสมนี้ คัมภีร์ทางศาสนาถือได้ว่าเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ผมชอบซื้อ ผมมีไบเบิ้ลฉบับภาษาอังกฤษอยู่ราวสี่ห้าสำนวน อัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษก็ราว ๆ เดียวกันนั้น คัมภีร์ทางศาสนาในทัศนะของผมเป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่รู้จบ ผมอ่านอัลกุรอานและไบเบิ้ลมานาน อ่านแล้วก็คิดอยู่เงียบ ๆ ปล่อยให้สิ่งที่อ่านจมหายไปกับชีวิต พระไตรปิฎกเองผมก็อ่านอยู่เสมอเพราะเกี่ยวข้องกับวิชาการที่ตนเองรับผิดชอบสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย คัมภีร์ไบเบิ้ลนั้นมีหลากหลายประเภทและคุณภาพ บางสำนวนเขาแปลง่าย ๆ เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปได้อ่าน บางสำนวนก็แปลอย่างเคร่งครัดและเก็บรายละเอียดเชิงการอ้างอิงเอาไว้ละเอียดถี่ยิบ ผมอ่านไบเบิ้ลสำนวนหนึ่งชื่อ The Jerusalem Bible ซึ่งเป็นฉบับสำหรับนักวิชการที่มีนักวิชาการทางด้านคริสต์ศาสนาอ้างถึงมากที่สุดเล่มหนึ่ง อ่านแล้วผมก็อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะมีพระไตรปิฎกภาษาไทยที่ทำในทำนองเดียวกันนี้บ้าง เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังครับว่าพระไตรปิฎกในฝันของผมเป็นอย่างไร
ไบเบิ้ลฉบับที่ผมอ้างถึงข้างต้นนั้นแปลอย่างพยายามรักษาต้นฉบับเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การรักษาต้นฉบับแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ หนึ่งรักษารูปแบบ สองรักษาสาระ ต้นฉบับเดิมเขาวางรูปแบบอย่าง แบ่งวรรคตอนแบบไหน การแปลก็ควรรักษารูปแบบนั้นไว้ ตรงไหนเป็นร้อยแก้ว ก็แปลเป็นร้อยแก้ว ตรงไหนเป็นร้อยกรองก็แปลเป็นร้อยกรอง ในส่วนของร้อยกรองนั้นเอง การจัดวางโครงสร้างของ กวีนิพนธ์ก็ควรทำให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด การรักษาสาระคือการแปลอย่างพยายามให้ได้ใจความตามฉบับเดิมมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องแปลให้ไพเราะ อ่านง่าย การแปลแบบเก็บศัพท์มาหมดและแปลอย่างคำต่อคำนั้นในทัศนะของผมไม่ใช่การแปลอย่างรักษาสาระ การทำเช่นนั้นกลับทำให้สาระขาดหายไป สาระของหนังสือต้องส่งถึงผู้อ่านอย่างชวนให้รับ การแปลแบบเคร่งพยัญชนะทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง เมื่ออ่านไม่รูเรื่องเสียแล้ว คนอ่านจะได้รับสาระอย่างไรละครับ สรุปความคือแปลดีหมายถึงแปลให้อ่านรู้เรื่อง เก็บความต้นฉบับได้ครบ และรักษารูปแบบของเดิมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณลักษณะที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุ ไบเบิ้ลฉบับที่ผมอ้างถึงนั้นเขาทำกันมายาวนานหลายรุ่นคน งานที่ยากสำหรับคนคนเดียวสามารถเป็นไปได้ถ้าทำร่วมกันหลายคน
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวงของเรานั้นเตรียมการอย่างเป็นงานใหญ่ระดับชาติรัฐบาลและคณะสงฆ์ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แม้จะย่อลงมา เพราะเป็นงานภายในหน่วยงานคือมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งนี้เท่านั้น แต่ก็ถือเป็นงานใหญ่เช่นกัน งานใหญ่ๆ อย่างนี้ต้องการคนและการบริหารงานอย่างดี พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงนั้นมีคนนอกวัดติว่าอ่านยาก แม้จะเป็นภาษาไทยแต่คนไทยที่ไม่ได้เรียนรู้ภาษาบาลีก็อ่านเข้าใจยาก บางตอนนั้นพูดได้เลยว่าอ่านไม่รู้เรื่อง การที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงอ่านยากนั้นผมเข้าใจครับ และผมก็ไม่โทษคณะท่านผู้แปลและจัดทำ การแปลหนังสือก็เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์คือต้องกระทำอย่างมีเป้าหมาย การแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยในระยะแรกๆ นั้น เรามีจุดหมายสำคัญคือเพื่อเป็นอุปกรณ์แก่ปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แปลเพื่อให้ชาวบ้านทั่วๆ ไปอ่านเพื่อซึมซับเอาความงามทางภาษา เมื่อจุดประสงค์ชัดเจนและเจาะจงเช่นนั้น การแปลก็ย่อมจะอนุวัตรตามเป้าหมายที่วางไว้
จะอย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงเผยแพร่ออกมาแล้ว สังคมเราก็เริ่มก้าวเข้าสูยุคใหม่ที่ชาวบ้านทั่วไปหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น เวลานี้ตลาดหนังสือทางศาสนาเป็นตลาดใหญ่ที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล คนนอกวัดต้องการหนังสืออีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากคนในวัด ดังนั้นพระไตรปิฎกภาษาไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อคนนอกวัดจึงต้องมีลักษณะแตกต่างไปจากฉบับที่คนในวัดอ่านแล้ว ได้ประโยชน์อย่างเช่นฉบับหลวงเป็นต้น เมื่อแรกที่ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยริเริ่มโครงการแปลพระไตรปิฎกนั้น ผมทราบมาว่าสิ่งหนึ่งที่เราพยายามคิดกันก็คือ จะให้ฉบับใหม่ของเรานี้เอื้อประโยชน์แก่คนนอกวัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อการนี้เราจึงตั้งคณะทำงานแบ่งงานออกเป็นสองชุด คือ ชุดหนึ่งแปล อีกชุดหนึ่งตรวจสำนวนแปล ผู้แปลเราคัดเลือกเอาท่านที่ทรงคุณวุฒิ รู้ภาษาบาลีอย่างดีเยี่ยม และเข้าใจสาระทางธรรมของข้อความที่จะแปล เมื่อแปลก็ให้ท่านคำนึงแต่ในส่วนงานของท่าน ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษา เพราะจะมีคณะทำงานอีกชุดหนึ่งดูแลเรื่องนี้ เมื่อแปลเสร็จก็ส่งให้คณะทำงานอีกชุดตรวจสำนวน การตรวจสำนวนนี่แหละครับที่จะช่วยให้ฉบับใหม่ของเราอ่านรู้เรื่อง อ่านไพเราะ และอ่านแล้วได้ความงามอย่างไทยๆ เพราะเป็นฉบับแปลภาษาไทย
มหาวิทยาลัยดี ๆ ในต่างประเทศอย่างเช่นออกซฟอร์ดหรือเคมบริดจ์นั้น ก่อตั้งโดยศาสนจักร เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยทางศาสนา ก็เป็นธรรมดาที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้จะมีคัมภีร์ทางศาสนาของตน เมื่อกล่าวถึงเคมบริดจ์ ทุกคนจะนึกถึงไบเบิ้ลฉบับ King James ส่วนทางด้านออกซฟอร์ดนั้นก็มีไบเบิ้ลของตัวเองชนิดที่มีมาตรฐานไม่แพ้กัน ผมมีไบเบิ้ลของสองมหาวิทยาลัยนี้ทำให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยดี ๆ ของต่างประเทศนั้นเขาเอาใจใส่คัมภีร์ทางศาสนาอย่างไร บ้านเรามหาวิทยาลัยไม่ได้มีกำเนิดมาจากศาสนา ยกเว้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อมหาวิทยาลัยทางโลกในบ้านเราไม่มีรากฐานทางด้านศาสนา ก็หวังไม่ได้ที่จะให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้แสดงบทบาทในด้านนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นดูจะเป็นแห่งแรกที่สนใจทางด้านนี้ ดังมีการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ซึ่งคณะผู้จัดทำก็พูดอยู่เสมอว่าเป็นงานที่ต้องพัฒนาต่อไปไม่สิ้นสุด ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีการจัดตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาขึ้นมาราวหกเจ็ดปีแล้ว แต่ศูนย์นี้ก็เน้นการศึกษาพุทธศาสนาอย่างเป็นวิชาการสมัยใหม่ ไม่ได้เน้นศึกษาแบบที่ฝรั่งเรียกว่า textual study อย่างที่มีในออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ หรือฮาร์วาร์ด
เวลานี้ดูเหมือนจะเกิดความตื่นตัวที่จะศึกษาศาสนาในมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศตะวันตก ดังมีการเรียนการสอนหลักสูตรทางด้านศาสนาและพุทธศาสนากันถึงระดับปริญญาโท ปริญญาเอกในบ้านเรา ผมมีข้อสังเกตว่า ครูบาอาจารย์รุ่นแรก ๆ ที่สอนวิชาทางด้านศาสนาในมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือผู้เคยบวชเรียน ประเภทที่สองคือผู้ไม่เคยบวชเรียน แต่เรียนวิชาศาสนามาจากต่างประเทศ ผู้เคยบวชเรียนนั้นเนื่องจากเคยอ่านและแปลคัมภีร์มามาก จึงมีความเหมาะสมที่จะสอนศาสนาแบบ textual study ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ส่วนท่านที่เรียนมาจากเมืองนอก มักเรียนศาสนาในเชิงสังคมศาสตร์ ก็เหมาะที่จะสอนทางด้านนั้น อาจารย์กอมบริชซึ่งสอนพุทธศาสนาแบบเน้นหนักคัมภีร์ กล่าวในที่สัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นว่า เวลานี้หลักสูตรทางด้านพุทธศาสนาที่ออกซฟอร์ดของท่านนั้นยากที่จะผลิตปริญญาเอกที่เชี่ยวชาญคัมภีร์ได้จริง ๆ เพราะรัฐบาลขีดเส้นตายให้เรียนและจบกันไว ๆ แต่เดิมนั้นผู้ต้องการเรียนพุทธศาสนาแบบเชี่ยวชาญคัมภีร์ต้องไปออกซฟอร์ดหรือเคมบริดจ์ ถ้าใครไปอเมริกาก็เป็นอันรู้กันว่าไปเรียนพุทธศาสนาอย่างเป็นสังคมศาสตร์ เวลานี้ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างระหว่างอเมริกากับอังกฤษ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงและดำเนินต่อไปในอนาคต ผมเชื่อว่าคนที่จะสอนพุทธศาสนาอย่างเชี่ยวชาญคัมภีร์ได้จริง ๆ ในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพวกมหาเปรียญเราเท่านั้นแหละครับ
การเรียนพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยอาจทำได้หลายอย่าง แต่หนึ่งอย่างที่สำคัญและต้องมีอยู่ต่อไปคือเรียนเชิงคัมภีร์ มหาวิทยาลัยทางโลกที่เปิดสอนพุทธศาสนานั้นดูเหมือนจะยอมรับว่าการศึกษาเชิงคัมภีร์นี้ไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับมหาวิทยาลัยสงฆ์ จุดนี้เป็นจุดแข็งที่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราจะต้องตระหนัก จะอย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราอาจจะยังไม่เข้าใจบทบาทอันนี้ของตนหรืออย่างไรไม่ทราบ หลักสูตรปริญญาโทของเราจึงไม่จับเรื่องที่เรามีศักยภาพอย่างเต็มที่ หลักสูตรพุทธศาสตร มหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนาของเรานั้นเหมือนที่เรียนกันในมหาวิทยาลัยทางโลก คือเรียนกันอย่างเป็นสังคมศาสตร์มากกว่าที่จะเป็น textual study ผมมีเรื่องอยากกราบเรียนว่า ผมพอจะคุ้นเคยกับสถาบันการศึกษาของศาสนาคริสต์บางแห่งอยู่บ้าง เพราะผมสอนที่วิทยาลัยแสงธรรม ที่เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตทางด้านคริสต์ศาสนาของฝ่ายคาทอลิกมายาวนานตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ สถาบันอุดมศึกษาของคริสต์ศาสนาทั้งในและต่างประเทศเท่าที่ผมทราบนั้น ยังยึดการเรียนศาสนาแบบ textual study อยู่อย่างเหนียวแน่น มหาวิทยาลัยพายัพของฝ่ายโปรเตสแตนต์ที่เชียงใหม่ก็ดี วิทยาลัยอิสลามศึกษาของฝ่ายอิสลามที่ปัตตานีก็ดี ล้วนแล้วแต่สอนศาสนาของตนอย่างเน้นการเรียนคัมภีร์ทั้งสิ้น มีแต่มหาวิทยาลัยสงฆ์ของเราเท่านั้นแหละครับที่เรียนศาสนาอย่างเป็นสังคมศาสตร์ เพราะตอนจัดทำหลักสูตรเราเอาหลักสูตรของอเมริกาเป็นแบบฉบับ ในขณะที่สถาบันของคริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลามเขียนหลักสูตรเองตามที่เห็นว่าตนเองต้องการอะไร (ข้อมูลเหล่านี้ผมทราบเพราะเป็นกรรมการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรทางด้านศาสนาและปรัชญาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของทบวงมหาวิทยาลัยครับ)
การเรียนศาสนาอย่างเป็นสังคมศาสตร์นั้นผู้รับผิดชอบมักเป็นคณะหรือภาควิชาทางด้านสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ จุดประสงค์ของการศึกษาก็ชัดครับว่าเพื่อเข้าใจศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมอันหนึ่งเหมือนสถาบันอื่น ๆ การเรียนในแนวนี้ได้มีจุดประสงค์จะให้ผู้เรียนเกิดความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของศาสนา การที่มหาวิทยาลัยทางโลกอย่างมหิดล ธรรมศาสตร์ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนศาสนาแบบนี้ก็พอเข้าใจได้ครับว่าเพื่ออะไร แต่ถ้าสถาบันของทางสงฆ์เองเรียนแบบนี้ผมเองก็ยังมองเห็นเหตุผลไม่ชัดว่าเพื่ออะไร อาจจะเพื่อผลิตนักสังคมศาสตร์ที่เน้นการวิจัยทางด้านศาสนา แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาของศาสนาไม่ใช่หรือครับ
กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมต้องการโยงมาที่เรื่องพระไตรปิฎกของเราครับ เมื่อผมได้พระไตรปิฎกมาแล้ว ผมมานั่งอ่าน แล้วผมก็คิดอะไรหลายอย่างมากมายไปหมด สิ่งแรกที่ผมคิดคือ เวลานี้อาจพูดได้ว่าพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้น่าจะเป็นฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่เวลานี้ ผมเคยพูดในที่สัมมนาของเราครั้งหนึ่งว่าภายใน ๕๐ ปีนี้ไม่น่าจะมีพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับใดทำได้ดีเท่าของเรา ผมยังยืนยันความเห็นนั้นอยู่ แน่นอนว่าของใหม่ย่อมต้องดีกว่าของเก่า และเราเองก็ต้องขอบคุณคณะผู้จัดทำฉบับก่อน ๆ คือฉบับหลวงและฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยที่งานอันมีมาก่อนเหล่านี้ย่อมเป็นแหล่งอ้างอิงให้เราได้เรียนรู้ ไม่มีอะไรเกิดใหม่จากความว่างเปล่า... นี่คือวาทะของไอน์สไตน์ การเกิดขึ้นของพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ผมมองในฐานะพัฒนาการที่สืบเนื่องต่อมาจากกระบวนการอันมีมาก่อนหน้านี้ อันได้แก่การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยในสังคมเราซึ่งมีมายาวนานอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้ว (ดังปรากฏในไตรภูมิพระร่วงเป็นต้น) ความเหน็ดเหนื่อยที่เราลงไปเพื่อแลกมาเป็นผลงานอันสำคัญต่อประวัติศาสตร์การศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนาในบ้านเราครั้งนี้ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกท่านซึ่งร่วมอยู่ในกระบวนการนี้จะภาคภูมิใจไปอีกนาน ผมเองแม้จะมีชื่อเป็นหนึ่งในคณะทำงาน แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะเงื่อนไขทางด้านเวลาไม่เอื้ออำนวยทั้งที่อยากจะทำ ผมคิดว่ากรรมการบางท่านก็คงเหมือนผมคือมีชื่อแต่ไม่มีเวลามาช่วยทำ การที่หนังสือเราสำเร็จออกมาอย่างดีเลิศ ประณีต งดงาม ทั้งทางด้านสาระและการจัดพิมพ์นี้ แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเรายิ่งใหญ่กว่าคนเล็ก ๆ อย่างพวกผมมากนัก ไม่มีคนเล็ก ๆ เหล่านี้ งานเราก็เดินไปได้อย่างสบาย ๆ
เรื่องต่อมาที่ผมรู้สึกก็คือ การทำงานครั้งนี้เราทำอย่างเป็นระบบมาก พระไตรปิฎกแต่ละเล่มมีบทนำที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาและเรื่องอื่น ๆ ที่สมควรกล่าวถึงเกี่ยวกับคัมภีร์เล่มนั้น ๆ บทนำเหล่านี้มีขนาดยาว ละเอียด และเรียบเรียงอย่างดีเยี่ยม ผมเองได้รับความรู้มากมายจากบทนำเหล่านี้ ผมอ่านภาษาพม่าและสิงหลไม่ออก จึงไม่รู้ว่าพระไตรปิฎกฉบับภาษาเหล่านี้จะมีบทนำดี ๆ อย่างนี้หรือไม่ ที่ผมอ่านออกคือฉบับภาษาอังกฤษของสมาคมบาลีปกรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษมีบทนำเหมือนกันครับ แต่ทำได้ไม่ดีเท่าของเรา
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากกราบเรียนคือ เมื่อผมนั่งมองพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราที่ตั้งเรียงกันอยู่ในตู้นี้ ผมมองทะลุไปเห็นภาพของบุคคลจำนวนมากทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสที่ช่วยกันทำงานเพื่อพระศาสนาอย่างไม่หวังผลตอบแทน ท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่ง เป็นผู้รู้ เป็นบัณฑิต บางส่วนอาจทำงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บางส่วนอาจอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผมเคยคิดมานานแล้วครับว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยของเราน่าจะมีความหมายมากกว่าตัวสถาบันอันได้แก่ตึกเรียน คณาจารย์ และนิสิต แต่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยน่าจะหมายถึงจิตวิญญาณของการทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อความรู้ เพื่อสังคม และเพื่อประชาชน มหาวิทยาลัยทางโลกนั้นพยายามทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ดังธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งเดียวกับท่าพระจันทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของสามย่าน คณะสงฆ์เรามีการศึกษาสองสายที่เสมือนแยกกันอยู่คือปริยัติธรรมเดิมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในอนาคตนั้นผมเชื่อว่าสถาบันหลักที่จะเป็นแหล่งสำคัญในการจัดแปลคัมภีร์ทางศาสนา จะได้แก่มหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะมีความพร้อมและมีพันธะโดยตรงในฐานะมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องตระหนักด้วยว่างานนี้หากไม่ได้ความร่วมมือจากท่านนักปราชญ์นอกมหาวิทยาลัยแล้วยากที่จะสำเร็จ
ทำอย่างไรปราชญ์สองฝ่ายนี้จะได้ทำงานด้วยกันมากกว่านี้ ไม่เพียงแต่งานแปลคัมภีร์เท่านั้น ผมอยากให้ท่านที่อยู่นอกเหล่านี้ได้มาสอน มาวิจัย มาให้แง่คิดเป็นครั้งคราวก็ได้ แก่นิสิตของเรา ผมมองเห็นทางครับ เมื่อใดก็ตามที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ มีหลักสูตรระดับสูงที่เน้นด้าน textual study เมื่อนั้นแหละครับที่เราจะสามารถเรียนเชิญท่านเหล่านั้นมาช่วยงานพระศาสนาได้ ผมเชื่อว่าหลายท่านยินดีมา บางท่านอาจเป็นพระผู้ใหญ่ เป็นพระผู้บริหาร เป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคมเสียด้วยซ้ำ ผมเคยร่วมสอบวิทยานิพนธ์กับพระผู้ใหญ่บางท่านเช่นท่านเจ้าคุณพระพรหมโมลี และท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติวงศ์ รู้ว่าท่านเก่งเพียงใด ถ้าท่านเหล่านี้ให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ หรือมาบรรยายในเรื่องที่ท่านถนัดในระดับปริญญาโทและเอก อะไรจะเกิดขึ้น ทุกท่านก็คงนึกเห็นภาพนะครับ ผลตามมาอีกอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นคือผลด้านการบริหาร เมื่อใดก็ตามที่มหาวิทยาลัยสงฆ์สามารถกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับผู้บริหารคณะสงฆ์ เมื่อนั้นผลดีจะเกิดแก่พระศาสนา พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บ้านเรานั้นไม่เหมือนนักการเมืองนะครับ ท่านเหล่านี้เคยเป็นนักศึกษาที่เรียนรู้มาก ขยันขันแข็งในทางวิชาการมาทั้งสิ้น เมื่อมาจับงานบริหารแล้ว ผมเชื่อว่าวิญญาณของความเป็นนักการศึกษาของท่านยังสมบูรณ์ ในทางโลกเราหวังให้รัฐมนตรีมาสอนหนังสือไม่ได้ แต่ในทางธรรมเราหวังได้ครับ

top